การชุมนุมที่ไม่ใช่การชุมนุม : อนาธิปัตย์ในมิติใหม่

ผมพยายามทำความเข้าใจการชุมนุม การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการปะทะกันที่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อเรื่องราวทั้งหลายเกิดขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางที่แยกดินแดง ด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งของทางที่จะมุ่งไปยังบริเวณค่ายทหารที่    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพักอาศัยอยู่

ประการแรก เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม หรือที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของมอบนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งต่อเนื่อง และมีมิติใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่ต่อเนื่องคือมีความเกี่ยวทั้งในกรณีผู้ชุมนุม แกนนำ และประเด็นต่อมาจากม็อบคนรุ่นใหม่ในปีที่แล้วที่มีความหลากหลาย ทั้งจากกรณีนักเรียนนักศึกษา และผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งประเด็นที่มีการเรียกร้องกัน ทั้งเรื่องทางการเมือง เศรษฐกิจ และเรื่องการดันเพดาน/ทะลุเพดาน นอกจากนี้เมื่อมีสถานการณ์โควิดที่บ่งชัดถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งทำให้เรื่องของการชุมนุมแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้แล้ว ม็อบที่เกิดขึ้นยังมีความเชื่อมโยงขบวนการทางการเมืองที่มุ่งหวังเปลี่ยนแปลงประเทศมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการเชื่อมโยงด้านสำนึก และด้านตัวบุคคล ไล่เรียงมาตั้งแต่คณะราษฎร การกดปราบประชาชนเมื่อ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์ของคนเสื้อแดง และบางส่วนของคน กปปส.และเสื้อเหลืองกลับใจ

ที่กล่าวมานี้ยังรวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เรื่องของคาร์ม็อบ หรือการจัดทำม็อบแบบสัญลักษณ์ใหม่ๆ การกระจายตัว และการเคลื่อนไหวในพื้นที่ออนไลน์

Advertisement

ประการที่สอง เรื่องราวที่ดูจะเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญในแง่ของการดันเพดานก็คือ ม็อบที่มีตั้งแต่ปีที่แล้วมีการดำเนินคดีหลายกระทง หลายมาตรา และขณะเดียวกันก็มีลักษณะการชักเย่อไปมาระหว่างชุดการดำเนินคดี การประกันตัว การไม่ให้ประกันตัว การกดดันทั้งการชุมนุมและการปะทะเพื่อให้ปล่อยเพื่อนเรา และมีการหลบหนีออกไปบ้างแล้ว

ประการที่สาม จุดโฟกัสของม็อบในปีนี้ดูจะเน้นไปที่เรื่องของการกดดันให้นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมุ่งเน้นไปที่การกดดันที่หน้าบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์มากกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งทำให้ถนนวิภาวดีและแยกดินแดงกลายเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองใหม่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ที่เคยเป็นมา อาทิ พื้นที่ส่วนราชการ แต่กระนั้นก็ตาม พื้นที่อย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกราชประสงค์ และพื้นที่แยกปทุมวัน ก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในรอบนี้อยู่ไม่ใช่น้อย

ประการที่สี่ เราจะพบว่าข้อถกเถียงสำคัญในเรื่องของความรุนแรง และการอ้างอิงถึงสันติวิธี หรือการชุมนุมโดยสันติ กลายเป็นประเด็นใหญ่ในการเคลื่อนไหวในรอบปีนี้ อาจจะเรียกว่ามากกว่าเรื่องของการท้าทายโดยวาจาที่นำไปสู่การดำเนินคดีแบบปีที่แล้ว และทำให้ประเด็นเรื่องการปราบปราม หรือการควบคุมฝูงชนกลายเป็นเรื่องใหญ่ในปีนี้ ฝ่ายรัฐก็อ้างว่าได้ทำตามสัดส่วนและสมควรกับเหตุ ได้ทำตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ฝ่ายผู้ชุมนุมก็มองว่าการปราบปรามนั้นเกินกว่าเหตุ ลามไปถึงความไม่ปลอดภัยที่มีต่อสื่อมวลชน และผู้คนที่สัญจรผ่านทาง ไม่ใช่จากผู้ชุมนุม แต่จากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

