ความซับซ้อนของความรุนแรง และการสลายการชุมนุม

ท่ามกลางความตึงเครียดของความขัดแย้งในสังคมไทย การชุมนุมและการสลายการชุมนุมภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อ 7 สิงหาคม 2564 ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายถึงความเหมาะสมในการชุมนุมและการสลายการชุมนุม

การชุมนุมทางการเมืองนับจากปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงเวลานี้มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ แถมมีเจ้าภาพอีกหลายกลุ่ม ไล่เรียงมาตั้งแต่ความเห็นในอินเตอร์เน็ต มาจนถึงการชุมนุมบนท้องถนน

การชุมนุมบนท้องถนนในปัจจุบันนั้นก็มีความหลากหลายในรูปแบบ นับตั้งแต่การปราศรัย การเดินขบวน การมีกิจกรรมบนถนน การปะทะกับตำรวจ และทำลายทรัพย์สินของราชการ (แต่เป็นราชการที่เชื่อมโยงกับเขาในฐานะคู่ขัดแย้ง คู่ปะทะ โดยเฉพาะกับตำรวจ) รวมไปถึงการทำคาร์ม็อบ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะต้องเข้าใจในบริบทของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกมาด้วยมุ่งไปที่การจัดการการแพร่ระบาด แต่ในทางปฏิบัติและในทางการเมืองก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการห้ามและสลายการชุมนุมในครั้งนี้ และในครั้งที่ผ่านๆ มา

Advertisement

ในฐานะผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในตัวกฎหมายการชุมนุมและหลักสากลในการชุมนุมและสลายการชุมนุม ผมก็เลยอยากจะให้มุมมองในฐานะคนนอก หรือคนที่อยู่นอกวงถกเถียงในตัวกฎหมาย เพราะเท่าที่เห็นการถกเถียงในเรื่องของสิทธิในการชุมนุมและสิทธิในการสลายการชุมนุม ในพื้นที่ความเห็นต่างๆ ผมคิดว่าในช่วงนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ในเรื่องสองสามเรื่อง

เรื่องแรกก็คือ การชุมนุมนั้นทำได้ไหมในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

เรื่องที่สองก็คือ ขอบเขตของการชุมนุมนั้นอยู่ที่ไหน ทำอะไรได้บ้าง

Advertisement

เรื่องที่สามก็คือ การสลายการชุมนุมนั้นทำได้ไหมที่ทำไปนั้นได้สัดส่วนกับการชุมนุมไหม เกินกว่าเหตุไหม

ผมไม่อยากพูดว่ามันมีหลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์ในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเป็นวิธีคิดที่เก่าและเชยมาก และไม่เข้าใจความซับซ้อนในเรื่องของกฎหมายว่าเต็มไปด้วยการตีความ ไม่ใช่มีความถูกต้องหนึ่งเดียว และที่สำคัญในกฎหมายมีการเมือง และกฎหมายก็คือการเมืองในรูปแบบหนึ่ง

อีกมิติหนึ่งที่ชอบเอามาพูดกันก็คือ การสลายการชุมนุมนั้นเป็นไปตามหลักสากลไหม ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่คิดว่ารัฐไทยนั้นแคร์กับเรื่องหลักสากลอะไรหนักหนา ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่แคร์แบบไม่สนใจเสียทีเดียว แต่หมายถึงว่ารัฐไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นก็มีแผน มีคู่มือ และความเข้าใจหลักสากลในแบบของตัวเอง

ปัญหาใจกลางของเรื่องการชุมนุมและการสลายการชุมนุมจึงไม่ใช่เรื่องของข้อกฎหมาย แต่เป็นการเมืองของการใช้กฎหมายที่มีเงื่อนไขหลายประการ ทั้งเรื่องของหลักสากลที่ต่างฝ่ายต่างอ้าง หลักการกฎหมายในประเทศที่ต่างฝ่ายก็ต่างอ้าง และหลักของกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นเงื่อนไขใหม่ในห้วงเวลาในช่วงนี้

ที่พูดว่าต่างฝ่ายต่างอ้างอิงนั้นก็หมายความว่า การตีความกฎหมายตามตัวบทนั้นไม่มีความตายตัวมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และที่สำคัญก็คือการตัดสินเองนั้นก็ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมของตัวองค์กรที่ตัดสิน และรัฐบาลด้วย

ในประการแรก เรื่องของการนัดชุมนุมนั้นหากจะพิจารณาว่าการชุมนุมทำได้ไหม เราก็จะพบว่าโดยหลักการสากลนั้นชุมนุมได้ เพราะเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และมีกรอบกติการะหว่างประเทศที่รองรับสิทธิดังกล่าว คำถามที่ตามมาก็คือ หลักสากลเขารองรับเฉพาะการชุมนุมที่เรียกว่า peaceful หรือสงบสันติ

เรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะในการเมืองภาคการปฏิบัตินั้น ข้อถกเถียงสำคัญว่าสิ่งที่เรียกว่าการชุมนุมที่สงบสันติที่ชอบมีการขยายต่อด้วยว่าปราศจากอาวุธนั้นหมายถึงอะไร

และเรื่องของการตีความนี้ไม่ได้มีแต่ในสังคมไทยเท่านั้น ในสังคมประชาธิปไตยเองก็มีปัญหานี้อยู่ไม่น้อยในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่มีการชุมนุมประท้วงหลายพื้นที่ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจในการจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ จนถึงขั้นเสียชีวิต ตามมาด้วยการใช้กำลังของตำรวจในการปราบปรามและสลายการชุมนุมประชาชนในหลายพื้นที่ ถึงกับมีการบันทึกว่า มีกิจกรรมการชุมนุมที่ถูกสลายด้วยความรุนแรงและเป็นความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุไม่น้อยกว่าเก้าพื้นที่ (Dakin Andone. In one week there were at least 9 instances of police using excessive force caught on camera. CNN. 7 June 20)

ผมคิดว่าเรื่องของการมองคำจำกัดความว่าอะไรคือการชุมนุมที่สงบสันตินั้นก็ปวดหัวจะแย่ เพราะในสังคมที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยเขาถกเถียงกันจะเป็นจะตายในเรื่องนี้ แต่ในบ้านเราไม่ต้องถกเถียงกันมากเลย เพราะอ้างเลยว่า เรามี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ต้องขออนุญาตก่อนการชุมนุม และยิ่งมีกฎหมายห้ามชุมนุมในตอนนี้ทั้งที่ในรายละเอียดก็ยังถกเถียงว่าห้ามชุมนุมไปทุกเรื่องหรือห้ามเฉพาะที่จะเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด ในมุมของรัฐไทยโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลสถานการณ์เขาก็พร้อมจะมีหลังพิงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

พูดง่ายๆ ก็คือโดยปฏิบัติการทางอำนาจในสังคมไทยภายใต้กรอบกฎหมายแบบที่ออกมาและนำไปตีความกันมาตลอดนั้น ไม่ได้เอื้อให้การอ้างอิงหลักการสากลทำงานได้เลย และหลักการสากลที่ถูกนำมาอ้างฝ่ายตำรวจเองก็มีการตีความแปลความหลักการสากลไปอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะขั้นตอนการสลายการชุมนุม

นอกจากนั้นประเด็นที่แหลมคมอย่างมากในการเคลื่อนไหวในการชุมนุมของบ้านเราก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะหนึ่งในหัวข้อที่มีการเรียกร้องถูกจัดประเภทให้กลายเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ และเมื่อเรื่องนี้ถูกจัดประเภทว่าเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ หรือความมั่นคงของรัฐ ก็จะเป็นจุดที่รัฐบาลมักใช้เป็นเงื่อนไขในการที่จะไม่ให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องหลักการสากล อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พลังสนับสนุนรัฐออกมาเคลื่อนไหวลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายผู้ชุมนุมได้ง่ายขึ้น

ถ้าลองดูภูมิทัศน์สื่อเมื่อวันที่มีการชุมนุมวันที่ 7 แล้ว จะพบว่าไม่ได้มีผู้ติดตามอยู่ฝ่ายเดียวคือฝ่ายผู้ชุมนุม แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมก็มีผู้สนใจติดตามการชุมนุมในแบบวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากเช่นกัน และปริมาณก็ไม่น้อย จนอาจจะเรียกว่าต่างฝ่ายต่างมีมวลชนและห้องสะท้อน (echo chamber) ของตนเอง

ในประการที่สอง ว่าด้วยขอบเขตของการชุมนุม หากพิจารณาในกรณีของประเทศประชาธิปไตยก็มีข้อถกเถียงอยู่มากว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร แต่การลงไปเถียงเรื่องขอบเขตเป็นจุดตั้งต้นที่ไม่ค่อยถูกนัก เพราะก่อนที่จะเถียงกันด้วยขอบเขต การถกเถียงในทางกฎหมายในสังคมประชาธิปไตยที่มีฐานรากของเรื่องเสรีนิยมนั้น จะเริ่มจากเรื่องของหน้าที่ของรัฐว่าจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมด้วย นั่นหมายความว่าเงื่อนไขใหญ่ไม่ใช่อำนาจในการอนุญาต แต่เป็นเรื่องของการถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดการชุมนุม และที่สำคัญเวลาที่มีข้อถกเถียงกันว่าแล้วการชุมนุมจะไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่นหรือไม่ บางทีก็ต้องเป็นเรื่องของการฟ้องร้องตามหลังของคนที่รู้สึกว่าเสรีภาพของตนถูกละเมิด มากกว่าเรื่องของการรีบร้อนห้าม หรือด่วนตัดสินว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้ ตราบที่การชุมนุมนั้นได้แถลงว่ามีเป้าหมายที่จะทำอะไร เช่น เขาจะประท้วงรัฐบาล เขาก็มุ่งไปที่การชุมนุมในพื้นที่ที่จะส่งสารให้รัฐบาลได้เห็น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานรัฐ

พูดง่ายๆ ว่าตราบใดที่เขาไม่ได้บอกว่าจะไล่รัฐบาลโดยการไปชุมนุมหน้าร้านสะดวกซื้อ แต่ไปชุมนุมหน้าที่ทำการรัฐบาลอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมจะต้องเข้าใจ และที่สำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ในกรณีของประเทศประชาธิปไตย เขาไม่ได้อ้างหลักการสิทธิเสรีภาพลอยๆ แต่เขาจะอ้างว่ามันเป็นสิ่งที่ทั้งถูกบัญญัติและเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในประเทศเขา ขณะที่บ้านเรานั้นเมื่อรัฐธรรมนูญที่มีอยู่มันมีที่มาที่ค่อนข้างไม่ได้เป็นสิ่งที่ยึดถือร่วมกันมากนักทั้งตัวกระบวนการได้มา และสถาบันที่มีส่วนในการค้ำจุนซึ่งยังต้องถกเถียงกันต่อไปว่าสถาบันดังกล่าวมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ปกป้องรัฐธรรมนูญลอยๆ การถกเถียงและเข้าใจร่วมกันในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ตรงกันนัก

ที่สำคัญในการชุมนุมในสังคมประชาธิปไตย โดยหลักการแล้วตำรวจมีหน้าที่ปกป้องและอำนวยความสะดวกผู้ชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติในบ้านเรา ตำรวจเหมือนเป็นคู่ขัดแย้ง และออกมาปกป้องรัฐบาล ซึ่งในเรื่องนี้เราต้องลองดูวิวาทะในถนน เช่น การตะโกนบอกว่าผู้ชุมนุมเขาไม่ได้มีปัญหากับตำรวจ ให้ตำรวจถอยไป ซึ่งในหลายครั้งการที่ตำรวจถอยไปก็เป็นไปได้

ส่วนคนที่รู้สึกว่าทำอย่างนี้บ้านเมืองอาจไม่มีขื่อมีแปก็ต้องอดทนอดกลั้น เพราะการดำเนินคดีย้อนหลังกับผู้ที่เลยธงนั้นก็มีมาโดยตลอด และในหลายครั้งก็จะเห็นว่าตำรวจก็ปล่อยให้สถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เช่น อาจจะไปปกป้องถนนหน้าบ้านของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ปกป้องป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะก็มีหลักฐานการดำเนินคดีย้อนหลังได้

บางครั้งจึงต้องถามว่า ถ้าการที่ประชาชนไปชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนโดยรอบ ก็ต้องถามเช่นกันว่า นายกรัฐมนตรีอยู่ในบ้านพักของนายกรัฐมนตรีเองไหม หรือบ้านพักนายกฯควรจะเป็นพื้นที่ที่มีการประท้วงหน้าบ้านได้ แต่มีการจำกัดขอบเขตการประท้วง และสุดท้ายประชาชนก็มีสิทธิจะถามว่าการไม่พักในบ้านพักนายกรัฐมนตรีจริงๆ แต่ไปพักที่อื่นเป็นต้นเหตุของการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและทำให้เสรีภาพของคนอื่นเขาเสียหายไปด้วยไหม

ในประการสุดท้าย ว่าด้วยเรื่องของการได้สัดส่วนของการสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่รู้จบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่หาหลักหาเกณฑ์กันไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็คือไม่ได้หมายความว่าผู้ชุมนุมไม่มีความผิดเสียเลย แต่เรื่องสำคัญควรจะเกี่ยวพันกับเรื่องของการฟ้องร้องดำเนินคดี และจับกุมดำเนินคดี ไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องของการปะทะ และตีกันระหว่างเจ้าหน้าที่ (ตำรวจ) ซึ่งในสมัยนี้เริ่มจะกลายเป็นเรื่องของหน่วยควบคุมฝูงชน
กับฝ่ายผู้ชุมนุม ทั้งที่ในหลายครั้งตำรวจเองก็ใช้วิธีถ่ายภาพบันทึกเพื่อดำเนินคดีภายหลัง

วิธีการคิดในเรื่องการปะทะและควบคุมต้องพิจารณาดีๆ และจะนำมาใช้เป็นข้ออ้างว่าได้ทำตามหลักสากลเพราะใช้หน่วยควบคุมฝูงชนเป็นจุดตั้งต้นเลยไม่ได้ เพราะถ้าใช้เป็นจุดตั้งต้นในการ รับมือŽ กับการชุมนุม แถมยังอ้างว่าเป็นไปตามหลักสากลแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือไม่ได้คิดว่าจะใช้จำนวนกองกำลังเท่าไหร่ในการรับมือ

