คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ท่านจะเลือกเป็นศัตรูกับประชาชนจริงหรือ?

ภาพการปะทะกันระหว่างตำรวจกองบังคับการควบคุมฝูงชนกับประชาชนผู้อยู่อาศัยในแฟลตดินแดง เมื่อค่ำวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ประโยค “เธอได้ยินผู้คนร้องไหม…” ท่อนเปิดของเพลง Do You Hear the People Sing ? จากเรื่อง “เหยื่ออธรรม” Les Miserables ซึ่งแปลอย่างไม่เป็นทางการ โดย Ardisto เดอะภารโรง ก็วาบขึ้นเป็นเสียงประกอบในความคิด

การลั่นกระสุนเข้าใส่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ปะทะที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมอันเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการโดยตรง อาจเพียงแค่พวกเขาเอาใจช่วยผู้ชุมนุม ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการ หรือได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติการที่เกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเพราะความเมาอาวุธขึ้นมาในขณะนั้นของผู้ปฏิบัติการ หรือเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ก็ถือเป็นการยกระดับความขัดแย้งและเพิ่มคู่ขัดแย้ง … หรือถ้าไม่อ้อมค้อม คือ การก่อศัตรูเพิ่มขึ้น โดย “ศัตรู” ที่ว่านั้นคือ ประชาชน

ไม่รู้ว่าทั้งผู้ลงมือ ผู้บัญชาสั่งการ และผู้ให้ความเห็นชอบได้ประเมินความโกรธแค้นของประชาชนในครั้งนี้ไว้หรือไม่เพียงไร จึงปล่อยให้เหตุการณ์ในคืนวันอาทิตย์นั้นบานปลายไปถึงระดับนั้น

พวกเขาอาจจะประเมินสถานการณ์ด้วยกรอบคิดเดิมว่า นี่เป็นเรื่องของผู้คนที่ออกมาไล่นายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาของพวกท่าน เพราะไม่ชอบหน้า หรือแค่อยากเปลี่ยนนายกฯ ซึ่งเป็นเหตุผลในทางการเมืองเชิงรสนิยมชมชอบ แต่มันอาจจะไม่ใช่แค่นั้น

Advertisement

เพราะนี่คือความโกรธแค้นต่ออำนาจและการใช้อำนาจ ตลอดจนผู้ใช้อำนาจและผู้ทรงอำนาจตัวจริงที่ทำอะไรแบบไม่เกรงใจผู้คน ในสถานการณ์อันเป็นเรื่องความเป็นความตายของประชาชน

เพียงแค่สัปดาห์เดียวก็มีแต่เรื่องที่ชวนให้คนรู้สึกคั่งเคือง ตั้งแต่การที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าของโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพออกมาเปิดเผยพร้อมหลักฐานว่า มีความไม่โปร่งใสในการกระจายฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมา ทั้งที่เจตนารมณ์ของผู้ให้และประชาชนในสังคมมุ่งหมายว่าจะต้องนำไปฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

หลักฐานที่ฝ่ายบุคลากรนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนนั้นจัดว่าอยู่ในชั้น “ทุเรศมาก” ที่มีรายชื่อผู้รับวัคซีนซ้ำกันเกินกว่าปกติ จนถึงกับล้อกันว่า ถ้าบางท่านบางชื่อนั้นได้ฉีดวัคซีนตามบัญชีนี้จริงคงได้แปลงเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ เพราะต้องฉีดเข้าไปถึง 6 เข็ม เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้มีทหารในกองทัพที่ได้วัคซีนไปด้วยข้ออ้างความเป็น “บุคลากรด่านหน้า” ของโรงพยาบาลสนามที่มีคนไข้เพียงหนึ่งคน

Advertisement

ซ้ำซ้อนด้วยข่าวการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด ATK ที่ดูยังไงก็ไม่น่าจะเป็นไปโดยปกติในกรอบคิดและตรรกะของวิญญูชน โดยที่ก่อนหน้าก็มีข่าวเกี่ยวกับความพยายามที่จะออกกฎหมายพิเศษมายกเว้นความผิดให้แก่ผู้ที่บริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รวมไปถึงความผิดพลาดเรื่องนโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีน

การออกมาประกาศกร้าวว่าจะดำเนินคดีกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กและเยาวชนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ให้เด็กคนหนึ่งสวนด้วยอารมณ์ขันที่ทำเอาตลกไม่ออกว่า ตามแม่ผมมาให้หน่อยเพิ่งตายจากโควิด เพราะการบริหารของรัฐบาล หรือพ่อคนหนึ่งเขียนป้ายติดรถยนต์ที่ออกมาคาร์ม็อบว่า ที่ออกมาเพราะลูกถูกยิงจากการชุมนุม

ทุกเรื่องราวล้วนเป็นการสุมไฟลงในความรู้สึกของประชาชนอย่างไม่ยอมราไฟกันเลยสักฝ่าย ในสักวัน

เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะรู้สึกว่าผู้คนที่ออกมาประท้วงด้วยขบวนรถยนต์แบบคาร์ม็อบที่ผ่านมาอาจจะดูไม่มากเท่าการชุมนุมเมื่อปี หรือสองปีที่ผ่านมา ทั้งที่รู้แก่ใจว่าเป็นเพราะผู้คนยังกลัวเกรงต่อการแพร่ระบาดของโควิดมากกว่าความเกลียดชังโกรธแค้นรัฐบาล… อย่างน้อยก็จนขณะนี้

นี่คือความโกรธแค้นอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยที่ฝ่ายผู้มีอำนาจและกองทัพไม่อาจประเมินและคิดหาทางรับมือด้วยกรอบคิดเก่าได้เลยว่าจะได้เจอการต่อต้านระดับไหนจากประชาชน นับแต่ครั้งสุดท้ายที่ทหารต้องถอยกลับกรมกองเมื่อครั้งพฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 หรือเกือบสามสิบปีที่แล้ว

จํานวนรถที่มาเข้าร่วมคาร์ม็อบอาจจะไม่ได้มากมายจนน่ากลัว ถ้าไม่มองผู้คนที่ออกมาให้กำลังใจตามท้องถนน และรถยนต์ที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมขบวน แต่ก็กดแตรและชูสามนิ้วให้กำลังใจ หรือถ้าจะมองภาพกว้างจนเห็นว่ามีการจัดการประท้วงในรูปแบบเดียวกันนี้แทบจะทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เขตจังหวัดที่เคยเป็นฐานเสียงของรัฐบาล หรืออย่างน้อยก็ที่เคยอยู่ตรงข้ามกับมวลชนเสื้อแดง กับทั้งอดีตพันธมิตรและผู้ชุมนุม กปปส.ที่กลับใจออกมาร่วมไล่รัฐบาล และที่บุคคลผู้มีชื่อเสียงในหลายวงการต่างก็ออกมาส่งเสียงติติงรัฐบาลอย่างคนที่ “อยู่ไม่เป็น” มากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าไม่ประเมินอย่างเข้าข้างตัวเองเกินไป คงต้องยอมรับว่าในตอนนี้ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ยอมรับในตัวตนและการใช้อำนาจของพวกท่านแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแบบที่ท่านไม่อาจประเมินได้ เพราะปรากฏการณ์นี้ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศนี้

แล้วปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำมาสู่อะไร

ประการแรก คือผู้มีอำนาจระดับบังคับบัญชาสั่งการ และผู้ปฏิบัติการทุกระดับที่กำลังละเมิดกฎหมาย หรือใช้อำนาจแบบไม่ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด หรือฝ่ายที่เข้าจัดการกับผู้ต่อต้านรัฐบาลในทุกรูปแบบ อาจจะต้องเจอกับการไล่ล่าเอาผิดทางกฎหมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

โดย “วัฒนธรรมลอยนวล” ของผู้ใช้อำนาจในสังคมไทยก่อนหน้านี้อาจจะทำให้พวกท่านหลงเหลิงไปว่า หากมีอำนาจ อยู่ถูกข้าง และแนบเนียนพอแล้ว สุดท้ายก็ไม่มีใครจะมาทำอะไรท่านได้ หรือฝ่ายปฏิบัติการก็อาจจะคิดว่า เดี๋ยว “นาย” ก็คงเคลียร์ให้ หรือถ้ายังไงก็อ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตัวเองทำหน้าที่โดยเลือกไม่ได้ ก็น่าจะพ้นทั้งความรับผิดชอบทางกฎหมายและทางสังคมไปได้

แต่ครั้งนี้มันคงจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะพยานหลักฐานในการกระทำความผิดจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำราวกับถังน้ำมันรั่วใต้ผิวสมุทร ดูจากที่ผ่านมาก็ได้ ที่การประชุมเชิงนโยบายที่น่าจะเป็นการลับ (สังเกตได้จากที่ผู้พูดกล้าพูดอะไรที่ปกติแล้วเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่รู้กันภายใน) ก็หลุดออกมาต่อสาธารณะ เอกสารประกอบการประชุมระดับกำหนดนโยบายที่น่าจะมีการกำหนดผู้มีสิทธิรับรู้ ก็โผล่แจ้งแดงแจ๋ออกมาให้ปัดป้องปฏิเสธกันแทบทุกวัน

มันยากแล้วที่จะป้องกันไม่ให้เกิด “หนอน” ในระบบ เพราะดังที่ได้เตือนไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า เรื่องการฉ้อฉลในเรื่องวัคซีนและที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันรักษาโควิด มันเป็นเรื่องความเป็นความตายของผู้คนที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นความตายในทางความเป็นจริงอันเป็นด่านสุดท้ายแห่งความเกรงกลัวของมนุษย์ จนเรื่องของกฎระเบียบ การรักษาวินัย หรือความลับของราชการ หรือวัฒนธรรม “อยู่เป็น” ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายที่เคยกดไว้ให้ต้องชั่งลังเลใจ กลับกลายเป็นเรื่องสมมุติที่มีน้ำหนักเบาราวกับปลายเส้นขนสุนัข

