คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : พุทธะ และศาสนาในวันต่อจากนี้

ในปี 2017 Apple ได้ประกาศให้ “Calm” แอพพลิเคชั่นสีฟ้าหน้าตาสงบเสงี่ยมตามชื่อของมัน เป็นสุดยอดแอพพลิเคชั่นแห่งปีสำหรับ iPhone ที่อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมการทำสมาธิของคนรุ่นใหม่ในระดับโลก

จากนั้นก็มีแอพพลิเคชั่นและระบบในการสอนหรือช่วยทำสมาธิออกมาอีกมาก รวมถึง Headspace
สารคดีกึ่งคอร์สให้ชมและชิมลองการทำสมาธิกันใน Netflix ด้วย ความตื่นเต้นดังกล่าวมาพร้อมกับกระแสเคล็ดลับพัฒนาตัวเองรีดเค้นศักยภาพแบบ Life hacking เพื่อดึงเอาผลิตภาพการทำงานขึ้นมาอย่าง Super Productive ซึ่งเป็นแนวทางที่มาพร้อมกับการใช้ชีวิตและการทำงานแบบสตาร์ตอัพของผู้คนก่อนที่โควิด-19 จะมาเปลี่ยนโลกใบนี้

แม้เราไม่ควรตู่เอาหรือเหมารวมว่าการทำสมาธินั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาผูกขาดของพระพุทธศาสนา
ทั้งเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้การทำสมาธิกลายเป็นกระแสขึ้นมาในโลกยุคใหม่นั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางโลกล้วนๆ ทั้งนี้ เนื่องจากมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จมากมาย
ที่พิสูจน์ว่าการทำสมาธิในระดับหนึ่งนั้นช่วยในการยกระดับความสามารถในการใช้สมองทั้งในเชิงความจำ ความคิดสร้างสรรค์ และการวิเคราะห์พยากรณ์ อันเป็นความสามารถพิเศษที่คนรุ่นสตาร์ตอัพเชื่อว่าจะเป็น “พลังลับ” แห่งการประสบความสำเร็จได้

ดังตัวอย่างที่นักลงทุนระดับโลกอย่าง เรย์ ดาลิโอ เขียนย้ำไว้ในหนังสือของเขาหลายครั้งว่า พลังการวิเคราะห์คาดการณ์ของเขามาจากการทำ วิมุตติสมาธิ (Transcendental meditation) เป็นประจำตั้งแต่ในวัยหนุ่ม หรือเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยว่าเขานับถือศาสนาพุทธ หลังจากไปจาริกแสวงบุญที่อินเดียในวัยหนุ่มได้ต้นคิดการสร้างไอโฟนที่ว่า ถ้าโทรศัพท์จะต้องมีปุ่มกด ก็มีแค่ปุ่มเดียวก็พอที่กดแล้วก็ “ปรุงแต่ง” เป็นสิ่งต่างๆ ขึ้นบนหน้าจอจากเรื่อง “จิตเดิมแท้” (One mind) ของพุทธศาสนาแบบเซน

Advertisement

แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากกล่าวถึงการทำสมาธิแล้ว ภาพจำภาพแรกของผู้คนก็เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ และต่างก็ยอมรับว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับสมาธิและการรู้จิตรู้ใจในทางพุทธนั้นผ่านศึกษาทดลองมานานนับพันปี
ไม่ว่าจะสายเถรวาท อาจาริยวาท หรือวัชรยานก็ตาม หรือก็มีปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่สนใจแนวคิดของ
พุทธศาสนาที่เกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิตที่ทำให้งานเขียนของ ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ภิกษุชาวเวียดนาม ท่านภิกษุณีอเมริกัน เพมา โชดรัน (PEMA CHÖDRÖ) เป็นที่นิยมในระดับโลกนั้นก็มิใช่เป็นไปเพื่อแสวงหาหนทางดับทุกข์อันเป็นนิรันดร์หรือมุ่งสู่พระนิพพาน แต่เป็นเรื่องผิวเผินใกล้กว่านั้น คือเพื่อการจัดการกับปัญหาชีวิตหรืออารมณ์ความรู้สึกในการเผชิญกับช่วงเวลาอันยากร้ายในชีวิต หรือเพื่อถนอมประคองความสัมพันธ์กับผู้คนแม้ว่าตัวตนเจียนแหลกสลาย

ทั้งหมดนี้คือความคาดหวังของผู้คนในโลกยุคใหม่ที่นำพระพุทธศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือในรูปแบบที่แตกต่างกัน และอาจจะเป็นพุทธศาสนาแบบทางเลือกหรือสะดวกใช้

ในทางกฎหมาย “อย่างเป็นทางการ” ประเทศไทยถือเป็น “รัฐฆราวาส” โดยปริยายเนื่องจากในรัฐธรรมนูญมิได้มีการประกาศว่าให้มีศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ หรือกำหนดให้ใช้กฎหมายศาสนาโดยทั่วไปได้ในระดับกฎหมายบ้านเมือง แต่กระนั้น ก็มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์พระประมุข
ของประเทศคือพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพุทธมามกะไว้ในมาตรา 7 (แต่โดยต้องทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนาด้วย) และในมาตรา 67 ที่รับรองความ “พิเศษ” ไว้ว่าพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด ฯลฯ

