ภูมิรัฐศาสตร์ : มิติใหม่ โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์(แฟ้มภาพ)

ผู้เขียนเจอหนังสือเรื่อง “Prisoners of Geography? เขียนโดยทิม มาร์แชล ในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ซึ่งที่ปกหนังสือเขียนว่า “ถึงเวลาแล้วที่ต้องใส่ ภูมิ (พื้นดิน) กลับเข้าไปในวิชา ภูมิรัฐศาสตร์ เสียที? และเมื่อเปิดอ่านคำนำที่เขียนโดยเซอร์จอห์น สการ์เล็ทท์ อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ (MI6) เลยตัดสินใจซื้อเลยครับ

ไม่ผิดหวังหรอกครับ เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและอ่านสนุกและครอบคลุมเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งเป็นสหวิชาที่รวมเอาวิชาการเมืองการปกครอง (รัฐศาสตร์) ภูมิศาสตร์และการทหารทั้งโลกเข้าด้วยกัน หนังสือเล่มนี้ (Prisoners of Geography) แบ่งออกเป็น 10 บท มีแผนที่ประกอบ 10 แผ่น คือ 1.รัสเซีย 2.จีน 3.สหรัฐอเมริกา 4.ภูมิภาคยุโรปตะวันตก 5.แอฟริกา 6.ภูมิภาคตะวันออกกลาง 7.อินเดียและปากีสถาน 8.เกาหลีกับญี่ปุ่น 9.ละตินอเมริกา 10.ภูมิภาคอาร์ติก

แผนที่ภูมิศาสตร์ศาสนา
แผนที่ภูมิศาสตร์ศาสนา

ทิม มาร์แชล เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศของสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์นานาชาติเป็นเวลาถึง 25 ปี และสถานที่ที่เขาเขียนถึงในหนังสือเล่มนี้เขาก็ได้ไปสัมผัสมาด้วยตัวเองพร้อมกับการหาข่าวเพื่อรายงานกลับไปยังทีวีและหนังสือพิมพ์ต้นสังกัด เขาจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของกิจการต่างประเทศ และ blog ส่วนตัวของเขาชื่อ “Foreign Matters? ก็ได้รับการยอมรับและอ้างอิงอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ

ทิม มาร์แชล เขียนเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในแนวใหม่ซึ่งแตกต่างจากภูมิรัฐศาสตร์แบบดั้งเดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยภูมิรัฐศาสตร์ดั้งเดิมจะเน้นเฉพาะภูมิศาสตร์กายภาพ ( Physical Geography) ซึ่งศึกษาถึงภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ สมุทรศาสตร์ ภูมิอากาศวิทยา หิน อุตุนิยมวิทยา ฯลฯ เพื่อประกอบกับเรื่องการทหาร สำหรับฝ่ายการเมืองจะนำไปเป็นข้อพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจเป็นนโยบายการต่างประเทศต่อไป

Advertisement

ภูมิรัฐศาสตร์แบบดั้งเดิมเจริญถึงจุดสูงสุดที่ประเทศเยอรมนี โดยมีการสถาปนาสถาบันภูมิรัฐศาสตร์แห่งเยอรมนีขึ้นโดยมีนายพลคาร์ล เฮาส์โฮฟเฟอร์ (Karl Ernst Houshofer) เป็นผู้อำนวยการสถาบันผู้เสนอทฤษฎีเลเบนสเราม์ (Lebensraum) มีแนวคิดว่า รัฐเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ต้องการพื้นที่ดินเพื่อขยายตัวอยู่ตลอดเวลาจึงถูกระบอบนาซีอ้างเป็นเหตุในการขยายอาณาเขตจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ ในวิทยาลัยการทหารทั่วไปทุกแห่งในโลกในช่วงนั้นก็ต้องมีวิชาภูมิรัฐศาสตร์สอนอยู่ในหลักสูตรประจำรวมทั้งมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากจนกระทั่งสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 วิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็เริ่มเสื่อมลงตามลำดับเนื่องจากมีการพัฒนาอาวุธมหาประลัยคือ ระเบิดนิวเคลียร์ ที่มีอำนาจทำลายล้างเทียบเท่ากับการจุดระเบิดทีเอ็นทีกว่า 10 ล้านตัน ประกอบกับมีการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile หรือ ICBM) เป็นขีปนาวุธพิสัยไกล มีรัศมีทำการระยะไกลระดับข้ามทวีปมากกว่า 5,500 กิโลเมตร โดยปกติแล้วขีปนาวุธชนิดนี้จะใช้ในการบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อทำลายเป้าหมายในวงกว้างจากระยะไกล โดยขีปนาวุธชนิดนี้สามารถบรรทุกหัวรบได้มากกว่าหนึ่งหัว และสามารถปล่อยได้จากหลายสถานที่เช่น สถานีปล่อยขีปนาวุธภาคพื้นดิน, เรือดำน้ำ หรือรถปล่อยขีปนาวุธ เป็นต้น

