สิ่งที่อยู่ใน’หมวก’ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ขณะที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังแกะกล่องรัฐธรรมนูญผ่านสื่อของรัฐให้คนรู้จัก

อีกด้าน คำถาม “อะไรอยู่ในหมวก” ก็กำลังฮิต

แม้จะไม่มีสื่อของรัฐมาช่วย แต่ก็ดูเหมือนโหมลามไปเรื่อย

และไม่ได้มีเฉพาะ ฝ่าย “ตรงข้าม” เท่านั้น ที่โยนคำถามเข้าใส่

Advertisement

ฝ่าย “คนกันเอง” ก็ออกมาร่วมวงอย่างดุดันไม่แพ้กัน

และประเด็นที่ถามก็หนักหน่วง และแหลมคมอย่างยิ่ง

อย่างฝ่ายคนกันเอง ถามเรื่อง “สิทธิ” ของประชาชน ที่หายไปอย่างมากมาย

Advertisement

ส่งผลให้แนวทาง “ประชารัฐ” เสียดุล

โดย กรธ.ไปเทน้ำหนักไว้ที่ “หน้าที่” ฝ่ายรัฐข้างเดียว ขณะที่ “ประชา” ถูกริบเอาสิทธิไป

จนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีสมญามากมายอยู่แล้ว ได้สมญาไปอีกหนึ่ง

นั่นคือ รัฐธรรมนูญขุนนาง

ฟังแล้วก็ได้แต่เจ็บแสบแทนคนที่ร่าง

ว่ามาถึงตรงนี้แล้ว ก็ขอร่วมกระแส “อะไรอยู่ในหมวก” สักเรื่อง อยู่ในประเด็นเรื่อง “สิทธิ” ของชาวบ้านนี่แหละ

ในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

มาตรา 249 ตอนแรกก็ระบุไว้ดีอยู่หรอก

“สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการการเลือกตั้ง”

แต่ก็มาห้อยติ่งเอาไว้ ว่า

“ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น”

เริ่มได้กลิ่น “คนนอก” ขึ้นมาตะหงิดๆ

การเมืองระดับชาติ เปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอกเอาไว้แล้ว

การเมืองระดับท้องถิ่น ก็มีการเปิดช่องเอาไว้ด้วยเช่นนั้นหรือ

เพราะวรรคหลังที่ตีความได้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น นั้นหมายถึงใครก็ได้ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งใช่หรือไม่

ยังไม่หมดเพียงนั้น

ในมาตรา 249 ยังระบุอีกว่า

“หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้ (ผู้บริหารท้องถิ่น) มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ถึงบางอ้ออีกเรื่อง

“อ้อ” เพราะเขาซ่อนเอาไว้ในหมวกอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ การปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วย

และมาโดยวิธี “อื่น” ซึ่งก็หมายถึง ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้นั่นเอง

อยากจะให้ กรธ.ออกมาตอบโต้ว่า เป็นความเข้าใจผิดจัง เพราะจะได้สบายใจว่า “สิทธิ” ของชาวบ้านในการปกครองตนเองยังอยู่เหมือนเดิม

แต่อ่านอย่างไรๆ รู้สึกไปในทางเดียว คือ เขาซ่อน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” เอาไว้ในหมวกอีกเรื่อง

และเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องเดียว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ซ่อนไว้

ซึ่งหากช่วยกันอ่าน ช่วยกันทำการบ้านดีๆ เราคงได้เห็นอะไรในหมวกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ตัดสินใจในขั้นการลงประชามติได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ตอนนี้มีการข้ามช็อต มองไปถึง “แผนสำรอง” ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลกันแล้ว

เพราะแนวโน้มที่รัฐธรรมนูญจะไปไม่รอดมีมากขึ้นทุกที

โดย “แผนสำรอง” ว่ากันว่าก็มีหลายแผน ตั้งแต่แผนชิงล่มเรือก่อนทำประชามติ ไปจนถึงแผนรับมือหลังไม่ผ่านประชามติ ซึ่งก็คงมีรายละเอียดแตกต่างกัน

แต่แนวหลักๆ ก็คงไม่หนีไปจากแนวทางที่มีการพูดกันคือ ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เป็นหลัก แล้วตัดต่อพันธุกรรมที่ต้องการเข้าไป

โดยกระแสที่มาแรงและพูดกันมากตอนนี้ คืออาจเปิดฟรี ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค

ให้การเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก ขจัดการต่อรอง และบริหารจัดการง่าย

ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ออกมาตีปลาหน้าไซ เรื่องมีคนกำลังพยายามจัดกองผ้าป่า ส.ส. กองละ 10 คนนั้น

อาจจะมีเค้ามาจากเรื่องนี้ก็ได้–โปรดติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image