คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ความเชื่อความจริงและสิ่งที่อยู่ในเสา

เมื่อสักสัปดาห์ที่แล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระลึกถึงเรื่องสั้นที่เคยเขียนไว้ เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยเขียน สร้างชื่อเสียง และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญประการหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้ คือเรื่องสั้นชื่อ “หญิงเสา” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเรื่องสั้นมติชนสมัยแรกในปี พ.ศ.2555

ต่อมาเรื่องสั้นนี้ได้นำไปรวมเล่มในชื่อ “หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” และได้เข้าชิงรางวัลซีไรต์รอบสุดท้ายในปี 2557 อันเป็นปีที่ “อสรพิษ” ของ แดนอรัญ แสงทอง ได้รับการประดับมงกุฎวงปากกา

เรื่องสั้นเรื่องนี้ถูกนำไปสอนในชั้นเรียนวิชาวรรณกรรม การอ่าน และการเขียน ในหลายระดับชั้น ทราบได้ทั้งที่ผู้สอนมาแจ้งบอกให้ทราบ และที่ผู้เรียนเขียนมาถามขอให้เฉลยความหมายที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราว ซึ่งแน่นอนว่าก่อนหน้านี้ผมไม่เคยบอกใครตรงๆ

หากในคราวนี้ ผมอยากจะมา “เฉลย” ความหมายนัยยะบางอย่างในเรื่องสั้นนี้ ซึ่งเอาจริงมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไร ไม่ต่างจากการที่นักมายากลมาเฉลยเคล็ดลับของกลที่สร้างชื่อให้ตนเอง แต่กระนั้นเถอะ เรื่องราวบางเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเหนือจริงยิ่งกว่าเรื่องเล่า และมันชวนให้นำมากล่าวถึงอีกครั้งเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

เรื่องสั้น “หญิงเสา” เปิดฉากที่ศูนย์ราชการขนาดยักษ์แห่งใหม่ที่มีข่าวลือเรื่องของการค้นพบเสาที่ดูเหมือนผู้หญิงยืนทอดกายอยู่บนผิวลายของเสาต้นนั้น พร้อมกับข่าวลือของการพบเห็นหญิงสาวลึกลับปรากฏตัวตามที่ต่างๆ ในศูนย์ราชการนั้นเมื่อยามสนทยาหรือรุ่งสาง และจับพลัดจับผลูอย่างไรก็ไม่ทราบ “หญิงเสา” กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอาคารศูนย์ราชการยักษ์แสนทันสมัยนั้น

ตัวละคร “ผม” หรือชายผู้เล่าเรื่องเป็นข้าราชการผู้หนึ่งที่รับอาสาอยู่เวรยามประจำในหน่วยราชการที่ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการแห่งนั้น และดันมีทางเข้าออกปะพอดีกับเสาที่เชื่อว่ามีหญิงสาวลึกลับสถิตอยู่ และในวันหนึ่งคืนหนึ่ง เขาก็ได้พบกับหญิงสาวลึกลับที่ปรากฏกายออกมาจากเสานั้น พร้อมกับคำถามและเรื่องราวเหนือจริงที่เกิดขึ้นในค่ำคืนมหัศจรรย์

ศูนย์ราชการที่ใช้เป็นฉากในเรื่องนั้นไม่มีอยู่จริง (แม้จะน่าสงสัยว่าจะเป็นศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะที่ผมทำงานอยู่ก็ตาม) หากใครเคยอ่านเรื่องสั้นนี้และได้ไปเยือนก็คงทราบว่ามันแตกต่างกันในรายละเอียดมาก
ทีเดียว และที่สำคัญคือ เรื่องเล่าของต้นเสาที่ดูเหมือนมีสตรีฝังร่างอยู่ ก็เป็นเรื่องเล่าขานตำนานเมืองของสนามบินสุวรรณภูมิต่างหาก

