ตู้หนังสือ : วิชารู้รอบ สายธารแห่งปัญญา

วิชารู้รอบ สายธารแห่งปัญญา

ความเป็นเป็ดดีอย่างไร – หลายคนอาจคิดว่าทำไมเราไม่เก่งสักอย่าง ทำได้เกือบหมด อย่างละนิดละหน่อย ที่เรียกว่า “เป็ด” อาจนึกน้อยใจ ว่าไม่สามารถรู้อะไรลึกซึ้งได้สักเรื่องเลยหรือ

ยังมีคำแนะนำในเรื่องทำนองนี้ว่า ถ้าอยากพัฒนาทักษะด้านใด ก็ต้องเริ่มแต่เด็กหรือแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าดนตรีหรือกีฬา ทั้งต้องฝึกฝนอย่างทุ่มเทและเข้มข้น เพื่อไปถึงจุดที่ต้องการ เพราะหากเริ่มช้ากว่าเขา ก็เหมือนนกตื่นก่อนได้กินหนอนก่อนนั่นเอง

แต่คำตอบหรือคำแนะนำนั้นอาจไม่ใช่ เพราะหากพิจารณาแล้ว ไม่ว่านักกีฬาอาชีพหรือผู้ได้รับรางวัลโนเบล ความเก่งเฉพาะด้าน หรือ “สเปเชียลลิสต์” อาจไม่จำเป็นเสมอไป – อ้าว, อย่างไรกันล่ะทีนี้

เพราะความเห็นหนึ่งบอกว่า การรู้หลายด้านนั้นเป็น “ข้อได้เปรียบ” หรืออาจระบุได้ว่าเป็น “ข้อชนะ” ด้วยซ้ำไป

Advertisement

เดวิด เอปสตีน ผู้เขียน ยอดมนุษย์นักกีฬา (The Sports Gene-เดอะ สปอร์ตส ยีน) ได้เขียน เรนจ์ (Range) หรือ วิชารู้รอบ ให้ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แปล เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การที่เรารู้รอบ หรือมีทักษะชำนาญหลายด้าน จากการทำหลายสิ่งหลายอย่าง แม้เราเองจะเห็นว่าแต่ละอย่างที่ทำนั้นต่างกันสุดขั้ว แต่ทักษะเหล่านั้น เมื่อรวมกันหลายแขนง กลับช่วยให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้ดีมีประสิทธิภาพ

เอปสตีนพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีงานอดิเรกนอกงานอาชีพ มีแนวโน้มได้รับรางวัลโนเบลมากกว่านักวิทยาศาสตร์ที่เจาะจงอยู่เรื่องใดเรื่องหนึ่งหลายเท่า แม้แต่ สตีฟ จ๊อบส์ ยังเคยพูดปาฐกถาไว้ว่า การเรียนอักษรวิจิตรนั้นมีผลอย่างมากต่องานออกแบบของเขา แม้ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเลยก็ตาม

Advertisement

หนังสือเล่มนี้จะแสดงให้เห็นว่า การรู้รอบด้านนั้น มีชัยเหนือการรู้ลึกเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมากทีเดียว

นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นหนังสือเล่มที่ บิล เกตส์ แนะนำให้อ่านประจำปีนี้อีกด้วย ทั้งเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งซึ่ง “นิวยอร์ก ไทม์ส” สำทับตามมา

● ประเทศญี่ปุ่นหรือคนญี่ปุ่นรู้กันมาแต่ไหนแต่ไรว่า เป็นผู้สนใจและกระตือรือร้นที่จะนำส่วนดีของที่อื่น สังคมอื่น บ้านเมืองอื่น มาปรับใช้ พัฒนา ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมของตนให้สมบูรณ์ก้าวหน้าขึ้น เช่น หนังสือจีนคลาสสิก 3 เล่ม ตำราพิชัยสงครามซุนวู กับ ไซอิ๋ว และแน่นอน สามก๊ก ถูกญี่ปุ่นนำมาค้นคว้าพิจารณาสุดความสามารถในทุกแง่มุม จนเป็นที่รู้จักและนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสังคมกระทั่งปัจจุบัน

