นิทานและคำสอนให้มองกว้าง

ผมรู้สึกอึดอัดจนเสพข่าวสารให้น้อยลง อึดอัดกับข่าวของโควิดที่ระบาดไปทั่วโลกอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งกับข่าวสารเรื่องวัคซีนในประเทศไทย อึดอัดกับข่าวความขัดแย้งถึงตายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งกับความไม่คืบหน้าของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อึดอัดกับข่าวภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรง เช่น ไฟไหม้ป่า พายุ น้ำท่วม ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนเหตุด้วยการกระทำของมนุษย์ รวมทั้งกับความไม่ค่อยจะตื่นตัวของคนไทยในเรื่องนี้ ที่สำคัญคืออึดอัดกับการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงกับรัฐบาลแล้วกลายมาเป็นการปะทะกับตำรวจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งกับการใช้มิจฉาวาจาอย่างเต็มที่เวลาจะแสดงออกต่อคนที่ตนไม่รักผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วจะทำอย่างไรดี บอกใคร ใครก็ไม่ฟัง ตัวผมเองก็ทำใจไม่ค่อยได้

ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมอยู่ในสภาพคล้ายกันนี้ (แม้จะหนุ่มกว่ามาก) ขณะเกิดเหตุการณ์ ผมเป็นประธานสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ฝ่ายความมั่นคงมาค้นสำนักงาน แล้วออกข่าวทางสื่อมวลชนว่า พบเอกสารเกี่ยวกับประชาธิปไตยจำนวนมาก ซึ่งตอนนั้นมีนัยว่าเป็นภัยสังคม เพื่อน ๆ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมาปรึกษากัน และมีข้อสรุปว่าถ้าทำในระดับมหภาคไม่ได้ ให้แยกย้ายกันไปทำในเรื่องที่ตนถนัดดีกว่า เพื่อนที่จุฬาฯคนหนึ่งจึงไปขับเคลื่อนเรื่องเภสัชชุมชนและการศึกษาปัญหายา อีกคนหนึ่งไปขับเคลื่อนเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นต้น แต่ผมยังเลือกแนวทางสันติวิธีและสิทธิมนุษยชนอยู่เหมือนเดิม จึงเข้าร่วมกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ตอนนั้นมีคำกล่าวว่า “ศาสนาคือยาฝิ่น” แต่ผมเชื่อว่า ถ้าศาสนาจะเป็นประโยชน์ ก็ต้องช่วยทั้งตัวศาสนิกเองและสังคมด้วย ผมไม่ค่อยลึกซึ้งอะไร แต่ยังดีที่มีผู้นำศาสนาบางคนมาร่วมกับเรา ทำให้คำว่าศาสนาในชื่อของ กศส. ช่วยคุ้มครองเรามาตลอด

ผมบังเอิญหยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “นิทานประติรูป” เขียนโดย อนันต์ สายศิริวิทย์ ที่เป็นนักวิชาการหนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์ในปี 2520 ในย่อหน้าสุดท้ายของ “คำบอกกล่าว” ก่อนเข้าเรื่อง อนันต์เขียนว่า “ประโยชน์ของหนังสือเล่มนี้ หากจะมีขึ้นในเบื้องหน้า ก็ขออุทิศแก่ผู้ที่ได้เสียสละเพื่อสังคม และถูกมติอันโง่เง่าทำลายมาโดยตลอด” ผมเดาว่าอนันต์เขียนนิทานเหล่านี้ด้วยความรู้สึก “เซ็ง” ต่อสถานการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขาเป็นนักเขียน ก็ใช้ข้อเขียนเข้าต่อสู้ โดยเริ่มจากนิทานอีสปที่ให้คติสอนใจที่แพร่หลายอยู่ในโครงสร้างเดิมของสังคม แต่เขาเติมต่อนิทานอีสปจนกลายเป็น “นิทานประติรูป” ที่ให้ “คติสอนใจ” ไปอีกทาง หรือให้ผู้อ่านคิดเองโดยไม่ต้องสอนใจด้วยซ้ำไป

