เดือนประวัติศาสตร์ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเข้าสู่เดือนตุลาฯ ในเชิงประวัติศาสตร์การเมือง มีความสำคัญ เพราะจะครบ 40 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

40 ปี หรือ 4 ทศวรรษ ถือว่ายาวนานไม่น้อย อาจทำให้ความทรงจำ ความรู้สึกบางอย่างจืดจางไป

ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ต อาจจะต้องไปรื้อหนังสือเก่าๆ มาอ่าน พบบ้างไม่พบบ้าง จำได้บ้างไม่ได้บ้าง

แต่โลกยุคนี้ช่วยให้ 6 ตุลาฯ เมื่อ 40 ปีก่อนอยู่ใกล้ๆ แค่ปลายนิ้วนี้เอง

Advertisement

เพราะในโลกออนไลน์ บทความ ข้อเขียน ภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งที่บอกเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาฯ มีให้ศึกษาเต็มไปหมด

คนที่เชื่อว่า มีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวสักพัก ก็ลืมๆ กันไป จะอาศัยเวลามาฟอกตัว ต้องคิดใหม่

วิกีพีเดียให้ข้อมูลว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน

Advertisement

ขณะที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ให้ตัวเลขประมาณการผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการกว่า 100 คน

นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้สิ้นลมกันอย่างธรรมดาๆ แต่ถูกกระทำทารุณกรรม ตั้งแต่ยังมีลมหายใจ กระทั่งหมดสติ ยังกระทำย่ำยีจนสิ้นใจ ด้วยวิธีการอันวิปริตผิดมนุษย์

ต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมากที่ไปมุงดูเหตุการณ์ หรือต้องไปต่อรถเมล์ประจำทางที่สนามหลวงในเช้าวันนั้น

ก่อนหน้า 6 ตุลาฯ 2519 คือยุคประชาธิปไตย ที่กลับคืนมาสู่คนไทยในช่วงสั้นๆ เริ่มต้นหลังจาก 14 ตุลาฯ 2516 ขับไล่ผู้ปกครองเผด็จการออกนอกประเทศไป

จาก 2516-2519 มีรัฐธรรมนูญ 2517 ที่ถือว่า เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

นักเรียนนักศึกษามีบทบาทสูง มีการขับไล่อเมริกาที่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ บินไปทิ้งระเบิดเวียดนาม ลาว

คนชั้นสูง ข้าราชการในเวลานั้น เชื่อว่า ฐานทัพอเมริกาช่วยต้านภัยคอมมิวนิสต์ จึงโกรธเคืองนักศึกษามาก หาว่ารับแผนจากจีน-สหภาพโซเวียต ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ที่โกรธอเมริกา เพราะไม่หนุนรัฐประหาร

มีเลือกตั้ง 2 ครั้ง ได้นายกฯจากการเลือกตั้ง 2 คน คนแรกได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งพรรคกิจสังคม

และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงเกิดเหตุ

รัฐบาล ปชป. รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยในตอนนั้น สิ้นสภาพลง ด้วยรัฐประหารในตอนเย็นวันเดียวกัน

เป็นรัฐประหารที่คณะทหารผู้ก่อการเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

นับเป็นนวัตกรรมใหม่ในเวลานั้น เพราะมาแทนที่คำว่า “คณะปฏิวัติ” ที่ใช้มาตลอด

ผลของ 6 ตุลาฯ ทำให้นักศึกษาประชาชน เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธสู้กับรัฐบาล

ประเทศอยู่ภายใต้แนวคิดขวาจัด เกิดการสู้รบในป่าเขา แต่สุดท้าย ด้วยแรงกดดันจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ

ทหารเองต้องหมุนพวงมาลัยประเทศกลับสู่เส้นทางปกติ ด้วยการรัฐประหารปลดรัฐบาลที่ตัวเองหนุนอยู่ ในวันที่ 20 ต.ค.2520

แล้วเริ่มการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ที่เรียกกันว่าฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ

และว่ากันว่าเป็นญาติๆ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image