ที่เห็นและเป็นไป : สำนึกแบบ‘โจ้’

ที่เห็นและเป็นไป : สำนึกแบบ‘โจ้’

สะเทือนเลื่อนลั่นทั้งแผ่นดิน เมื่อคลิปนายตำรวจใหญ่ระดับผู้กำกับการถูกกล่าวหาว่า “ทำมาหารวย” จากการรีดเงินผู้ต้องหาด้วยวิธีทรมานให้ยินยอมจ่าย

ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวให้หายใจไม่ได้แล้วซ้อม จนผู้ต้องหาตายก่อนจะยินยอม

เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ว ไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทย แต่ขยายลามไปวิพากษ์วิจารณ์ในต่างประเทศในทางชี้ให้เห็นภาพลักษณ์ของ “การใช้อำนาจในประเทศไทย” ที่ให้ค่าของการปกป้องสิทธิมนุษยชนต่ำมาก จนบางครั้งไม่ยี่หระอะไรกับสิทธิประชาชนอันในมุมของมนุษยธรรมเลย

พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล “ผู้กำกับโจ้” แห่ง สภ.เมืองนครสวรรค์ อยู่ในการควบคุมของตำรวจชุดสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เรียกกันว่า “ทีมมือพระกาฬ” แล้ว

Advertisement

ในฐานะของผู้ต้องหาที่เข้ามอบตัว หลังจากคิด “ฆ่าตัวตาย” เพราะสำนึกเสียใจที่ทำให้วงการตำรวจเสียหาย

ปฏิเสธเรื่องการซ้อมเพื่อรีดเงิน ยอมรับว่าทำไป แต่เป็นการรีดข้อมูลเพื่อปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดซึ่งเป็นพิษภัยร้ายแรงกับประชาชน ไม่มีเจตนาฆ่า

ส่วนความร่ำรวยมหาศาลนั้นเป็นการทำมาหาได้ด้วยวิธีที่ไม่ผิดกฎหมาย

Advertisement

ชี้แจงเสร็จ เจ้าพนักงานตำรวจตัดบทการสอบถามของผู้สื่อข่าวด้วยข้ออ้าง “จะทำให้เสียรูปคดี”

หลังจากแถลงมีความเชื่อกันว่า เรื่องราวกระหึ่มโลกอยู่ 2-3 วัน ที่สุดแล้วจะค่อยๆ เงียบไป เพราะที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าพฤติกรรมของ “ผู้กำกับโจ้” ก็คือ

วิธีการสืบสวนสอบสวนอันเป็นปกติของตำรวจ ขบวนการค้ายาเสพติดที่ยิ่งปราบยิ่งรุนแรงขึ้น ขบวนการหากินกับรางวัลนำจับ และค่าข่าว การสรุปสาเหตุการตายของผู้ต้องหาอย่างที่เคยทำกันมา และอีกหลายๆ เรื่องที่กรณีของผู้กำกับโจ้เปิดประเด็นให้เห็นว่ามีเงื่อนงำชวนสงสัยว่าผิดปกติ

หากไม่ทำให้เรื่องเงียบ เรื่องราวเหล่านี้จะถูกแคะคุ้ยเปิดโปง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับใครต่อใครมากมาย และอาจจะสะท้อนถึงระบบการใช้อำนาจที่ซ่อนไว้ด้วยความไม่ชอบมาพากลมากมาย

“ปลาใกล้ตายที่ถูกโยนออกมาให้เห็นตัวเดียว จะทำให้ปลาเน่าทั้งข้องต้องเทไปด้วย”

หากขืนปล่อยให้ลากกันต่อ ระบบที่เลี้ยงดูผู้มีอำนาจ กดข่มผู้อ่อนด้อยกว่าอย่างมีประสิทธิผลมายาวนานจะกระทบกระเทือน

เสียหายต่อกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากระบบนี้ ที่ทำให้ผู้ต่อสู้ดิ้นรนจนได้เป็น “เครือข่ายผู้มีอำนาจ” เสพสุขกันมาหลายชั่วคน

จะต้องไม่ทำให้ “สำนึกและพฤติกรรม” แบบ “โจ้” จะต้องถูกมองเป็นความเลวร้ายจนเกินไป จะต้องความดีในรูปแบบต่างๆ ที่เคยสรรหามาห่อตัวเองไว้ถูกหยิบมาพูดถึงอย่างเชิดชูอีกครั้ง