Advertisement

เรื่องของการชุมนุมและความรุนแรงในปีนี้เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และท้าทายการตั้งคำถามถึงความเป็นสันติวิธีของการชุมนุม โดยเฉพาะในเงื่อนของเส้นแบ่งระหว่างการชุมนุมโดยสันติ และการเลยเส้นการชุมนุมโดยสันติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กรอบกฎหมายระหว่างประเทศอาจจะไม่ครอบคลุม ขณะที่ในหน้างานนั้นผู้ชุมนุมจำนวนไม่น้อยก็มองว่าพวกเขาจำต้องตอบโต้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งจากความโกรธแค้น เจ็บใจ ที่ชีวิตของพวกเขาสิ้นหวัง ไม่นับการจัดเต็มในการควบคุมฝูงชนที่หลักฐานจำนวนไม่น้อยค่อยๆ ทยอยเปิดออกมาเกลื่อนหน้าสื่อออนไลน์และออฟไลน์ถึงพฤติกรรมที่น่ากังขาของการสลายการชุมนุม

ในอีกด้านหนึ่ง เรากำลังพูดถึงเรื่องของสันติวิธีที่ไม่ใช่แค่ความสวยงาม บริสุทธิ์ผุดผ่องของการเคลื่อนไหวที่ไม่มีเรื่องของความรุนแรงเลย แต่การต่อสู้ในแนวทางของสันติวิธียังรวมไปถึงการละเมิดกฎหมาย เพื่อยอมให้ถูกจับ และไปต่อสู้กันในเรื่องของจิตวิญญาณและมโนสำนึกของผู้คนว่าการจับกุม ดำเนินคดี และใช้กฎหมายในการจัดการผู้ที่ท้าทายอำนาจรัฐเป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่ เพราะยิ่งมีการจับกุมดำเนินคดีมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นกฎหมายเฉพาะที่สังคมอื่นเขาไม่ได้มีสำนึกในกฎหมายนั้นเหมือนเรา และอาจพิจารณาว่าขัดมาตรฐานสากล ก็อาจเป็นไปได้ว่าความชอบธรรมของการตอบโต้ของรัฐ ของผู้มีอำนาจก็จะยิ่งลดทอนความชอบธรรมในการเมืองและการปกครองมากเข้าไปอีก

สรุปตรงนี้ก็คือ สันติวิธีในภาพกว้างไม่ได้หมายถึงความไม่รุนแรงไปเสียทั้งหมด แต่มันเป็นการสู้ในระดับมโนสำนึกหรือจิตวิญญาณว่าจิตใครแข็งกว่ากัน และทำให้คนนั้นตาสว่าง หรืออึดอัดกับความจริงที่รับยากมากขึ้นทุกวันได้แค่ไหนต่างหาก

ในอีกประการหนึ่ง เราจะพบว่าในเรื่องของความรุนแรงและการปะทะกันที่ดินแดงโดยไม่มีแกนนำ แต่มีความสม่ำเสมอในการออกมาต่อสู้ในรอบนี้ มันเป็นเรื่องที่ท้าทายคำอธิบายและปฏิบัติการการชุมนุมในอดีต บ้างก็กล่าวว่าการชุมนุมโดยไร้แกนนำและใช้ความรุนแรงในการปะทะจะทำให้เสียมวลชน และไม่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว ทั้งที่ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีหลักฐานโต้แย้งอย่างน้อยสองประการ

หนึ่ง ในแง่ของการพูดถึงการดันเพดานในปีที่แล้วจนกระทั่งถึงการปะทะด้วยความรุนแรงในปีนี้ แล้วอธิบายกันว่าจะทำให้ม็อบแผ่วและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก เรื่องนี้อาจจะไม่ได้วัดกันตรงที่จำนวนคนเข้าร่วมเฉยๆ แต่ต้องวัดกันที่ความเข้มข้น และปริมาณของการถกเถียง พูดคุย และการกล่าวโดยตรงหรืออ้อมในเรื่องราวเหล่านี้ รวมทั้งการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในโลกออนไลน์ ซึ่งนับวันจะทวีความเข้มข้นและความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การจะวัดผลสำเร็จจากการเข้าร่วมการชุมนุมบนถนนอาจไม่ใช่ภาพรวมของกระแสการก่อตัวของคลื่นความคิดและคลื่นมหาชนขนาดใหญ่ และทำให้การชุมนุม การปราศรัย และการปะทะเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ขยายฐานออกไปกว้างสุดลูกหูลูกตามากขึ้นเรื่อยๆ

สอง การตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวแบบไม่มีแกนนำและการปะทะที่ดินแดงที่มีความต่อเนื่องยาวนานมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการกล่าวว่าในช่วงแรกเป็นความพยายามของบรรดานักศึกษาบางกลุ่มที่สมาทานแนวคิดตะวันตกอย่างตรงไปตรงมา แล้วนำเอาท้องถนนเป็นที่ทดลองการเคลื่่อนไหวในแนวใหม่ ด้วยเงื่อนไขของการปราบปรามในช่วงที่แล้ว กอปรกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การสื่อสาร และการแกงนั้นทำได้อย่างรวดเร็ว (คือย้ายการชุมนุมได้เร็ว และระดมการออกมาของผู้คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ฉับพลันทันที หากเทียบกับสมัยก่อนที่การสื่อสารของรัฐนั้นเหนือกว่า ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น วิทยุ การปิดสื่อตั้งแต่หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และทีวีดาวเทียม)