แต่หนังสือเล่มนี้ สายธารแห่งปัญญา ของปราชญ์สมัยราชวงศ์หมิง หงอิ้งหมิง ซึ่งมิได้เป็นทั้งหนังสือธุรกิจและวิชาการ แต่เปี่ยมความหมายลึกซึ้ง ได้ถูกนำมาใช้และอ่านกันแพร่หลายในญี่ปุ่นถึง 3 สำนวนมาแต่เดิม เพราะเป็นเหมือนปรัชญาชีวิต คติพจน์ ที่สามารถทบทวนอบรมตัวเอง ฝึกฝนกล่อมเกลาบุคลิกที่ถูกจริตคนญี่ปุ่นซึ่งเข้มงวดตัวเองอย่างยิ่ง

ไม่ว่าการบำเพ็ญตน หรือการปฏิบัติต่อผู้อื่น

นักวิสาหกิจญี่ปุ่นผู้หนึ่งกล่าวว่า หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจมีเป็นพันเป็นหมื่นเล่ม แต่สู้เล่มนี้เล่มเดียวไม่ได้

ลองดูว่าเนื้อหาหนังสือพูดถึงอะไร จะแทงใจนักอ่านลึกขนาดไหน

หลงอำนาจชั่วเวลา จักเศร้าสลดชั่วนิรันดร์ (ใช้กับเมืองไทยไม่ได้กระมัง), ความในใจควรเปิด ความปราดเปรื่องพึงซ่อน, ยาดีย่อมขมปาก คำเตือนมักขัดหู, จางจืดจึงรู้รสแท้ สามัญจึงเป็นยอดคน, หนทางแคบควรถอยหนึ่งก้าว อาหารดีควรแบ่งสามส่วน, คบเพื่อนควรมีมิตรจิต เป็นคนต้องจริงใจ, สะอาดเกิดจากสกปรก สว่างเกิดจากมืดมน,

คนมั่งมีควรทำทานให้มาก ผู้ฉลาดพึงละการโอ้อวด, คนชั่วเล่าเรียนยิ่งเสริมชั่ว, คนตายชื่อยัง เสือตายหนังอยู่, ถ่อมตัวจักได้ เย่อหยิ่งจักเสีย, มองที่เรื่องใหญ่ ทำที่เรื่องเล็ก, ความดีเติบโตเงียบๆ ความชั่วสูญหายนานช้า, บทประพันธ์ดีเยี่ยมไม่พิสดาร คุณธรรมสุดยอดคือธรรมชาติ, ไม่โอ้อวดความงามความบริสุทธิ์ ก็ไม่ขายหน้าความอัปลักษณ์สกปรก, ประจบยกยอคือวิสัยมนุษย์,

เลี้ยงต้นไม้ปลูกต้นไผ่ ใจไร้ซึ่งตัวเรา, ชีวิตดั่งฟองอากาศ ไยต้องชิงชื่อเสียงลาภยศ, ได้มรรคไร้พันธนาการ จะเงียบหรืออึกทึก ล้วนไม่เกี่ยว, เคลื่อนหรือนิ่งแต่พอเหมาะ เข้าหรือออกไร้สิ่งกีดขวาง, เคร่งครัดจักเสียคนดี หย่อนยานจักได้เพื่อนชั่ว, อ่านหนังสือควรอ่านจนดื่มด่ำ สังเกตสรรพสิ่งควรทำจนซาบซึ้ง, คนมั่งมีมากทุกข์ ผู้สูงศักดิ์มากภัย, สัตว์ร้ายปราบง่าย ใจคนสงบยาก,

แค่นี้ก็แทงทะลุปรุพรุนแล้ว บุญศักดิ์ แสงระวี เรียบเรียง

● หนังสืออีกเล่มที่ทันยุคทันสมัยแท้ๆ กับปัญหาของแทบจะทุกบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าบ้านไหนเมืองไหน หน้าจอ-โลกจริง : สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล โดย อันยา คาเมเนทซ์ แปลโดย บุณยนุช ชมแป้น