Advertisement

คำถามที่ผมได้รับคือ “หญิงเสา” ในเรื่องสั้นคืออะไรกันแน่หากไม่ใช่ผีหรือภาพหลอน (ซึ่งเธอยืนยันหนักหนาเช่นนั้น) ก่อนหน้านี้ผมมิได้ปริปาก เพื่อให้ผู้อ่านได้ตีความด้วยประสบการณ์และจินตนาการตามใจชอบ บางท่านตีความไปได้ในแง่มุมที่ผมก็คาดไม่ถึงและน่าสนใจมากๆ ด้วย

แต่สำหรับคำตอบของผู้เขียนแล้ว “หญิงเสา” คือกายภาพของ “ความเชื่อ” ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปลักษณ์ ความคิดต้นกำเนิดของเรื่องสั้นนี้มาจากคำถามที่ว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?” และระลึกไปถึงเรื่องเล่าที่เคยอ่านมาว่า นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังท่านหนึ่งซึ่งต้องเดินสายไปแสดงในจังหวัดต่างๆ ทั่วแคว้นแดนไทย เมื่อได้พวงมาลัยมาเขาจะเอาไปแขวนไว้ที่ต้นโพธิ์ต้นหนึ่งข้างทางที่กลับบ้านเป็นประจำ จนนานวันเข้า ต้นโพธิ์ธรรมดาๆ ต้นนั้นก็กลายเป็นต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีคนเอาผ้าแพรเครื่องเซ่นมาถวาย เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ประจำท้องถิ่นนั้นซึ่งแม้แต่เขาผู้วางมาลัยพวงแรกก็ยังต้องยกมือไหว้

“ความเชื่อ” นั้นสร้างความจริงได้เสมอ ไม่ว่าจะกล่าวถึงในระดับใด ในทางจิตวิทยา ทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ที่ความเชื่อที่แรงกล้าอย่างมุ่งมั่น จนผลักดันให้ทำอะไรบางอย่างที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ เช่นเดียวกับคนที่วิ่งมาราธอนจนจบทุกคนจะต้องเชื่อก่อนว่าตัวเองทำได้ หรือแม้แต่ความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ
เพราะผิดหลง อย่างบางคนที่ได้รับยาหลอกแต่ก็หายจากโรคบางอย่างได้เพราะความเชื่ออันแรงกล้าว่ายานั้นมีผลในทางรักษาได้จริง

ในอีกทางหนึ่ง “ความกลัว” ก็เป็นผู้สร้าง “ความจริง” ได้เช่นกัน แต่เป็นความจริงอันผู้กลัวนั้นสร้างขึ้นมาเป็นกรอบขังตัวเอง หรือเป็นความกลัวที่ผลักดันตัวเองให้เข้าหาสิ่งที่กลัวนั้นจริงๆ ซึ่งทั้ง “ความเชื่อ” และ “ความกลัว” นั้นทำงานไม่ต่างกัน มันคือ “ความคิด” ที่สร้างความจริงขึ้นมา ตัวอย่างที่ดีคือเรื่องเล่าของนักศึกษาและโจทย์เลขบนกระดาน

นักศึกษาคนหนึ่งมาสายเกินเสียจนเมื่อเข้าห้องเรียนมาเขาก็เลิกชั้นกันไปหมดแล้ว เหลือเพียงโจทย์คณิตศาสตร์เป็นสมการชุดหนึ่งเขียนไว้บนกระดาน นักศึกษาคนนั้นก็เข้าใจว่า นั่นคือ “การบ้าน” ที่อาจารย์มอบหมาย เขาจึงลอกโจทย์นั้นกลับไปทำที่บ้านจนเสร็จ แม้จะรู้สึกแปลกๆ ว่าการบ้านวันนี้ยากกว่าปกติก็ตาม พอเสร็จก็เอาไปส่งอาจารย์ เช่นเดียวกับโจทย์การบ้านตามปกติ

