สัญญาณ รธน. สัญญาณ’บิ๊กตู่’ กับ..สัญญา’คืนความสุข’

วิเคราะห์

 

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปรากฏออกมาทั้ง 270 มาตรา บรรดาเสียงต่างๆ ในสังคมก็ดังกระหึ่ม

เป็นสำเนียงที่ฟังแล้วคล้อยไปในทางไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายจุด

Advertisement

ฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยออกแถลงการณ์แทบจะในทันทีที่นายมีชัยเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญออกมา

หัวใจสำคัญคือ การลดพลังรัฐบาลหรือลดอำนาจฝ่ายบริหาร และลดกำลังพรรคการเมือง

เพิ่มโอกาส “คนนอก” นั่งบริหารประเทศ และเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนองค์กรอิสระ ให้มีมากกว่าฝ่ายบริหาร

Advertisement

ขณะที่นักวิชาการบ้างก็จับจ้องเรื่องสิทธิเสรีภาพที่หายไป เช่น นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่า การกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว กาเบอร์เดียว แต่มีผลทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น ลดสิทธิการเลือก “คน” และเลือก “พรรค” ที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการอีกจำนวนมากเป็นห่วงอำนาจขององค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

ส่วนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเองก็ชี้จุดอ่อน 8 ประการของร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท.สรุปจุดบกพร่องที่ควรปรับปรุง

ได้แก่ 1.การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม 2.การเลือกตั้งแบบเขตเดียว เบอร์เดียว ไม่สามารถป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้ เพราะเขตเล็ก พื้นที่น้อย ถูกอิทธิพลอำนาจรัฐ หรืออำนาจท้องถิ่นเข้ามาครอบงำได้ง่าย 3.การเลือกตั้ง ส.ว. 20 กลุ่มอาชีพ แบบไขว้กันระหว่างกลุ่ม ไม่ควรนำมาใช้ จะทำให้เกิดปัญหา และการบล็อกโหวตขึ้น 4.พรรคการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุถึงกลไกที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

5.คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ไม่ได้ให้ผู้สมัครยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลังให้ประชาชนทราบ 6.มีการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป 7.ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดชื่อนายกฯพรรคละ 3 คน เพราะเป็นดุลพินิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว และ 8.การปิดช่องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากในทางปฏิบัติ อาจทำให้เกิดวิกฤตในอนาคตได้

แม้ในระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีแต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคที่พยายามนำเสนอข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งป้องกันและขจัดคนโกงออกจากเวทีการเมือง

แต่ดูเหมือนว่า เสียง “ข้อดี” จะเบากว่าเสียง “ข้อที่ควรปรับปรุง”

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย หลังจากเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.จะนำไปพิจารณาปรับปรุงอีกครั้งหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์

จากนั้นจะเข้าสู่การจัดทำประชามติ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.รับหน้าที่จัดทำประชามติ

แต่ในระหว่างที่การจัดทำประชามติยังไม่ถึง กลับปรากฏกระแสข่าวที่น่าคิด นั่นคือ มีความพยายามร่างกฎกติกาประชามติ เพื่อควบคุมการรณรงค์

โดยเฉพาะการรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ

อาทิ มีข้อเสนอให้ผู้จะรณรงค์ทั้งสนับสนุนและคัดค้านต้องลงทะเบียนแสดงตนเสียก่อน หรือมีข้อกำหนดที่ไม่เอื้อให้

ผู้คัดค้านมีโอกาสได้รณรงค์

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติที่กำหนดให้มีการทำประชามติก็ยังตีความกันระหว่างคำว่า “ผู้มีสิทธิ” กับ “ผู้มาใช้สิทธิ”

ยังเป็นปัญหาว่า หากคะแนนประชามติได้ไม่ถึงจำนวน

“ผู้มีสิทธิ” ลงคะแนน จะถือว่าผ่านประชามติหรือไม่

หรือจะวัดแค่เสียงที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน “ผู้มาใช้สิทธิ” ก็เพียงพอ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายทหารที่กังวลต่อการแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ

การเชิญตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ไปพบที่กองทัพภาคที่ 1 หลังจากนายจตุพรแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอย่าง “เกินไป” ในสายตาฝ่ายทหาร

หรือการระงับเวทีเสวนาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งคำให้สัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ว่าสามารถเอาผิดกับผู้ตั้งใจล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

ทุกอาการ ทั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และจากรัฐบาล ล้วนสะท้อนภาพแห่งความไม่มั่นใจในเสียงที่จะออกมาหลังทำประชามติ

เฉกเช่นเดียวกับอาการหงุดหงิดต่อเนื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์มีอาการฉุนเฉียวมากขึ้น หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัยเผชิญหน้ากับมรสุมคำถามมหาศาล

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันเดินหน้าตามโรดแมป คือจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ให้ได้

ต่อมานายมีชัยและคณะแถลงข่าว โดยบอกว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปนั้นคงต้องเลื่อนออกไป เพราะโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กำหนดไว้สั้นไป

โรดแมป 6-4-6-4 นั้นสั้นไป

ขอใช้เวลาในการยกร่างกฎหมายเพิ่มเติม

จึงขอเปลี่ยนโรดแมปเป็น 6-4-8-5

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาตอกย้ำโรดแมปเดิมของตัวเอง เพียงแต่เปลี่ยนจากคำว่า “เลือกตั้ง” กรกฎาคม ปี 2560 เป็นคำว่า “เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง” กรกฎาคม ปี 2560

และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ก็อารมณ์เสียและฉุนเฉียวนักข่าวมาตลอด

รายงานข่าวระบุว่า คำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์เบื่อตอบ และเป็นชนวนให้อารมณ์ขุ่นมัว คือ คำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

น่าสนใจ สัญญาณหลังจากนายมีชัยแถลงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร รวมกับฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐประหาร

แต่ได้รวมกันไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

น่าสนใจ ปฏิบัติการของฝ่ายทหารและนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มใช้คำขอร้องมิให้จัดการเสวนาหรือการแสดงความคิดเห็นอันเป็นลบแก่ร่างรัฐธรรมนูญ

กระทั่งมีการเอ่ยถึงการลงโทษฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญด้วย

สุดท้ายที่น่าสนใจคือ อารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่หงุดหงิดกับคำถามซ้ำๆ ของผู้สื่อข่าวที่ถามถึงร่างรัฐธรรมนูญ

สัญญาณทั้งหมดพอจะบ่งบอกแนวโน้มและความเป็นไปของร่างรัฐธรรมนูญนี้

เป็นสัญญาณที่เปล่งออกมาจนน่ากังวล

กังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติไปได้หรือไม่

กังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติไปได้ด้วยวิธีการใด

ถ้าไม่ผ่านประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกว่ามีแผนสำรองนั้น คืออะไร

สำคัญกว่านั้นคือ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญนี้ หรือแผนสำรองที่ พล.อ.ประยุทธ์มีเตรียมไว้นั้น

จะคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยได้จริงหรือไม่…อย่างไร?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image