ผู้เขียนคุณแม่ลูกสอง นักการศึกษาและเทคโนโลยี ชวนนักอ่าน พ่อแม่ผู้ปกครอง นักการศึกษา นักวิจัยด้านสื่อ มาช่วยกันสางปัญหาหน้าจอ ซึ่งมีบทบาทที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวง จากการรุกเข้ามาในบ้านถึงห้องน้ำห้องนอน จนตกเป็นจำเลยของสารพัดต้นเหตุต่อเด็กหรือเยาวชนสมัยใหม่ ทั้งโรคอ้วน สมาธิสั้น นอนไม่หลับ จนถึงโรคซึมเศร้า จากการเสพติดอินเตอร์เน็ตรุนแรงจนบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองปวดหัว

ถึงเวลาขจัดความเข้าใจผิดด้วยหนังสือเล่มนี้ จากมุมมองที่เปิดกว้าง ไร้อคติ และไม่ตื่นตระหนก ด้วยหลักฐานเชิงวิชาการมากมายและประสบการณ์ตรงจากหลายร้อยครอบครัว ที่จะไขข้อข้องใจนานาประเด็นเกี่ยวกับการใช้หน้าจอ เช่น

การห้ามเด็กอายุต่ำกว่าสองขวบดูจอได้ผลจริงหรือไม่, พ่อแม่ที่หมกมุ่นกับหน้าจอคือพ่อแม่ที่ไร้ความรับผิดชอบจริงหรือ, ปริมาณการรับสื่อและเนื้อหาที่เหมาะสมต่อพัฒนาการ ควรมีหน้าตาแบบไหน, การใช้หน้าจอเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ และกระตุ้นการเรียนรู้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำได้อย่างไร

นี่คือคู่มือคืนความสมดุลระหว่างหน้าจอกับโลกจริงของครอบครัวยุคดิจิทัล เพื่อให้ร่วมกันใช้หน้าจออย่างสนุก และช่วยกันทวงความสุขของแต่ละชีวิตกลับคืนมาได้อีกครั้ง – เฮ้อ

● เป็นความจริงอยู่ว่า ปีใหม่พี่ไทยก็เมา ตรุษจีนพี่ไทยก็เมา สงกรานต์พี่ไทยยิ่งเมา หมดวันพี่ไทยก็เมา โอกาสไหนพี่ไทยก็เมา ไม่ได้ออกพรรษาพี่ไทยก็เมา ยิ่งทุกข์พี่ไทยยิ่งเมา ว่ากันว่าอย่างนั้น

และมิใช่เฉพาะพี่ไทยกระมังที่พร้อมจะเมากันหัวราน้ำแบบนี้

เมา : ประวัติศาสตร์แห่งการร่ำสุรา (อะ ชอร์ท ฮีสตรี้ ออฟ ดรังเคนเนส – ประวัติศาสตร์สั้นๆ ของการเมา) โดย มาร์ค ฟอร์ไซท์ แปลโดย ลลิตา ผลผลา ที่จะชวนนักอ่านจิบประวัติศาสตร์ ละเลียดรสหวานปนขมของเรื่องน้ำเมาอันกลมกล่อม ที่ทำให้มนุษย์หลงใหลมานานนับพันปีตั้งแต่รู้จักผลิตเป็นต้นมา

 

หนังสือเล่มนี้จะนำนักอ่านทวนกระแสน้ำเมาในแต่ละอารยธรรมทั่วโลก จากงานฉลองเทศกาลความเมาของอียิปต์แต่โบราณ ทะเลสาบเหล้าที่มอมเมาจักรพรรดิจีนจนสิ้นราชวงศ์ กระแสคลั่งจีนกับโศกนาฏกรรมของชนชั้นล่างชาวอังกฤษ จนถึงไวน์รสเลิศในงานเลี้ยงที่เผยด้านมืดของชาวโรมัน

