‘วิชั่น’รัฐ…ดัน’นวดไทย’สู่มรดกโลก? โดย ไพรัช วรปาณิ

นับเป็นนิมิตดี…ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าผลักดัน “นวดแผนโบราณ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยแต่โบราณกาล ให้นำขึ้นจดทะเบียนสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตามนโยบายรัฐบาล “บิ๊กตู่” เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยสัญเจตนา

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. เปิดเผยว่า “นวดไทยเป็นสิ่งที่ยอมรับของคนทั่วโลกว่า ในเรื่องของคุณภาพ การบริการ และเรื่องขององค์ความรู้ ไม่มีใครที่สามารถจะเอาวัฒนธรรมไทย ทำได้ดีเท่าคนไทย?”

การมองเห็นความสำคัญของวิธีนวดตามแผนโบราณไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยโดยแท้ ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 600 ปี มาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และการวางมาตรฐานให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ด้วยการกำหนดให้ผู้ประกอบการรับใบอนุญาต 5 ปีนั้นจักต้องคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพ มีฝีมือจริงๆ ซึ่งพนักงานนวดต้องผ่านการฝึกเรียนถึง 160 ชั่วโมง (เดิมเพียง 60 ชม.) จึงจะได้รับอนุญาต เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกับการฝึกอบรมเปลี่ยนภาพลักษณ์ ไม่ให้ถูกมองว่าแอบแฝงบริการทางเพศด้วย พร้อมกับการอบรมให้ต้องรู้จักการควบคุมระบบสมอง ระบบร่างกายและเส้นประสาท ด้วยศิลปะการใช้ฝ่ามืออ่อนนุ่ม แต่ทรงพลังในการกดจุด เป็นสำคัญ…จึงนับเป็น “วิสัยทัศน์” อันกว้างไกลของรัฐบาลชุดนี้…จริงไหม?!

ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ เขียนเน้นไว้ในหนังสือ “ทฤษฎีศูนย์” ตอนหนึ่งว่า “มือข้างหนึ่งของมนุษย์สามารถทำอะไรได้สารพัดอย่าง ถ้าจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานแทนมือข้างหนึ่งของมนุษย์นั้น จะต้องสร้างเครื่องมือเป็นจำนวนมากมาย และต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็ไม่เท่ากับมือข้างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อรวมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งหมด มือสองข้างของมนุษย์ ถ้ารู้จักใช้ จึงมีประโยชน์และคุณค่ามหาศาล”

Advertisement

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “การเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก ชีวิตเป็นสิ่งมีคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ ฉะนั้น จงมองเห็นประโยชน์ของการมีชีวิตให้ดี ชีวิต (สุขภาพ) ที่ดี ทำให้เจริญ มีความสุข ชีวิตเป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ จะใช้ จะทำประโยชน์หรือได้ประโยชน์เท่าใดนั้น อยู่ที่ตัวเจ้าของพึงต้องสร้างเอง”

“ประวัติชีวิต ร่างกาย สุขภาพ เราจึงเป็นผู้เขียน เป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเอง ชีวิตที่รุ่งเรือง ร่างกายที่แข็งแรง เราจึงต้องเพียรสร้างด้วยตนเอง… เปรียบดั่งต้นไม้ที่มีชีวิตย่อมต้องแตกใบ

ต้นไม้ที่ไม่แตกใบก็คือต้นไม้ที่ตายแล้ว และภาษิต ‘ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ ปลาตายลอยตามน้ำ’..ฉันใดฉันนั้น”

Advertisement

เมื่อพูดถึงภูมิปัญญาไทยในเรื่อง “นวด” นี้ หลายคนไม่เว้นแม้ผู้เขียนต่างอยากรู้ว่า ประวัติความเป็นมาของวิชาวิธีการนวดแผนโบราณ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชนชาวไทยโดยเฉพาะ จนได้กลายเป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ ในความ “อัศจรรย์” สามารถบำบัดรักษาโรคปวดเมื่อย ที่เป็นธรรมชาติที่สุด มีผลเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ในที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อการศึกษาเจาะถึงเหตุผลและข้อมูลในทางลึกในเชิงวิชาการว่า การนำขึ้นจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในครั้งนี้ ว่า “นวดแผนโบราณของไทย” มีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงพอ เป็นที่ยอมรับได้จากสายตาชาวโลก มากน้อยเพียงใด?