อย่าลืมว่า แม้จะมีพระราชกำหนดฉุกเฉินยกเว้นความรับผิดและโทษไว้ให้พวกท่านไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยจากการใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายในระหว่างที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ แต่มาตรา 17 ของกฎหมายดังกล่าวก็จะยกเว้นให้แต่เฉพาะเมื่อ “…เป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น…” เท่านั้น

การกระทำของพวกท่านทั้งตั้งแต่ระดับสั่งการไปจนปฏิบัติการนั้นถือว่ากระทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือกรณีจำเป็นหรือไม่นั้น นอกจากตัวผู้ปฏิบัติเองก็รู้อยู่แก่ใจแล้ว ถ้าเอาหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาเรื่องกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนามาหยั่งวัดแล้ว ไม่ว่าจะมาตรฐานการจัดการผู้ชุมนุมที่มีหลักสากลอยู่ชัดเจน หรือมาตรฐานของวิญญูชนในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือตัดสินใจ ก็เอามาใช้เป็นมาตรเทียบเพื่อวินิจฉัยเจตนาได้ไม่ยากนัก

และข้อสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ การกระทำความผิดของพวกท่านในครั้งนี้มีอายุความตามกฎหมายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15 ถึง 20 ปี สำหรับผู้สั่งการที่ในตอนนี้อายุกว่า 50 ปี ลองจินตนาการความพร้อมทางจิตใจและร่างกายของท่านว่า ถ้าจะต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรมหลังเกษียณอายุราชการ หรือเฉียด 70-80 ปีแล้ว ท่านจะไหวหรือไม่ อำนาจต่างๆ ที่ค้ำจุนพวกท่านจะยังคงอยู่ไปจนถึงตอนนั้นหรือไม่ หรือท่านจะรีบชิงตายไปก่อนเวลานั้นเล่า

ทั้งบุคลากรระดับสูงในกระบวนยุติธรรมในอนาคตที่จะกล่าวหาชี้ถูกผิดพวกท่านในตอนนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นเหยื่อของการบริหารจัดการอันผิดพลาดของพวกท่านในวันนี้ บ้างก็ได้รับวัคซีนที่ด้อยคุณภาพไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป หรือเสียญาติพี่น้องผองเพื่อนไป เพราะโรคร้ายนี้ก็มาก แม้ท่านอาจจะระลึกได้ และรีบหาวัคซีนดีๆ ไปแก้เกมให้ แต่ผู้อยู่ในกระบวนยุติธรรมระดับสูงเหล่านั้น จะมีใครทำใจยอมฉีดวัคซีนยี่ห้อ
“ไถเซอร์” หรือ “โมเดิร์นหน้าด้าน” ที่ได้มาจากการยักลักไปจากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์
ได้ลงคอหรือ ?

ประการต่อมาคือ สิ่งที่น่ากลัวกว่ายิ่งกว่าการไล่ล่าตามล้างทางกฎหมายในอนาคต คือ การตอบโต้จากประชาชนในสถานการณ์อันใกล้ หากท่านยังตัดสินใจที่จะเลือกเห็นประชาชนเป็นอริศัตรูที่พร้อมหันกระบอกปืนเข้าใส่อยู่แบบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม

การที่หน่วย คฝ.ถูกชาวบ้านในแฟลตดินแดงขว้างปาสิ่งของใส่ด้วยความชิงชังรังเกียจนั้นก็น่าจะทำให้พอสำนึกได้ ว่าแท้จริงแล้ว พวกท่านไม่ได้กำลังล้อมปราบผู้ชุมนุมอยู่เท่านั้น แต่ท่านถูกล้อมรายรอบไว้ด้วยประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศอยู่ต่างหาก

ลองนึกภาพว่า ถ้ามันถึงขนาดเหลืออดจนทุกบ้านเรือน ทุกท้องถนนที่ผ่านไป ทุกอาคารตึกสูง ทุกคนพร้อมใจกันขว้างปาสิ่งของใกล้มือทั้งที่เป็นอันตรายและสิ่งโสโครกขยะแขยงใส่พวกท่าน หรือผู้คนเดินออกมาจากบ้านมาบ้านละหลัง ขับรถมาบ้านละคัน ตรงเข้ามาทางพวกท่านที่กำลังยิงคนด้วยกระสุนยางอย่างมันมืออยู่บนถนน เมื่อหันมาอีกทีท่านอาจจะถูกล้อมอยู่กลางประชาชนผู้โกรธแค้นสั่งสมจำนวนมหาศาล

เธอได้ยินผู้คนร้องไหม

ร้องเพลงนั่นไงเพลงคนคลั่งโกรธ

นี่คือดนตรีของผู้คนที่จะไม่เป็นทาสใครอีกแล้ว …

ท่านจะมีกระสุน กำลังพล และกำลังใจเพียงพอที่จะยิงผู้คนเหล่านั้นได้ทั้งหมดหรือไม่

ทั้งหมดคือ เรื่องที่ชวนให้ชั่งใจก่อนที่ท่านจะเลือกเป็นศัตรูกับประชาชน และพาตัวเองเดินเข้าสู่จุดที่ย้อนคืนกลับไม่ได้นั้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image