ในบทความนี้ ขอยกนิทานประติรูปบางเรื่องมาแบ่งปันพอสังเขป เรื่องแรกน่าจะสอนใจผู้มีอำนาจ คือเรื่อง “ราชสีห์ชอบลูกยอ” มีราชสีห์ตัวหนึ่งต้องการพิสูจน์กลิ่นลมหายใจของตนเอง จึงไปถามแกะ แกะพูดความจริงว่า “เหม็นครับ” ราชสีห์โกรธก็กินเสีย ไปถามหมาป่าผู้มีนิสัยกะล่อนสอพลอ หมาป่าตอบว่า “หอมหวนสดชื่นเสียนี่กระไร” ก็โกรธอีก คิดว่าหมาป่ายกยอโดยไร้เหตุผล ก็ตบกัดฟัดเหวี่ยงจนหมาป่าตาย ไปถามหมาจิ้งจอกผู้รู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ได้คำตอบว่า “ขอประทานโทษท่านผู้ยิ่งใหญ่ กระผมเป็นหวัดคัดจมูก ขอเชิญท่านไปถามคนอื่นเถิด” อนันต์นำนิทานเดิมมาเพิ่มเติมว่า ต่อมาราชสีห์ถูกข่าวลือวิพากษ์วิจารณ์ว่าโหดร้าย ลูกหลานตัวหนึ่งต้องการใช้สงครามจิตวิทยาเข้าตอบโต้ จึงจัดประชุมบรรดาสัตว์ทั้งปวง กล่าวว่า “บรรพบุรุษของข้าพเจ้าโมโห เพราะถูกเจ้าแกะใส่ร้าย เลยผิดพลาดอย่างมากที่ฟัดหมาป่าจนตาย ดังนั้น เพื่อเป็นการขอโทษ จะให้อภิสิทธิ์แก่ลูกหลานหมาป่า ว่าต่อไปนี้มีสิทธิ์จับแกะกินได้ และเพื่อเป็นการแก้ภาพพจน์ เราจะพิสูจน์กลิ่นลมหายใจกันอีกครั้ง” หมาป่าต่างพากันประจบประแจงว่าหอม แกะยังพาซื่อตอบว่าเหม็น หมาจิ้งจอกยังคัดจมูกทั้งตาปีสีกะชาติ หมาป่าถือโอกาสประกาศว่า “ผู้ที่ทำลายศักดิ์ศรีของราชสีห์ จะต้องรับโทษหนักถึงตาย” ลูกแกะเลยกลายเป็นใบ้ ร้องแบะ-แบะตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ความจริงก็คือ ลมหายใจของราชสีห์ยิ่งทียิ่งเหม็น เพราะโรคภายในกระเพาะของมัน ไม่มีใครกล้าเตือน มีแต่แข่งกันยกยอ ราชสีห์จึงไม่รู้สาเหตุแห่งความเหม็น ในที่สุดก็ล้มตายเพราะความเน่าภายใน อนันต์สรุปคำสอนของนิทานประติรูปเรื่องนี้ว่า “คำยกยอนั้นเป็นยาพิษที่ร้ายแรงยิ่งนัก”

Advertisement

นิทานที่ให้คติแก่ผู้ไม่มีอำนาจก็มี เช่นเรื่อง “ราชสีห์กับหนู” อีสปเล่าว่าราชสีห์จับหนูได้ตัวหนึ่ง หนูกล่าววิงวอนว่า “ขอชีวิตน้อย ๆ ไว้สักครั้ง แล้วจะไม่ลืมบุญคุณของท่านเลย” ราชสีห์อิ่มอยู่จึงปล่อยหนูไป อยู่มาวันหนึ่ง ป่าลดน้อยถอยลงด้วยน้ำมือมนุษย์ ราชสีห์หาอาหารไม่ค่อยได้ จนเดินมาติดแร้วนายพราน ดิ้นเท่าไรก็ไม่หลุด หิวโหยหมดแรง บังเอิญหนูผ่านมา ใช้ฟันอันแหลมคมแทะเชือกของแร้วจนขาด มาถึงตรงนี้ อนันต์หักมุมจากนิทานอีสป เล่าว่า พอราชสีห์หลุดจากแร้ว ก็ตะครุบหนูไว้ “ไหน-ไหนมาช่วยเราแล้ว ช่วยเป็นอาหารมื้อแรกแก่เราด้วยเถิด” อนันต์สรุปคำสอนของนิทานประติรูปเรื่องนี้ว่า “สิงโตหิวห้ามเข้าใกล้ คนหิวห้ามให้ตำแหน่ง”

