กรณี ยึดทรัพย์ อำนาจ ‘มาตรา 44’ ถูกตั้ง คำถาม

ต้องยอมรับว่า “โครงการรับจำนำข้าว” คือ “เป้าหมาย” ใหญ่ในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองที่จะล้มสิ่งซึ่งเรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

โดยมี 2 คนเป็น “กระดานหก”

1 คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับนายภูมิ สาระผล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

1 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

Advertisement

หากสามารถจัดการกับ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับ นายภูมิ สาระผล ได้ การจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ง่ายดาย

เหมือนเอื้อมหยิบ “ส้ม” จาก “ลัง”

การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.โดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้นำไปสู่การเรียกค่าชดเชยผ่านกระบวนการของกรมบังคับคดี ก็เพื่อ “เป้าหมาย” นี้

Advertisement

หากทำได้สำเร็จก็ “เรียบโร้ยยย”

แต่แล้วทุกอย่างก็มาสะดุดหยุดลงที่ด่านแรกคือกระทรวงพาณิชย์ และทำท่าว่าเมื่อด่านแรกสะดุดหยุดลง ด่านที่ 2 ณ กระทรวงการคลังก็จะอีหรอบเดียวกัน

ทำไม

 

ประหนึ่งว่าเมื่อหัวหน้า คสช.ลงนามในคำสั่งที่ 56/2559 แล้ว เท่ากับว่ากระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ก็สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มพิกัด

ใส่เกียร์ 100 ก็ยังได้ด้วยซ้ำ

อย่างน้อยที่สุด ก็มีหัวหน้า คสช.เป็นเครื่องการันตี อย่างน้อยที่สุดอำนาจของมาตรา 44 จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็คุ้มครองได้

แล้วเหตุใด นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ยังลังเล

แล้วเหตุใด น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ยังลังเล แม้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีมอบอำนาจให้ทำการแทนในฐานะปลัดกระทรวงได้

ยิ่งฟังจาก น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ยิ่งบ่งบอกความแปลกแปร่ง

แปลกแปร่งตรงที่ยืนยันว่า เรื่องนี้น่าจะเรียบร้อยและราบรื่นในยุคของ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ไม่น่าจะเลยไปถึงเดือนตุลาคม

หลายคนจึงต้อง “ย้อน” ไปศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 อีกคำรบ 1

แม้เสียงท้วงติงอันมาจาก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ หรือมาจาก นายนพดล หลาวทอง อาจจะมุ่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์คนของพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นายภูมิ สาระผล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่ก็พอจะทำให้เข้าใจอาการละล้าละลังในกระทรวงพาณิชย์ได้

 

ข้อห่วงใยอย่างมีนัยสำคัญอยู่ตรงที่เหมือนกับว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 ยืนยันจะพิทักษ์การปฏิบัติของข้าราชการที่สุจริตและเที่ยงธรรมไม่ให้ถูกฟ้องร้อง กลายเป็นคดีความ

แต่ก็ “หวาดเสียว” เป็นอย่างยิ่ง

เพราะว่าหลักการโดยพื้นฐาน 1 เพราะอำนาจหน้าที่ของ “กรมบังคับคดี” ถูกบัญญัติไว้โดยกฎหมายอย่างชัดเจนว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดของกรมบังคับคดีมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานของศาลเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามคำสั่งของศาลยุติธรรม

คำถามก็คือ คดี “โครงการรับจำนำข้าว” อยู่ในขั้นตอนไหน

หากมองจากกรณีที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกถอดถอน กระบวนการถอดถอนก็เป็นไปตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นไปตาม ป.ป.ช.

2 องค์กรนี้มิได้เป็น “ศาล”

ยิ่งกว่านั้น หากมองผ่านกระบวนการยุติธรรมขั้นสูงสุด การพิจารณาคดีก็ยังต้องผ่านขั้นตอนของศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกำหนดความเสียหายอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนโดยศาลแพ่ง

กระบวนการทาง “ศาลยุติธรรม” จึงยังไม่สมบูรณ์

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกมาเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ และหรือกระทรวงการคลัง ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเรียกค่าชดเชยความเสียหายผ่าน “กรมบังคับคดี” จึงกลายเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความไม่แน่ใจ

รูปธรรมคือ กรณีของนางอภิรดี ตันตราภรณ์ และกรณีของ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร

 

ความพยายามของรัฐบาล ความพยายามของ คสช.ในกรณีการยึดทรัพย์ “นักการเมือง” จึงมิได้เป็นเรื่องง่าย

เว้นเสียแต่หัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจของมาตรา 44 เหมือนที่มีการใช้อำนาจของมาตรา 17 ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อจัดการกับทรัพย์สินของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เข้าทำนอง “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image