เรียนรู้จากอินเดีย

ในปัจจุบัน จีนกับอินเดียมีประชากรใกล้เคียงกันประมาณ 1,400 ล้านคน แต่คาดว่าในอีกสามสิบปีข้างหน้า จะมีชาวอินเดียประมาณ 1,700 ล้านคน ขณะที่ชาวจีนจะมีจำนวนลดลงเล็กน้อย เป็นประมาณ 1,300 ล้านคน ประเทศไทยอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอินเดียและทางใต้ของจีน ผู้ที่อาศัยในคาบสมุทรนี้ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียและจีนมาโดยตลอด คนไทยจำนวนมากมีบรรพบุรุษเป็นจีนหรือมีเชื้อสายจีน เข้าใจว่ามีมากกว่าคนไทยเชื้อสายอินเดีย เพราะผู้อพยพเข้ามาในคาบสมุทรนี้ ถ้ามาจากจีนมักเป็นพ่อค้าหรือชาวชนบทที่ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยมนุษย์ ถ้ามาจากอินเดียก็คงคล้าย ๆ กัน แต่จะมีชนชั้นวรรณะพราหมณ์ที่มาเผยแผ่โลกทัศน์และพิธีกรรมพราหมณ์แก่ชนชั้นปกครอง และมีชาวอินเดียและศรีลังกาที่มาเผยแผ่ศาสนาพุทธรวมอยู่ด้วย

กล่าวได้ว่าศาสนาไทยหมายรวมถึง ผี (หมายถึงความเชื่อของคนพื้นถิ่นที่ยังคงมีอยู่) พราหมณ์ (หมายถึงความเชื่อทางจักรวาลวิทยาและสังคมไตรภาค (ternary society)) และพุทธ แนวคิดเรื่องสังคมไตรภาคได้รับการศึกษาโดย Thomas Piketty และนำเสนอไว้ในหนังสือชื่อ “ทุนและอุดมการณ์” (ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2019) เพื่ออธิบายถึงวิวัฒนาการของเศรษฐกิจ-สังคมของยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ฯลฯ โดยเน้นในเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ภายในและในระหว่างสังคมดังกล่าว ตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจตัวหนึ่งคืออัตราส่วนระหว่างรายได้ของคนรวยที่สุด 10% รวมกัน กับรายได้ของคนจน 50% รวมกัน จากตัวบ่งชี้ในปี ค.ศ. 2018 ที่พีเก็ตตีนำมาแสดง ทำให้จัดประเทศอย่างคร่าว ๆ จากกลุ่มเหลื่อมล้ำน้อยกว่าสู่กลุ่มเหลื่อมล้ำมากกว่า ได้เป็นสี่กลุ่มดังนี้ 1) ประเทศเสรีประชาธิปไตยในยุโรป อัตราส่วนดังกล่าวมีค่าเท่ากับ 8 เท่า (หมายความว่า ถ้าสมมุติมีคนร้อยคน คนรวย 10 คนมีรายได้มากกว่าคนจน 50 คนอยู่ 8 เท่า อันที่จริง หากทุกคนมีรายได้เท่ากัน 10 คนต้องมีรายได้น้อยกว่า 50 คนอยู่ 5 เท่า) 2) ประเทศที่เคยมีเศรษฐกิจตามการวางแผนของส่วนกลางและได้เปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจแบบตลาด (เช่น จีน และรัสเซีย) มีอัตราส่วนความเหลื่อมล้ำเท่ากับประมาณ 14 เท่า 3) ประเทศที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีมาก ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล มีอัตราส่วนเท่ากับประมาณ 20 เท่า 4) ประเทศที่มีบุญหรือกรรมเก่า เช่น ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ มีอัตราส่วนมากกว่า 30 เท่าโดยประมาณ

ความเหลื่อมล้ำมีเหตุปัจจัยมากมาย จึงไม่เที่ยง คือแปลงเปลี่ยนไปเมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยน เหตุปัจจัยหนึ่งคือความเป็นสังคมประเพณี (traditional) ซึ่งได้แก่สังคมที่ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ 1) ขุนศึก-ขุนนาง (nobility) 2) ผู้บวช-เรียน (clergy) และ 3) พ่อค้า ผู้ใช้แรงงานและคนอื่น ๆ ที่อยู่ใต้การปกครองหรือใต้อิทธิพลทั้งทางตรงและทางความคิดของสองกลุ่มแรก พีเก็ตตีจึงเรียกสังคมเช่นนี้ว่าเป็นสังคมไตรภาค โดยมีสมมุติฐานว่า ปัจจัยหนึ่งของความเหลื่อมล้ำคือโครงสร้างทางสังคม และสังคมประเพณีที่เป็นไตรภาคต้องวิวัฒนาการไปจึงจะปลดปล่อยคนจำนวนมากที่ถูกกดโดยชนชั้นขุนศึก-ขุนนางและชนชั้นผู้บวช-เรียน

ในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ประชากรของผู้บวช-เรียนในยุโรปมีสัดส่วนประมาณ 3% แต่พอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สัดส่วนนี้ลดเหลือประมาณ 1% ส่วนประชากรขุนศึก-ขุนนาง (หมายถึงผู้มีบรรดาศักดิ์) ได้ลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน จากประมาณ 1% เหลือประมาณครึ่งเปอร์เซนต์ สำหรับประเทศที่ก้าวหน้ากว่า เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สวีเด็น เป็นต้น ขณะที่บางประเทศ เช่น สเปน โปรตุเกส โปแลนด์ มีขุนนาง-ขุนศึกในสัดส่วนสูงกว่า เช่น ประมาณ 6.5 % เพราะส่วนใหญ่มีเพียงบรรดาศักดิ์แต่ครองสมบัติน้อยกว่า แต่สัดส่วนก็ลดลงเช่นกัน ต่อจากนั้น สังคมยุโรปได้เคลื่อนตัวจากสังคมไตรภาคไปเป็นสังคมที่ใช้แรงงานทาส (ส่วนใหญ่จากแอฟริกา) และไปเป็นสังคมเจ้าอาณานิคม จนกระทั่งมีการเลิกทาสและการปลดปล่อยอาณานิคมในที่สุด กล่าวโดยสังเขปคือ ความเหลื่อมล้ำได้ลดลง และลดลงอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงการล่มสลายขอสหภาพโซเวียต โชคไม่ดี หลังจากนั้น ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มขึ้นอีกจากนโยบายทุนนิยมที่สุดโต่งนั่นเอง

Advertisement

ในแง่การเคลื่อนตัวออกจากสังคมประเพณีที่เป็นแบบไตรภาคนั้น อินเดียเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก ชาวอินเดียถือศาสนาฮินดู-พราหมณ์ประมาณ 80% ถือศาสนาอิสลามประมาณ 14% ที่เหลือ 6 % ถือศาสนาอื่น ๆ ผู้ที่ถือศาสนาฮินดู-พราหมณ์ยังคงเชื่อหรือถือปฏิบัติระบบวรรณะ (caste) ไม่มากก็น้อย แม้ในทางนิตินัยได้พยายามยกเลิกระบบนี้ไปแล้ว ระบบวรรณะแบ่งชาวฮินดูออกเป็นวรรณะพราหมณ์ (ตรงกับชนชั้นผู้บวช-เรียนในสังคมไตรภาค), กษัตริย์ (ตรงกับชนชั้นขุนศึก-ขุนนาง), แพศย์ได้แก่พ่อค้า-ประชาชน, และศูทรได้แก่ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา คนจน ที่เหลือถือว่าเป็นผู้ตกวรรณะที่แยกย่อยต่าง ๆ กันไป เช่น พวกจัณฑาล พวกทลิต พวก harijan (หมายความว่า Children of god ตามที่มหาตมะ คานธี ตั้งให้) แต่ทางการอินเดียจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ scheduled castes (SC) (หมายถึงวรรณะตามที่จำแนก), scheduled tribes (ST) (หมายถึงชนเผ่าที่ระบุ), และ other backward classes (OBC) (หมายถึงชนชั้นอื่น ๆ ที่ล้าหลังและต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากรัฐ)

ในแง่ของการเป็นสังคมไตรภาค (แม้กรณีของอินเดียจะซับซ้อนกว่านั้นมาก) ต้องถือว่าการเปลี่ยนแปล

ของสัดส่วนประชากรของชนชั้นบนทั้งสองของอินเดียเกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปดังที่กล่าวมาข้างต้น พีเก็ตตีให้ข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 1880 ประชากรอินเดียที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์มีประมาณ 6.5 % และที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์ประมาณ 3.7 % ในปี ค.ศ. 1930 มีประชากรในวรรณะพราหมณ์ประมาณ 5.6 % ส่วนวรรณะกษัตริย์กลับมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.2 %

Advertisement

มหาตมะ คานธีเกิดในวรรณะแพศย์ แต่เขามีใจที่เปี่ยมด้วยความกรุณาและความเห็นอกเห็นใจคนที่อยู่ในวรรณะที่ต่ำกว่า ซึ่งถูกคนในวรรณะที่สูงกว่ากดขี่ เหยียดหยาม กีดกันเหมือนไม่ใช่คนด้วยกันมาตลอด แต่ถึงอย่างไร เขาอาจไม่รู้สึกเหมือนคนผู้ถูกกดขี่เหล่านั้น เขาเห็นใจพวกเขา แต่ก็ยังเห็นด้านดีของระบบวรรณะ ในสุนทรพจน์หลายครั้ง คานธีปกป้องตรรกะของการเติมเต็มซึ่งกันและกันของผู้มีหน้าที่ต่างกัน เขาเห็นว่าการแบ่งหน้าที่เช่นนี้คือพื้นฐานของสังคมฮินดู พราหมณ์ในสายตาของเขาไม่ใช่คนที่หยิ่งทรนง หากเป็นผู้โอบอ้อมอารี พร้อมจะใช้ปัญญาและความรู้ในฐานะผู้ที่ได้เล่าเรียน มาทำประโยชน์แก่สังคมโดยรวม

