ความสุขใจเพราะใช้ของใหม่ก่อนชาวบ้าน Early Adopters โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ผมเขียนคอลัมน์นี้ที่นิวยอร์ก ในวันที่ไอโฟน 7 กำลังจะออกวางขายในวันรุ่งขึ้น (ไอโฟน 7 วางขาย 16 กันยายน 2016)

พอเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้เป็นพยานในปรากฏการณ์แอปเปิล ผมจึงตัดสินใจเดินไปที่ Apple Store ที่ 5th Avenue เพื่อสัมภาษณ์คนที่มาต่อแถวเพื่อรอซื้อไอโฟน จากที่เห็นครั้งก่อนๆ ในการวางขายผลิตภัณฑ์แอปเปิลทุกครั้ง ผมคิดว่าน่าจะมีคนมาต่อแถวคับคั่ง ถึงแม้ว่าไอโฟนรุ่นนี้จะออกมาได้ขัดอกขัดใจใครหลายๆ คน แต่ผมก็ประเมินในใจว่าอย่างน้อยน่าจะมีคนมาต่อแถวก่อนประมาณสามสิบสี่สิบคนแน่ๆ เพราะนี่เป็นสาขาใหญ่ เป็นสาขาที่เป็น “ไอค่อน” ของแอปเปิลในนิวยอร์ก

ผิดคาด-เท่าที่ผมเห็น มีคนมานั่งนอนรอต่อแถวไว้ก่อนเพียงแค่สิบคนเท่านั้น เป็นผู้ชายแปดคน ผู้หญิงสองคน เชื้อชาติและวัยดูต่างๆ กันไป ตั้งแต่เด็กที่ดูอายุไม่น่าเกินมัธยมต้น ไปจนถึงลุงๆ ที่น่าจะอายุประมาณ 50 ปี

จากการสอบถาม พบว่าพวกเขามารอประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว กินนอนตรงนี้กันเลย ไม่ไปไหน ถ้าใครจะเข้าห้องน้ำคนอื่นก็จะจองคิวไว้ให้ ไม่แซงกัน พอเบื่อๆ ก็นั่งคุยกันจนรู้จักกันดี คนแรกของแถวนั้นทำสถิติมารอนานสูงสุดในครั้งนี้ คือมารอนานถึง 19 วัน เรียกว่ามานั่งรอก่อนที่แอปเปิลจะประกาศว่าออกไอโฟนรุ่นใหม่เสียอีก (แอปเปิลประกาศไอโฟนรุ่นใหม่วันที่ 7 กันยายน) ได้ยินว่าถึงกับลางานมาสามสัปดาห์เพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ

Advertisement

บางคนที่มาต่อแถวก็ไม่ได้มาเพราะอยากได้ไอโฟนไปใช้เองหรอกครับ แต่มาจากบริษัทรับต่อแถว (ที่ผมเจอชื่อบริษัท Same Ole Line Dudes) ที่ต่อแถวซื้อไอโฟนไปให้บริษัทต่างๆ จัดทำโปรโมชั่นหรือคลิปอื่นๆ อีกที การต่อแถวของพวกเขาไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ทำเพราะสนุก แต่เป็นกิจกรรมที่ทำเพราะเป็นงาน

แต่กับบางคน ก็มาต่อแถวเพราะเชื่อมั่นในตัวแอปเปิลจริงๆ อย่างคนหนึ่งที่ผมสัมภาษณ์เป็นหนุ่มแว่นคนหนึ่ง นี่เป็นการมาต่อแถวล่วงหน้าเพื่อซื้ออะไรเป็นครั้งแรกของเขา เขาพอใจกับไอโฟนรุ่นใหม่มากๆ และไม่คิดว่าการตัดรูเสียบหูฟัง 3.5 mm ออกจะเป็นเรื่องเสียหายอะไร เขาบอกว่า นี่คือเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็ต้องเคลื่อนไปข้างหน้า และยังเล่นมุขส่งท้ายว่า “ตอนนี้นายก็ไม่เห็นว่าคนขี่รถม้าแล้วใช่ไหม”

พวกเขาเหล่านี้คือ Early Adopters หรือคนที่ “มาก่อน ใช้ก่อน” ในทางเทคโนโลยี ในไทยเองเราก็มีนะครับ-อาจเป็นคนที่สั่งซื้อก่อนเพื่อให้มาส่งในวันไล่เลี่ยกับวันวางขาย อาจเป็นคนที่ยอมซื้อโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่จากมาบุญครอง ถึงแม้จะเป็นสินค้าหิ้วที่มีราคาแพงกว่า หรือกระทั่งอาจจะยอม “บิน” ไปซื้อที่ต่างประเทศที่วางจำหน่ายก่อนประเทศไทย

