เมื่อตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรม

ข่าวคราวที่เกิดในนครสวรรค์นั้นสะเทือนไปทั่วประเทศ แต่กลายเป็นว่าคนจำนวนไม่น้อยคงจะไม่มีหวังกับปลายทางของความยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อได้รับชมการแถลงข่าวในวันที่หัวหน้าชุดที่ฆ่าผู้ต้องหาคดียาเสพติดมอบตัว

หดหู่กันทั้งประเทศ และความหวังของการปฏิรูปวงการตำรวจนั้นไม่มีอนาคต โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาความตกต่ำของวงการตำรวจจากการปะทะกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ

ผมอยากเติมเต็มประเด็นสองประเด็นที่ไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงกันมาก หนึ่งคือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับยาเสพติด และเรื่องของทัศนคติของการก่ออาชญากรรมของตำรวจในหมู่ตำรวจเอง ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจและหดหู่ใจอย่างยิ่ง เพราะข้อค้นพบสำคัญจากทั้งสองเรื่องคือ การเกี่ยวข้องของตำรวจในอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นขยายตัวมากขึ้นตามการเติบโตของตลาดยาเสพติด และตำรวจส่วนใหญ่เมื่อพบเจอการทุจริตในวงการตัวเอง จะเพิกเฉยมากกว่าออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แต่โชคดีมากๆ เลยครับที่เรื่องน่าหดหู่ใจทั้งสองเรื่องนี้เป็นงานวิจัยที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาและไซปรัสครับ ไม่ใช่ของประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยนั้นผมยังไม่เห็นข้อมูลในส่วนนี้ ก็ได้แต่หวังว่าการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จะทำหน้าที่ของ “ปีศาจวิทยาแห่งการเปรียบเทียบ” ว่าสิ่งที่เราเห็นในต่างประเทศจะตามมาหลอกหลอนพวกเราไปได้มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

มาเริ่มเรื่องกันเลยครับ ประเด็นก็คือ การทุจริตหรือคอร์รัปชั่นของตำรวจมีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง และในวงการวิชาการก็พยายามจะศึกษาคำจำกัดความ พฤติกรรม ประเภทของการทุจริต มานานแล้ว และที่สำคัญ การทุจริตที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกลายเป็นประเด็นที่เริ่มมีการให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการแพร่กระจายของยาเสพติดสมัยใหม่ที่กระจายกว้างขึ้นลงไปในชุมชน

การคอร์รัปชั่น/ทุจริตของตำรวจเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงและศึกษากันมาก กล่าวโดยสรุปหมายถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือเบี่ยงเบน หรือการละเว้นไม่กระทำของตำรวจที่เชื่อมโยงกับอำนาจหน้าที่ของเขา และทำไปเพื่อตัวเขาเอง หรือเพื่อคนอื่น หรือเพื่อองค์กรของเขาได้ประโยชน์ (A.G. Constantinou. 2018. How Do Police Officers Cope with Police Corruption and Corrupt Peers? A Typology in the Making. Policing. 14(3): 740-751)

โดยภาพรวมแล้วอาจจะกล่าวกันว่า การทุจริตของตำรวจนั้นมีอยู่สามแบบใหญ่ๆ (M. Punch. 2000. Police Corruption and Its Prevention. European Journal on Criminal Policy and Research. 8(3): 301-324)

Advertisement

1.การกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ (police misconduct) มักจะเป็นเรื่องการผิดระเบียบวินัย เช่น หลับในช่วงเวลาทำงาน

2.การคอร์รัปชั่น (police corruption) มักจะเป็นเรื่องที่รุนแรงเช่นการทำลายกระบวนการสอบสวน

3.อาชญากรรม (police crime) เป็นเรื่องที่รุนแรง เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมาย เช่นขโมยของ ฆ่าคน