เงื่อนไขนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อตั้งหลักโดยอ้างว่าใช้การควบคุมฝูงชนตามหลักสากลก็มีแนวโน้มที่จะโชว์แสนยานุภาพว่ามีกองกำลังอยู่มาก มีความพรั่งพร้อมในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งในด้านกลับกันก็ยิ่งเป็นการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมออกมาเยอะ และออกมาด้วยความโกรธแค้นมากขึ้นเช่นกัน หรือถ้าเทียบกับกรณีพิพาทหน้าสถานีตำรวจในปีที่แล้ว ที่ผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป จะเห็นว่าแค่การปาสีใส่ตำรวจจนเลอะก็มีทั้งคนที่เห็นว่ามากเกินไปด้วยซ้ำ

กล่าวอีกอย่างก็คือ การตั้งรับของตำรวจในการควบคุมสถานการณ์นั้นเองไม่ใช่เรื่องที่จะมาตั้งหลักอย่างเป็นขั้นตอน แต่ต้องเริ่มพิจารณากันในแง่จำนวนที่เปิดเผยตัวออกมาว่ามีส่วนในการทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมไม่กลัว และใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการตัดสินใจใช้กำลัง หรือขั้นตอนในการจัดการการชุมนุมมีเป้าหมายที่จะยันกับผู้ชุมนุม หรือมีเป้าหมายที่จะสลายการชุมนุม เพราะการยันไม่ให้ผู้ชุมนุมรุกคืบอย่างน้อยยังมีคำอธิบายได้ว่าไม่ได้ห้ามชุมนุมเสียทีเดียว แต่ถ้าตัดสินใจสลายด้วยคำอธิบายว่าการชุมนุมเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลย ก็อาจจะต้องเจอกับอารมณ์และการยกระดับความรุนแรงจากผู้ชุมนุม

สำหรับเรื่องความรุนแรงจากฝ่ายผู้ชุมนุมนั้น เรื่องนี้ประเด็นความได้สัดส่วนของการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการใช้กำลังและความรุนแรงของผู้ชุมนุมจะยังไม่เข้าข่ายการจราจลหากผู้ชุมนุมทุกคนไม่ได้ติดอาวุธ และใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียหมด นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงว่าการใช้กำลังที่เถียงกันว่าจากเบาไปหาหนักนั้น ทำไมมีการใช้แก๊สน้ำตาก่อนการใช้น้ำฉีด และการใช้กระสุนยางนั้นไปโดนกับคนที่ไม่มีอาวุธและผู้สื่อข่าวอีกเท่าไหร่

ในประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ชุมนุมจะทำอะไรก็ได้ แต่การดำเนินคดีภายหลังหรือจับกุมผู้ที่กำลังใช้ความรุนแรงนั้นก็ควรจะเป็นวิธีหลักที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินคดีกันมากกว่าการจงใจตอบโต้ผู้ชุมนุมราวกับคู่กรณีที่มีปัญหากันมาแต่ชาติปางก่อน หรืออาจจะเป็นเรื่องการพยายามหยุดการกระทำที่ใช้ความรุนแรงจากกลุ่มบางกลุ่มของผู้ชุมนุมไม่ใช่กับทุกคนที่ไปชุมนุม

ในส่วนสุดท้าย ในการปะทะกันที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการชี้ให้เห็นว่าการพยายามปราบปรามและใช้กำลังกับผู้ชุมนุมมักจะเกิดในลักษณะ การแถมŽ กัน ในช่วงที่มีการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องตั้งคำถามให้ชัดเจนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำได้ไหม

และต้องไม่ลืมว่า จากที่ผมได้ย้ำมาตลอดตั้งแต่ต้นว่า กฎหมายนั้นไม่ใช่ทุกเรื่องทุกราวของการต่อสู้ทางการเมือง และการใช้กำลังก็ไม่ใช่การกำหนดชัยชนะ เพราะความชอบธรรมของการอยู่ในอำนาจ และการท้าทายอำนาจนั้นก็เป็นเรื่องที่ใหญ่สำหรับการต่อสู้ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยในวันนี้ ความชอบธรรมของรัฐบาลที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมนั้นก็อาจลดลง และในขณะเดียวกันหากผู้ชุมนุมทำอะไรที่ล้ำเส้นการยอมรับของมวลชนในวงกว้าง พวกเขาก็จะสูญเสียความชอบธรรมไปไม่น้อยเช่นกัน

(อ้างอิงบางส่วนจาก. International Standards Regarding the Handling of Demonstrations. Justsecurity.org. 10 July 2020)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image