นิทานอีกเรื่องหนึ่งชื่อ “นายของกบ” เรื่องเดิมสอนว่าอย่าทำตัวเป็นกบเลือกนาย ซึ่งเป็นแนวเรื่องที่รู้จักกันดีที่สอนว่า มัวแต่เลือกนายอยู่นั่น อาจจะได้นายที่ร้ายกาจ เรื่องมีอยู่ว่า กบไม่มีนาย จึงขอร้องเทวดาให้ส่งนายมาให้ เทวดาเห็นใจ ส่งขอนไม้ใหญ่ขอนหนึ่งมาให้กบเกาะ กบไม่พอใจเพราะขอนไม้ไม่มีฤทธิ์อำนาจอะไร จึงร้องขอต่อเทวดาใหม่ เทวดาชักหมั่นไส้เลยส่งนกกระสาผู้มีฤทธิ์เดชมา อีสปเล่าว่านกกระสาผู้เป็นนายเลยจับกบกินสบาย แต่อนันต์เล่าแบบประติรูปโดยต่อเติมว่า คราวนี้กบขอร้องเทวดาใหม่โดยมีเหตุผลว่า “เราเดือดร้อนหนัก ได้นายไม่โง่-ไม่ฉลาด อย่างขอนไม้ หาประโยชน์มิได้ ได้นายที่ฉลาดแต่ทว่าโกง เป็นภัยอันตราย คราวนี้ขอนายที่ซื่อสัตย์ แม้สติปัญญาน้อยหน่อยก็ยังดี” เทวดาจึงส่งลาลงมาเป็นหัวหน้ากบ ลานอกจากจะขยันคิดแล้วยังขยันทำอีกด้วย แต่ทำสิ่งที่เป็นภัยแก่กบโดยไม่รู้เท่าถึงการณ์ เช่น กระโดดลงไปเป็นเพื่อนกับกบในบึง ทำให้น้ำขุ่นคลัก สุดท้ายพยายามกินน้ำในบึงให้หมดเพื่อช่วยให้กบมีสถานที่พำนักกว้างขวางขึ้น พอบึงแห้ง กบเดือดร้อนแสนสาหัส กบตัวสุดท้ายร้องก่อนสิ้นลมว่า “การมีนายโง่แต่ขยันนั้นเป็นภัยแก่ตนเช่นนี้แล”

อนันต์มีนิทานประติรูปมาเล่าในหนังสือของเขา 16 เรื่อง เพียงเล่ามา 3 เรื่อง พื้นที่ของบทความนี้ก็เกือบหมด จึงขอจบลงด้วยคำสอนของพุทธศาสนามหายานสักเล็กน้อย เพราะเป็นคำสอนที่สอนให้เราอยู่กับสังคม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ข้อความที่ยกมาเป็นคำบรรยายของเชอเกียม ตรุงปะ ปรมาจารย์ชาวทิเบต ที่ให้ไว้ที่กรุงซาน ฟรานซิสโก ในเดือนพฤษภาคม 2516 และ พจนา จันทรสันติ นำมาแปลและตั้งชื่อหนังสือเป็นภาษาไทยว่า “สีหนาทบันลือ”

Advertisement

ตรุงปะเน้นว่า ก่อนจะฝึกไปถึงตันตระยานหรือวัชรยาน ต้องฝึกให้เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์และขันธ์ห้าของหีนยาน เรื่องปฏิจจสมุปบาทของปัจเจกพุทธยาน ตลอดจนเรื่องศูนยตาและโพธิจิตของมหายานที่เป็นรุ่งสางแห่งโพธิสัตวมรรคก่อน เพื่อให้เกิดปัญญาว่า ธรรมชาติแห่งพุทธะหรือวิมุตติมีอยู่จริงในตัวเรา คำสอนมีอยู่ว่า เพื่อที่จะเดินตามเส้นทางโพธิสัตว์ เราต้องกอปรกิจแห่งบารมีทั้งหก อันได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิและปัญญา อย่างไรก็ดี อรรถกถาฝ่ายมหายานแตกต่างจากฝ่ายเถรวาทที่จุดเน้นเพื่อผู้อื่น ดังจะขอยกคำอธิบายโดยสังเขปดังนี้