Advertisement

คำว่า Early Adopters นั้นไม่ได้เป็นคำใหม่ครับ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1962 แล้ว ในงานเรื่อง Diffusion of Innovations (การกระจัดของนวัตกรรม) ของ Everett M.Rogers โดย Rogers แบ่งคนที่จะรับนวัตกรรมเข้าไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไว้ห้าประเภท คือ Innovators (นักพัฒนา, นักนวัตกรรม), Early Adopters (คนใช้ก่อน), Early Majority (คนส่วนใหญ่ในช่วงแรก), Late Majority (คนส่วนใหญ่ในช่วงหลัง) และ Laggards (คนช้า) โดยห้าประเภทนี้จะมีสัดส่วนเรียงกันเป็นรูประฆังคว่ำ คือมี Innovators ราว 2.5% Early Adopters 13.5% Early และ Late Majority รวมกัน 68% และ Laggards 16% ซึ่งนี่เป็นการแบ่งสัดส่วนตามหลักวิชา

งานสถิติของ PEW Research ในปีล่าสุด (2016) พบว่าแท้จริงแล้วชาวอเมริกันมองว่าตัวเองเป็น “Early Adopters” เมื่อเทียบกับคนทั่วไปถึง 28% โดยคนที่เป็น Early Adopters ส่วนมากจะเป็นผู้ชายที่มีรายได้มากพอที่จะ “ยอมเสี่ยง” กับนวัตกรรมที่อาจล้มเหลว

การเป็น Early Adopters นั้นไม่ง่ายนะครับ-พวกเขามักถูกมองอยู่บ่อยๆ ว่าเสี่ยงไม่เข้าท่า เช่นในประเทศไทยเองเราก็มักจะได้ยินคำค่อนแคะพวก Early Adopters ว่า “รวยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโง่ด้วย” ซึ่งจริงๆ โดยส่วนตัวผมเองก็ไม่เข้าใจว่าจะไปค่อนแคะเรื่องเงินของคนอื่นทำไม (ฮา) ถึงจะถูกมองอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว Early Adopters ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยการ “ได้ใช้ของใหม่” หรือ “ได้เหนือกว่าคนอื่น” อย่างเดียวอย่างที่มักจะถูกวิจารณ์

แต่พวกเขายังอาจถูกขับเคลื่อนด้วย “ข้อมูล” และความอยากรู้อยากเห็นด้วย

ถึงหลายคนจะบอกว่า Early Adopters กับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีนั้นมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน (synergistic) เพราะในขณะที่พวกเขาได้ “ใช้ก่อน” ชาวบ้าน บริษัทก็ต้องการฟีดแบ๊กจากคนกลุ่มนี้เพื่อพัฒนาของให้คนกลุ่มใหญ่ใช้ต่อไปอีกเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ จะถูกพัฒนามาดีแค่ไหน แต่เมื่อมันถูกปล่อยออกสู่โลกกว้าง ก็มิวายที่จะต้องมีปัญหาจริงๆ อยู่ดี ซึ่ง Early Adopters ก็ทำหน้าที่รองรับความเสี่ยงพวกนี้ไว้ให้พวกเรา (ที่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีช้ากว่า) ซึ่งหากไม่มีพวกเขาเสียแล้ว บางปัญหาของผลิตภัณฑ์อาจถูกค้นพบเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่แล้ว จนกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากลำบาก

มีคำเรียกเลยนะครับว่าการรับความเสี่ยงพวกนี้เป็น “ภาษีของ Early Adopters”

ด้วยการจ่ายภาษีของพวกเขานี้เองที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ขึ้น ทำให้คนกลุ่มใหญ่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาน้อยลง และอีกหลายครั้ง พวกเขาก็ช่วยเสนอแนะ พัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติมให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย

ที่สำคัญก็คือ ถ้าไม่มีคนแรก แล้วใครจะเป็นคนแรก?

อย่างที่น้องคนนั้นบอกแหละครับ ขึ้นชื่อว่าเทคโนโลยี มันก็ต้องเคลื่อนไปข้างหน้า-พวกเขาก็แค่กล้าพุ่งไปก่อนเท่านั้นเอง

ไม่ได้มีเงินอย่างเดียวนะ ต้องกล้าด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image