คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้น’ถึง‘ยูบิสุเมะ’

หากจะถือคติ “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ” แล้ว ก็มีเรื่องที่ควรต้องชื่นชมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าแม่นต่อการใช้สำนวนไทยยิ่ง

ทั้งนี้ ยึดอ้างอิงจาก “นิวส์มอนิเตอร์” มติชนออนไลน์ “นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้น ฝากอุทาหรณ์ทำอะไรไม่ดี
หนีไม่พ้น” วันที่ 24 สิงหาคม 2564 – 19.08 น. ต่อกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ กับพวกทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาคดียาเสพติดโดยใช้ถุงคลุมหัวจนเสียชีวิต ที่เขากล่าวว่า “ฝากเป็นอุทาหรณ์ให้เพื่อนข้าราชการตำรวจทุกนายดูไว้เป็นตัวอย่างว่าทำอะไรไว้ไม่ดี ไม่มีทางหนีพ้นไปได้และสิ่งที่ตามมามันเกิดความเสียหาย หากนิ้วไหนไม่ดีก็ต้องตัดทิ้ง ส่วนตัวเชื่อว่าตำรวจส่วนใหญ่ยังดี คนไม่ดีก็ต้องรับผลกรรมที่ทำไว้ เราไม่สามารถเอาคนแบบนี้ไว้ได้เพราะคนที่เหลือจะเดินไม่ได้…”

ซึ่งตรงกับคำอธิบายของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ในหนังสือสำนวนไทย ที่ท่านอธิบายว่า “…เป็นสำนวนหมายความว่า ในหมู่ในพวกคนไหนชั่วร้ายไม่ดี ก็ตัดเฉพาะคนนั้นออกไปเสียจากหมู่จากพวก เป็นการสำแดงโทษให้เห็นเฉพาะคนนั้น ไม่คลุมเครือแปดเปื้อนพัวพันไปถึงคนอื่น…”

จึงนับว่า ผบ.ตร.ใช้สำนวนนี้ถูกต้องในความหมายดั้งเดิมทุกประการ (และต้องชื่นชมไปถึงท่านบรรณาธิการข่าวนิวมอนิเตอร์ด้วยที่ปรับถ้อยคำให้ตรงกับสำนวนไทยที่ถูกต้องยิ่งขึ้น)

Advertisement

ทั้งพาให้นึกไปถึงคำพูดของอดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ครั้งที่แถลงข่าวกรณีที่มีทหารก่อเหตุกราดยิงประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากที่จังหวัดนครราชสีมาว่า “แต่วินาทีที่ลั่นไกสังหารประชาชน เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว”

หรืออาจจะนึกไปถึงโรคทางระบบประสาทที่มีอยู่จริง ที่มีกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมมือบางข้างได้ให้อยู่ในอาณัติของตัวเองได้ เรียกอาการมือแปลกปลอม Alien hand syndrome ที่ค้นพบในปี 1972 แต่เข้าใจว่าวิธีการรักษานั้นไม่ใช้การตัดมือที่ควบคุมไม่ได้ทิ้งแต่อย่างใด

ตามปกติแล้วในหนังสือ “สำนวนไทย” ที่ผมใช้อ้างอิงนี้จะมีที่มาของสำนวนเท่าที่ท่านผู้เขียนหาได้ หรือสำนวนเปรียบเทียบของต่างประเทศไว้ให้ด้วยว่าสำนวนดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากอะไร แต่สำหรับสำนวนนิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้นท่านไม่ได้กล่าวถึง ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะสำนวนนี้เก่าจนหาที่มาไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาจากรูปแบบการใช้ ที่ท่านผู้เขียนยกตัวอย่างการใช้ใน “นิพพานวังหน้า” ซึ่งเป็นงานนิพนธ์เก่าตั้งแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์นั้นว่า

Advertisement

“เพราะพระทัยอนุกูลประยูรวงษ์
โอ้พระองค์จงทิพสุขเสวย
ไหนนิ้วร้ายทรงตัดสลัดเลย
พระคุณเอ๋ยสุจริตดังบิดา”

“พระทัยอนุกูลประยูรวงษ์” ที่กล่าวถึงนั้นเป็นของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่หนึ่ง จึงน่าจะเห็นได้ว่า การ “ไหนนิ้วร้ายตัดสลัดเลย” นั้น เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งของผู้ทรงอำนาจปกครองในยุคก่อน ที่จะต้องจัดการกับผู้ปกครองชั้นรองลงไปที่ก่อกรรมกระทำเข็ญต่อราษฎรอย่างเด็ดขาดด้วยการลงโทษเสียมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง มิให้กระทบกระเทือนถึงหมู่
คณะได้ ซึ่งเป็นความชอบธรรมแห่งรูปแบบการปกครองในยุคสมัยนั้น