ดังนั้น ความสำคัญทางภูมิศาสตร์กายภาพของวิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็ดูจะหมดความหมายโดยสิ้นเชิง และวิชาภูมิรัฐศาสตร์ก็เริ่มหายไปจากหลักสูตรวิทยาลัยการทหารและมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปจนกระทั่งเมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อปลายปี พ.ศ.2534 เป็นเวลาร่วม 50 ปีแล้วที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่ไม่มีประเทศใดกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกเลยและสงครามย่อยๆ ก็เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกตลอดเวลา

Advertisement

รวมทั้งการขยายตัวขององค์การก่อการร้ายสากลกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ทำให้เกิดการเกิดขึ้นใหม่ของวิชาภูมิรัฐศาสตร์และเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่สหัสวรรษใหม่จนถึงปัจจุบันนี้

ประเทศที่อ้างอิงถึงหลักการภูมิรัฐศาสตร์อย่างแข็งขันเข้าขั้นอุดมการณ์คือ ประเทศอิสราเอลที่ได้เข้ายึดครองสันเขาที่ทอดตัวยาวจากเหนือไปใต้ของดินแดนเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศปาเลสไตน์และปฏิเสธแบบหัวเด็ดตีนขาดที่จะคืนสันเขาอันยาวเหยียดนี้แก่ประเทศปาเลสไตน์ เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีรูปร่างเหมือนลิ่ม (เครื่องมือของช่างไม้เป็นไม้หรือเหล็กที่มีสันหนาปลายบาง) คือไม่มี strategic depth (ความลึกเชิงยุทธศาสตร์) ซึ่งง่ายต่อการยกทัพเข้าตีตัดตรงกลางประเทศที่กว้างไม่ถึง 10 ไมล์ ก็สามารถแบ่งอิสราเอลออกเป็น 2 ส่วนได้ ดังนั้น การที่จะปล่อยให้สันเขาของเวสต์แบงก์อยู่ในมือของประเทศอริอื่นจึงเป็นเรื่องที่อิสราเอลยอมไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้การแก้ปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นไปได้ยาก

อิสราเอล (สีเหลือง) กับดินแดนที่ยึดครอง (สีเขียว)
อิสราเอล (สีเหลือง) กับดินแดนที่ยึดครอง (สีเขียว)

นอกจากนี้ อิสราเอลยังยึดครองที่ราบสูงโกลานของซีเรียมาตั้งแต่คราวสงคราม 6 วัน เมื่อ พ.ศ.2510 ซึ่งอิสราเอลก็ปฏิเสธที่จะคืนให้กับซีเรียเนื่องจากในทางการทหารนั้นการคุมที่สูงได้ย่อมได้เปรียบในยามศึกสงครามซึ่งการทำสัญญาสันติภาพของซีเรียกับอิสราเอลในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีทางสำเร็จลงได้เลย

ภูมิรัฐศาสตร์มิติใหม่นี้ได้ให้ความสำคัญต่อวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography) ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสาขาหลักๆ ของวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์นั้นคือ ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ภูมิประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์การเมือง ภูมิศาสตร์ศาสนา ภูมิศาสตร์การพัฒนา ภูมิศาสตร์ประชากร ภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว เป็นต้น ภูมิศาสตร์มนุษย์การศึกษาความเข้าใจและการใช้งานผืนโลกของมนุษย์ และกระบวนการที่มีผลกระทบต่อสิ่งนั้น มันเกี่ยวโยงกับทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์การศึกษาความเข้าใจและการใช้งานผืนโลกของมนุษย์ และกระบวนการที่มีผลกระทบต่อสิ่งนั้น

หนังสือภูมิเศรษฐศาสตร์, หนังสือภูมิศาสตร์มนุษย์
หนังสือภูมิเศรษฐศาสตร์, หนังสือภูมิศาสตร์มนุษย์

ยกตัวอย่างปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลางหากจะวิเคราะห์ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์โดยปราศจากความรู้ทางภูมิศาสตร์ศาสนาจากสาขาภูมิศาสตร์มนุษย์ก็ยากที่จะเข้าใจได้ จึงกล่าวได้ว่าภูมิรัฐศาสตร์ยุคใหม่นี้เน้นความสำคัญของภูมิศาสตร์มนุษย์มากขึ้นกว่าเดิมที่ให้ความสำคัญเฉพาะภูมิศาสตร์กายภาพเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image