และเมื่อพิจารณาไปถึงรายละเอียดซึ่งมักจะอยู่ในส่วนของการคอร์รัปชั่น และอาชญากรรมโดยตำรวจนั้น มีการแบ่งแยกรายละเอียดว่ามีอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ไม่ชอบแต่อาจไม่ผิดกฎหมายตรงๆ เช่นไปรับของไปรับผลประโยชน์ การรับของแลกเปลี่ยนกับการให้ประโยชน์ การฉวยโอกาสเช่นไปขโมยทรัพย์สินในคดี การรับสินบน การกรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ การทำลายกระบวนการสอบสวนเพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์ การทำอาชญากรรมเสียเองเพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์ การขายผลประโยชน์ในองค์กรเช่นซื้อขายตำแหน่ง หรือการเพิ่มหลักฐานเข้าไปอย่างไม่ถูกต้อง (J.B. Roebuck and T. Barker. 1974. A Typology of Police Corruption. Social Problem. 21(3): 423-437.)

การค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างตำรวจกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะไม่ใช่ตำรวจทุกคนจะเข้ามาปราบปรามยาเสพติด เราพบทั้งการเสพยาของตำรวจเอง และความเกี่ยวข้องของตำรวจในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการอาชญากรรมด้วย

ในสหรัฐอเมริกา การค้นพบที่สำคัญปรากฏในหลักฐานของ Mollen Commission Report ซึ่งเป็นเอกสารรายการสถานการณ์และเรื่องราวความเกี่ยวข้องของตำรวจกับยาเสพติดครั้งมโหฬาร และกลายเป็นข้อถกเถียงไปทั่วอเมริกา และทั่วโลกทั้งที่เรื่องราวนั้นคือการรายงานการสอบสวนในกรณีของกรมตำรวจของนครนิวยอร์ก รายงานออกมาในปี ค.ศ.1994 แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่มีการเก็บข้อมูลมาก่อนนั้นเป็นสิบปี

เรื่องราวมันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การแพร่กระจายของยาเสพติดตัวใหม่ คือ Crack หรือโคเคนแท่งที่ใช้สูบ ซึ่งต่างจากผงโคเคนในแบบเดิม เจ้าโคเคนแท่งนี้เป็นโคเคนที่นิยมและกระจายไปทั่ว จากกลุ่มคนเฉพาะในยุคแรกที่เป็นหมู่คนรวยมาสู่คนจนในชุมชนต่างๆ

ข้อค้นพบในรายงานฉบับนี้ก็คือ การขยายตัวของการค้ายาเสพติดในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ทำให้โอกาสในการคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นจากอาชญากรและตำรวจ ซึ่งต่างได้ผลประโยชน์จากการขยายตัวของตลาดยาเสพติดและการคอร์รัปชั่นของตำรวจในเรื่องยาเสพติด ไม่ใช่แค่การที่ตำรวจขโมยยาจากคนร้าย แต่ยังรวมถึงการที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการอนุญาตให้นายหน้าค้ายาและผู้ผลิต/แหล่งผลิต ประกอบกิจการในเมือง/ท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ และรวมไปถึงการที่ตำรวจเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าขาย เช่น ช่วยขนเสียเอง (A. Alesandro. Eds. 2021. Illegal Drugs and Public Corruption: Crack Based Evidence from California. European Journal of Political Economy.)

ที่สำคัญ รายงานฉบับนี้ชี้ว่า นอกจากการที่ตลาดการค้ายาเสพติดจะเฟื่องฟูมีผลทำให้โอกาสในการคอร์รัปชั่นของตำรวจหรืออาชญากรรมของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่ายุทธศาสตร์ในระดับองค์กรของตำรวจเองยังล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กลับยิ่งทำให้การเปิดโปงเรื่องราวที่เกี่ยวกับการทุจริตและอาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดที่ตำรวจเข้าไปยุ่งด้วยนั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ (อ้างแล้ว)