ด้วยต้องเข้าใจว่า รูปแบบการปกครองในครั้งนั้น ขุนนางซึ่งเทียบได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในสมัยนี้ไม่ได้มีเงินเดือน จะมีบ้างก็ในรูปของเบี้ยหวัดเงินปีตามยศถาบรรดาศักดิ์ แต่รายได้ที่แท้จริงมาจากการหารายได้ในการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของตน ซึ่งถ้าเทียบกับสมัยนี้ใกล้เคียงกับการได้รับสัมปทานจากรัฐไปหารายได้ภายในอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบมากกว่า เช่น ใครมีหน้าที่เก็บภาษีอากรค่าฤชาธรรมเนียม หรือการค้าขายอะไรก็ทำไป ได้เท่าไรก็หักรายได้ส่งเข้าพระคลังหลวงส่วนหนึ่งและเก็บไว้เป็นรายได้ส่วนตัว ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าก็จะมีกรณีที่ขุนนางบางคนใช้อำนาจอย่าง “รีดนาทาเร้น” หรือที่เรียกฉ้อราษฎรบังหลวง คือโกงทั้งประชาชนและเบียดบังต่อรัฐในตัว เช่นนี้ถ้ามีใครเป็น “นิ้วร้าย” มากๆ ก็ควรต้องตัดทิ้งเสียเพื่อความสงบสุขของราษฎร

หากในการปกครองสมัยใหม่นั้น การ “ตัดนิ้วร้ายทิ้งไป” ก็อาจจะดูขัดต่อหลักความรับผิดชอบและการจัดองค์กรสมัยใหม่ ที่ถือว่าองค์กรและหน่วยงานของรัฐนั้นถือเป็นนิติบุคคลซึ่งมีตัวมีตน การกระทำของเจ้าหน้าที่ภายในขอบเขตอำนาจตามกฎหมายถือเป็นการกระทำขององค์กรนั้น และในองค์กรก็มีการจัดรูปและแบ่งอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่แต่ละคนโดยชัดเจน มีสายการบังคับบัญชาที่กำหนดความรับผิดชอบทั้งโดยขึ้นตรงตามลำดับและโดยการกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่ใช่การหารายได้ในลักษณะส่งไป “กินเมือง” เช่นนี้การใช้โลกทัศน์แบบ “ตัดนิ้วร้าย” ก็ออกจะผิดฝาผิดตัวต่างบริบทเกินไป

เพราะนั่นเท่ากับเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลที่กระทำการในฐานะขององค์กรนั้น ปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาและผู้กำกับดูแลตลอดสาย รวมถึงปฏิเสธความผิดพลาดในการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่ก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมาด้วย

ในเมื่อรูปแบบขององค์กรสมัยใหม่มีการจัดองค์กร มีระบบระเบียบสายการบังคับบัญชากำกับดูแลดังที่ว่าแล้ว การกระทำของบุคคลที่อาศัยอำนาจขององค์กร (ในกรณีที่เป็นปัญหานี้ การที่คนกลุ่มหนึ่งจะไปจับใครมาได้สักคนจนถึงเอาถุงดำครอบหัว คงไม่สามารถทำได้โดยง่าย ถ้าไม่อ้างอำนาจความเป็น “ตำรวจ”) จึงต้องผ่านความรู้เห็นของเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันและผู้บังคับบัญชามาแล้ว มิใช่การใช้อำนาจเอกเทศเช่นในสมัยของขุนนางกินเมือง ที่จะมารู้เรื่องเอาอีกทีก็ตอนที่ราษฎรมาร้องทุกข์หรือในตอนที่เรื่องแดงขึ้นแล้วนั่นเลย

ในกฎหมายปกครองสมัยใหม่ (เอาจริงก็ไม่ได้ใหม่เท่าไร ก็เกือบสามสิบปีแล้ว) ก็ยอมรับหลักการว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่มิใช่การกระทำโดยเอกเทศของเขาผู้นั้น แต่เป็นการกระทำขององค์กรหรือหน่วยงานนั้นต่างหาก ร่องรอยความคิดใหม่นี้ปรากฏในกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดไว้เป็นหลักการว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้เสียหายฟ้องหรือเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐนั้นชดใช้ได้โดยตรง จะไปฟ้องเจ้าหน้าที่รายตัวไม่ได้ ส่วนเรื่องที่ว่าเจ้าหน้าที่ไปทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายจนหน่วยงานต้องชดใช้ค่าเสียหายแล้วต้องรับผิดชอบต่อหน่วยงานอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องมาว่ากล่าวกันเอากับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้

เรื่องการไล่เบี้ยนี้ที่น่าสนใจก็มีในมาตรา 8 วรรคสาม ว่าในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะมาไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความเสียหายแก่หน่วยงานหรือทำความเสียหายให้บุคคลภายนอกแล้วหน่วยงานต้องชดใช้นั้น ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกจากจำนวนเงินที่ต้องรับผิดด้วย