ความดีแสดงออกได้โดยไม่เกี่ยวกับว่ามี “สำนึกแห่งดีงามอยู่ในใจ” จริงหรือไม่

เหมือนสำนึกและพฤติกรรมที่เมื่อมีตำแหน่งมีอำนาจ จะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ เป็นเรื่องผิดปกติในสังคมไทยเรา

แต่ความจริงแล้วเปล่าเลย หากมองกลับไปดูทุกเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ สำนึกและพฤติกรรมการใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่รู้สึกรู้สา สร้างเครื่องมือไว้ปกปิดตัวเองอย่างไม่ละอาย

ปากร่ำร้องให้ประชาชนรู้จักสิทธิของคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

กล่าวหาคนอื่นมีผลประโยชน์ซ่อนเร้นเบื้องหลัง เรียกหาความโปร่งใส พล่ามพูดถึงจิตสำนึกที่ไม่โกง ไม่กินชาติ

แต่ที่ตัวเองกระทำ แทบจะตรงกันข้ามกับที่เรียกร้องจากคนอื่น จากประชาชนทั่วไป

ระบบที่ควบคุมความเป็นไปของประเทศ ขยายการใช้อำนาจเช่นนี้ไปอย่างกว้างขวาง กดดันให้ทุกคนทุกฝ่าย จากทุกสาขาอาชีพให้รับรู้ว่า หากต้องการชีวิตที่มีความสุขต้องดิ้นรนหาทางเข้าเกาะเกี่ยวกับศูนย์กลางอำนาจให้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

การแสวงหาอำนาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สิทธิไม่ถูกละเมิด หากทำให้ตัวเองมีอำนาจได้ จะพลิกกลับมาเป็นผู้ละเมิดคนอื่นได้อย่างมีกลไกปกป้องโดยไม่ต้องรับผิด

ทั้งกลไกที่เป็นกฎหมาย และกลไกที่เป็นตัวสร้างและกำกับกระแสสังคม

“สำนึกแบบโจ้” ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในสังคมไทย

มีตั้งแต่อาศัย “กฎหมายจราจร” ใช้ถนนหนทางเป็นที่ทำมาหากิน ไปจนถึงใช้บ่อน ซ่อง สถานบันเทิง ยาเสพติด เป็นขุมทรัพย์สร้างความร่ำรวย

มองไปที่องค์กร หรือกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน “อำนาจ” เป็นเครื่องมือขุดหาทรัพย์สมบัติมาสะสมที่มีประสิทธิภาพที่สุด

การรักษาความเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ไว้ คือ “ความมั่นคงยั่งยืนของความมั่งคั่ง”

ดังนั้น จึงอย่าได้แปลกใจที่การปราบปรามผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงไม่ได้รับการไยดี และถูกปราบปรามอย่างหนักจากประเทศนี้

หากการรักษาความโปร่งใสของการใช้อำนาจ เห็นคุณค่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งรู้ๆ กันถ้วนทั่วทุกตัวคน เพราะพล่ามพูดกันมายาวนานทุกยุคทุกสมัยว่าจะต้องขจัดให้หมดไปด้วย “สำนึกที่แท้จริง” ไม่ใช่แค่ “ละครคนดี”

การเขียนและประกาศใช้อำนาจไม่ให้ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือ ป.ป.ช. เปิดเผยทรัพย์สินคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

เป็น “ผู้นำ” ที่มีสำนึกแบบไหนกันที่ไม่คิดว่านั่นเป็น “ตัวอย่าง” ที่ผู้นำไม่ควรทำให้เกิดขึ้นกับการบริหารจัดการประเทศ

สำนึกที่ทำให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา จะต่างอะไรกับ “สำนึกโจ้” ที่เห็นการเอาถุงพลาสติกคลุมหัวเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ปกติ ไม่มีเจตนากระทำความผิดอะไร

คำถามคือว่า เราจะอยู่กันในสังคมที่ถูกครอบงำด้วย “สำนึกแบบนี้” หรือ

จะอยู่กันไปอีกนานแค่ไหน หรือต้องอยู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์

ไม่มีโอกาสที่จะลืมตาขึ้นมาในสังคมที่ผู้คนโดยเฉพาะผู้มีอำนาจแสดงให้เห็นถึง “สำนึกดีงามซึ่งมีอยู่จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image