เมื่อเชื่อมโยงเรื่องของการทุจริตและอาชญากรรมของตำรวจกับความสัมพันธ์ที่มีกับประชาชน จะพบว่าการทุจริตในภาพรวมของตำรวจ เมื่อปรากฏตัวหรือถูกตีแผ่ออกมา การรายงานข่าวอาชญากรรมอื่นๆ ก็จะมีการรายงานน้อยลง ความร่วมมือของประชาชนกับตำรวจก็จะลดลง ประชาชนไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็จะเกิดขึ้น และในที่สุดตัวตำรวจเองก็จะเข้าไปจัดการกับอาชญากรรมได้น้อยลง (J.A. Cooper. 2012. Examining the Diffusion of Police Arrests across Urban Space. Ph.D. Dissertation. Arizana State University. อ้างใน Constantinou.l 2018)

ในงานคลาสสิกอีกชิ้นหนึ่งที่มีการศึกษาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 คืองานของ D.L. Carter. (1990. Drug-Related Corruption of Police Officers: A Contemporary Typology. Journal of Criminal Justice. 18: 85-98) พบว่าการคอร์รัปชั่นของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีอยู่สองแบบใหญ่ๆ

หนึ่งคือที่รับรู้กัน คือการทุจริต/อาชญากรรมที่มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ชอบธรรม ก็เหมือนที่เรารู้ๆ กัน คือมีจุดมุ่งหมายไปเอาผลประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของตัวเจ้าพนักงาน

สองคือการทุจริต/อาชญากรรมที่อ้างว่ามีเป้าหมายที่ชอบธรรม หรือทำความผิดด้วยเจตนาดี เช่นการหมายหัวกับพวกที่เป็นนายหน้า โดยใช้กระบวนการที่ไม่ถูกต้องในการจับกุม การสร้างพยานเท็จ การยัดหลักฐานลงไปกับพวกค้ายา การสร้างหลุมพรางอย่างจงใจ การปล่อยข่าวเท็จเพื่อจ้องจัดการพวกค้ายา (J.H. Langer. 1986. A Preliminary Analysis: Corruption of Political, Economic, Legal and Social Elements in Communities Involved in International Drug Trafficking and Its Effect on Police Integrity. Police Studie. 9: 42-56 อ้างใน Carter.)

ตรงที่กล่าวมานี้ต้องระวังดีๆ ว่าการอ้างว่าการกระทำผิดของตำรวจด้วยเป้าหมายที่ดี เพื่อจัดการอาชญากรรมนั้นก็เคยมีการศึกษาไว้อย่างเป็นระบบเช่นกัน และต้องนับทั้งสองรูปแบบของการทุจริต และมองว่าเป็นการทุจริต

งานวิจัยในปี ค.ศ.2012 ของ P.M.Stinson และคณะ (Police Drug Cirruption: What Are the Drugs of Choice?. Criminal Justice Faculty Publication. 3. Bowling Green State University). ชี้ว่าในการพิจารณาเรื่องของอาชญากรรมด้านยาเสพติดของตำรวจนั้นจำต้องพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องห้าประการด้วยกัน ได้แก่ ตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกจับกุม องค์กรของเจ้าหน้าที่รายนั้น ข้อหาตัวยาเสพติดเอง สาระและคุณลักษณะของความผิดที่เกิดขึ้น และผลจากตัวคดีความและการปิดคดีความเหล่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ถ้าลองมาทำสถิติในบ้านเราอาจจะพบแบบแผนที่น่าสนใจ ซึ่งยังไม่มีการพิจารณากัน

แต่อย่างน้อย ในงานศึกษาที่เพิ่งกล่าวถึงไปนั้น จาก 221 กรณี พบว่าเป็นเรื่องที่ตำรวจเข้าไปมีส่วนในการขนยาและค้าเสียเองเสียครึ่งหนึ่ง ต่อมาคือ ขโมยและรีดไถ ตามมาด้วยการเข้าจับกุมตรวจค้นอย่างผิดกระบวนการ เช่น ไม่มีหมายค้น และการกรรโชกทรัพย์ผู้ค้า และยาส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก็คือโคเคนในภาพรวม คือทั้งผงและแท่ง (อ้างแล้ว)