เพื่อที่เขาจะได้ทราบว่านั่นไม่ใช่การบ้าน แต่เป็นโจทย์สมการทางสถิติที่ไม่เคยมีใครแก้ได้สำเร็จเลยก่อนหน้านั้น แม้แต่นักคณิตศาสตร์ระดับโลกก็ตาม นี่คือเรื่องของ จอร์จ บี. แดนท์สิก (George B. Dantzig) ซึ่งเขาเองก็ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเขารู้ว่านั่นไม่ใช่การบ้านแต่เป็นโจทย์สมการที่ไม่มีใครแก้ได้มาก่อน เขาก็อาจจะไม่สามารถแก้ได้ก็ได้

เชื่อแน่ว่าก่อนหน้านี้ ก็คงมีใครสักคนที่น่าจะมีศักยภาพพอที่จะแก้สมการนี้ได้ มีโอกาสได้เห็นโจทย์นี้เหมือนกันอยู่ แต่เพราะพวกเขารู้ว่านั่นคือโจทย์ที่ไม่เคยมีใครแก้ไข ความเกรงก็เลยสาปให้เขาคนนั้นไม่อาจทำเรื่องนั้นได้จริงๆ แตกต่างจากแดนท์สิกที่ความไม่รู้ทำให้เขาไม่เกรงกลัว และเมื่อนั้น เขาก็สามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้โดยไม่ถูกสาปไว้ด้วยความกลัว

เพราะแท้จริงแล้ว “ความเชื่อ” “ความกลัว” และ “ความหวัง” นั้นคือสิ่งเดียวกันคือ “ความคิด” อันเป็นสิ่งที่ทรงพลังมหาศาล ดังนั้น ทั้งสามจึงสามารถทำงานบนหลักการเดียวกันได้ คือการสร้าง “ความเป็นจริง”

ในทางจิตวิญญาณ “ความคิด” ก่อให้เกิด “ความเป็นจริง” โดยผ่าน “วาจา” และ “การกระทำ” นี่คือสิ่งที่บางคนเรียกว่าหลักการจักรวาล กฎแห่งพระเจ้า หรือกฎของแรงดึงดูด บ้างก็นำไปตีความใหม่ แต่นี่คือพื้นฐานที่เราจะได้พบทั้งในคำสอนทางศาสนาและจิตวิญญาณ หนังสือแนวพัฒนาตัวเองและจิตวิทยา เคล็ดลับของการวาดภาพความสำเร็จในหัว การฝึกซ้อมในจินตนาการ (Image training) ของนักกีฬาอาชีพ การสั่งจิตตัวเอง หรือ NLP และเป็นแกนหลักของนิยายเรื่อง “สาส์นลับที่สาบสูญ” (The Lost Symbol) ของ แดน บราวน์ ด้วย

หลักการหรือกฎเรื่องความคิดที่นำไปสู่ถ้อยคำและการกระทำอันสร้างความจริงนี้ บางครั้งถูกเอาไปตีความใหม่จนกลายเป็นเรื่องเหลวไหลเลอะเทอะของพวกไลฟ์โค้ช เช่น การสะกดจิตหลอกตัวเอง นั่นเพราะหลักการนี้ถูกเอาไปตัดทอน “การลงมือกระทำ” ออก เหลือแต่ “วาจา” กับ “ความจริง” ที่ไม่มีกระบวนการตรงกลางที่จะสร้างความจริง ดังนั้น ให้พูดหน้ากระจกหรือพิมพ์แบงก์พันมานอนดูเป็นปึกก็ไม่มีผลอะไร

