คนอยู่ในป่า โดย นฤตย์ เสกธีระ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ(แฟ้มภาพ)

ติดตามข่าวเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงที่แก่งกระจานถูกไล่ให้พ้นป่าแล้วงง

เพราะก่อนหน้านี้ดูเหมือนรัฐจะมีนโยบายให้ “คน” อยู่กับ “ป่า”

เคยสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โครงการที่ พล.อ.ประวิตรทำได้เจ๋ง และทำติดต่อกันมานานตั้งแต่เกษียณจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. คือ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

Advertisement

พล.อ.ประวิตรทำมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมีเป้าหมายยับยั้งไฟป่า

พล.อ.ประวิตรบอกว่า ทำได้สำเร็จแล้ว

หัวใจของการสกัดไฟป่า คือไม่ให้มีคนจุดไฟ แต่ในขณะที่ห้ามคนจุดไฟก็ไม่ห้ามคนอยู่ในป่า

Advertisement

ป่ากับคนอยู่ด้วยกัน

และอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งรับทราบจากงานสัมมนาหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้

เป็นเรื่องของการให้ชาวเขาช่วยอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่จังหวัดเชียงราย

วิธีการที่จูงใจชาวเขาให้ช่วยคือให้ปลูกกาแฟ

ผลผลิตกาแฟที่ปลูก ทาง “มีวนา” จะรับซื้อและนำไปจำหน่ายให้

ชาวเขาที่ปลูกกาแฟมีรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันชาวเขาก็ช่วยดูแลรักษาป่าต้นน้ำ

เท่าที่ทราบโครงการดังกล่าวเจริญรุ่งเรืองดี

ที่สำคัญคือทำให้ชาวเขาและป่าอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครทำลายใคร

กาแฟที่ผลิตออกมาจึงกลายเป็นกาแฟที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

เลิศ !

แนวทางให้คนอยู่กับป่านี้น่าจะเป็นแนวทางของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ตามหลักการ “คนเมือง” ห้ามบุกรุก “ป่า”

นายทุนในเมืองที่ไปยึดที่ ไปซื้อป่าแล้วบุกรุก…

อย่างนี้ต้องไล่ต้องรื้อต้องยึดเพื่อพิทักษ์ปกป้องผืนป่า และดำเนินการตามกบิลเมือง

แต่สำหรับ “คนที่อยู่ในป่า” เราควรทำอย่างไรกับพวกเขา

ชาวเขาหลายเผ่าที่อยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทยจะทำอย่างไรกับเขา

ระหว่างความสำคัญของรัฐกับความสำคัญของมนุษย์ จะถ่วงดุลกันอย่างไร

บังเอิญเมื่อเร็วๆ นี้ได้ยินเรื่องราวกะเหรี่ยงที่ป่าแก่งกระจาน

ชาวกะเหรี่ยงเป็นชาวเขาอยู่ในป่า แต่เมื่อรัฐชาติที่ปกครองโดยคนในเมืองประกาศเขตป่า

พวกเขากลับอยู่ในป่าไม่ได้

ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กับชาวกะเหรี่ยงบานปลาย

มีการทำลายบ้าน มีการเผา มีกะเหรี่ยงนักต่อสู้หายตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวที่เล่าให้ฟังข้างต้น

เปรียบเทียบกับกรณีของป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่ พล.อ.ประวิตรดูแล

เปรียบเทียบกับกรณีกาแฟมีวนา ซึ่งชาวเขาปลูกในป่าต้นน้ำ

สงสัยว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสได้อยู่ในป่า

เป็นไปได้แค่ไหนที่จะนำเรื่องราวดีๆ ในการจัดการ “คน” กับ “ป่า” มาใช้แก้ข้อขัดแย้ง

เป็นไปได้ไหมที่ “รัฐ” จะเป็นที่พึ่งของ “มนุษย์”

เวลาอยู่กับรัฐแล้วรู้สึกอบอุ่น

ไม่ใช่แค่เดินเฉียดก็ร้อนเหมือนจะโดนเผากลายเป็นจุณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image