หนังสือเล่มนี้จะชวนให้ดื่มด่ำรสชาติน้ำเมาในหลายมิติ ทั้งหวานหอมในตำนานอันรื่นรมย์ ทั้งขมเฝื่อนในฉากนองเลือดทางการเมืองจากความเมามาย ทั้งล้ำลึกในความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างน้ำเมากับศาสนา หรือร้อนแรงยามดิ้นรนต่อสู้กับกฎหมายห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้ผสมผสานกันเป็นประวัติศาสตร์อันนุ่มเนียน ไม่ต่างสุราเลิศรสที่มนุษย์หลงใหลใคร่เมาไม่เสื่อมคลาย

● งานสำคัญของนักปรัชญาและนักจริยศาสตร์ชาวออสเตรเลีย วัย 71 ปี ผู้เขียน เอนิมอล ลิเบอเรชั่น (2518) อันเป็นงานวิชาการชิ้นสำคัญแขนงสัตวศึกษา (เอนิมอล สตั้ดดี้ส์) ที่ชวนให้ทบทวนเรื่องการกิน และการแยกแยะระหว่างมนุษย์กับสัตว์

ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ยังชวนให้คิดถึงมิติซับซ้อนทางจริยธรรม ที่มนุษย์ค่อยๆ ประสบ ทางการแพทย์ การอุ้มบุญ สิทธิการทำแท้ง เทคโนโลยีชีวภาพ งานซึ่งถูกพากย์ไทยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่กำลังนำมาเสนอนี้คือ ความอดอยาก ความมั่งคั่ง และศีลธรรม หนังสือความเรียงซึ่งแต่ละปีมีนักศึกษาปริญญาตรี กับนักเรียนมัธยมปลายในหลายประเทศจำนวนมากต้องอ่าน

จากหนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดขบวนการใหม่ขึ้นในชื่อ “การทำเพื่อผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ” (เอฟเฟคทีฟ อัลทรูอีสซึ่ม-Effective Altruism) ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือความเรียงซึ่งทำให้เปลี่ยนชีวิตเล่มนี้ ถึงคราวของเราบ้าง ว่า 3 บทในหนังสือสามารถให้ความคิดใดกับเรา 1.ความอดอยาก ความมั่งคั่ง และศีลธรรม 2.การแก้ปัญหาของซิงเกอร์จากความยากจนของโลก 3.มหาเศรษฐีหยิบยื่นอะไรบ้าง แล้วตัวคุณล่ะ

อ่านดูว่า บิล กับ เมลินดา เกตส์ พูดถึงหนังสือนี้อย่างไร

● งานของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ว่าด้วยความสำคัญของพริกพื้นเมืองไทย จากการสำรวจและรวบรวมทั้งสิ้น 253 สายพันธุ์ในพื้นที่ 48 จังหวัด เพื่อผู้อ่านจะได้รู้จักกับพริกในทุกแง่ทุกมุม

พริกวิทยา : งานวิจัยที่เผ็ดที่สุด โดยผู้เขียนและบรรณาธิการ อาทิตย์ เคนมี เนื่องจากภาพรวมของพริกพื้นเมืองปัจจุบัน ตกในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะการแพร่หลายของพริกพันธุ์ผสม และการนำเข้าพริกจากต่างประเทศ ทำให้พริกพื้นเมืองถูกลดความสำคัญลง รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกที่น้อยลงทุกขณะอย่างน่าใจหาย หากไม่มีการเก็บรักษาและรวบรวมเมล็ดพันธุ์อย่างเป็นระบบแล้ว ไทยอาจต้องสูญเสียความหลากหลายของสายพันธุ์พริกพื้นเมืองอย่างไม่อาจหวนคืน ซึ่งแม้แต่คนไม่กินพริกรู้แล้วก็คงไม่ยินยอมพร้อมใจนัก

