คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : โกง(ให้)หยุดพูด

แคมเปญ “#พูดหยุดโกง” ก็เหมือนจะถูกตัดจบลงไปแบบงงๆ พร้อมกับควันหลงคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่าของเงินที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ

ที่ว่าถูกตัดจบไปแบบงงๆ ก็เพราะว่าล่าสุดก่อนเขียนคอลัมน์นี้ ก็ได้มีข่าวว่า ดารานักแสดงและบุคคลมีชื่อเสียงที่ออกมาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้แคมเปญนี้หลายคนได้ลบภาพที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปจากสื่อ
โซเชียลของเขาแล้ว

การลบภาพและเนื้อหาออกไปภายในเวลาอันสั้นนี้ถือเป็นการผิดสัญญา หรือข้อตกลงอันใดไม่ว่าจะที่พรีเซ็นเตอร์เหล่านั้นมีกับผู้จัดทำโครงการ หรือที่ผู้จัดทำโครงการจะต้องมีต่อหน่วยงานของรัฐ
ผู้ออกทุนให้หรือไม่อย่างไรนั้นก็ต้องไปว่ากันตามสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

แคมเปญ “#พูดหยุดโกง” นี้ได้รับเม็ดเงินจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ “กองทุน ป.ป.ช.” ที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับล่าสุด หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2561 หมวด 10 ซึ่งโดยมาตรา 162 กำหนดว่ามาจากเงินอุดหนุนจากทางรัฐบาลที่สมทบเข้ากองทุน และดอกผลของเงินนั้น โดยไม่ถือเป็นเงินแผ่นดินที่จะต้องนำส่งกระทรวงการคลัง และไม่ต้องจัดการตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ โดยการรับ จ่าย ดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือระเบียบต่างๆ ที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ซึ่งในทางปฏิบัติก็คงต้องกระทำผ่านสำนักงาน ป.ป.ช. อยู่แล้ว

Advertisement

ดังนั้นเงินที่เอาไปทำโครงการนี้จะเรียกว่าเป็น “เงินแผ่นดิน” หรือ “เงินงบประมาณ” นั้นก็คงไม่ใช่ถ้าจะว่ากันตามกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายมันมีที่มาส่วนสำคัญจากภาษีประชาชนนั่นแหละ

ส่วนผู้ดูแลดำเนินการในเรื่องนี้ คือสำนักงาน ป.ป.ช.อันเป็นหน่วยงานธุรการสนับสนุนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถ้าว่ากันในเชิงหน้าที่อำนาจแล้ว ถือว่ามีตัวตนที่แยกจาก “องค์อำนาจ” คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีภารกิจส่วนหนึ่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในการ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส” เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหลาย

และหากใครติดตามมาอย่างยาวนาน หรือจำได้ ก็คงนึกออกว่าผม ผู้เขียนคอลัมน์นี้เองก็เคยไปร่วมงานในภารกิจคล้ายๆ นี้กับสำนักงานและคณะกรรมการ ป.ป.ช.เช่นกัน จะว่าไป ก็ออกจะมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้รับผิดชอบโครงการ หรือต้องรับหน้าเสื่อในเรื่องนี้พอสมควร

Advertisement

เพราะความ “บ้ง” (ภาษาเยาวรุ่นที่หมายถึงอะไรๆ ที่ปรากฏออกมาได้แย่ผิดจากความคาดหมายของเจ้าตัว) ก็ไม่ใช่ความผิดของใครเท่าไร เพียงแต่ “เนื้อหา” กับ “เวลา” มันยังไม่ได้เท่านั้นเอง

กล่าวคือจุดประสงค์ของแคมเปญนี้เป็นไปเพื่อสร้างความรับรู้ให้คนไม่ทน ไม่ยอม ต่อเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบมาพากลใกล้ตัว เพียงแต่เมื่อมันออกมาในช่วงเวลาแบบนี้ หลายเรื่องก็เลยดูจะ “เพดานต่ำ” จนตลก เช่น หยุดโกงพี่ไรเดอร์ ที่ขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารด้วยการแกล้งสั่งแล้วไม่รับจนเขาต้องจ่ายเงินเอง การแซงคิว การช่วยเหลือพรรคพวกในทางที่ผิด จะมากขึ้นมาหน่อยก็อาจจะพูดถึงโครงการจัดซื้อของรัฐที่ดูไม่สมเหตุสมผลอย่างเรื่องจัดซื้อเสาไฟสารพัดสัตว์

ประกอบกับการจัดโทนกราฟิกสีแดงดำดูดุร้ายคุกคาม การเซตถ่ายให้พรีเซ็นเตอร์ทำท่าอดรนทน
ไม่ได้แล้วที่จะพูด ต้องฉีกเทปกาวปิดปาก หรือแสดงท่ากรีดร้องแบบไม่ไหวแล้วโว้ย เพื่อจะพูดเรื่องจิ๋มจิ๋วแค่นั้น มันเลยยิ่งดูตลกเข้าไปอีก