Advertisement

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้จะมิใช่ศาสนาประจำชาติตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาสนาพุทธ (เถรวาท) ก็จะเป็นศาสนาหลักของประเทศที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญก่อนหรือให้ความคุ้มครองปกป้อง

นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชาวพุทธเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่มีสาระเป็นการจัดรูปแบบการปกครององค์กรพระสงฆ์ของรัฐประเทศไทย กำหนดเกี่ยวกับสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และมหาเถรสมาคมซึ่งเป็น
องค์กรปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย โดยมี “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานทางปกครองของรัฐที่ทำหน้าที่ในการอำนวยการสนับสนุนให้ตามอำนาจหน้าที่

สาระสำคัญที่สุดของกฎหมายฉบับนี้ คือเป็นการกำหนด “พระสงฆ์ที่ถูกกฎหมาย” ที่รัฐประเทศไทยยอมรับ มีเพียงพระสงฆ์เถรวาทภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งได้รับการบรรพชาหรืออุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามกฎหมายดังกล่าว หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องสังกัด “คณะสงฆ์อื่น” คือบรรพชิตจีนนิกาย หรืออนัมนิกาย ได้แก่ พระจีนหรือพระญวน “เท่านั้น” ที่จะถือว่าเป็นภิกษุในพุทธศาสนาที่ชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทยได้

ความเป็น “ภิกษุที่ชอบด้วยกฎหมาย” ในรัฐประเทศไทยนั้นหากเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเท่านั้นก็ไม่สู้จะเป็นไร แต่ปัญหาของการที่ใครสักคนจะประกาศว่าตนเป็น “ภิกษุ” และถือครองสมณเพศตามแนวทางของพระพุทธเจ้า แต่มิได้ถือบวชแบบเถรวาท หรือไม่จัดเป็นพระจีนหรือพระญวนตามกฎหมายข้างต้นแล้ว ก็สุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไว้คอยลงโทษอยู่

เดิมทีนั้น ทั้งมหาเถรสมาคม และการดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (หรือเดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนา) ก็ไม่ได้มุ่งเน้นเคร่งครัดอะไรกับแนวทางการสอน การตีความ หรือวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สักเท่าใดนัก จะมีอยู่ไม่กี่เรื่องที่ “อำนาจรัฐ” จะยอมรับไม่ได้ สำหรับ “พระจริง” คือภิกษุสงฆ์ที่ผ่านการบวชอย่างถูกต้อง ก็ได้แก่การอาบัติปาราชิกด้วยเหตุเสพเมถุน ซึ่งจะถูกดำเนินการบังคับจับสึกเด็ดขาด หรือความผิดอีกอย่างคือการดื่มสุราจนมึนเมาอย่างเสียสมณสารูปหรือเสพยาเสพติด ที่เอาจริงโทษทางพระนั้นไม่ถึงกับปาราชิกต้องพ้นจากความเป็นภิกษุเพราะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ที่ปลงอาบัติด้วยวาจาได้ แต่ในทางจารีตประเพณีและความรู้สึกของประชาชนถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ดังนั้น พระที่กระทำผิดดังว่านี้ทางบ้านเมืองอำนาจรัฐก็จะมาบังคับจับสึกกันไปเช่นกัน

รวมถึงกรณีใหญ่ๆ ที่อำนาจรัฐจะมีการออกโรง ก็ได้แก่กรณีที่มีพระสงฆ์กลุ่มใหญ่ (ที่เริ่มเดิมทีบวชมาถูกต้องในทางเถรวาทจึงอยู่ในบังคับของคณะสงฆ์ไทย) ที่เริ่มมีแนวทางการสอนหรือรูปแบบการจัดวางอำนาจที่ “นอกรีตนอกรอย” ไปจากแนวทางหลัก ก็จะถูกกำราบจัดการให้พ้นไปจากความเป็นภิกษุสงฆ์ เช่นกรณีของสันติอโศกเมื่อนานมา และวัดพระธรรมกายเมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ คือบทบาทของ “อำนาจรัฐ” และ “พระพุทธศาสนา” ที่มุ่งเน้นบังคับเอาเฉพาะฝ่ายสงฆ์ จึงไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไปผู้นับถือศาสนาสักเท่าใด เว้นแต่ใครที่นับถือพระในสายที่ถูกอำนาจรัฐประกาศว่า
“ผิดกฎหมาย” ก็อาจจะเดือดร้อนกันอยู่บ้าง

หากความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ค่อยจะสู้ดีต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือแม้แต่ต่อความรู้สึกเปิดกว้างเป็นมิตรของพระพุทธศาสนาสักเท่าไรในปัจจุบัน คือการใช้อำนาจรัฐในทางศาสนาที่เริ่มเข้ามายุ่มย่ามกล้ำกรายในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น คงจำกันได้เร็วๆ นี้ ข่าวที่สำนักพุทธฯ ยกพลไปบีบบังคับให้ร้านที่ทำขนมอาลัวเป็นรูปพระเครื่องให้หยุดทำขนมในรูปแบบดังกล่าว หรือการที่มีการใช้อำนาจในทางปกครองสงฆ์กับพระภิกษุหรือสามเณรที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย จนบางท่านบางรูปอาจจำต้องสึกหาลาเพศหรือไม่มีวัดอยู่

ในโลกปัจจุบันไปถึงอนาคตนี้ มนุษย์เรานั้นจำเป็นจะต้องมีศาสนาอยู่หรือไม่ เอาเข้าจริงแล้ว ในยุคที่เรามีกฎหมายและกลไกทางสังคมอื่นๆ มาใช้ในการกำกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมมิให้ล่วงละเมิดหรือเบียดเบียนซึ่งกันและกันอย่างได้ผลมากกว่าการยึดเหนี่ยวด้วยศีลธรรมข้อห้ามทางศาสนา (ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีกลไกของรัฐที่มีประสิทธิภาพกำกับไว้ด้วย) วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นจนสามารถอธิบายปรากฏการณ์ความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ได้ทั้งในระดับกำเนิดเอกภพไปจนถึงอะตอมและเซลล์ประสาทในสมอง มีวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเป็นที่ยอมรับว่าความทุกข์หนักหนาที่กดทับเราไว้ก็เป็นเพียงโรคโรคหนึ่งไม่ต่างจากปวดหัวปวดท้อง เช่นนี้แล้ว ศาสนาอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อไปสำหรับมนุษยชาติอีกต่อไปแล้วก็ได้ดังปรากฏว่ามีผู้คนที่ไม่นับถือศาสนาใดเลยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคนที่เชื่อว่าสมองของมนุษย์ไม่ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชีวภาพ ยามสิ้นชีวิต ก็เหมือนเครื่องยนต์หยุดทำงาน ไม่มีอะไรหลังจากนั้น เช่นที่ไม่มีอะไรก่อนหน้านั้นด้วย

แต่กระนั้น หากยอมรับความจริงแล้ว มนุษย์เราทุกคนล้วนแต่ต้องการความหมายในชีวิต ต้องการแนวทางปฏิบัติบางอย่างที่บอกว่า เรากำลังเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้องสำหรับจิตวิญญาณ และจะเป็นแนวทางที่จะไม่ทำให้เสียใจหรือเป็นทุกข์หรือเร่าร้อนหมกไหม้หากมีโลกหน้ารออยู่เมื่อตายไป อีกทั้งมนุษย์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า เหนือกว่าตัวตนของเรายังมีสิ่งอื่นที่เหนือกว่าเรา มีสภาวะหรือสถานที่ให้เรากลับไปหรือต้องมาเวียนว่ายตายเกิด

หรือแม้กระทั่งมนุษย์จำนวนมากก็ยังอยากที่จะเรียนรู้เรื่องของการมีความสุขอย่างยั่งยืน ความสุขที่สมบูรณ์อันเกิดจากการขัดเกลาจิตใจของตนเอง หรือในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นในสังคม ที่นอกเหนือจากเพียงแค่การเป็นพลเมืองดีตามกฎหมาย หรือมีสุขภาพจิตที่ดีตามตำรา

นั่นทำให้ศาสนายังจำเป็น และทำให้ศาสนาที่ “เป็นมิตร” และพร้อมให้หยิบจับไปใช้ในชีวิตได้ตามวัตถุประสงค์ไม่ว่าจะเล็กใหญ่มากน้อย ตั้งแต่เพื่อให้นอนหลับไปได้ในวันที่ทุกข์ทน ไปจนถึงผู้หวังหลุดพ้นนิพพานสิ้นจากวัฏสงสารเช่นพระพุทธศาสนานั้น ได้รับการยอมรับและเลือกไปปฏิบัติมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อาจจะปฏิเสธศาสนาหรือความเชื่อในรูปแบบเก่า

เช่นนี้ มุมมองศาสนาแบบอิงกับอำนาจรัฐ ที่มองว่าศาสนาเป็นสถาบันหนึ่งและมีผู้ไม่หวังดีจะมาคอยบ่อนทำลายชิงสาวก ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นไปในวันข้างหน้า เช่นเดียวกับการเอาศาสนาไปผูกกับอำนาจรัฐ หรือเอาอำนาจรัฐไปผูกไว้กับศาสนา หรือพึ่งพากันเพื่อหวังผลแบบอาศัยซึ่งกันและกันก็ตาม

เช่นนี้ การตัดสินใจจะใช้ “อำนาจรัฐ” ประการใดที่จะเกี่ยวข้องกับประเด็นทาง “ศาสนา” ของคนรุ่นใหม่ จึงต้องกระทำโดยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากผลใดที่จะเกิดขึ้น ท่านอาจจะไม่ได้อยู่ได้เห็นกันแล้วก็ได้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image