เปิดไฟไล่โกง โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการรณรงค์ปราบปรามคอร์รัปชั่นที่น่าสนใจติดตามและน่าขบคิดไปพร้อมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ 2559 “กรรมสนองโกง” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และปาฐกถาหัวข้อ “มาตรการจัดการการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”

“เรื่องทุจริตเป็นกับดักที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ช้า เกิดความขัดแย้ง แตกแยก สังคมมีปัญหาไปทั้งหมด ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ต้องหาวิธีใหม่ให้การแก้ปัญหามีผลสัมฤทธิ์ รัฐบาลนี้ทำทุกอย่างไม่ได้เข้ามาเพื่อจับผิดใคร หรือแกล้งใครอย่างที่ถูกกล่าวหา กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย โรดแมปในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการส่งมอบ การทุจริตก็ต้องน้อยลง หรือไม่มีเลย”

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 โครงการอุทยานราชภักดิ์ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติทุกประการ ไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ

Advertisement

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่าในฐานะที่เคยเป็นตำรวจและพนักงานสอบสวนเก่าที่เคยทำคดีประเภทนี้มาก่อน ขอเรียกร้องให้องค์กรภาคเอกชนและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่า สตง. ช่วยกันตรวจสอบเร่งรัดเรื่องคดีทุจริตสำคัญๆ ที่ยังค้างการตรวจสอบ และพิจารณาอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง เช่น คดีจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชของผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ 10 กว่าจังหวัดในภาคอีสาน งบประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท, การจัดซื้อจีที 200, จัดซื้อเรือเหาะ, การจัดจ้างสวนอุทยานราชภักดิ์ที่ประชาชนยังค้างคาใจในความโปร่งใส, การจัดจ้างลอกคลองลอกแหล่งน้ำของ อผศ.ที่มีการจัดจ้างส่อไปในทางทุจริต, การขุดบ่อบาดาลและการปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อแก้ภัยแล้งของกระทรวงทรัพยากรฯ ขอให้พิจารณาอย่างรวดเร็ว มิต้องเห็นแก่ใคร

“กิจกรรมของคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นในวงราชการของภาคเอกชนโครงการเปิดไฟ-ไล่โกง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในความตั้งใจของภาคประชาชนที่ออกมาช่วยกันรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในวงราชการที่บ่อนเซาะทำลายความมั่นคง ความเชื่อมั่นของชาติ และขอแสดงความยินดีที่ขณะนี้มีการจัดตั้งศาลขึ้นพิจารณาเฉพาะคดีทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ลดขั้นตอน มีความรวดเร็วเร่งรัดคดีให้เกิดผลคดีได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”

วันต่อมา สื่อมวลชนรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ว่า ขณะนี้คดีดังกล่าวมีความคืบหน้าในการไต่สวนไปมาก ถึงขั้นเตรียมสรุปสำนวนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาชี้มูลความผิดได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้แน่นอน

Advertisement

ขณะที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนกรณีนักการเมืองหลายรายถูกดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ถูกศาลตัดสินลงโทษด้วยการจำคุก โดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,319 คน ระหว่างวันที่ 7-9 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80.82 ระบุหากนักการเมืองและแกนนำมีความผิดจริงก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย รองลงมาร้อยละ 76.95 ระบุว่าควรดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และร้อยละ 74.53 กฎหมายต้องเข้มแข็ง บังคับใช้ได้กับทุกคน ทุกระดับ

เมื่อถามว่าการถูกลงโทษของนักการเมืองและแกนนำ ให้บทเรียนอะไรกับสังคมไทยบ้าง ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.14 ระบุไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ใครก็ตามที่ทำผิด ย่อมได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ร้อยละ 71.65 ระบุสังคมไทยควรหันมาสนใจและให้ความสำคัญเรื่องการปลูกฝังความซื่อสัตย์ สุจริต และร้อยละ 63.00 เป็นกรณีตัวอย่างให้กับคนในสังคม ไม่หลงในอำนาจและผลประโยชน์

แต่อีกด้านหนึ่งโครงการ PeoplePoll-พีเพิลโพล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ โดยความร่วมมือในลักษณะภาคีของ 5 หน่วยงาน คือ 1.คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 2.วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ 3.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 4.วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต 5.ทีมงานพีเพิลโพล ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่น PeoplePoll บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 10 กันยายน เพื่อสอบถามมุมมองในโอกาส 1 ปีผ่านไปจากข่าวที่มี “คนวงใน” แฉคอร์รัปชั่น เรื่องการให้พลทหารไปรับใช้ตามบ้านนายทหารระดับสูง หรือที่เรียกว่า “พลทหารรับใช้” สังคมมองเรื่องนี้อย่างไร?

มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,123 คน ได้ความคิดเห็นดังนี้ เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหา 5.5% (62 คน) เป็นปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไข 3.4% (38 คน) เป็นปัญหาที่ต้องค่อยๆ ปรับแก้ 17.1% (192 คน) เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน 72.9% (819 คน) อื่นๆ/ไม่แน่ใจ/ไม่แสดงความเห็น 1.1% (12 คน)

ครับ ผมนำความเคลื่อนไหวเหล่านี้มาลำดับเพียงเพื่อที่จะบอกว่า โดยหลักการไม่มีใครไม่ยอมรับและคัดค้านการปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่ที่ยังค้างคาใจ ไม่เชื่อคำพูดเต็มที่ เพราะคิดว่าตราบใดที่ยังมีความลักลั่น ไฟส่องไม่ทั่วถึง การเลือกปฏิบัติดำรงอยู่ การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นก็สำเร็จยาก เพราะรากเหง้าคือความเสมอภาค ยุติธรรม ยังไม่เป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image