สุรชาติ บำรุงสุข : สงครามที่ไม่ชนะในอัฟกานิสถาน!

หนึ่งในข่าวสำคัญที่ “ช็อค” การเมืองโลกในปัจจุบัน คือ ชัยชนะของกลุ่มทาลีบันที่กลับเข้ามายึดอำนาจรัฐของอัฟกานิสถานอีกครั้ง หลังจากที่กลุ่มถูกโค่นล้มด้วยกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาหลังเหตุการณ์การโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001

ภาพชัยชนะของทาลีบันปรากฎในอีกแบบคือ “การหนีตาย” ของคนออกจากอัฟกานิสถาน ภาพของความสับสนอลหม่านของผู้คนเป็นจำนวนมากที่ต้องการออกจากประเทศที่แพ้สงคราม ภาพเช่นนี้อาจทำให้เราต้องหวลรำลึกถึง ภาพวันสุดท้ายของสงครามเวียดนาม

หลังจากการส่งสัญญาณผ่านสถานีวิทยุของทหารอเมริกันในไซง่อนในวันที่ 29 เมษายน 1975 (พศ. 2518) แล้ว คนที่เกี่ยวข้องรับรู้อย่างดีว่า การอพยพออกจากเวียดนามใต้กำลังเริ่มขึ้นในวันนั้น… สัญญาณการแตกของไซง่อนปรากฎเป็นระยะมาก่อน แต่ในวันที่ 29 นี้ กองกำลังเวียดนามเหนืออยู่ในระยะที่สามารถยิงปืนใหญ่ถล่มฐานทัพอากาศของสหรัฐในไซง่อนได้ จนทำให้ในที่สุดการอพยพเหลือทางเดียวคือ การใช้เฮลิคอปเตอร์ ดังนั้น ภาพของคนจำนวนมากที่พยายามหนีออกจากไซง่อนด้วยเฮลิคอปเตอร์จากดาดฟ้าของสถานทูตอเมริกันในวันนั้น จึงเป็นดังภาพแทนที่ชัดเจนของการพ่ายแพ้สงครามในเวียดนาม

วันนี้ภาพที่ไม่แตกต่างกันเกิดขึ้นที่คาบูล คนจำนวนมากพยายามหนีออกจากการแพ้สงคราม จนเกิดการเปรียบเทียบว่า สหรัฐหลังสงครามเวียดนามแพ้สงครามอีกครั้งที่อัฟกานิสถาน จนไม่น่าเชื่อว่าหลังเหตุการณ์การโจมตีเวิลด์เทรด อันนำไปสู่สงครามอัฟกานิสถาน และตามมาด้วยการโค่นล้มรัฐบาลทาลีบันในปี 2001 แล้ว กลุ่มทาลีบันสามารถกลับเข้ายึดอำนาจรัฐได้อีกครั้ง และจบลงด้วยการถอนตัวของสหรัฐในปี 2021

Advertisement

20 ปีของสงครามอัฟกานิสถานปิดฉากลงแล้ว… หนึ่งในสงครามที่สหรัฐต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างยาวนานสิ้นสุดลง และสหรัฐไม่เป็นผู้ชนะ!

สงครามอัฟกานิสถานที่เริ่มต้นด้วยชัยชนะอย่างง่ายดายในทางทหารสำหรับรัฐบาลอเมริกัน และรัฐบาลทาลีบันถูกโค่นลงอย่างรวดเร็ว แต่ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง กล่าวคือ ในวาระครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์การโจมตีเวิลด์เทรดและสงครามอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลีบันสามารถพลิกกลับสถานการณ์ จน “รัฐมหาอำนาจใหญ่” อย่างสหรัฐต้องถอนตัวออก… ไม่แตกต่างจากการถอนตัวจากเวียดนามในอดีต

ในมุมมองทางทหาร สนามรบในอัฟกานิสถานเป็นดัง “สุสานของรัฐมหาอำนาจ” เพราะในยุคอาณานิคม กองทัพอังกฤษก็ไม่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้อย่างแท้จริง อันทำให้อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศเอกราชในยุคอาณานิคม (ไม่แตกต่างจากสยาม) ต่อมาในช่วงปลายยุคสงครามเย็น กองทัพของสหภาพโซเวียตไม่สามารถยึดครองและเอาชนะนักรบกองโจรในอัฟกานิสถานได้ จนต้องถอนตัวออก และต่อมาในยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กองทัพสหรัฐอาจโค่นรัฐบาลทาลีบันลงได้ แต่สุดท้ายสหรัฐกลับไม่สามารถเอาชนะสงคราม จนต้องถอนทหารออก ไม่แตกต่างจากสหภาพโซเวียตในสงครามครั้งก่อน