นั่นเพราะกฎหมายดังกล่าวยอมรับว่า การ “กระทำผิด” หรือการ “บกพร่อง” ของ “บุคคล” ผู้ปฏิบัติงานนั้น “หน่วยงาน” หรือ “องค์กร” ในฐานะของตัวตนที่ใหญ่กว่าซึ่งบุคคลนั้นสังกัดอยู่ จะปฏิเสธความรับผิดชอบให้ขาดเสียไม่ได้ แน่นอนว่าบางกรณีการกระทำละเมิดหรือกระทำผิดกฎหมายให้ผู้อื่นเสียหายนั้นมาจากกระทำผิดส่วนบุคคล หรือกรณีแหกคอกนอกรอยเป็นพิเศษของผู้ฉ้อฉลเป็นการเฉพาะราย อันนั้นก็ว่ากันไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายกรณีซึ่งมากกว่านั้น ที่เกิดเหตุเช่นนั้นได้ ก็เพราะความบกพร่องหละหลวมของหน่วยงานองค์กรนั้น หรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมที่อาจจะเปิดช่องให้เกิดการละเมิดนั้นขึ้นได้ ทั้งโดยจงใจหรือไม่จงใจ ทั้งโดยทุจริตหรือไม่ทุจริตแต่เป็นไปเพราะต้องการลดขั้นตอนอันยุ่งยากไม่จำเป็นที่บีบบังคับอยู่

วาทกรรมและวิธีคิดแบบนิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้น จึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ออกจะล้าหลังไปร่วมหลักร้อยปี ไม่สอดคล้องกับความคิดการเป็นองค์กรของรัฐในโลกปัจจุบัน

หรือถ้าจะพิจารณาว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของ “บุคคล” หรือ “องค์กร” อันเนื่องมาจากระบบการกำกับดูแล ระบบงาน วัฒนธรรมโดยรวมนั้น อาจจะต้องพิจารณาว่าเรื่องนี้เกิดซ้ำถี่บ่อยแค่ไหนอย่างไร

ก่อนหน้าผู้กำกับโจ้ เราก็มีเรื่อง ผู้กองณัฐ ที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน หรือย้อนกลับไปก็มีเรื่องของ แม่ลูกศรีธนขัณฑ์ หรือแม้แต่อดีตนายตำรวจท่านหนึ่งก็ถึงกับกล้าออกมาให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ว่า กระบวนการทำงานในลักษณะของการเค้นข้อมูลหรืออย่างอื่นใน “เซฟเฮาส์” นี้ เป็นเรื่องปกติที่กระทำกัน หากจะเอาเรื่องก็คงมีมากกว่านี้ ตัวเองก็เคยทำ ที่กล้าออกมาพูดเพราะคดีขาดอายุความไปหมดแล้ว

วิญญูชนก็ควรพิจารณากันได้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “นิ้วร้าย” แค่บางนิ้วจริงหรือ และถ้าตัดนิ้วร้ายออก
มาหมด มือที่ว่านั้นจะมีสภาพอย่างไรเล่า หรือควรจะตัดมือทิ้งไปให้รู้แล้วรู้รอดกัน ดีกว่ามีมือมีนิ้วแปลกปลอมแบบ Alien hand syndrome ที่ทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายอยู่เรื่อยๆ ดี

หรือไม่อีกที ถ้าชอบเรื่อง “ตัดนิ้วร้ายทิ้ง” จริงๆ หรือความคิดของท่านยังย้อนยุคอยู่ในสมัยขุนนางขุนน้ำนั้น ก็อาจจะเอาธรรมเนียม “ยูบิสุเมะ” (Yubitsume) ในวัฒนธรรมซามูไรโบราณของญี่ปุ่นมาใช้ก็ได้

ธรรมเนียมนี้คือเมื่อซามูไรคนใดกระทำผิดพลาดและต้องถูกลงโทษ ไม่ว่าจะขอรับโทษเองหรือต้องถูกลงโทษโดยผู้อื่นจัดให้ เขาจะต้องตัดปลายนิ้วก้อยทิ้งเพื่อแสดงความรับผิด เนื่องจากซามูไรที่ขาดไร้ปลายก้อยไม่ว่าจะหนึ่งหรือสองข้างหรือทั้งนิ้ว จะเสียความสามารถในการควบคุมดาบ ทำให้จับดาบไม่มั่นคงไปด้วย เท่ากับเป็นการลดชั้นทำให้ตนเองกลายเป็นนักรบพิการปลายแถวไป

หากใครอ่านแล้วรู้สึกว่าจะไม่ใช่เรื่องซามูไร ท่านก็เข้าใจถูกแล้วส่วนหนึ่ง เพราะปัจจุบันธรรมเนียมนี้ที่ยังถูกใช้อยู่ก็คงได้แก่สมาชิกแก๊งอันธพาลยากูซ่า ซึ่งก็รับเอาธรรมเนียมยูบิสุเมะนี้มาใช้เช่นกัน เนื่องจากเวลาไปเล่นการพนัน คนนิ้วด้วนก็จะเป็นที่สังเกต จับถ้วยเต๋าได้ไม่มั่นคง หรือไปไหนวางมือลงบนโต๊ะ คนก็รู้ทันทีว่าเป็นยากูซ่า แถมเคยทำผิดถูกลงโทษมาอีกต่างหาก

ถ้าคิดว่ารูปแบบองค์กรของท่านนั้นใกล้เคียงพอเทียบกันได้ก็น่าสนใจ เช่นนั้น ขอเชิญวางมือซ้ายลงบนผ้าขาวได้เลย

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image