ทาน มิใช่เพียงใจบุญสุนทาน บริจาคเงินให้วัด หรือเพื่องานการกุศลต่าง ๆ หากหมายรวมถึงการให้และการเอื้อเพื้อโดยไม่หวังว่าจะได้รับสิ่งใดตอบแทน เช่น ไม่หวังว่าจะเป็นบุญในโลกหน้า ปฏิปทาต่อมาคือศีลในตนเอง ไม่จำเป็นต้องวางแผนหรือสร้างขึ้นมา เมื่อสถานการณ์เรียกร้องให้ต้องมีศีล ก็กระทำการร่วมกับสถานการณ์เหล่านั้นด้วยสัมปชัญญะที่มี

ขันติไม่ใช่เพียงความอดทนที่จะแบกรับความยากลำบากต่าง ๆ นานา ไม่ใช่ความสามารถในการรับความเจ็บปวดที่สูงกว่า หากหมายถึงความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อสิ่งอันรบกวนใจ แต่กลับไม่ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการคุกคามโดยส่วนตัว หากยังคงสติสัมปชัญญะของตนเอาไว้ได้ แม้จะเดือดเนื้อร้อนใจว่า สิ่งต่าง ๆ มิได้ดำเนินไปตามความคาดหวังของเรา

วิริยะหมายถึงความเพียร นี่คือความเบิกบานในทุกสถานการณ์ของชีวิต เบิกบานเพื่อกระทำความเพียร หากเราสามารถมีความสุขกับการทำบางสิ่งบางอย่าง เราจะเพียรทำสิ่งนั้นอย่างหนักหน่วง ไม่มีความเร่งร้อนในความสัมพันธ์กับชีวิต เราไม่ถูกโหมกระหน่ำโดยเหตุการณ์ต่าง ๆ อันที่จริง เรากำลังโหมกระหน่ำตัวเองต่างหาก จนไม่มีที่ว่างพอที่จะขยับตัว เคลื่อนไหว หายใจ หรือพอที่จะก่อเกิดปัญญาใด ๆ

สมาธิแทบจะเรียกได้ว่าคือการแลเห็นถึงความงาม หมายถึงการตระหนักรู้ถึงกาย ถึงสีสัน ถึงผู้คน โดยมีที่ว่างพอให้สิ่งต่าง ๆ ผุดขึ้นมา และทุกสิ่งได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพและเห็นคุณค่า สุดท้ายคือปัญญา อันเป็นตัวคุมบารมีธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้ง ทาน ศีล ขันติ วิริยะ และสมาธิล้วนมีปัญญา มีความกระจ่างชัดของมันเองอยู่ด้วย สิ่งต่าง ๆ ถูกมองเห็นอย่างที่มันเป็น แทนที่จะผูกติดอยู่ด้วยความคาดหวัง

เรามีคุณค่าต่างกัน มีความคาดหวังต่างกัน ได้รับคติและคำสอนต่างกัน แต่ถ้าเปิดรับคติที่ต่างกันของนิทานที่ส่งทอดต่อ ๆ กันมานับสหัสวรรษอย่างเช่นนิทานอีสปและนิทานอีสปฉบับประติรูปได้ แต่ถ้าเปิดรับอรรถกถาของคำสอนทางศาสนาที่ต่างกันได้ เราคงจะมีความเพียร มีความสุขที่จะลดการเบียดเบียนตัวเราและผู้อื่น และมีสติสัมปชัญญะพอที่จะเปิดใจกว้างต่อสถานการณ์ที่สับสนและยากลำบาก ที่กำลังเผชิญอยู่นี้

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image