การรับน้องใหม่ที่จุฬาฯ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

กรณีนักศึกษาน้องใหม่คณะพาณิชยนาวี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานรับน้องใหม่แล้วเกิดกรณีรุ่นพี่ให้น้องใหม่ลงสระน้ำ แล้วเกิดจมน้ำตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะอะไร เช่น ว่ายน้ำไม่แข็งหรือเกิดอาการเหนื่อย เพราะถูกรับน้องในรูปแบบกิจกรรมอื่นๆ มาก่อน หรือเป็นตะคริวทำให้จมน้ำก่อนขึ้นฝั่ง ต้องนำส่งโรงพยาบาล เคราะห์ดีที่ไม่เป็นไร ฟื้นเป็นปกติและบัดนี้สามารถไปเรียนหนังสือได้

เมื่อตอนเกิดเรื่อง สื่อมวลชนไม่ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ต่างก็โหมลงข่าวเกินความจริงกันยกใหญ่ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เพราะความประมาทเลินเล่อของทั้งครูบาอาจารย์ ทั้งของรุ่นพี่และของน้องใหม่เอง ไม่มีผู้ใดต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนี้

สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งย่อมมีประเพณีของการมาอยู่ร่วมสถาบันเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าที่ประเทศใด ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกคณะมีประเพณีรับน้องใหม่ทั้งที่คณะและรับน้องใหม่รวมทั้งมหาวิทยาลัย เป็นประเพณีสำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งๆ ที่อธิการบดีก็ดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตก็ดี คณบดีก็ดี รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตก็ดี ทุกยุคทุกสมัยไม่ค่อยอยากจะให้มีประเพณีอันนี้ เมื่อห้ามไม่ให้จัดในมหาวิทยาลัยเขาก็ไปจัดกันข้างนอก

Advertisement

เคยเป็นน้องใหม่รัฐศาสตร์สิงห์ดำ เมื่อปี 2504 ซึ่งขณะนั้นที่คณะรัฐศาสตร์มีประเพณีที่น้องใหม่ หรือผู้ที่มาใหม่จะต้องปฏิบัติ นอกเหนือจากการมาร่วมงานรับน้องใหม่ทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัยแล้วก็มีอีกหลายเรื่องหลายอย่าง

คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ น้องใหม่ชายหญิงจะแต่งกายไม่เหมือนรุ่นพี่ กล่าวคือผู้ชายต้องสวมเสื้อสีขาวแขนยาวไม่พับแขน สมัยนั้นยังไม่มีเนกไท เนกไทมามีเอาปี 2506 หลังจากที่เราเข้าเป็นน้องใหม่เมื่อปี 2504 รองเท้าหนังสีดำ ถุงเท้าสีดำ ผู้หญิงสวมกระโปรงกรมท่า จีบรอบตัว ยาวคลุมหัวเข่า ถุงเท้าขาว รองเท้าส้นเตี้ย เมื่อขึ้นปีสองพ้นจากการเป็นเฟรชชี่แล้ว อยากจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผู้หญิงจะใส่รองเท้าส้นสูงก็ได้ แต่เชิ้ตยังสีขาว กระโปรงก็ได้ สเกิร์ตก็ได้ แต่ต้องสีกรมท่าหรือสีดำ เข็มขัดหนังกลับสีน้ำตาล เข็มขัดหัวพระเกี้ยว กลัดเข็มกลัดพระเกี้ยว อันเป็นตราของมหาวิทยาลัย

การมีรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประเพณีของชาวจุฬาฯ แม้แต่เพลงประจำมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” ก็ขึ้นต้นด้วยคำว่า “น้ำใจน้องพี่สีชมพู” ไม่ใช่ “น้ำใจเพื่อนเพื่อนสีชมพู” ดังนั้นสังคมจุฬาฯจึงมีรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่เหมือนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานที่นั่นเขาเรียกงาน “ต้อนรับเพื่อนใหม่”

Advertisement

น้องใหม่รัฐศาสตร์ยังถูกห้ามขึ้นลงบันไดหน้าตึกหนึ่ง เวลาเดินผ่านครูอาจารย์ต้องหยุดยืนคำนับแสดงความเคารพ ผู้หญิงต้องไหว้ ที่โรงอาหารมีโต๊ะซีเนียร์สำหรับนิสิตปีที่ 4 ห้ามนิสิตปีอื่นเข้าไปนั่ง

ทุกวันตอนเที่ยงต้องเข้าไปฟังประธานเชียร์อบรมและร่วมกันร้องเพลงเชียร์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้น้องใหม่ทุกคนกระทำด้วยความยินดี มีคนไม่ชอบบ้างก็เป็นจำนวนน้อย ไม่ใช่ส่วนน้อย เพราะถือว่าเป็นประเพณีของสังคมที่นี่ที่สนุกสนาน

