สุรชาติ บำรุงสุข : ร้อยเอก vs พลเอก!

หลังจากปรากฎการณ์ของความขัดแย้งในรัฐบาลที่นำไปสู่การปลด “สองรัฐมนตรี” ออกจากตำแหน่งแล้ว ยังเห็นได้ชัดถึงความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคหลักของรัฐบาล อาการของความขัดแย้งเช่นนี้เป็นสัญญาณทางการเมืองในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ถึง ปัญหาเสถียรภาพของตัวรัฐบาลในอนาคต และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเปราะบางของอำนาจและสถานะของผู้นำทหารที่มีบทบาทมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 อีกด้วย

ในทางการเมืองตอบได้ดีว่า อาการเช่นนี้ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เคยเห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวคือ หลังจากความสำเร็จในการยึดอำนาจของผู้นำทหารแล้ว พวกเขาจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จัดตั้งพรรคของระบอบทหารเพื่อการสืบทอดอำนาจ แน่นอนว่า ในที่สุด ผู้นำทหารจะชนะเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ วังวนเช่นนี้เห็นมาแล้วในหลังการรัฐประหารทุกครั้ง จนกลายเป็น “วังวนแห่งอำนาจ” ของผู้นำทหารไทยตั้งแต่ยุคจอมพลแปลก จนถึงยุคพลเอกประยุทธ์ ซึ่งแบบแผนเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

แต่หลังจากความสำเร็จเช่นนี้แล้ว สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าในทางการเมืองล้วนเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเมื่อผู้นำรัฐประหารซึ่งต้องปรับเปลี่ยนตนเองเป็นผู้นำรัฐบาลในระบบเลือกตั้งนั้น สิ่งแรกที่พวกเขาจะต้องเผชิญคือ การควบคุม สส. ในสภา หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำทหารในเสื้อคลุมของ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” จะเผชิญกับปัญหาของคุมการเมืองในรัฐสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาเช่นนี้ไม่ง่ายเลยในทางปฎิบัติ เพราะทหารอาจจะคุม “สภาตรายาง” ที่พวกเขาแต่งตั้งมาจากการยึดอำนาจได้อย่างง่ายดาย เพราะรัฐบาลทหารให้ผลตอบแทนโดยตรงแก่สมาชิกในสภาเช่นนี้ จนเห็นได้ชัดว่าสมาชิกใน “สภาตรายาง” ทำหน้าอย่างดีในการเป็นผู้แทนและผู้ปกป้องผลประโยชน์ของคณะรัฐประหาร ฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่สังคมจะคาดหวังให้ “สภาตรายาง” ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชน ดังจะเห็นได้ในหลายกรณีว่า บรรดาสมาชิกสภาตรายางจึงไม่ได้แตกต่างจาก “พลทหารใหม่” เพื่อให้ “ท่านนายพล” สั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ตามต้องการเสมอ และหากจะมีสมาชิกสภาตรายางเหล่านี้ออกมาชี้แจงว่า พวกเขาทำหน้าที่อย่าง “อิสระ” ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารแล้ว ก็เป็นเพียงเรื่องตลกทางการเมืองที่หาสาระไม่ได้

Advertisement

แต่เมื่อผู้นำทหารต้องใช้ชีวิตในสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ที่แม้จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่พวกเขาร่างขึ้นเองจากการรัฐประหาร จะพบชัดเจนว่า การควบคุมเช่นนี้จะเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตในทางการเมืองได้ว่า ไม่เคยมีนักรัฐประหารคนใดสามารถคุมสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้เลย ดังนั้น ความสำเร็จในการทำรัฐประหารจึงไม่ใช่หลักประกันเลยว่า ผู้นำทหารจะคุมสมาชิกพรรค หรือคุม สส. หรือคุมการเมืองในสภาได้ ซึ่งปัญหาการควบคุมในสามระดับเช่นนี้เป็นบททดสอบขีดความสามารถทางการเมืองของผู้นำทหารอย่างมาก เพราะการควบคุมเช่นนี้ไม่ใช่ “การจัดแถวทหารใหม่”

