อวสานรัฐบาลพลเรือนในอัฟกานิสถาน กับภาพสะท้อนการเมืองในพม่า

อวสานรัฐบาลพลเรือนในอัฟกานิสถาน กับภาพสะท้อนการเมืองในพม่า
อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของทาลีบัน (ซ้าย) ระหว่างเข้าพบนายหวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ณ เมืองเทียนจิน, 28 กรกฎาคม 2021 (ภาพจาก VOA News)

การกลับเข้ามาของกลุ่มติดอาวุธทาลิบัน ที่กลับเข้ายึดอัฟกานิสถานได้เป็นผลสำเร็จ กลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก หลังสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานและขับกลุ่มทาลิบันลงจากอำนาจไปได้กว่า 20 ปี ข่าวคราวจากคาบูลได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักวิเคราะห์ในพม่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายสนับสนุนกองทัพในพม่าต่างดีใจแบบออกนอกหน้า และออกมาล้อเลียนรัฐบาลสหรัฐว่า “ไม่มีน้ำยา” พอจะรักษาอัฟกานิสถานไว้ได้ ในท้ายที่สุด แนวคิดของฝ่ายสนับสนุนกองทัพพม่าไม่มีอะไรใหม่ แต่คนเหล่านี้ยังถูกหลอนโดยวาทกรรมเดิมๆ ตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น และยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่าสหรัฐมีเป้าหมายที่จะสถาปนาระบอบอาณานิคมแบบใหม่และแสวงหาอาณานิคมทั่วโลก ฝ่ายอนุรักษนิยมในพม่าก็เหมือนกับในหลายประเทศ (เช่นไทย) ที่มองว่าสหรัฐให้เงินสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย หรือกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ปกครอง เพราะครอบงำประเทศเหล่านี้

นอกจากการถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานจะเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับฝ่ายขวาที่เกลียดชังรัฐบาลสหรัฐทั่วโลกแล้ว ยังมีประเด็นด้านการต่างประเทศและท่าทีของเพื่อนบ้านอัฟกานิสถานอย่างจีนและอินเดียที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ในส่วนของอินเดีย ประเทศที่รายล้อมอินเดียส่วนใหญ่ล้วนเป็นประเทศ “มีปัญหา” ถ้าไม่ใช่มีข้อพิพาทกับอินเดียโดยตรง เช่นกรณีของปากีสถาน ก็มีปัญหากับประเทศอื่นๆ ในกรณีของจีน หรือไม่ก็มีปัญหาภายในจนเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก ทั้งพม่าและอัฟกานิสถานจัดอยู่ในประเภทหลัง พม่าและอัฟกานิสถานต่างมีชายแดนติดกับอินเดีย คำถามคือรัฐบาลของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีนโยบายและท่าทีต่อเพื่อนบ้านทั้งสองนี้อย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมา รัฐบาลโมดีพยายามโฆษณานโยบายการต่างประเทศที่ใช้ชื่อว่า “เพื่อนบ้านมาก่อน” (Neighbourhood First) มาโดยตลอด แต่อินเดียก็ไม่เคยให้ความสนใจการเมืองทั้งในพม่าและอัฟกานิสถานอย่างจริงจัง อินเดียถูกวิจารณ์อย่างมากว่าไม่ได้ช่วยเหลืออัฟกานิสถานเพียงพอ และปล่อยปละละเลยจนกลุ่มทาลิบันกลับเข้าไปยึดกรุงคาบูลได้ในที่สุด

การปล่อยให้จีนเข้าหาทาลิบันแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ใช่การเดินเกมที่หลักแหลมนัก อินเดียพยายามเข้าหาทาลิบันอยู่บ้าง ผู้นำทาลิบันบางคนก็เคยผ่านการฝึกในโรงเรียนนายร้อยของอินเดียที่รัฐอุตตราขัณฑ์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงนิวเดลี

Advertisement

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับกลุ่มทาลิบันเป็นภาพสะท้อนกรอบความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับพม่า หมุดหมายของรัฐบาลของโมดีคือไม่ต้องการทำลายความสัมพันธ์ทางการทหารกับกองทัพพม่า แม้อินเดียจะมีส่วนในการเจรจาหรือการหาทางออกเรื่องปัญหาในพม่าอยู่บ้าง แต่อินเดียไม่เคยประณามรัฐประหารในพม่าตรงๆ และยังสนับสนุนกองทัพพม่าแบบห่างๆ

ที่ผ่านมาอินเดียไม่ได้มีนโยบายช่วยเหลือรัฐบาลพลเรือนในอัฟกานิสถานทั้งในด้านการทหารและการข่าว สิ่งที่อินเดียทำอยู่บ้างคือการร่วมเข้าไปฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในอัฟกานิสถาน และมักหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคง มองในมุมของอดีตผู้นำอัฟกานิสถาน อัชราฟ กานี (Ashraf Ghani) อินเดียเป็นเพื่อนบ้านเพียงประเทศเดียวที่พอจะร่วมแก้ไขปัญหาภายในอัฟกานิสถานได้ เพราะรู้ดีว่าจีนและปากีสถานไม่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาที่พวกเขามองว่าก่อขึ้นมาโดยโลกตะวันตก