งานชิ้นนี้เสนอความสำคัญของพริกพื้นเมือง ลักษณะดีเด่นแต่ละสายพันธุ์จากพื้นที่ 6 ภาคครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมบทสัมภาษณ์ 2 นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญพริกเมืองไทย อาจารย์ สิริกุล วะสี นักวิจัยผู้หลงใหลเสน่ห์พริก กับอาจารย์ วีระ ภาคอุทัย มิสเตอร์พริกเมืองไทย เพื่อรู้จักพริกทุกเม็ดครบเครื่อง

ใน 326 หน้า นักอ่านจะได้พบข้อมูลพริก 253 สายพันธุ์ รู้จักที่สุดของพริก พบพริกเม็ดซึ่งเผ็ดที่สุดในสยาม นอกเหนือการรู้จักศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมพริกพื้นเมืองแล้ว ยังจะเด็ดยอดพริกพื้นเมือง 30 สายพันธุ์ให้ดู อ่านแล้วต้องดีใจและชอบพริกขึ้นมาได้แน่นอน แม้จะไม่กินเผ็ดก็ตาม

● เมืองไทยเมื่อถึงวันนี้ เหมือนกับว่าเดินไปหน้าไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่รู้ว่าเดินมาทางไหน หยุดอยู่กับที่ โลกก็หมุนนำข้ามไป เมืองไทยจึงเป็นเมืองอิหลักอิเหลื่อเติบโตทางวัตถุไปตามยถากรรม

ประวัติศาสตร์ก็ไม่สามารถค้นคว้า ความจริงนานามองหาไม่เห็น พูดความจริงก็ถูกห้ามมิให้ชังความจริงที่ลำเค็ญ ทุกเรื่องถูกเน้นอยู่ที่ ห้ามมีอะไรเปลี่ยนแปลง – เอ้า, หุยย__ ฮาา__

ย้อนวันคืนสายธารวรรณกรรมกันดีกว่า อ่าน เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น สุภาพบุรุษ ชำระต้นฉบับโดย วรรณา สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและหมายเหตุบรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นหนังสือปกแข็งงดงาม 1,117 หน้า

งานในเล่มเป็นการนำเอาเรื่องสั้นจากเอกสารชั้นต้นในหนังสือ สุภาพบุรุษ รายปักษ์เมื่อปี 2472-2473 ที่ค้นได้บางส่วนมารวมไว้ เพื่อย้อนมองประวัติศาสตร์สังคมสยาม 80 ปีก่อน ที่จะบอกสถานะวรรณกรรมสยามสมัยใหม่ ผ่านเอกสารชั้นต้นซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์เก่ารุ่นต่างๆ ให้เห็นว่า นอกจากนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ในคณะสุภาพบุรุษระหว่าง 2 ปีนั้นแล้ว ยังมีรากเหง้าอื่นๆ ทั้งก่อนและหลังคณะสุภาพบุรุษอีกจำนวนมากนับไม่ถ้วน แต่หลักหมายดังกล่าวเหล่านั้นกลายเป็น “ข้อต่อที่หายไป” (มิสซิ่ง ลิงก์-missing link) มากขึ้นเรื่อยๆ – ทำไม

มิใช่สภาพเมืองไทยที่กล่าวข้างต้นหรือ ไปหน้าไม่ได้ เพราะแม้รู้ว่าจะไปไหน แต่มีอำนาจที่บังคับข่มเหงไม่ให้ไป จะถอยหลังตั้งหลักก็ไม่ได้อีก เพราะมีอำนาจที่ไม่ต้องการให้รื้อฟื้นสะสางเรื่องหลังนานัปการ จึงเป็นบ้านเมืองที่ประหลาดทั้งในสายตาเจ้าของบ้านเมือง และสายตาเพื่อนร่วมโลก

อ่านเรื่องสั้นของบรรดาผู้ที่เดินนำหน้ามาก่อนดีกว่า เป็นอีกโอกาสที่จะได้พบและรู้จักปู่ตาญาติน้ำหมึก ได้ทบทวนตัวเอง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image