ด้วยเหตุนี้กระมัง นักเขียนชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) จึงเขียนหนังสือชื่อ “บัณฑิตกับนักบุญ” เพื่อสืบค้นบริบทและทำความเข้าใจจุดยืนของคานธีในเรื่องวรรณะ โดยเปรียบเทียบกับทัศนะของ อัมเบดการ์ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญของอินเดีย เขาเป็นชาวทลิตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็ว่าได้ แต่ในที่สุดเขาไม่ยอมทนกับระบบวรรณะ และหันมาถือศาสนาพุทธ พร้อมเชิญชวนชาวทลิตจำนวนมาก ให้ปลดแอกของวรรณะ และหันมาเชื่อว่าทุกคนสามารถออกจากความทุกข์ได้เสมอเหมือนกัน

อรุณธตี รอยเขียนหนังสือนวนิยายหลายเล่ม เล่มแรกได้รับความนิยมมาก ชื่อว่า “เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็ก ๆ” ขอสารภาพว่าผมยังอ่านไม่จบ เพราะนิสัยขลาดกลัว กลัวว่าพระเอกกับนางเองที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะต้องข้ามวรรณะที่เป็นกำแพงขวางกั้นไปให้ได้นั้น จะแพ้ภัยเสียก่อน เลยตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่เคยทำ คืออ่านหน้าสุดท้าย คำสุดท้ายเขียนว่า “พรุ่งนี้” พวกเขาต้องยึดในสิ่งเล็ก ๆ กล่าวคือทุกครั้งที่แยกกัน มีเพียงคำสัญญาเล็ก ๆ ที่มอบให้แก่กัน นั่นคือ “พรุ่งนี้” อ่านแล้วอารมณ์อยู่ระหว่างความเศร้ากับความหวัง ถ้าสิ่งใหญ่เทพเจ้ายังไม่ให้ ก็ขอสิ่งเล็ก ๆ คือคำสัญญาว่าจะพบกันวันพรุ่งนี้ไปพลางก่อน

อีกเล่มหนึ่งชื่อ “กระทรวงสุขสุด ๆ” เนื้อเรื่องคือการต่อสู้กับความอยุติธรรมต่าง ๆ นานาในสังคมอินเดีย ตัวเอกของเรื่องชื่ออัญจุม อุปสรรคสำคัญสำหรับเธอคือการเกิดเป็นคนมีเพศทั้งสองอยู่ในตัวเอง ร่างกายออกไปทางชาย แต่ใจออกไปทางหญิง เพียงเท่านี้เธอก็ถูกสังคมรังเกียจอย่างสุด ๆ ส่วนนางเอกของเรื่องเป็นหญิงเก่ง ชื่อตีโล เธอมีชายที่รักเธอจริงสามคน เธอเลือกคนที่เป็นมุสลิม เกิดในแคชมีร์ แต่เขาถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับตำรวจอินเดียผู้กดขี่ชาวมุสลิม ชายอีกคนหนึ่งทำงานในราชการลับเพื่อปราบปรามกบฏแคชมีร์ คนทั้งสามที่รักเธอยอมสละทุกอย่างเพื่อช่วยเธอ แม้มีอุปสรรคเฉียดตายหลายหน แต่ความรักและความสัมพันธ์ข้ามขีดแบ่งของศาสนาดำรงอยู่ ความสุขดำรงอยู่เมื่ออัญจุมรับเด็กคนหนึ่งที่ถูกทิ้งมาเลี้ยงไว้ในสุสานที่เธอสร้างเป็น “กระทรวง” โดยมีสถาปนิกตีโลมาช่วยสร้าง

นวนิยายสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้ดี เพราะช่วยให้เห็นด้านหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ถ้าอยากรู้จักอินเดียในแง่มุมชีวิต ก็สามารถอ่านนวนิยายดี ๆ สักเล่ม สองเล่ม จะเห็นทั้งปัญหาและความหวัง สังคมไทยก็เช่นกัน มีทั้งความทุกข์และความหวัง เรามักมองข้ามด้านดี ๆ ของอินเดียที่มีมาแต่อดีตกาลจนปัจจุบัน เรามักให้เกียรติชาวยุโรปหรือชาวสหรัฐอเมริกา เพราะถือว่าพวกเขามีวิทยาการและเทคโนโลยีที่สูงล้ำกว่า แต่ในเชิงระบบคิดและปรัชญา อินเดียก็ไม่แพ้ใคร หนังสือของระวี ภาวิไลชื่อ “อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่” ย่อมแสดงความลุ่มลึกของความคิดและความเชื่อที่เผยแผ่มาจากอินเดียได้เป็นอย่างดี

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image