แต่สิ่งที่ผมต้องการอธิบายในแง่นี้ก็คือ ในการเคลื่่อนไหวปัจจุบันที่แยกดินแดงนั้น เราไม่อาจเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวจากทฤษฎีนำการปฏิบัติ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดจากเงื่อนไขที่สะสมมาจากหลายทาง และทำให้การปฏิบัติจริงก่อตัวกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ยืดเยื้อยาวนาน และไม่ควรจบคำอธิบายเชิงเห็นอกเห็นใจเฉยๆ ว่า คนเหล่านี้คือคนยากไร้ในเมืองที่ไม่มีทางออกในการต่อสู้ในแบบอื่น หรือเพราะเขาคั่งแค้นกับสภาวะที่ตีบตันจากการบริหารของรัฐ

ผมจึงขอเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าอนาธิปัตย์ใหม่ในการเมืองบนท้องถนน ซึ่งคงมีนักวิชาการหลายท่านพยายามที่จะพูดคุยเรื่องนี้ผ่านการสนทนาในหน้าเฟซบุ๊กมาเป็นระยะ ขณะที่สิ่งที่ผมพยายามจะนำเสนอก็คืออนาธิปัตย์ใหม่ของบ้านเราไม่ได้ถอดมาจากทฤษฎี แต่เป็นปรากฏการณ์ทางอินทรียภาพ (organic) ภายใต้เงื่่อนไขพลวัตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเราเองมากกว่า

พูดอีกอย่างก็คือมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและเบ่งบาน (spring) ผลิดอกออกผลจากเนื้อดินในสังคมนี้ เฉกเช่นที่จอมเผด็จการในบ้านเราในยุคก่อนบอกว่าประเทศไทยต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะดินบ้านเรามีไว้ปลูกมะม่วงไม่ใช่แอปเปิล นั่นแหละครับ

เมื่อใช้คำว่าอนาธิปัตย์นี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวถึงเรื่องของสภาวะการไม่มีขื่อแป เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่นักอนาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งการปะทะจริงบนถนนคิดไว้ล่วงหน้าว่ามันจะต้องเกิดขึ้น และมันต้องงดงาม ดังนั้น คำว่าอนาธิปไตย คนนอกมองมาก็จะมองว่าเป็นเรื่องของความวุ่นวาย เป็นเรื่องของการขาดเหตุผล และเป็นเรื่องของการขาดการจัดตั้งที่ดี ดังนั้น นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มจึงเป็นห่วง ในขณะที่บางคนที่ยืนตรงข้ามอาจจะสาปส่ง หรือดูหมิ่นดูแคลน ด้อยค่าสิ่งเหล่านี้

ในมุมมองแบบอนาธิปไตยนั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการชุมนุมเพื่อกดดันเรียกร้อง แต่สิ่งที่เขาต้องการคือการปะทะ การปะทะไม่ได้หมายถึงการไม่มีเหตุผล การอยู่ในอารมณ์ของความหุนหันพลันแล่น และก็ไม่ใช่มองว่าอารมณ์คือทุกสิ่งทุกอย่างทางการเมือง

แต่มันหมายถึงว่า การชุมนุมประท้วงไม่ได้อยู่ในหัวของฝ่ายอนาธิปัตย์ ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ คือทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติจริง สิ่งที่พวกเขากำลังทำไม่ใช่การชุมนุม ไม่ใช่การประท้วง ไม่ใช่การเรียกร้อง แต่เป็นการกระทำที่ฉับพลันทันที เป็นการกระทำที่ตรงไปตรงมา (direct action) คือปะทะ เพราะไม่เห็นคุณค่าต่อโครงสร้างอำนาจ ต่อระบอบที่ดำรงอยู่

พวกเขาไม่ใช่ไม่มีแกนนำเพราะอยู่ในตรรกะของการเชื่อมโยงด้วยอินเตอร์เน็ตด้วยกระบวนท่าที่งดงามของการรวมตัว แต่พวกเขายืนอยู่ในขั้วตรงข้ามกับรัฐ ไม่ใช่ต้องการล้มรัฐในแง่การเข้าแทนที่และยึดครองรัฐ เพราะพวกเขามีคนหนุนหลังโดยเฉพาะบรรดานักการเมืองที่เสียอำนาจ หรือพรรคฝ่ายค้าน

