มอง เมียนมา ผ่าน ออง ซาน ซูจี สภาพ “ตื่นรู้”

ภาพที่ ออง ซาน ซูจี พร้อมกับ ส.ส.พรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก

งดงาม น่าตื่นตา ตื่นใจ

งดงามจากกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” อันสะท้อน “อาณัติ” อันยิ่งใหญ่แห่ง “เจตจำนงร่วม” ของชาวเมียนมา

ยืนยัน “อำนาจอธิปไตย” เป็นของ “ปวงชน” อย่างเป็นจริง

Advertisement

น่าตื่นตา ตื่นใจ เพราะมีบางกลุ่ม บางส่วนคาดหมายว่าจะไม่ปรากฏลักษณะแห่งการปรองดองสมานฉันท์

ตรงกันข้าม คือ ลักษณะแห่งการประนอม “ประโยชน์”

กลุ่มของทหารซึ่งครองอำนาจใน “อดีต” ให้การยอมรับต่อการแสดงออกของชาว

เมียนมา ขณะเดียวกัน พรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ก็นุ่มนวล อ่อนหวาน

นั่นก็คือ ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า

ผลก็คือ คนจากพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

การจัดตั้ง “รัฐบาล” ยังไม่เกิดขึ้น แต่คงไม่นานเกินรอ

บทเรียนอย่างสำคัญจากพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยในเมียนมาที่ก่อให้เกิดการตื่นตะลึงเป็นอย่างสูงแก่ประชาคมโลก

เป็น “บทเรียน” จากการเลือกของ “ประชาชน”

ถามว่ารัฐธรรมนูญของเมียนมาอันประกอบสร้างขึ้นจาก “ปัญญาประดิษฐ์” ของรัฐบาลทหารซึ่งครองอำนาจอย่างยาวนานต้องการอะไร

1 ต้องการดำรงอยู่และครอง “อำนาจ” ต่อไป

ขณะเดียวกัน 1 ก็กีดกัน กลั่นแกล้ง

ออง ซาน ซูจี และพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) อย่างเต็มพิกัด

ถามต่อว่าแล้วทำได้หรือไม่

คำตอบเห็นได้ชัดยิ่งจากผลของการเลือกตั้งโดย “ประชาชน” มีความพยายามแต่มิอาจฝืนและต้านกระแสของความต้องการของ “ประชาชน” ได้

ประชาชนต้องการ “ตะโกน” ขึ้นพร้อมๆ กัน

นั่นก็คือ ต้องการบอกให้ “ทหาร” รู้ว่า พอแล้วระบอบอันสืบทอดมาจากนายพล

เนวิน ขอให้ยุติหรือระงับยับยั้ง ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตยของประชาคมในทางสากล

ขณะเดียวกัน ก็ต้องการมือของ ออง ซาน ซูจี มา “ประนอม” ประโยชน์

ต้องยอมรับว่า มิใช่อยู่ๆ ปวงชนแห่ง

เมียนมาอันเป็นเจ้าของ “อำนาจ” จะเปล่งเสียงออกมาอย่างเป็นเอกภาพและพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

“ผล” ย่อมมีมาแต่ “เหตุ”

การอยู่ใต้อำนาจแห่ง “ทหาร” มาอย่างยาวนานบ่มเพาะและสร้างจุดร่วมในทางความคิดอันนำไปสู่สภาพที่เรียกว่า

“สมารมณ์” อันงดงาม

กระบวนการกีดกัน กลั่นแกล้ง นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้เหตุผล ไม่มีความเป็นธรรม สะสมให้นำไปสู่การปฏิเสธ

เป็นการปฏิเสธอย่าง “อารยะ”

ความเห็น “ร่วม” ในลักษณะ “สมารมณ์” จึงไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีลักษณะ “ปฏิวัติ” ในสังคมแห่งเมียนมาเท่านั้น

หากแต่ยังส่ง “แรงสะเทือน” ไปทั่วโลก

ยืนยันกฎอันเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ว่า ที่ใดมีแรงกด ที่นั้นย่อมมีแรงต้าน ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งที่เหมาะสมและเป็นคุณ

เป็นคุณต่อ “ประชาชน” เป็นคุณต่อ “ประชาธิปไตย”

ณ ที่ใดมี “แรงกด” ณ ที่นั้นย่อมมี “แรงต้าน” นี่เป็นหลักสากลในทางกายภาพ

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คนเรายังโง่ ตำราเรียนเก่าระบุ ถามว่าปัจจุบันคนเราเป็นอย่างไร ยังโง่อยู่หรือไม่

คนจำนวนหนึ่งยังคิดว่า คนเรายัง “โง่” และจำเป็นต้องมีคนมาชี้นิ้ว บอกให้ทำอย่างนั้น บอกให้เชื่ออย่างนี้ หากไม่คิดว่าคนอื่น “โง่” คนจำนวนหนึ่งคงไม่ทำอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ชาวเมียนมาได้ “ตื่นรู้” อย่างเด่นชัดแล้ว สัมผัสได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image