ในส่วนสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงก็คือตัวชุมชนและองค์กรตำรวจเองว่าพวกเขามีทัศนคติอย่างไรเมื่อตำรวจก่ออาชญากรรมเสียเอง ทั้งการกระทำผิดเล็กน้อย การทุจริตคอร์รัปชั่น และการก่ออาชญากรรม งานวิจัยในเรื่องนี้ในไซปรัส (Constantinous 2018 อ้างแล้ว) พบประเด็นที่น่าสนใจมาก โดยดูว่าเพื่อนร่วมงานคิดและมีปฏิกิริยาอย่างไร ต่อการทุจริตของเพื่อนตำรวจด้วยกัน

จาก 446 คดีที่มีการศึกษา พบว่า

ร้อยละ 19.1 ไม่ตอบแบบสอบถาม

ร้อยละ 15.5 ไม่ยอมรายงาน เพราะเห็นว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานและองค์กรของเขา

ร้อยละ 12.6 จะรายงานให้กับผู้บังคับบัญชา

ร้อยละ 11.4 มองว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเขา และจะไม่ทำอะไร

ร้อยละ 10.8 จะไม่ทำอะไร เพราะกลัว

ร้อยละ 7.8 จะพูดถึงเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และจะพยายามรวมตัวกันมีการกระทำบางอย่าง

ร้อยละ 7.4 จะขอย้ายไปอยู่ที่อื่น

ร้อยละ 6.1 จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยการเข้าไปคุยกันตรงๆ กับคนที่ทุจริต

ร้อยละ 5.6 จะไม่มองว่าเป็นเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นจึงไม่ต้องสนใจ

ร้อยละ 3.8 จะรายงานตรงไปยังฝ่ายจเรตำรวจ

ในงานวิจัยดังกล่าวชี้เหมือนที่เราพบในงานวิจัยในอเมริกาว่า ตำรวจมีวัฒนธรรมองค์กรบางประการที่ไม่ทำให้เกิดการรายงานเรื่องราวการทุจริตได้ง่ายนัก เพราะเอกภาพของความเป็นองค์กรของตัวเอง ที่จะทำให้ทุกคนเงียบมากกว่าส่งเสียง (Blue Code of Silence) และเป็นเรื่องปกติที่ตำรวจจะช่วยกันปกปิดเรื่องให้กันและกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทำทุจริตมีความรุนแรงมาก การรายงานก็จะเพิ่มมากขึ้น ไม่นับกรณีที่ว่าตัวเจ้านายของตนเป็นผู้ทุจริตเสียเอง ซึ่งการพบกรณีแบบนี้มีอยู่บ่อยมาก และทำให้เราต้องเข้าใจว่า ในการทุจริตในวงการตำรวจ ไม่ใช่แค่ว่าตำรวจที่ทุจริตเป็นเพียงแกะดำ แต่เหมือนกับว่ายิ่งอ่านงานวิชาการด้านนี้แล้ว ดูตัวกรณีคดีต่างๆ จะพบว่า การทุจริตกันเป็นระบบ เป็นลำดับชั้นมันเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อย จนทำให้การรายงานนั้นทำไม่ได้เสียมากกว่า

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ผมนำมาเล่า นี่จะบอกแค่ว่า ขนาดลงไปอ่านเรื่องแบบนี้แป๊บเดียวยังสนุกสนานและหดหู่ซะขนาดนี้ ถ้าบ้านเรามีงานวิจัยเรื่องนี้ออกมามากๆ และมีแรงกดดันจากสังคมมากขึ้น บ้านเมืองก็จะมีหวังนะครับ บอกตรงๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจจากภายในไม่น่าจะเป็นไปได้เลย หากเป็นไปตามหลักวิชาการที่ผมได้กล่าวมาแล้ว

พิขญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image