อธิบายง่ายๆ ก็คือ อนาธิปัตย์นั้นยืนตรงข้ามกับอธิปัตย์ พวกเขาปฏิเสธศูนย์กลางอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ระบอบการเมือง รัฐสภา สถาบันตัวแทนในทุกรูปแบบ และแม้กระทั่งสิ่งที่หลายคนอยากจะพูดหรือไม่พูด ความอนาธิปัตย์ในแง่นี้คือการไม่เรียกร้อง แต่เป็นการปะทะ เป็นการชี้ให้เห็นว่าอำนาจที่ปกครองและควบคุมพวกเรานั้นไม่มีความหมาย

กล่าวอีกอย่างก็คือ มุมมองในเรื่องอำนาจของอนาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องของความมีเหตุมีผล และก็ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ แต่เป็นเรื่องของการปฏิเสธอำนาจที่พ้นไปจากตัวพวกเขา พวกเขาจึงไม่ต้องรวมตัวเป็นกลุ่ม เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นชนชั้น หรือแม้แต่อัตลักษณ์ทางการเมืองอื่นๆ ที่ยังมีศูนย์กลาง มีโครงสร้างสายการบังคับบัญชา

การไม่ยอมรับอำนาจนอกเหนือจากความเป็นมิตรร่วมรบกันในพื้นที่โดยแทบจะไม่ต้องสื่อสารประสานงานกันจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของอนาธิปัตย์ พวกเขาไม่ต้องมีแนวคิดแกนกลางประเภท ประชาชนจะต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (ผ่าน) เรื่องประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือสถาบันตัวแทนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องสันติวิธี เพราะเขาไม่ได้เรียกร้องในสิ่งเหล่านั้น

เขามาปะทะ เพราะเขาทนไม่ไหว และเขาไม่ต้องการอยู่ร่วมโลกกับอำนาจที่มันกดเขาอยู่ ดังนั้น แม้ในวันนี้เขาจะออกมายืนยันว่าพวกเขาแม้จะปะทะ แต่ไม่ได้ปล้นสะดม หรือทำลายข้าวของเอกชน สิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจของการเคลื่อนไหวก็คือการปะทะกับรัฐและกลไกของรัฐทุกรูปแบบตามที่พวกเขาจะทำได้ เพราะเขาท้าทายอธิปัตย์ และเขาก็รู้ว่าในการอ้าง
อธิปัตย์ในระบบการเมืองเผด็จการซ่อนรูปแบบไทยๆ นั้นมันไม่ใช่แค่การอ้างประชาชนโดยชนชั้นคนรวยและชนชั้นนำทางการเมือง

แต่มันเป็นเรื่องของการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของฝ่ายความมั่นคงอันเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารที่ยังครองอำนาจ และพยายามครองอำนาจมาอย่างยาวนานเกือบจะครบทศวรรษแล้ว

ในแง่ความเป็นจริง ในเงื่อนไขสังคมไทยนั้น อนาธิปไตยใหม่ในแบบไทยๆ อาจไม่ได้ไปไกลถึงการมีฐานคิดการปฏิเสธอำนาจรัฐแล้วมุ่งไปสู่เรื่องของการพยายามสถาปนาเครือข่ายความร่วมมือกันในแนวระนาบ แทนการสยบยอมต่อโครงสร้างลำดับชั้นทางอำนาจและขั้นตอนการลดทอนอำนาจของพวกเขาลงในนามของความเป็นตัวแทน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งพบว่ายังไม่มีนักวิชาการและฝ่ายนักคิดที่จะลงไปทำงานร่วมกับพวกเขา นอกจากพยายามโต้เถียงกับรัฐในแง่ของความเห็นอกเห็นใจว่าคนเหล่านี้เป็นพวกคนที่เสียประโยชน์ขั้นรุนแรงจากระบอบที่เป็นอยู่ อาจจะยิ่งกว่าพวกคนรุ่นใหม่ในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่สูญเสียความฝัน และตัวแทนในการเมืองรัฐสภาที่สุดแสนจะมีเหตุผลให้กับการกระทำที่ป่าเถื่อนของรัฐในปีที่ผ่านมา เช่น การยุบพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันและอนาคตของพวกเขา ดังที่เราได้ประสบกับการเคลื่อนไหวในปีที่แล้ว แต่นักปะทะพวกเขาสูญเสียทุกอย่างตั้งแต่งาน พ่อแม่พี่น้องเครือญาติจากโควิด และไม่มีโอกาสในทางเศรษฐกิจใดๆ ที่จะทำให้เขาไต่ลำดับชั้นทางสังคมและลืมตาอ้าปากได้ในช่วงนี้

