สมัชชายูเอ็น โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยขึ้นกล่าวถ้อยแถลงเวทีผู้นำด้านผู้ลี้ภัย ที่นครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ หรือ ยูเอ็นจีเอ ปีนี้ เปิดฉากในช่วงเวลาระทึกขวัญ หลังมีระเบิดตูมตามที่ระบุได้ว่าเป็นการก่อการร้ายในนครนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่อยู่ใกล้เคียง

นิวยอร์ก นอกจากเป็นศูนย์รวมธุรกิจ ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญทั้งต่ออเมริกาและต่อโลก

เคยถูกก่อวินาศกรรมสะท้านโลกเมื่อ 15 ปีก่อน ในวันที่ 11 กันยาฯ เมื่อตึกแฝดเวิลด์เทรดถูกเครื่องบินพุ่งชนและถล่มลงมาทีละตึกไล่เลี่ยกัน มีคนตายเกือบ 3,000 ชีวิต

ถ้ามองในมุมอคติต่ออเมริกา อาจพูดได้ว่า 3,000 ชีวิตนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเหยื่อในสงครามแห่งต่างๆ ที่อเมริกาเข้าแทรกแซง

Advertisement

เฉพาะในสงครามซีเรียที่อเมริกาและรัสเซียถูกมองว่าแข่งบารมีกันก็คร่าถึง 300,000 ชีวิตเข้าไปแล้ว

แต่ชีวิตก็คือชีวิต ไม่ว่าจะ 3 พัน 3 แสน 99 หรือ 1 ชีวิต ก็ไม่สมควรต้องฆ่ากัน

ด้วยแนวทางป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ฆ่าแกงกันนี้ จึงทำให้สหประชาชาติเป็นองค์การที่อยู่มายาวนานนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

Advertisement

แม้ว่าจะมีผลงานแก้ไขความขัดแย้งได้บ้างไม่ได้บ้าง ถูกวิจารณ์และถูกเรียกร้องให้ต้องปฏิรูปโครงสร้างและการทำงาน ในที่นี้รวมถึงการประชุมสมัชชาใหญ่ด้วย

เพราะการให้ผู้นำแต่ละประเทศต่อคิวขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ยาวเหยียดนั้น มีเสียงวิจารณ์ว่าจริงๆ แล้วมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด

ถ้าไม่ใช่ผู้นำชาติมหาอำนาจอย่าง บารัค โอบามา, วลาดิมีร์ ปูติน, แองเกลา แมร์เคิล ฯลฯ จะได้รับความสนใจหรือไม่

และถ้าไม่ใช่ผู้นำแนวฮาร์ดคอร์แบบ มาห์มู้ด อาห์มาดีเนจาด สมัยเป็นผู้นำอิหร่านขึ้นกล่าวสุนทรพจน์โจมตีอิสราเอลอย่างเผ็ดร้อน เมื่อปี 2551 จะเป็นประเด็นที่อื้ออึงหรือไม่

ความเหมาะสมของผู้นำที่ขึ้นกล่าวก็ถูกตั้งคำถามเช่นกัน เพราะหลายคนยึดอำนาจควบคุมประชาชน แต่กลับได้ขึ้นกล่าวบนเวทียูเอ็นจีเอ

พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย สมัยยังมีชีวิตอยู่ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์นานจุใจ 100 นาที ในปี 2552 ส่วน พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี นายพลแห่งอียิปต์ผู้ก่อรัฐประหารในปี 2556 ขึ้นเวทียูเอ็นจีเอในปี 2557 หลังชนะการเลือกตั้งแบบไร้คู่แข่ง

ขณะที่ความใจกว้างของยูเอ็น เคยจัดพิธียืนไว้อาลัยให้ นายคิม จองอิล ผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 2 ของเกาหลีเหนือ ในห้องประชุมใหญ่ เมื่อปี 2554 สร้างความกังขาแก่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการอย่างยิ่ง

การที่ยูเอ็นถูกคาดหวังมากมายจากสมาชิกประเทศ ว่าจะต้องมีทั้งความเป็นกลาง ให้เกียรติบรรดาสมาชิกทุกประเทศอย่างเท่าเทียม ไม่ก้าวล่วงหรือแทรกแซงกิจการภายใน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกคาดหวังว่าจะแก้ไขความขัดแย้ง ป้องกันการทำลายประชาธิปไตยและเสรีภาพ ไปจนถึงยุติสงคราม

สุดท้ายคณะมนตรีความมั่นคงในกลุ่มมหาอำนาจกลับยังคงเป็นฝ่ายตัดสินใจในเรื่องสำคัญเหล่านี้ จึงทำให้ยูเอ็นขัดแย้งในตัวเอง

การประชุมยูเอ็นจีเอในปีนี้ ถ้าตัดเหตุระทึกระเบิดออกไป ก็คงผ่านพ้นไปอย่างเรียบๆ อีกเช่นเคย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image