ยิ่งกว่านั้นตามแนวคิดนี้ ถ้าเป็นความคิดความเชื่อนั้นเป็นของผู้คนจำนวนมากเท่าไร พลังในการสร้างความจริงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น นี่คือกำเนิดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตั้งแต่รุกขเทวดา เจ้าที่ ไปจนถึงเทพเจ้าทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นมาได้ เพราะความเชื่อทั้งหลายของผู้คนสั่งสมสร้างขึ้นมารุ่นต่อรุ่น ยิ่งผ่านเวลามาเนิ่นนานเท่าไรตัวตนของสิ่งนั้นยิ่งชัดเจน และจะส่งผลต่อส่วนรวมและผู้คนเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเชื่ออย่างเดียวกัน ความเชื่อที่เชื่อมโยงไปถึงรูปนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันทรงพลังนั้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ต่อให้ตัดเรื่องจิตวิญญาณหรือสิ่งเหนือธรรมชาติออกไป เหลือแต่เรื่องที่พิสูจน์ได้เป็น
รูปธรรมอย่างจิตวิทยา ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “ความคิด” ร่วมกันของผู้คนจำนวนมากนั้นจะทำให้เกิดความจริงบางอย่าง และ “ความเชื่อ” หรือ “ความกลัว” ของผู้คนจำนวนมากก็เป็นทั้งเครื่องมือสถาปนาและกรอบกำแพงของสังคมรัฐได้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจ หรือผู้ประสงค์จะแสวงหรือครองอำนาจของตนไว้
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ จึงจำเป็นต้องรีบสถาปนาความเชื่อใดๆ ก็ตาม ที่ในที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการคงดำรงอยู่ในอำนาจแห่งตน การเผยแผ่อำนาจหรือล่าอาณานิคมในยุคก่อน สิ่งที่ผู้ทรงอำนาจใหม่นำติดไปด้วย คือ “ศาสนา” และ “ความเชื่อ” ชุดเดียวกันที่จะใส่ลงไปแทนผู้อยู่ใต้ปกครองนั้น

เพราะผู้คนจะลุกขึ้นมาต่อต้านผู้ปกครองหรือไม่ หากเชื่อว่านั่นคือองค์อวตารของเทพเจ้าที่เขาเคารพกราบไหว้ แม้ผู้นั้นจะก่อกรรมทำเข็ญกดขี่บีฑาประการใด ผู้คนก็อาจจะพร้อมอดทนด้วยอาจมองว่านี่คือการลงโทษหรือการทดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า และในทางกลับกัน หากผู้คนหันไปนับถือพระเจ้าองค์ใหม่ (หรือแม้แต่ไม่นับถือแม้เทพเจ้าองค์ใดเสียแล้ว) การท้าทายผู้มีอำนาจนั้นย่อมเกิดขึ้น หรือแม้หากจะยังไม่สามารถต่อต้านได้ แต่สายตาที่ผู้คนมองไปยังผู้ปกครอง ก็จะไม่ใช่สายตาที่มองไปยังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนบนอบ แต่เป็นสายตาที่แช่งชักผู้กดขี่ที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยรอวันที่พลังอำนาจนั้นจะเสื่อมลง ด้วยความเชื่อใหม่ที่มุ่งมั่น

“หญิงเสา” ในเรื่องสั้นจึงกล่าวแก่ชายหนุ่มผู้เล่าเรื่องว่า “หากวันไหนที่เขามองเห็นเสาเป็นเพียงเสา รอยปูนเป็นเพียงรอยปูน วันนั้นฉันจะดับสูญ”

เมื่อเลิกเชื่อว่ามีผู้หญิงฝังอยู่ในเสา เมื่อนั้น “หญิงเสา” ก็จะไม่มี เรื่องมันง่ายดายเช่นนี้เอง

ดังนั้น บางครั้งชัยชนะครั้งแรก หรือการต่อสู้ที่แท้จริงอาจจะไม่ได้เริ่มต้นที่กระสุนนัดที่หนึ่ง หรือการได้ชัยในสมรภูมิได้ แต่เป็นการที่ฝ่ายที่ท้าทาย สามารถล้มล้าง “ความเชื่อเดิม” ของผู้คนหมู่มากในสังคมลงได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และนำความคิดความเชื่อใหม่ประศาสน์ลงไปแทน

เพราะเมื่อใดก็ตามสิ่งทรงอำนาจใดก็ตามไม่ถูกมองอย่างเคารพศรัทธาหรือแม้แต่เกรงกลัวดังที่เคยแล้ว แม้จะยังมีพลังอำนาจบางอย่างเหลืออยู่จากการสั่งสมมา แต่พลังอำนาจเช่นว่านั้นก็จะค่อยๆ จางหายสลายไปตามกาลเวลาในที่สุด

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image