ผู้เขียนจึงได้หาโอกาสเข้าพบกับเภสัชกร ปรีดา ตั้งตรงจิตร เจ้าของและ ผอ. “ศูนย์สุขภาพเชตวัน” ศาลายา นครปฐม ผู้คร่ำหวอดในวิชาการด้านนี้ ซึ่งนอกจากจบเภสัชบัณฑิตจุฬาฯแล้ว ท่านยังมีดีกรีปริญญาโทจาก USA อีกด้วย กอปรกับประสบการณ์ในอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มาก่อน จึงนับว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความรู้และส่วนร่วมเชิดชู สร้างเสริม ภาพลักษณ์ให้กับภูมิปัญญาแผนนวดไทย ด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความภาคภูมิ ที่ได้ขยายช่องทางการนวดแผนโบราณดังกล่าวจากวัดโพธิ์ สู่ “ศูนย์สุขภาพเชตวัน” สำเร็จ

ผอ.ปรีดาได้เผยแก่ผู้เขียนว่า “นวดแผนโบราณ” เป็นภูมิปัญญาไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกให้รุ่นหลังอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะการนวดแผนโบราณดังกล่าวนี้ นับเป็นวิชาที่มีเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็นไทยที่คนต่างชาติรู้จักดี และเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษไทย ที่พวกเราต้องช่วยส่งเสริมผลักดันให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงคุณค่า ด้วยการนำขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมไทยตามดำริของรัฐบาลชุดนี้ ถือว่าเป็นนโยบายที่น่าชื่นชม ทั้งนี้ เนื่องเพราะวิชาการนวดแผนโบราณไทย คือการใช้ “ศิลป์” ในวิธีนวด และเป็นทั้ง “ศาสตร์” ที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ ซึ่งสามารถบำบัดรักษาโรคปวดเมื่อยที่เป็นธรรมชาติที่สุด โดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง และผลข้างเคียงที่เป็นภัยต่อสุขภาพ ร่างกาย..

ในสมัยโบราณ มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับการนวด ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.2204 ซึ่งลงบันทึกในจดหมายเหตุของทูตฝรั่งเศส ไซมอน เดอลูแบร์ ได้กล่าวเล่าถึงผลดีของการนวด ตั้งแต่สมัยนั้น

ภูมิปัญญา “นวดแผนโบราณไทย” นี้ได้ถูกถ่ายทอดให้ลูกศิษย์เป็นวิทยาทานต่อๆ มา โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ประชุมรวบรวมตำรา “นวด” และท่า “ฤๅษีดัดตน” มาเก็บรวบรวมจารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่การสาธารณสุข

ในปี พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้แพทย์หลวงจัดสังคายนาและแปลตำราแพทย์ จากภาษาบาลีและสันสกฤตมาเป็นภาษาไทย จัดหมวดหมู่และทำเล่มเรียกว่าตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) ซึ่งมีภาควิชาหัตถศาสตร์ เรียกว่า… “ตำราแบบนวดฉบับหลวง” รวมอยู่ด้วย

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2505 หมอผล ถมยานิ่ม และคณะ ได้ตั้งโรงเรียนสมาคมแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) และได้เริ่มเปิดสอนการนวดแผนโบราณขึ้น โดยเชิญอาจารย์หมอนวดมาเป็นผู้สอน ซึ่งยังคงยึดหลักการการสอนด้วยวิธีครูบอกต่อ ต่างคนต่างสอนตามความชำนาญพิเศษเฉพาะตัว