ที่จะพอเข้าท่าก็เป็นศิลปินบางท่านที่เคยออกมาคอลเอาต์อย่างหนักหน่วงก่อนหน้านี้แล้ว เช่น คุณอ๊อฟ ปองศักดิ์ ที่ออกมาพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาด้านสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือเรื่องการ
แซงคิวของบรรดา VIP ต่างๆ

อีกทั้งที่จริงแล้ว การ “ไม่พูด” ว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นนั้นมันก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นแขนงในรากเหง้าของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับใหญ่นั้นจริงเช่นกัน เพียงแต่ที่ว่าเรื่องมันออกจะผิดที่ผิดเวลาไปหน่อย คือมันดันมาปล่อยเอาในช่วงเวลาที่ประเทศไทยในภาวะวิกฤตโควิดที่มีผู้คนออกมา “พูด” (หรือเอาแบบตรงๆ คือ “ด่า”) กับการใช้อำนาจรัฐที่ดูไม่ชอบมาพากลในหลายต่อหลายเรื่องที่หนักหนากว่าไอ้ที่จะออกมา “#พูดหยุดโกง” นั้น

ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่มีความคลางแคลงใจว่ารักอะไรหนักหนากับวัคซีนบางยี่ห้อ การจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเองที่ดูผิดปกติทั้งคุณภาพของสินค้าและผู้นำเข้าที่ดันจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรเสริมสายสัมพันธ์ในแวดวงราชการ และนักธุรกิจระดับสูง การออกมาไล่ตรวจว่าวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาให้บุคลากรทางการแพทย์นั้นถูกนำไปกระจายฉีดอย่างถูกต้องหรือไม่

คนไทยมีเรื่องด่ากันทุกวัน จนปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไม่มีคน “พูดหยุดโกง” แต่มันเป็นอย่างที่น้องโฟกัส จีระกุล ออกมาสรุปสั้นๆ ประโยคเดียวว่า “พูดหยุดโกง แต่พอกูพูดก็หยุดกู” นั่นแหละ

หนำซ้ำด้วยข่าวที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจในการทำให้คน “หยุดพูด” ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น โรงเรียนอะไรสักโรงเรียนเชิญเด็กนักเรียนหญิง ม.3 พร้อมผู้ปกครองไป “ตักเตือน” ไม่ให้แชร์โพสต์การเมือง หรือระดับใหญ่ก็ถึงขนาดที่ว่ามีการเสนอปลด “สิงห์ สนามหลวง” สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ ด้วยสาเหตุที่ต่อให้ติดตามข่าวจากดาวแมนดาลอก็รู้ว่า เพราะว่าลุงสิงห์แกพูดจาไม่เข้าหูผู้ถือผู้ทรงอำนาจรัฐมาหลายต่อหลายปี นี่ยกตัวอย่างจากแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น

ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยในขณะนี้ คือความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการสื่อสารมวลชนในระดับรุนแรงไม่ได้สัดส่วน ซึ่งการปิดกั้นนี้มาจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน

การกระทำโดยอำนาจรัฐ เช่น การตั้งข้อหาผู้คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ผู้มีอำนาจไม่พึงประสงค์ มีการตั้งศูนย์ข่าวปลอมกันเอิกเกริก แถมยังมีการออกหนังสือเวียนให้แต่ละหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐช่วยกันดูแลดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม ทั้งที่นิยามคำว่า “ข่าวปลอม” และแนวทางปฏิบัติของรัฐที่ผ่านมา ก็เลื่อนเปื้อนเลื่อนไหล ส่วนใหญ่

ถ้าเอาไปจับเทียบกับนิยามความหมายอันเป็นสากลแล้วบางเรื่องก็ไม่อาจเรียกได้เลยว่า ข่าวปลอม หรือแม้บางเรื่องจะเป็นกรณีมีข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่ในทางสากลแล้วก็ถือว่าแค่เป็นเรื่อง “ข้อมูลคลาดเคลื่อน” ที่ยอมรับได้ หากพิจารณาเจตนา ในขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐของไทยเอาป้าย
ข่าวปลอมไปแปะ เพื่อจะโยนลงไปในกอง “ไม่ต้องฟัง ไม่น่าเชื่อถือ” พร้อมดำเนินคดี

ถ้าผู้แสดงความคิดเห็นเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือคนในบังคับกำกับดูแลของอำนาจรัฐ ก็จะใช้กระบวนการภายในทางปกครอง เช่นการดำเนินการทางวินัยเพื่อที่จะปิดปากผู้คนเหล่านั้น เช่น ที่ทหารอากาศท่านหนึ่งออกมาแสดงความเห็นที่รุนแรงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยตำรวจ คฝ. ก็ถูกส่งธำรงวินัยกันไป

