บทเรียน ข่าวลือ ต่อ’ณรงค์ กิตติขจร’ ก่อน 14 ตุลา 16

ทั้งๆ ที่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 อำนาจของ จอมพลถนอม กิตติขจร แข็งแกร่งและมั่นคงเป็นอย่างสูง

นั่นก็คือ ดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประภาส จารุเสถียร นอกจากดำรงตำแหน่งเป็น “รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด” แล้วยังดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก”

โดยมี พล.ร.อ.เฉลิม เตียรณยุทธ เป็น “ผู้บัญชาการทหารเรือ”

Advertisement

โดยมี พล.อ.อ.บุญชู จันทรุเบกษา เป็น “ผู้บัญชาการทหารอากาศ”

โดยมี พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็น “อธิบดีกรมตำรวจ”

เมื่อทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ทิ้งไป อำนาจในการบริหารจัดการก็เป็น “ธรรมนูญการปกครอง” ด้วยการต่อยอดมาจาก “ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2502” ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

Advertisement

มีอำนาจเด็ดขาดผ่าน “มาตรา 17”

ทั้งๆ ที่ จอมพลถนอม กิตติขจร มากด้วยอำนาจ เปี่ยมด้วยพลานุภาพในทางการทหาร ยิ่งใหญ่และยรรยงถึงเพียงนี้ แล้วเหตุใดในเดือนตุลาคม 2516 จึงต้องพังครืนราวปราสาททรายต้องคลื่น

คำตอบอ่านผ่าน พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

 

โดยนามสกุล พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เป็นบุตร จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างแน่นอน แต่ฐานของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ดำเนินไปยิ่งกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก

เพราะเป็น “เขย” ของ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร

รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514 เป็นเหมือนกระดานหกทำให้บทบาท พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลอยลิ่วขึ้นสูงเด่น

แม้จะเป็นเพียง “ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์”

แต่ได้เข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชั่น หรือ “กปต.” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว

สูงเด่นกระทั่งนายทหารระดับ “นายพล” ก็ต้องยกมือไหว้ “พ.อ.”

เป็นความสูงเด่นจากบารมีของพ่อ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นความสูงเด่นจากบารมีของพ่อตา พล.อ.ประภาส จารุเสถียร

ขณะเดียวกัน ความสูงเด่นตรงนี้ทำให้ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ต้องตกเป็น “เป้า”

ยิ่งเมื่อลูกน้องของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เข้าไปมีเรื่องวิวาทกับ “ป้อมยาม” ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยที่ผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาลก็ทำอะไรไม่ได้ โดยที่อธิบดีกรมตำรวจก็ไม่กล้าเข้าไปแตะต้อง ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ดังอึกทึกและครึกโครม

ข่าวลือซึ่งเกี่ยวกับ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จึงปรากฏขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า

 

ลําพังเพียงข่าว พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เข้าไปมีบทบาท “ร่วม” ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในยุทธการ “หินร่องกล้า” ก็มากด้วยความเย้ายวน

เย้ายวนจากการนำ “ดารา” เข้าไป “ปลุกใจ” ทหาร

ยิ่งข่าวการชูบทบาทของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ในการสร้างวีรกรรมในสมรภูมิเวียดนาม ยิ่งสะท้อนให้เห็นพลังของสื่ออย่างเด่นชัด

ภายใน “ข่าว” เหล่านี้ก็มีเรื่อง “อื้อฉาว” สอดสวมเข้ามาด้วย

เป็นความอื้อฉาวเมื่อ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เจาะทะลวงเข้าไปปราบปรามการทุจริตในบางเรื่อง บางกรณี

เพราะตามมาด้วยการเรียกเก็บ “ผลประโยชน์”

สถานการณ์ข่าวลือ ข่าวปล่อย อันเกี่ยวกับ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ไปไกลไม่เพียงแต่ว่าเขาคือ “ทายาท” ทางการเมืองของ จอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เท่านั้น หากแต่ยังไปไกลถึงขั้นที่จาบจ้วงไม่เหมาะสม

ส่งผลให้ “ชื่อเสียง” กลายเป็น “ชื่อเสีย”

ส่งผลให้ความเกลียดชังต่อ “ระบอบถนอม-ประภาส-ณรงค์” ก่อรูปขึ้นในทางความคิดและค่อยแปรไปสู่ปฏิบัติการในทางการเมือง

แล้วก็ “รวมศูนย์” ไปยังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

 

คําถามก็คือ ข่าวลือและความอื้อฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร มาจากไหน

ไม่ได้มาจากฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน ไม่ได้มาจากขบวนการนักศึกษาอันเป็นคู่ปรปักษ์ โดยตรงอย่างแน่นอน

คำตอบก็คือ มาจาก “คนใน” มาจากคนที่เคยเป็นพวกเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image