ประเด็นที่ผมเพิ่งกล่าวไปนี้มันจึงเชื่อมโยงกับเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักวิชาการและพวกเบียวไม่ค่อยเข้าใจกับการปะทะ เพราะพวกที่ออกมาปะทะอาจจะไม่ได้เป็นพวกที่เข้าใจระบบทุนนิยมโลก เหมือนที่นักคิดและนักวิชาการพยายามจะมองว่าอนาธิปไตยใหม่เกิดจากการเคลื่อนไหวต่อต้านเสรีนิยมใหม่ และทุนนิยมใหม่ระดับโลก นับตั้งแต่การประท้วงการประชุมของยักษ์ใหญ่และประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

กล่าวอีกอย่างก็คือ ถ้ายังสมาทานกับความเข้าใจการก่อตัวของอนาธิปไตยในระดับโลกนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันมีความโดดเด่นเฉพาะของตัวเอง เพราะผู้ที่ออกมาปะทะไม่ใช่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของเสรีนิยมใหม่ หรือโลกาภิวัตน์ แต่เขากำซาบใจในเรื่องนี้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว จากความเข้าใจผ่านการแพร่ระบาดและผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด ที่มันไม่ได้กระทบแค่อาณาบริเวณทางเศรษฐกิจ และการกลั่นกรองครุ่นคิดถึงปัญหาผ่านกระบวนการพุทธิปัญญา จากการอ่านและค้นคว้าเรื่องราวจากโลกอินเตอร์เน็ต หรือติดตามข่าวสารและงานเขียนของปัญญาชน หรือแกนนำการประท้วง หรือขบวนการทางการเมือง

พวกเขาเข้าใจความซับซ้อนทางอำนาจที่กดทับ ขูดรีด พรากสิ่งสำคัญจากชีวิตเขา ด้อยค่า และกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรของพวกเขาผ่านการใช้ชีวิตและอำนาจชีวภาพที่กระทำต่อพวกเขา กอปรกับสภาวะการทำงานของพวกเขาที่ไม่ได้มีการรวมตัวแบบสหภาพ หรือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ และสวัสดิการจากรัฐ เพราะอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ/ไม่ถูกรับรองมองเห็นจากรัฐ และโอกาสในชีวิตของเขา ภาวะที่รัฐไม่แยแสกับความเป็นตายของพวกเขา ภาวะที่เงินชดเชยไม่ได้รับ หรือไม่เพียงพอ ภาวะที่ไม่มีวัคซีน ภาวะที่ขาดการช่วยเหลือ

นี่คือเงื่อนไขที่การปะทะกับอธิปัตย์เกิดขึ้น และเท่านั้น เขาไม่ได้ต้องการปราศรัย หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ เพราะเขาไม่ได้ประท้วง เขาไม่ได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้อง เพราะมันถึงจุดที่เขาไม่เห็นค่า ไม่เคารพ และเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐ อำนาจอธิปัตย์อีกต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมองคนทุกคนโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐในการปราบปรามเขาเป็นศัตรูของเขาดังที่พวกเขายืนยันมาโดยตลอด

ที่สำคัญ การขยายตัวและความสม่ำเสมอในการปะทะนั้นมีเงื่อนไขจากการไม่พอใจกับการใช้กำลังในการปราบปรามของรัฐที่พวกเขามองว่าเกินกว่าเหตุ ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ไม่สนใจ หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่ได้คิดว่าจะต้องหันมารวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อต่อสู้ต่อรองกับอำนาจอธิปัตย์เหล่านั้น

การปะทะในมิติของปรากฏการณ์อนาธิปัตย์แบบไทยอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จในความหมายของคนที่ไม่เข้าใจแนวคิดแบบอนาธิปัตย์ แต่การปะทะที่ผ่านมาย่อมจะถูกจารึกไว้ในเสี้ยวเล็กๆ ของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในรอบสองปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องประสานสอดคล้องเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่การเคลื่อนไหวในแนวปะทะก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ดำเนินไป โดยไม่จำเป็นต้องถูกประเมินในแง่เหตุผลของหน้าที่ในขบวนการใหญ่แต่อย่างใด

(หมายเหตุ : พิจารณาเพิ่มเติมได้จาก J.Bowen and J.Purkis. 2004. Introduction: Why Anarchism Still Matters. In Their (eds) Changing Anarchism: Anarchy Theory and Practice in a Global Age. Manchester: Manchester University Press. และ D.Goodway. 2012. Not Protest but Direct Action: Anarchism Past and Present. Historyandpolicy.org.)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image