เรื่องของกระท่อม ที่ไทยนำหน้าทุกประเทศในโลก

กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10-15 เมตร ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดง และก้านใบเขียว ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร มีอยู่ในภาคกลาง เช่น แถบปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย

คนไทยเคี้ยวใบกระท่อมมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยเคี้ยวใบสด หรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม ส่วนมากจะเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ หลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที ก็จะกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ไม่ค่อยรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนเนื่องจากใบกระท่อมมีราคาถูก และทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น เช่นสุรา กาแฟ จึงเกิดความนิยมนำน้ำกระท่อมต้มผสมกับโค้ก หรือยาแก้ไอ เสพกันในหมู่วัยรุ่นในภาคใต้เรียกว่า “สี่คูณร้อย”

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2486 โดยระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่าย และเสพใบกระท่อม มีบทกำหนดโทษการฝ่าฝืน คือ ปรับไม่เกิน 200 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาได้กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดคือ
จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาทในขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) จะยังมิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศใดเลย แต่ก็มีประเทศเมียนมาและออสเตรเลีย 2 ประเทศที่กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชเสพติด

ต่อมาได้มีการค้นพบสารเซเว่นไฮดร็อกซีไมทราไจนีน (7-hydroxymitragynine) ในใบกระท่อม โดยสารนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวดในหนูทดลองได้ดีกว่ามอร์ฟีนถึง 13 เท่า นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่า กระท่อมให้ผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนหลายประการ เช่น ไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท

Advertisement

ดังนั้น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประชาชนสามารถปลูก และขายได้
รวมทั้งมีการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 จำนวน 1,038 ราย โดยถือว่าไม่เคยกระทำความผิด สำหรับผู้ถูกจับกุม หรือจำเลยในชั้นต่างๆ จะได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมต่อไป ซึ่งทำให้ภาครัฐได้รับประโยชน์เมื่อมีการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ สามารถลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ต้องหา หรือจำเลย 1,691,287,000 บาท โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลเท่ากับ 76,612 บาท ซึ่งคดีข้อหาพืชกระท่อมที่ขึ้นสู่ศาลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563-30 มิถุนายน 2564 มีอยู่ถึง 22,076 คดี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประชาชนสามารถปลูก และบริโภคกระท่อมได้ตามปกติ รวมทั้งยังซื้อ หรือขายใบกระท่อมได้โดยไม่ผิดกฎหมายก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการนำใบกระท่อมไปผสมยาเสพติดอื่นๆ เช่น 4×100 เป็นความผิดตามกฎหมาย สำหรับการนำเข้า หรือส่งออกไปต่างประเทศในเชิงอุตสาหกรรมนั้น ต้องขออนุญาตก่อน

ในวันที่ 23 สิงหาคม ก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ 1 วัน ปรากฏว่าทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้แห่กันไปให้กำลังใจชาวภาคใต้ในการที่จะช่วยทำให้พืชกระท่อมกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งที่มีต้นกระท่อมชุกชุม และมีการเสพใบกระท่อม และทำน้ำกระท่อมกันมาก

Advertisement

ครับ ! เมืองไทยของเรานี้มีปรากฏการณ์กลับตาละปัตรกันบ่อยขึ้นแล้วนะครับ แบบว่าพืชกระท่อมเคยเป็นพืชตัวร้ายถูกโค่นทิ้ง และจับผู้เสพใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อมเข้าคุกเป็นร้อยพันคนมาร่วม 80 ปี แต่วันนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นความหวังที่จะกู้เศรษฐกิจของชาวภาคใต้ไปเสียแล้ว

ครับ ! อย่างน้อยที่สุดประเทศไทยเราก็เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามปลูกและครอบครอง รวมทั้งห้ามจำหน่าย และเสพใบกระท่อมมีบทกำหนดโทษการฝ่าฝืนคือ ปรับไม่เกิน 200 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และก็เป็นประเทศแรกอีกเหมือนกันที่ปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image