แต่แม้หลายชาติพยายามดูอัฟกานิสถานอยู่ห่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าประเทศฉกฉวยโอกาสหลังสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานได้รวดเร็วที่สุดก็คือจีน ก่อนกลุ่มทาลิบันจะบุกยึดกรุงคาบูลไม่กี่วัน รัฐบาลจีนเชิญอับดุล กานี บาราดาร์ (Abdul Ghani Baradar) ผู้แทนระดับสูงจากทาลิบันไปหารือที่เทียนจิน ว่ากันว่าเป้าหมายของจีนในอัฟกานิสถานคือการให้ทาลิบันสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามเติร์กกิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement) หรือกลุ่มอุยกูร์ที่ต้องการสถาปนารัฐอิสระในเขตซินเจียงของจีน และเมื่อคาบูลแตกแล้ว โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนออกแถลงอย่างเป็นทางการว่ายินดีกับชัยชนะของฝ่ายทาลิบัน และ “เราเคารพเจตนารมณ์และตัวเลือกของชาวอัฟกัน” และยังกล่าวต่อด้วยว่าทาลิบันเป็นกองกำลังทางทหารและทางการเมืองที่มีความสำคัญกับสันติสุข การปรองดอง และการเร่งฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ทาลิบันเองก็ตอบรับกับท่าทีของจีนอย่างดี บาราดาร์ประกาศว่าทาลิบันจะสานความสัมพันธ์กับจีน และให้คำมั่นว่าจะไม่โจมตีจีน ด้านทาลิบันก็จะได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากสัมปทานการลงทุนของจีน ที่ให้ความสนใจเหมืองทองแดงในอัฟกานิสถานเป็นพิเศษ

Advertisement

สำหรับภาคประชาชนในพม่าที่ต่อสู้กับกองทัพพม่ามาตลอด โดยเฉพาะหลังรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น การต้องมาได้ยินถ้อยแถลงของจีนที่ว่ากลุ่มทาลิบันจะเป็นรัฐบาลที่ดี และจะฟื้นฟูให้อัฟกานิสถานกลับสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้ง เป็นอะไรที่แสลงหูและขมขื่นอย่างยิ่ง เพราะนโยบายการต่างประเทศของจีนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านคือเลือกจะสนับสนุนใครก็ได้ที่มีอำนาจ โดยไม่สนใจว่าที่มาของอำนาจนั้นจะมาจากที่ใด มีความชอบธรรมหรือไม่ เมื่อไม่นานมานี้ จีนเริ่มเรียกคณะรัฐประหารพม่าว่า “รัฐบาล” สวนทางกับท่าทีของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ในเดือนมิถุนายน เอกอัครทูตจีนเดินทางไปพบพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เนปยีดอ เป็นเอกอัครทูตประเทศแรกที่ขอเข้าพบหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างเป็นทางการ ภายหลังการพบปะในครั้งนั้น สถานเอกอัครทูตจีนที่ย่างกุ้งออกแถลงการณ์และเรียกพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ว่าเป็น “ผู้นำของพม่า”

ท่าทีของรัฐบาลจีนสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนพม่าส่วนใหญ่ ที่มองว่าทั้งทาลิบันและคณะรัฐประหาร หรือ “รัฐบาลพม่า” ในมุมมองของจีนนั้นต่างเป็นองค์กรก่อการร้าย ท่าทีที่จีนมีต่อพม่าไม่ต่างจากท่าทีต่อทาลิบันมากนัก แต่นักวิเคราะห์ในพม่าลงความเห็นว่าการที่จีนเลือกยืนอยู่ข้างกองทัพพม่านั้นจะทำให้เกิดกระแสการต่อต้านจีนในหมู่ประชาชนพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่จีนก็ไม่ได้สนใจภาคประชาชนอยู่แล้ว และยังเดินหน้าสานต่อโครงการ One Belt One Road และการพยายามกันชาติตะวันตกออกไปจากเขตอิทธิพลของตนในมหาสมุทรอินเดีย

เมื่อกล่าวถึงโครงการ One Belt One Road ที่ถือว่าเป็นโครงการระดับ “เรือธง” ในรัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พม่าคือตัวแสดงที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อไม่นานมานี้ จีนเพิ่งเปิดใช้ทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเชื่อมเมืองขนาดใหญ่อย่างเฉิงตูทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับมหาสมุทรอินเดีย โดยผ่านพม่าพื้นที่ทางตอนเหนือของพม่า นอกจากการสนับสนุนคณะรัฐประหารพม่าเป็นอย่างดีแล้ว ในขณะเดียวกันจีนยังจัดหาอาวุธและการฝึกทางทหารให้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ตามแนวชายแดนจีน-พม่า ประเด็นนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทัพพม่าไม่พอใจทางการจีน และพยายามคบหากับจีนด้วยความระมัดระวัง

แต่ในปัจจุบัน เมื่อ “เพื่อน” ของพม่ามีน้อยลง และจีนสนับสนุนคณะรัฐประหารพม่าอย่างเต็มที่ โอกาสที่กองทัพพม่าจะเข้าหารัฐบาลปักกิ่งมากขึ้น เหมือนกับที่เกิดกับทาลิบันเริ่มเข้าหารัฐบาลจีน น่าจะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image