สุจิตต์ วงษ์เทศ : ช่างโบราณทำงานลอกเลียนซ้ำๆ สืบตามประเพณี ไม่มีใครอวดว่าคิดขึ้นเองโดยไม่ลอกเลียน

เจดีย์ทรงจอมแห องค์ระฆังข้างบนก่อเป็นริ้ว เลียนแบบแหของชาวประมงที่แผ่ผายออกเมื่อกางตากแดด วัดพระบาทน้อย นอกเมืองสุโขทัย ด้านทิศตะวันตก (ภาพจากหนังสือ ศิลปะสุโขทัย ของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

“ศิลปินที่ดี หยิบยืมมา

ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ขโมยเอา”

ข้อความยกมานี้ ลอกจากข้อเขียนเรื่องซึมซับ ลอกเลียน หรือขโมย? โดย ปณิธาน หล่อเลิศวิทย์ อยู่ในหนังสือสีสัน (ปีที่ 27 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2559 หน้า 24)

พระศรีศากยมุนี ฝีมือช่างแบบสุโขทัย ทำเลียนแบบงานช่างรุ่นก่อนๆ ปัจจุบันเป็นพระประธานในวิหารหลวงวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ
พระศรีศากยมุนี ฝีมือช่างแบบสุโขทัย ทำเลียนแบบงานช่างรุ่นก่อนๆ ปัจจุบันเป็นพระประธานในวิหารหลวงวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ

ศิลปะ

“ลายไทยเป็นของคนไทยแท้ๆ ไม่ได้ลอกเลียนมา และไม่เหมือนใครในโลกจริงไหม”  มีผู้เคยยกประเด็นขึ้นถามในวงสนทนา แล้วโยนให้ผมออกความเห็น

Advertisement

“ลายไทยลอกเลียนลายกระหนกของอินเดีย” ผมบอกไปอย่างนั้น

แล้วเพิ่มเติมรายละเอียดว่า กระหนกอินเดียแพร่มากับศาสนาถึงอุษาคเนย์ ราว พ.ศ. 1000 บรรดารัฐต่างๆ ที่อยู่ใกล้ทะเลก็รับไปพร้อมศาสนาเพื่อประดับศาสนสถาน

นานเข้าเมื่อมีชื่อชนชาติ มีรัฐชาติ ก็แยกเรียกตามชื่อนั้นๆ เป็นลายไทย, ลายลาว, ลายเขมร, ลายพม่า ฯลฯ แต่ล้วนลอกเลียนต้นตอเดียวกัน คือ ลายกระหนกอินเดีย

Advertisement

พระพุทธรูปในงานช่างของไทยและอุษาคเนย์ ก็ทำเลียนแบบงานช่างอินเดีย เพราะพระพุทธเจ้ามีถิ่นกำเนิดในอินเดีย คนอุษาคเนย์ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่รู้ผ่านคำบอกเล่าของนักบวชอินเดีย

งานช่างที่เรียกพุทธศิลป์จึงไม่ได้คิดขึ้นเองทั้งดุ้น แต่เลียนแบบงานช่างอินเดีย แล้วทำซ้ำๆ นานไปจนเกิดลักษณะเฉพาะของตัวเอง ไม่ว่าสุโขทัย หรืออยุธยา

ช่างโบราณยุคนั้นๆ ก็ไม่ได้อวดว่าคิดขึ้นเองโดยไม่ลอกเลียน แต่ทำซ้ำตามคัมภีร์จากอินเดีย แล้วลอกเลียนเป็นประเพณีต่อๆ กันมา

วิชาการ วรรณกรรมตัดปะ

งานวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อย        มีต้นแบบจากงานของนักปราชญ์และนักค้นคว้านักวิชาการตะวันตก

โดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ

แต่นักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งลอกทั้งดุ้นเป็นวรรณกรรมตัดปะ (คือตัดมาปะ) จากฝรั่งเศส, อินเดีย ฯลฯ แล้วทำเนียนเป็นของตัวโดยไม่อ้างอิงก็มีถมไป เห็นลอยหน้าลอยตาในมหาวิทยาลัยแทบจะเหยียบกันตาย

ลอกเลียน

ต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมาทั้งหมดแต่แรก เพียงจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้อ่านเพลินๆ สนุกสนานเท่านั้น

“เริ่มยังไงครั้งแรกๆ ที่เขียนหนังสือ ค้นหาแนวทางตัวเองแบบไหนถึงเขียนกลอน และเขียนเรื่องสั้น เขียนนิยาย” เป็นโจทย์สำเร็จรูปที่ผมต้องตอบผู้ตั้งคำถามที่มีเป็นครั้งคราวสม่ำเสมอเมื่อหลายปีมาแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีกะปริบกะปรอย

“เลียนแบบ” ผมโพล่งตอบอย่างนั้นทุกครั้ง “หรือจะเรียกลอกแบบก็ได้ กูทำทั้งลอกแบบกับเลียนแบบ ไม่คิดว่าจะสร้างสรรค์แนวทางอะไรได้ด้วยตัวเอง เพราะกูไม่ฉลาด เมื่ออยากเขียนหนังสืออย่างคนอื่นก็เลยเลียนแบบ”

“เลียนแบบยังไง เลียนแบบใคร” คำถามจิกติดให้ตอบ

“ไม้ เมืองเดิม” ผมตอบสวนทันควัน “เลียนแบบสำนวนลูกทุ่งแบบไพร่ๆ ของ ไม้ เมืองเดิม มึงวาพาโวย ไม่หยาบ แต่ไม่สุภาพ ผู้ดีไม่ชอบ แต่กูชอบ”

แล้วบอกเพิ่มเติมว่าแรกๆ ก็สะเปะสะปะ เพราะไม่ใช่คนอ่านหนังสือ โคตรเหง้าไม่ใช่นักอ่านหนังสือ ไม่มีหนังสือดีๆ และไม่เคยรู้จักหนังสือดีๆ จึงไม่มีประสบการณ์การอ่านอะไรมาก่อน จนได้ยินได้ฟังคำบอกเล่าซ้ำซากๆ ของพรรคพวกอย่าง เรืองชัย ทรัพย์         นิรันดร์, ขรรค์ชัย บุนปาน ถึงรู้จักงานประพันธ์ของยาขอบ, ไม้ เมืองเดิม ฯลฯ

อ่านยาขอบก่อน แต่ไปไม่รอด เพราะยืดยาดเยิ่นเย้อ ไม่ถูกใจ พอเปลี่ยนไปอ่านไม้ เมืองเดิม เลยได้เรื่อง ถูกจริต ติดสันดานทันที

“กูลอกแบบเลย ลอกสำนวนเกือบทุกกระเบียดนิ้ว อร่อยชิบหาย” ผมอดไม่ได้ที่จะบอกอย่างนั้น “ทุกวันนี้เผลอไม่ได้ เผลอเมื่อไรกูเป็นติดสำนวนไม้ เมืองเดิม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image