สุจิตต์ วงษ์เทศ : อยู่ก่อนแต่ง, ท้องก่อนแต่ง, มีลูกก่อนแต่ง ประเพณีดั้งเดิมอุษาคเนย์และในไทย

กิจกรรมทั่วไปก่อนแต่งของวัยเจริญพันธุ์ ทั้งในไทยและในอุษาคเนย์ (จิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง จ. อุบลราชธานี)

กล่อมเกลาและครอบงำสืบมานานแล้ว ว่าความป็นไทย และประเพณีไทย หญิงไทยต้องรักนวลสงวนตัว รักษาพรหมจรรย์ จะมีเพศสัมพันธ์ก็เมื่อเข้าพิธีแต่งงานแล้วเท่านั้น

ถ้าหญิงใดอยู่ก่อนแต่ง, ท้องก่อนแต่ง, มีลูกก่อนแต่ง จะถูกนินทาว่าร้ายต่างๆ นานา

แต่พยานหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา ไม่เคยพบอย่างที่ครอบงำกันมา แต่กลับพบตรงข้าม

หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว

อยู่ก่อนแต่ง เป็นประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์รวมทั้งไทย มีเหตุจาก “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว”

Advertisement

[หมายถึงหญิงมีอำนาจสูงกว่าชาย (ชายมีอำนาจบ้าง แต่ต่ำกว่าหญิง) เป็นคำคล้องจองของตระกูลไท-กะได (หรือไทย-ลาว) มีมาแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์]

เมื่อชายเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิง เพื่อหวังจะแต่งงานเป็นผัวเมียต่อไปข้างหน้า ต้องยอมเป็นบ่าวไปจนกว่าเครือญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือหลายปีก็ได้ เช่น 5 ปี 10 ปีก็มี

ระหว่างนี้สังคมยุคนั้นยอมให้ “อยู่ก่อนแต่ง” แล้วมีลูกก็ได้

กฎหมายลักษณะผัวเมีย ยุคต้นอยุธยา มากกว่า 500 ปีมาแล้ว ยอมรับ “อยู่ก่อนแต่ง” อย่างเป็นทางการ

ถ้าชายขี้เกียจทำงาน ฝ่ายหญิงก็ไล่เฉดหัวออกจากบ้าน แล้วเลือกชายคนใหม่เป็นบ่าวต่อไป แล้ว “อยู่ก่อนแต่ง” กับคนใหม่โดยไม่ถือเป็นผิดทำนองคลองธรรมอันใด

บันทึกของลาลูแบร์ (ราชทูตจากฝรั่งเศส) ระบุว่า ยุคอยุธยาการอยู่กินกันอย่างเสรีโดยไม่ได้แต่งงานถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องอับอาย เมื่อได้อยู่กินกันก็เสมือนว่าได้แต่งงานกันแล้ว โดยฝ่ายชายจัดพิธีขอขมาต่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเท่านั้น

 

อยู่ก่อนแต่ง ในตำนานนางนาค-พระทอง

นางนาค เป็นสัญลักษณ์คนพื้นเมืองสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ที่ยกย่องผู้หญิงเป็นหมอมด หมอผี หัวหน้าเผ่า

พระทอง เป็นสัญลักษณ์ของชายพ่อค้าต่างชาติมาทางทะเลสมุทร ผู้นำวัฒนธรรมจากภายนอกสู่คนพื้นเมือง

นางนาคกับพระทอง เป็นตำนานบอกความเป็นมาของบรรพชนคนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ ก่อน พ.ศ. 1000 กล่าวถึงนางนาคกับพระทองเมื่อเป็นวัยรุ่นมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน

พบร่องรอยเป็นพยานอยู่ในคำร้องบทมโหรี ยุคอยุธยา พรรณนาว่าหลังมีเซ็กซ์กันแล้วพระทองจะลากลับ นางนาครำพึงรำพันว่าเมื่อไรจะได้นอนมีเซ็กซ์ด้วยกันอีก ขอผ้าห่มไว้ดูต่างหน้า ดังนี้

ร้องนางนาค

เจ้าเอยนางนาค                     เจ้าคิดแต่เท่านั้นแล้ว

เจ้าปักปิ่นแก้ว                                    แล้วเจ้ามาแซมดอกไม้ไหว

จำปาสองหูห้อย                                 สร้อยสังวาลแลมาลัย

ชมพูผ้าสไบ                                        เจ้าห้อยสองบ่าสง่างาม

 

ร้องพระทอง

พระทองเทพรังสรรค์           หล่อด้วยสุวรรณกำภู

เจ้างามบริบูรณ์ไม่มีคู่                        โฉมตรูข้าร้อยชั่งเอย

พระทองข้ารูปหล่อเหลา      หนักเล่าก็ได้ร้อยชั่ง

รัศมีนั้นงามอยู่เปล่งปลั่ง                   ทั้งเมืองไม่มีเหมือนเอย

 

ร้องคู่พระทอง

พระทองเจ้าจะไป                 น้องจะได้ใครมานอนเพื่อน

อันใจเจ้าดีไม่มีเหมือน                       เจ้าเพื่ิอนที่นอนของน้องเอย

เจ้าเอยเจ้าพี่                         ค่อยอยู่จงดีกว่าจะมา

จะไปก็ไม่ช้า                                       จะพลันมาเป็นเพื่อนนอนเอย

พระทองเจ้าจะไป                 จะให้อะไรไว้น้องชม

ขอแต่ผ้าลายที่ชายห่ม                      จะชมต่างหน้าพระทองเอย

[คำร้อง เป็นบทมโหรีของเก่าที่ทำสืบมาแต่ยุคอยุธยา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอสมุดสำหรับพระนคร โปรดให้รวบรวมเมื่อ พ.ศ. 2460 คัดจากหนังสือประชุมบทมโหรี รวบรวมพิมพ์ครั้งแรก จำหน่ายในงานฤดูหนาว สวนจิตรลดา พ.ศ. 2463 (ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ถ่ายแบบพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2542)]

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image