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2534 ทางโรงเรียนนวดแผนโบราณวัดพระเชตุพนฯโดยคุณพ่อ “กำธร ตั้งตรงจิตร” อดีตนายกสมาคมแพทย์แผนโบราณ ได้ดำริให้จัดทำตำราการนวดเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการสอนและการนวดขึ้น จึงได้เชิญอาจารย์สอนนวดในวัดโพธิ์ทั้ง 18 ท่านมาร่วมประชุมสัมมนาจัดวางแนวทางเพื่อทำตำราการนวดฉบับมาตรฐานขึ้น ที่ประชุมได้ลงมติให้ถือเส้นประธานทั้งสิบเส้นของการนวดเป็นหลัก โดยจัดผังและลำดับการนวดให้ผ่านจุดในแนวเส้นประธานทั้งสิบด้วยวิธีที่ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติ ส่วนท่าดัดก็ให้ดัดเฉพาะท่าที่ปลอดภัยและให้ผลดีไว้

สำหรับท่าใดที่ไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือไม่เหมาะสมก็ให้แยกยกออกไปไว้ต่างหาก สำหรับท่าดัดเหล่านี้ผู้ใดจะนำไปปฏิบัติ พนักงานนวดจะต้องรู้จริง และต้องไตร่ตรองถึงคุณ ถึงโทษตลอดจนความปลอดภัยเป็นหลักสำคัญ

เมื่อได้รับฟังถึงประวัติความเป็นมาจาก ผอ.ปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้สืบสานคุณค่าทางภูมิปัญญาไทย อันศาสตร์เพื่อการดูแลสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเครือโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ดังนี้ …จึงได้กระจ่างว่า ที่แท้แล้วภูมิปัญญาอันเป็น “ศาสตร์” ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อีกทั้งได้รับการศึกษาค้นคว้าจากเจ้านายชั้นสูงในพระราชวังมาก่อนจนเป็นตำรับตำราสืบทอดกันมานับร้อยๆ ปี ทำให้ผู้เขียนถึงบางอ้อ มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “นวดแผนโบราณไทย” มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สมควรจะได้รับการผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลครบถ้วนทุกประการ

เมื่อได้ทราบข้อมูลในเรื่องของการรักษาในระบบ “แผนโบราณ” แล้ว เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงได้สอบถามไปยังการแพทย์ “แผนปัจจุบัน” ที่โรงพยาบาลซึ่งโด่งดังในด้านการผ่าตัดหัวเข่าและระบบกระดูกโดยตรง เป็นการศึกษาเชิงวิชาการดูบ้าง

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธฯแห่งโรงพยาบาลกลาง กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า…”การนวดแบบ ‘แผนโบราณ’ นั้นมีส่วนทำให้เส้นที่ตึงเกินไป อันเป็นเหตุแห่งความเจ็บปวด คลายตัวลง ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ จึงไม่เกิดผลข้างเคียง และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ฉะนั้น การที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน ‘ชู’ ให้สู่มรดกโลก ทำให้ชาวโลกได้รู้จักภูมิปัญญาไทย จึงเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนครับ”

ดังนั้น การที่รัฐบาลปัจจุบันได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของ “นวดแผนโบราณ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยแท้ โดยการกำหนดเป็นนโยบายมอบให้ สบส.ดำเนินการผลักดันให้นำขึ้นจดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้นั้น นอกจากจะทำให้ชื่อเสียงประเทศชาติขจรดังไปทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมวิชาชีพอันเป็นคุณประโยชน์ที่ส่งผลดีแก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการในขณะเดียวกันอีกด้วย…ว่าไหม?

ผู้เขียน จึงต้องปรบมือให้..”วิชั่น” อันกว้างไกลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ที่ให้การสนับสนุนและกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วยความชื่นชม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image