แฟลชสปีช : สู้วิกฤตด้วยการ‘ปิดตาตัวเอง’

ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบันที่ 29 ที่ลงนามโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ซึ่งกำหนดให้ กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปจัดการกับ “ข้อมูลข่าวสารที่เห็นว่าอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือน ฯลฯ” โดยให้ กสทช.ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ในไอพี (IP Address) นั้นทันที และให้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายนั้น

กำลังถูกผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารวิเคราะห์ว่า เป็นคำสั่งที่เลอะเทอะ กระทบต่อการพัฒนาประเทศ และขยายปัญหาการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในยุคสมัยที่โรคร้ายโควิด-19 ระบาดร้ายแรง ทำให้ต้องล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ ของประเทศก่อปัญหาต่อการประกอบอาชีพอยู่แล้วหรือไม่

ทั้งที่เพราะหากเป็นคำสั่งที่ผู้สั่งพอรู้เรื่องรู้ราวกับเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่อยู่บ้าง จะต้องมีความเข้าใจอยู่บ้างว่า “IP Address” ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในโลกอินเตอร์เน็ตคือ “เลขที่บ้าน”

บ้านเลขที่หนึ่งอาจจะหมายถึงน้องเล็กๆ ที่มีคนอยู่คนเดียว ไปจนถึงตึกใหญ่ที่สารพัดสำนักงานของบริษัทเอกชนร่วมกันใช้พื้นที่อยูู่ในนั้น มีคนใช้งานอยูู่จำนวนมาก

Advertisement

เป็นบ้านเลขที่เดียวกันได้หรืออาจจะมีคนอาศัยใช้ร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาก เท่าที่ขนาด และกำลังของ “Router Wireles” นั้นจะรองรับได้

ใน “IP Address” หนึ่ง อาจจะมีคนใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตอยู่สารพัดแบบ บางคนอาจจะเข้าข่ายที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องการให้ถูกลงโทษ แต่บางคนหรืออีกหลายคนใช้แค่หาความบันเทิง หรือกระทั่งทำมาหากินด้วยการสร้างสินค้า ขายสินค้าและบริการออนไลน์ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งเดียวในยุคโควิดระบาดที่จะเอาชีวิตรอดจากปัญหาปากท้องได้

การระงับใช้ “IP Address” เป็นการจัดการล็อกแบบ “เหมารวม” ไม่ว่าใครที่อยู่ในบ้านเลขที่นั้นถูกตัดขาดจากโลกภายนอกด้วยอินเตอร์เน็ตทั้้งหมด

Advertisement

จึงมีความคิดที่จะส่งเสียงตั้งคำถามว่า คนที่่ออกคำสั่งจินตนาการออกบ้างหรือไม่ว่า ความเดือดร้อนที่เกิดจากการจัดการแบบนั้น จะเป็นอย่างไร

และผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของคำสั่ง ซึ่งคงมีมากมาย ไปทำอะไรให้ จึงต้องมารับชะตากรรมที่เลวร้ายจากคำสั่งเหมารวมเช่นนี้

และจะว่าไป แม้แต่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นจาก กสทช. หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากรู้สึกรู้สาอะไรอยู่บ้าง ไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ไร้สำนึกและวิญญาณ มีความสามารถแค่ทำตามคำสั่งจนเกินไป ย่อมรู้ว่าคำสั่งที่ไร้จินตนาการต่อความเป็นไปในยุคสมัยของโลกแบบนี้ ในทางปฏิบัติแล้วจัดการยากมาก เพราะเสี่ยงต่อการอำนวยความเป็นธรรมให้ผู้คนตามหลักสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

การตีความว่าพฤติกรรมใดที่เป็นความผิด พฤติกรรมใดมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ศักดิ์สิทธิ์กว่าประกาศข้อกำหนดรองรับ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย และหากถูกฟ้องร้องขึ้นมา ความยุ่งยากย่อมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมั่นใจในกลไกอำนาจว่าจะเข้าข้างสักเท่าไรก็ตาม เพราะถึงที่สุดแล้ว ทิศทางของยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้กำหนดอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับคดีจะสิ้นสุดในยุคสมัยของการใช้อำนาจแบบไหน

ประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่ว่า บังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านต่อต้าน และพยายามอธิบายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนที่วิกฤตในหลายมิติอยู่แล้ว ให้ยุ่งยากลำบากในการใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่การใช้อำนาจด้วยสำนึกเช่นนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

และหากจะว่าไปแล้ว หากพิจารณาว่าระหว่างการจัดการให้ประชาชนพ้นภัยจากโควิด-19 ที่ยังโกลาหล และท้าทายความสามารถในการรับมือในทุกมิติ

กับเรื่องราวของข้อมูลข่าวสาร ที่แค่ใช้สติปัญญาไตร่ตรองให้เป็นย่อมอ่านออกอยู่แล้วว่าอะไรควรเชื่อไม่ควรเชื่อ ถ้าไม่หมิ่นแคลนความสามารถในการวิเคราะห์ประเมินของประชาชนส่วนใหญ่จนเกินไป ย่อมรู้ว่ามีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่วิตกจริตไป

อะไรจำเป็นเร่งด่วนกว่าในการทุ่มเทใส่ใจเพื่อจัดการ

แต่ก็นั่นแหละ การตัดสินใจว่าอันดับความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องจัดการก่อนหลัง ย่อมขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการจัดการว่าจะเห็นอะไรควรจัดการก่อนระหว่าง ทุกข์มหาศาลของประชาชนที่อยู่กันอย่างสิ่้นหวัง

กับการปกป้องความรู้สึกว่าตัวเองจากข้อมูลข่าวสารที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการทั้งที่เป็นอยู่ และกำลังจะเป็นไป

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image