อีกนัยหนึ่งพรรคการเมืองไม่ใช่ “กองร้อยทหารใหม่” ที่ผู้นำทหารหลังเลือกตั้งจะสั่งการได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งกำลังพลในพรรครัฐบาลก็ไม่ใช่ “ทหารเกณฑ์” ที่บรรดานายพลที่มีอำนาจในพรรคจะสั่งการ และพวกเขาจะยอมทำตามทุกเรื่อง หรืออาจกล่าวได้ว่า ชั้นยศในทางทหารอาจมีนัยสำคัญในยามที่พวกเขามีอำนาจในวันยึดอำนาจ แต่ในวันที่ต้องอยู่ในพรรคการเมืองแล้ว “ร้อยเอก” กับ “นายพล” ก็สามารถต่อกรกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอา “พระมหาพิชัยมงกุฏ” และ “ช่อชัยพฤกษ์” ที่ล้อมรอบดาวเป็นเครื่องมือตัดสิน เพราะการตัดสินในพรรคการเมืองไทยใช้ฐานเสียง ที่เรียกกันว่า “มุ้ง” หรือจำนวน สส. ในสังกัดของกลุ่มเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสถานะของอำนาจ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การคงความเข้มแข็งของแต่ละมุ้งต้องอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สภาวะเช่นนี้ทำให้ “ร้อยเอกมุ้งใหญ่” ย่อมใหญ่กว่า “พลเอกมุ้งเล็ก” หรืออีกนัยหนึ่ง ต่อให้มี “ยศใหญ่แต่ไร้บารมี” อย่างรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงบางคน ย่อมไม่เป็นที่กริ่งเกรงสำหรับสมาชิกพรรค และยิ่งมีฐานะเป็น “นายพลผู้โดดเดี่ยว” ที่ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงการมี “บารมี” ในพรรค หรือเป็นนายพลที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของ สส. ในพรรคแล้ว ย่อมตอบได้ดีว่า อนาคตของชีวิตทางการเมืองของนายพลท่านนั้น ไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน เพราะคำตอบที่ชัดเจนของความอยู่รอดในทางการเมืองคือ บรรดานายพลที่ยศใหญ่ทั้งหลายที่มีตำแหน่งในรัฐบาลนั้น อยู่ได้ด้วย “อำนาจมือ” ของ สส. ในสภา ไม่ใช่อยู่ด้วย “อำนาจปืน” เช่นที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหาร

Advertisement

ฉะนั้น จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด ถ้าในเวทีการเมืองจะมี “อดีตร้อยเอก” กล้าต่อกรกับ “อดีตพลเอก” เพราะชั้นยศไม่ใช่ข้อจำกัดของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นทางการเมืองแต่อย่างใด หากเครื่องหมายยศจะมีความหมายอยู่บ้าง ก็คงเอาไว้ “แต่งตัวถ่ายรูป” สำหรับลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะชั้นยศแทบไม่มีนัยถึงขีดความสามารถและประสิทธิภาพของนายพลในการบริหารรัฐสมัยใหม่แต่อย่างใด และหลายครั้งที่พบว่า แทบไม่มีนายพลคนไหนประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำรัฐบาลไทย (อาจจะยกเว้นกรณีของพลเอกเปรมได้บ้าง)

อย่างไรก็ตาม การแสดง “พลังมือ” ในการลงมติไม่ไว้วางใจล่าสุด สะท้อนให้เห็นชัดว่า ต่อให้มีอดีตเป็นพลเอก… ต่อให้อดีตเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ… ต่อให้อดีตเป็นผู้นำรัฐประหาร ก็ไม่ใช่หลักประกันว่า เขาจะต้องได้เสียงสนับสนุนมากมาย เพราะสภาที่มาจากการเลือกตั้งย่อมไม่ใช่ “สภาทหารใหม่” ที่จะต้องยกมือตามคำสั่ง

ในทำนองเดียวกันในวันที่ต้องอยู่ในรัฐสภานั้น ชั้นยศบนบ่าของบรรดาผู้นำทหารก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นอำนาจในการชี้ความถูก-ผิดทางการเมืองได้ ดังจะเห็นหลายครั้งว่า การอภิปรายของนักการเมืองฝ่ายค้านผู้อ่อนอาวุโสอาจนำความ “หงุดหงิด” เกิดแก่บรรดานายทหารระดับสูงผู้อาวุโสในรัฐสภา เพราะหากอยู่ในกองทัพแล้ว ด้วยชั้นยศระดับพลเอกที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้น จะไม่มีใครกล้าโต้เถียงอย่างแน่นอน แต่ในเวทีอภิปราย นายพลบางคนอาจถูกจับเสมือน “ขึงพืดประจาน” กลางสภาด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา

ปรากฎการณ์ “ร้อยเอก ปะทะ พลเอก” ครั้งนี้ อาจเปรียบเสมือนแผ่นดินไหวทางการเมือง จนหลายฝ่ายกังวลว่า “อ๊าฟเตอร์ช็อก” จะเป็น “อ๊าฟเตอร์ยุด” หรือ “อ๊าฟเตอร์วิด” ได้ไม่ยาก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image