ความรู้สึกของน้องใหม่เกือบทุกคนอยากเข้าร่วมงานรับน้องใหม่ทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดในวันเดียวกัน ตอนเช้าเป็นงานรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย น้องใหม่สวมพวงมาลัยด้วยกิ่งจามจุรี ติดริบบิ้นสีชมพู งานเดินลอดซุ้มรอบสนามกีฬาหน้าหอประชุม ตอนบ่ายสวมพวงมาลัยกิ่งจามจุรี ติดริบบิ้นสีคณะ ในกรณีคณะรัฐศาสตร์เป็นสีดำ เป็นสีวันเสาร์ วันประสูติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก

การรับน้องใหม่ที่คณะนั้นหนักหน่อย มีการเขียนหน้าเขียนตาน้องใหม่ มีการให้น้องใหม่ “บูม” ให้คลานลอดซุ้ม ให้ทำสิ่งที่ตลกๆ บ้าๆ บอๆ ซึ่งน้องใหม่หลายคนก็ไม่ชอบ แล้วตอนเย็นก็มีการกินเลี้ยงกันด้วยโต๊ะจีน จนดึกก็เป็นเสร็จพิธี

ในระหว่างงานจากบ่ายโมงจนถึง 6 โมงเย็น พวกเราที่เป็นน้องใหม่ก็ถือเป็นเรื่องสนุกสนาน อาจารย์จรูญ สุภาพ อาจารย์ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ด้วยก็คอยมาดูแลสอดส่องมิให้มีการกระทำเกินเลย เช่น ห้ามแตะต้องตัวน้องใหม่ผู้หญิง ส่วนน้องใหม่ผู้ชาย พี่ๆ ผู้หญิงมักจะกลั่นแกล้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องใหม่ผู้ชายที่หน้าตาดีๆ

ระหว่างที่เกิดเรื่องอุบัติเหตุ สื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ วิทยุ และคอลัมนิสต์ ต่างก็โจมตีว่าเป็นประเพณีที่ไม่สมควรมี ควรจะเลิกได้แล้ว เพราะเป็นการสร้างค่านิยมกดขี่และยอมรับการกดขี่ การแบ่งชั้นวรรณะ บ่มเพาะอำนาจนิยม บ่มเพาะการเล่นพรรคเล่นพวก

ความจริงมิได้เป็นอย่างที่กล่าวหากันเลย การมีประเพณีต่างๆ ของการอยู่ร่วมกัน 4-5 ปี การมีกิจกรรมร่วมกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง เมื่อจบการศึกษาไปแล้วการเป็นพี่น้องร่วมสถาบันเดียวกันจะยังอยู่ แต่การเคารพปฏิบัติต่อกันนั้นเป็นไปตามสายการบังคับบัญชา นิสิตเก่ารัฐศาสตร์หลายคนมีผู้บังคับบัญชาเป็นรุ่นน้อง ยิ่งในการบริหารจัดการเมื่อออกไปรับราชการในต่างจังหวัดแล้ว การจะมาถือรุ่นพี่รุ่นน้องจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ หรือเกษตรฯหมดไป เพราะแต่ละคนมีภาระหน้าที่ที่มาจากกระทรวงทบวงกรมที่ต่างกัน ข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นการเข้าใจผิด จะมีน้ำใจต่อกันบ้าง ก็มักจะเป็นเรื่องผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะมาจากสถาบันใด

การบริหารราชการในกระทรวงทบวงกรม หรือการบริหารรัฐวิสาหกิจ และการบริหารบริษัทใหญ่ๆ นั้นไม่เหมือนการบริหารประเทศหรือองค์กรท้องถิ่น ที่มีฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง การบริหารในหน่วยงานจะเป็นประชาธิปไตยไปเสียทุกเรื่องไม่ได้ ต้องมีสายการบังคับบัญชา มิฉะนั้นการบริหารเพื่อความสำเร็จในการบริการประชาชนหรืองานที่ได้รับมอบหมายอาจจะไม่สำเร็จ เมื่อได้รับมอบหมายหรือที่ประชุมสรุปร่วมกันเป็นมติโดยประธานที่ประชุมแล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติ จะไม่ยอมปฏิบัติเพราะตนไม่เห็นด้วยไม่ได้ ถ้ามติหรือคำสั่งนั้นเป็นมติหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เว้นแต่ตนจะแสดงไว้เป็นหลักฐานว่าตนไม่เห็นด้วย มิฉะนั้นก็จะมีความผิดต่อวินัย

เมื่อพูดถึง “โซตัส” หรือ “SOTUS” ของนิสิตจุฬาฯ ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านานแล้ว SOTUS ได้แก่ อาวุโส ระเบียบ ประเพณี สามัคคี และน้ำใจ หรือ seniority order tradition unity และ spirit ก็เป็นของที่มีอยู่ในทุกสังคม ไม่ใช่เฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่จะอยู่ในรูปแบบใดก็คงเป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของสังคมนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ก่อตั้งโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ สมาชิกที่หนึ่งของคณะราษฎรที่เป็นนักประชาธิปไตย ท่านจึงให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิดสำหรับทุกคนที่เท่าเทียมกัน ไม่มีระบบโซตัส วันงานที่นักศึกษาใหม่มามหาวิทยาลัยก็เรียกว่า “วันรับเพื่อนใหม่” ไม่ใช่วันรับน้องใหม่ แต่เมื่อออกมาทำงานศิษย์เก่าทั้งสองสถาบันก็สามารถร่วมงานกันได้เป็นอย่างดี