Advertisement

การพ่ายแพ้สงครามมีบทเรียนให้คนรุ่นหลังต้องเรียนรู้เสมอ

บทเรียนสำคัญประการแรกจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือ ปัญหาการประเมินขีดความสามารถของข้าศึก ซึ่งกลุ่มทาลีบันพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการประเมินของฝ่ายตะวันตกว่า กลุ่มดังกล่าวได้แพ้อย่างย่อยยับไปแล้ว และโอกาสฟื้นตัวมีอยู่น้อยมาก แต่ในความเป็นจริง หลังจากความพ่ายแพ้ดังกล่าว กลุ่มสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้ว่า กลุ่มขยายปฎิบัติการทหารอย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่การควบคุมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีมาโดยตลอด

อีกทั้ง ฝ่ายตะวันตกอาจจะละเลยประเด็นสำคัญว่า กลุ่มทาลีบันนอกจากมีสถานะเป็นองค์กรก่อการร้ายแล้ว กลุ่มมีความเป็นขบวนการทางการเมืองอีกด้วย ฉะนั้น กลุ่มจึงขยายฐานสนับสนุนทางการเมืองในหมู่ประชาชนได้อย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า แม้รัฐบาลทาลีบันอาจจะถูกโค่นล้มลง แต่กลุ่มยังดำรงความเป็นขบวนการทางการเมืองและเปิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ

บทเรียนที่สองมาจากปัญหาการประเมินอำนาจทางทหารของฝ่ายรัฐบาล กล่าวคือ กองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถานมีขีดความสามารถทางทหารในการรับมือกับการรุกของฝ่ายทาลีบันต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน หากเปรียบเทียบแล้ว กองทัพอัฟกานิสถานมีขนาดใหญ่กว่า และมีอำนาจทางยุทโธปกรณ์สูงกว่าฝ่ายต่อต้านอย่างมาก อีกทั้งหน่วยรบพิเศษของอัฟกานิสถานที่ได้รับการฝึกและการติดอาวุธอย่างดีจากกองทัพสหรัฐ จนสามารถเทียบเคียงได้กับกำลังรบพิเศษในภูมิภาค ซึ่งน่าจะต้านทานข้าศึกได้ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะข้าศึกไม่ได้มีขีดความสามารถทางทหารเหนือกว่ากำลังรบของรัฐบาล การแตกของคาบูลอย่างง่ายดายจึงเป็นการ “ช็อค” ในทางการเมืองและการทหาร

ดังนั้น หากมองในมิติของกำลังรบแล้ว กองทัพอัฟกานิสถานน่าจะรับมือกับการรุกทางทหารของกลุ่มทาลีบันได้ และน่าจะมีเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี ซึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาเหลือให้ทำเนียบขาวและรัฐบาลอัฟกานิสถานมีโอกาสพอที่จะเตรียมรับมือกับการโจมตีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ขีดความสามารถในความเป็นจริงกลับพบว่า กองทัพอัฟกานิสถานมีกำลังพลน้อยกว่าตัวเลขในรายงาน มีปัญหาคอร์รัปชั่นภายในกองทัพอย่างมาก และผู้นำทหารและรวมถึงผู้นำรัฐบาลอีกส่วนแสวงหาผลประโยชน์และความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง

บทเรียนที่สามมาจากปัญหาประสิทธิภาพของตัวรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่า ปัญหาสำคัญเกิดจากความล้มเหลวของรัฐบาลอัฟกานิสถานเอง แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะสร้างประชาธิปไตยโดยการผลักดันของรัฐบาลตะวันตก ดังจะเห็นได้ว่ามีการร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง เป็นต้น แต่ความเป็นจริงของรัฐบาลกลับพบความขัดแย้ง และการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ในการแย่งชิงอำนาจ จนคำว่า “รัฐบาลเอกภาพ” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ กลับมีสภาพเป็น “รัฐบาลไร้เอกภาพ” และไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้

แม้ทำเนียบขาวมีความหวังในอีกด้านว่า รัฐบาลเอกภาพของอัฟกานิสถานน่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามร่วมกันจากการรุกของกลุ่มทาลีบัน แต่สิ่งนี้ก็เป็นเพียงความหวัง และความจริงทางการเมือง คือ รัฐบาลคาบูลมีความอ่อนแออย่างมาก ไร้เอกภาพในการต่อสู้กับภัยคุกคาม และไร้ความเป็นผู้นำทางการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้าน ความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ผลจากสภาพเช่นนี้ในที่สุดแล้ว ทำให้เกิดการพลิกผันของสถานการณ์ในอัฟกานิสถานอย่างคาดไม่ถึง… 20 ปี หลังเหตุการณ์เวิลด์เทรดและสงครามอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลีบันกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในความท้าทายของการเมืองโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะคำถามว่า อัฟกานิสถานจะกลับไปเป็น “สวรรค์ของผู้ก่อการร้าย” อีกหรือไม่… สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะในส่วนของสตรีและเด็ก จะยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เป็นต้น

ในอีกด้าน ภาพการจับมือระหว่างผู้นำทาลีบันและผู้นำรัฐบาลจีน กำลังส่งสัญญาณว่า อัฟกานิสถานใหม่เป็นพันธมิตรกับจีน และจะเป็นจุดของการต่อต้านตะวันตกในเวทีการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจปัจจุบัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image