เฟคนิวส์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

เฟคนิวส์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน คงไม่มีข่าวใดเป็นที่สนใจของประชาชนมากไปกว่าข่าววัคซีนและข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ตายจากโควิด-19 ในบรรดาข่าวสารที่แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบัน มีข่าวจำนวนหนึ่งเป็นข่าวจริง และจำนวนหนึ่งเป็นข่าวปลอม เจตนาที่ดีของรัฐบาลก็คือพยายามเพิ่มความเข้มงวดในการเสนอข่าว (รวมทั้งที่เป็นความจริง) เพื่อที่จะรักษาสถานการณ์ไม่ให้ประชาชนมีความตระหนกมากเกินไป แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าภายใต้สถานการณ์ของการระบาดที่ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการจำนวนมากและคนไทยยังไม่ได้รับวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอที่จะป้องกันตัวเอง การให้ความจริงนั้นแม้จะทำให้ประชาชนมีความตระหนกตกใจอยู่บ้างกลับจะเป็นเรื่องดีในแง่ที่ว่าทำให้ประชาชนไม่ประมาท เพราะความประมาทนั้นคือหนทางแห่งความตาย รัฐบาลไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องนี้มากเกินไป เพราะปัจจุบันก็มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมากำกับดูแลเรื่องการบิดเบือนหรือสร้างข่าวเท็จอยู่แล้ว แต่เรื่องที่รัฐควรให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนมากกว่าก็คือการบริหารจัดการที่ถูกต้องโดยให้ความรู้และความจริงอย่างฉับพลันทันที

คำถามใหญ่ในปัจจุบันก็คือ ข่าวลวงหรือข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโควิด-19 มีความรุนแรงและมีการแพร่หลายขนาดไหน การศึกษาล่าสุดของแผนงานคนไทย 4.0 เรื่องคนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 ของทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำโดย ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ ค้นพบข้อมูลที่แสดงสถานการณ์ข่าวสารด้านโควิด-19 ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ในการทบทวนวรรณกรรมพบว่าการทดสอบความสามารถของเยาวชนอายุ 15 ปี เกี่ยวกับความสามารถในการรับมือกับข่าวปลอม การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบที่เรียกว่าโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD) พบว่าระดับคะแนน PISA 2018 นั้นเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จากจำนวนประเทศทั้งหมด 77 ประเทศ อยู่เหนืออินโดนีเซียเพียงประเทศเดียว ระดับคะแนนนี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพในการแยกแยะข้อมูลได้ค่อนข้างต่ำ

ในบรรดาข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ในอินเตอร์เน็ตมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม โดยข่าวปลอมนั้นในวงการวิชาการได้แบ่งเป็น 7 แบบด้วยกัน ซึ่งมีระดับของความจริงที่แฝงอยู่ต่างกัน (รูปที่ 1) ข่าวปลอมจะอันตรายต่อเมื่อเป็นการจงใจปลอมหรือตัดต่อเพื่อให้ผลทางใดทางหนึ่ง (Manipulated) ส่วนข่าวปลอมประเภทมโนที่มา (Imposter) และมโนทุกอย่าง (Fabricated) หรือข่าวมั่ว (Misleading) หากประชาชนมีความสามารถในการแยกแยะเหตุและผลซึ่งจะเกิดจากระบบการศึกษาที่ดีก็จะไม่เป็นอันตรายเท่าไหร่ แต่ถ้าข่าวปลอมประเภทนี้มีมากและคนเชื่อมากก็จะสะท้อนถึงปัญหาของการศึกษาของประเทศนั้น


ที่มา : จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ. 2564. คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 ระยะที่ 2

Advertisement

ภาพที่ 1 รูปแบบของ Fake News

ทีนี้มาดูกันว่าในระดับประชาชนทั่วไปศักยภาพในการแยกแยะเป็นอย่างไร ทีมวิจัยได้ทดสอบด้วยการนำข่าวจริงและข่าวปลอมให้ประชากรตัวอย่างแยกแยะข่าว พบว่าประชากรตัวอย่างเชื่อข่าวจริงร้อยละ 49 และเชื่อข่าวปลอมร้อยละ 43 หมายความว่าคนไทยไม่ค่อยมีทักษะในการแยกข่าวจริงกับข่าวปลอมสักเท่าไร ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดสอบของเยาวชนไทยอายุ 15 ปี ของ PISA 2018 ปัญหานี้ก็น่าจะมาจากระบบการเรียนการสอนของไทยซึ่งทำให้คนไทยไม่สามารถแยกแยะเหตุผลให้เห็นถูกเห็นผิดได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยสมควรต้องกังวลอย่างยิ่ง

ทีมวิจัยเรื่องนี้ยังได้รวบรวมข่าวโควิด-19 ผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ต่างๆ ในช่วงเดือน มี.ค.2563-ก.ค.2564 จำนวนทั้งสิ้น 11,743 ข่าว สรุปได้ว่าเป็นข่าวจริงถึงร้อยละ 94 และเป็นข่าวปลอมประมาณร้อยละ 6 เมื่อพิจารณาในกลุ่มข่าวปลอมด้วยกัน พบว่า ที่มีจำนวนมากได้แก่ ข่าวปลอมประเภททำให้เข้าใจผิด (ร้อยละ 54) (รูปที่ 2)

Advertisement

ที่มา : จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ. 2564. โครงการรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤตไวรัส COVID-19 ระยะที่ 2 ของแผนงานคนไทย 4.0

รูปที่ 2 สถิติประเภทข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19

ส่วนวิธีการแก้ไขข่าวปลอมก็คือการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องอย่างฉับพลันทันทีในช่องทางที่เหมาะสมสู่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง แต่ย่อมไม่ใช่วิธีจำกัดความจริงเพื่อจำกัดความกลัว!!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image