สำหรับภาคเอกชนที่มีอำนาจจากทุนมหาศาลระดับประชารัฐ ก็ใช้อำนาจทางกฎหมายในกระบวนการทางแพ่งอาญา ในการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีที่มีเจตนาชัดเจนว่าเป็นการ “ฟ้องตบปาก” หรือกลยุทธ์ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือการข่มขู่ว่าจะทำอย่างนั้น การดำเนินคดีที่เกี่ยวกับหมิ่นประมาทของไทยมีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง และแม้ในทางอาญาจะมีข้อยกเว้นความผิด หรือเหตุบรรเทาโทษที่ว่าด้วยการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม การติชมด้วยความเป็นธรรม หรือการกล่าวหาในเรื่องที่เป็นความจริง แต่กระบวนการพิสูจน์ว่าการพูดการแสดงความคิดเห็นนั้นได้รับการยกเว้นความผิด หรือโทษดังกล่าวก็เป็นอำนาจศาล แต่ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยก็ต้องทนทุกข์วุ่นวายใจไปกับการถูกดำเนินคดีต่างๆ ระหว่างนั้นแล้ว ไม่นับว่าองค์กรธุรกิจใหญ่โตระดับนั้นก็หาข้อกฎหมายประหลาดพิสดารจากไหนไม่ทราบมาพลิกแพลงใช้ฟ้องปิดปาก เช่น เรื่องความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า

ทั้งหมดทั้งมวล คือ ที่เป็นและที่มีอยู่ของการใช้อำนาจ และการสร้างบรรยากาศให้ผู้คน “หยุดพูด”
นั่นเพราะคนที่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรนั้น ย่อมมีความสันหลังหวะ ไม่อยากให้ใครมา
ชี้จี้แผล หรือตั้งข้อสังเกตให้สังคมได้รู้ว่ากำลังมีเรื่องที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งต่อการล้อเลียนก็ทนไม่ได้

ในระดับผู้มีอำนาจ หรือบารมีที่ยังคงต้องรับผิดลงโทษตามกฎหมาย ก็ไม่อยากให้ใครมาชี้มูลให้ถูกรื้อฝอยขึ้นมาหาหลักฐานกล่าวหาและถูกดำเนินคดี หรือไต่สวนให้ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำไม่ชอบไม่ควรนั้น ไม่ว่าจะโดยกลไกทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือในทางสังคม

สำหรับระดับผู้มีอำนาจ หรือทรงอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น มั่นใจว่าอำนาจรัฐจะเข้าข้าง และในที่สุดคง
ไม่ต้องรับผิด คนพวกนี้ก็ไม่ชอบอยู่ดีให้ใครมาชี้มาแจงให้ผู้คนเห็นว่าตัวเองกำลังโกง หรือประพฤติไม่ดีมิชอบ เพราะถึงกฎหมาย หรือการเมืองจะเอาผิดไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากเสียความชอบธรรมในสายตาสังคม หรือผู้คนรอบข้าง ที่สำคัญคือการออกมา “พูด” ของผู้คนนั้นสำคัญคือ เป็นการทำลายความเชื่อถือในตัวตนของคนผู้นั้น ว่าสิ่งที่ตัวคิดว่าตัวดี หรือกำลังทำสิ่งที่ถูกที่ชอบนั้น ที่แท้แล้วความจริงคือ อะไรในสายตาผู้คน เช่นนี้เพียงการล้อเลียนก็ทำให้เสียรังวัดอย่างยากจะทนทาน

เราเคยได้เห็นพฤติการณ์ของเผด็จการตัวโกง ทั้งในหนังในนิยาย หรือแม้แต่เรื่องจริงในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อเขาได้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว สิ่งแรกๆ ที่จะกระทำหลังจากกระชับขุมอำนาจต่างๆ ให้อยู่มือแล้ว คือการควบคุมข้อมูลข่าวสาร หรือปิดปากผู้คนก็ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้เอง

เช่นนี้ หากทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย สำนักงาน ป.ป.ช.มีความจริงใจและเห็นด้วยจึงอนุมัติจ่ายเงินให้ทุนทำแคมเปญนี้แล้ว ก็สมควรถือว่านับแต่นี้ การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและในการสื่อสารมวลชนของประชาชนนั้นเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของท่านด้วย เพื่อจะอำนวยสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้คนที่ออกมา “#พูดหยุดโกง”

โดยอาจจะประกาศเลยก็ได้ว่า ความพยายามอันมิชอบธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายใดไม่ว่าจะโดยภาครัฐ หรือองค์กรธุรกิจ ที่เป็นไปเพื่อจำกัดปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนนี้ จะถูกตีความถือว่าเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการ “โกง” ให้ผู้คน “หยุดพูด” นั่นเอง

เพราะไม่งั้นเราก็คงจะได้พูดแต่เรื่องแม่ย้อยโกงแชร์ หรือตาอ้นสั่งโรบินฮู้ดแล้วไม่จ่ายเงิน
โดยไม่อาจไปไหนไกลกว่านั้น

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image