ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2559 (ฉบับ อ.มีชัย) เกี่ยวกับ’การศึกษา’ เข้าใจยากและก่อให้เกิดความสับสนจริงหรือ โดย วิรัตน์ นรินทร์

นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ (แฟ้มภาพ)

มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (วรรคสอง) รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา ก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย…

ตามมาตราดังกล่าวมีประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจบางประเด็น แต่ก่อนจะพิจารณาประเด็นใดบ้าง จะต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นในระดับการศึกษา และระบบการศึกษาของไทยเสียก่อนดังต่อไปนี้ คือ

1.ปัจจุบันการศึกษาของไทย แบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 4 ระดับ ตามช่วงอายุของเด็ก (ผู้รับการศึกษา) ดังนี้

1.1 ระดับก่อนประถมศึกษา (หรือก่อนวัยเรียน หรืออนุบาล หรือปฐมวัย) 1 หรือ 2 หรือ 3 ปี (อายุ 5 ปี หรือ 4-5 ปี หรือ 3-5 ปี)

Advertisement

1.2 ระดับประถมศึกษา 6 ปี (อายุ 6-11 ปี)

1.3 ระดับมัธยมศึกษาแบ่งเป็น มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (อายุ 12-14 ปี) และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (อายุ 15-17 ปี) โดยมัธยมศึกษาตอนปลายแบ่งเป็นสองสาย คือ สายสามัญ และสายอาชีพ (ปวช.)

1.4 ระดับอุดมศึกษา

Advertisement

2.การศึกษาไทยมี 2 ระบบ คือ ระบบโรงเรียนกับระบบนอกโรงเรียน และการศึกษานอกโรงเรียนมีหลายรูปแบบ

3.การศึกษามีความสำคัญและจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดโดยบังคับให้ผู้ปกครองของเด็ก หรือเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนทุกคนจะต้องส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนในระดับที่รัฐเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะไม่สามารถบังคับได้ทุกระดับ ด้วยเหตุข้อจำกัดด้วยงบประมาณ และเมื่อบังคับให้เข้าเรียนแล้วก็จะต้องจัดให้เรียนฟรี และเป็นการศึกษาภาคบังคับ

4.การศึกษาภาคบังคับจะต้องเป็นการศึกษาฟรี แต่การศึกษาฟรีไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับ ดังนั้น ควรแยกกันให้ชัดเจน สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ระบุการศึกษาฟรี 12 ปี (ไม่เก็บค่าใช้จ่าย) ไม่ระบุการศึกษาภาคบังคับ แต่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยบังคับ 9 ปี คือประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี

ตามมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ 2559 (ฉบับ อ.มีชัย) มีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ดังนี้

1.วรรคแรกของมาตรานี้กำหนดให้เด็กทุกคน ได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งแปลว่าการศึกษาภาคบังคับมี 12 ปี โดยเข้าเรียนในโรงเรียนในระดับก่อนวัยเรียน (ระดับก่อนประถมศึกษา) 3 ปี คือ ชั้นอนุบาล 1-2-3 และต่อระดับประถมศึกษา 6 ปี (ป.1-ป.6) จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (ม.1-ม.3)

จึงเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดให้ผู้ปกครองจะต้องส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ (ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน) ติดต่อกันไปจนถึงอายุ 14 ปี (ม.3) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หมายความว่าบังคับให้เด็กเข้าเรียนตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ซึ่งโดยปกติทั่วไปเรากำหนดให้ระดับประถมศึกษาเป็นระดับเด็กอยู่ในวัยเรียนต้องเข้าเรียน โดยพิจารณาจากพัฒนาการของเด็กในช่วงอายุ 6 ปี 6 เดือน เป็นช่วงอายุที่มีความพร้อมที่จะเรียน เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ขยายการศึกษาภาคบังคับลงไปจนถึงระดับก่อนวัยเรียนควรจะได้อธิบายถึงความจำเป็นให้ชัดเจนว่ามีความสำคัญ และความจำเป็นแค่ไหนอย่างไร

2.วรรคสองของมาตรานี้ กำหนดให้เด็กเล็กได้รับการดูแล และพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง…

จะเห็นได้ว่าเด็กเล็กซึ่งอายุ 1-2 ขวบ ก่อนจะเข้าเรียนในโรงเรียนเมื่อถึงอายุ 3 ขวบ เด็กเล็กดังกล่าวจะต้องได้รับการดูแลและการพัฒนาไม่ใช่ได้รับการศึกษา เพราะเด็กอายุ 2 ขวบ ยังไม่พร้อมจะเรียน เพียงแต่จะต้องได้รับการเลี้ยงดู การดูแล การพัฒนา การส่งเสริมเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กตามสมควรแก่วัยเด็กเล็ก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่จะเป็นหน่วยงานใด องค์กรใด และจะดูแลอย่างไร พัฒนาอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ในรูปแบบใด คงต้องพิจารณาต่อไป แต่ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับแน่นอน และไม่ใช่เข้าเรียนในโรงเรียนแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image