ประเพณีนั้นเกิดขึ้นเอง ไม่ต้องมีใครตราขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดำรงอยู่จนกว่าสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไป ประเพณีก็เลิกไปหรือเปลี่ยนไปเอง คงจะไปบังคับไม่ได้

สมัยก่อนงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นงานใหญ่ น้องใหม่ทั้งสองมหาวิทยาลัยจะสนุกสนานมาก เช่ารถกระบะวิ่งไปทั่วกรุงเทพฯ เวลาผ่านกันก็สาดน้ำใส่กัน เมื่อขึ้นอัฒจันทร์น้องใหม่ก็จะอยู่ในส่วนที่แปรอักษร รู้สึกชื่นใจเมื่อได้ยินเสียงปรบมือจากผู้ดู เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะก็ตาม น้องใหม่จาก 2 สถาบันจะเดินถือคบไม้ไผ่ใส่น้ำมันก๊าดมีไส้จุดไฟ เดินกอดคอกัน ผลัดกันร้องเพลงเชียร์ ไปที่ธรรมศาสตร์ปีหนึ่ง ไปที่จุฬาฯปีหนึ่ง จากสนามศุภชลาศัยไปรับประทานอาหารร่วมกันที่สนามฟุตบอลซึ่งมีทั้ง 2 มหาวิทยาลัย แต่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป รถติดมาก การจราจรสมัยนี้ไม่อนุญาตให้ทำได้ ทั้งการขับรถตระเวนทั่วกรุงเทพฯตอนเช้า และเดินเป็นขบวนถือคบไฟไปตามถนน ประเพณีนี้ก็หมดไปเองโดยปริยาย

เมื่อไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา หรือเมื่อตอนไปเป็นอาจารย์รับเชิญ หรือ visiting professor ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ก็ได้เห็นประเพณีการปฏิบัติหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับน้องใหม่ของที่นั้นๆ เหมือนกัน เช่น ประเพณีบุกหอพักน้องใหม่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กองเชียร์กีฬาของน้องใหม่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตก็มีประเพณีในหมู่นักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องเหมือนกัน การเล่นพรรคเล่นพวกของนักเรียน MBA ของ Warton School การเล่นพรรคเล่นพวกของนักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โตได กับเกียวได หรือฮิโตสุมาชิ โอซากา แม้ทุกคนคิดว่าเป็นของไม่ดี แม้แต่นักศึกษาของเคมบริดจ์และออกซฟอร์ด ก็ต้องสวมครุยเมื่อเข้าโรงอาหาร ก็เป็นประเพณีของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ของอังกฤษ

ประเพณีเป็นเรื่องที่เลิกได้ยาก เป็นการสมยอมกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายรุ่นน้องสมยอมเพราะชอบก็ดี สมยอมเพราะไม่อยากแตกต่างจากคนอื่นก็มี สมยอมเพราะความกดดันของสังคมในรั้วมหาวิทยาลัยก็มี หลายคนต่อต้านประเพณีของสถาบันที่ตนเรียนเมื่อเป็นน้องใหม่ แต่พอเป็นรุ่นพี่กลับคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรงก็มี

ถึงแม้ประเพณีการรับน้องใหม่ก็ดี การตั้งกฎเกณฑ์โดยรุ่นพี่ก็ดี การมีรุ่นพี่รุ่นน้องก็ดี บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นการบ่มเพาะความไม่เป็นประชาธิปไตยก็ดี เป็นการบ่มเพาะให้ยอมรับความคิดในเรื่องอำนาจนิยมก็ดี แต่ก็มีหลายเรื่องที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าชั้น ลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าคณะโดยมีการเลือกกันเป็นทีม ก่อนคณะจะออกกฎระเบียบบังคับให้มี “นิสิตพิจารณ์” ในบางเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องการออกระเบียบวินัยเพื่อให้บรรลุถึงการได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างมีประสิทธิภาพก็คงจะต้องบังคับใช้ โดยดูประโยชน์ของนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ

การบังคับยกเลิกประเพณีการรับน้องใหม่คงทำได้ยากและไม่ควรทำ แต่ควรอนุญาตให้ทำในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย ภายใต้การควบคุมดูแลของครูอาจารย์ ไม่ควรให้ไปทำข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัย แต่ถ้าจะเลิกไม่มีประเพณีนี้แบบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คงต้องรอให้เลิกกันไปเอง เพราะประเพณีก็อาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาโดยตัวของมันเอง บังคับให้เลิกได้ยาก

การไปขัดขวางหรือสั่งเลิกโดยอาจารย์ก็เป็นการใช้อำนาจนิยมเหมือนกัน แล้วก็คงทำไม่สำเร็จ การไปทำแบบแอบๆ ซ่อนๆ อันตรายยิ่งกว่า

ขอขัดคอสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงสักวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image