ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข : โยกย้ายทหาร!

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง โยกย้ายทหาร! วิเคราะห์กรณีข่าวแต่งตั้งโยกย้ายของกองทัพ มีรายละเอียดดังนี้

ข่าวบัญชีรายชื่อการโยกย้ายนายทหารของกองทัพไทยประจำปี 2564 ปรากฎเป็นข่าวในสื่อต่างๆ และดูจะเป็นหัวข้อข่าวที่สังคมมีปฏิกิริยาคู่ขนานไปด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 แล้ว ข่าวสารที่เกี่ยวกับเรื่องของกองทัพได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก อาจจะเพราะส่วนหนึ่งบทบาทการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนในสังคมจับตามอง

ข่าวโยกย้ายทหารในยามที่การเมืองไม่อยู่ในภาวะปกติ ย่อมเป็น “หัวข่าวใหญ่” ของสื่ออย่างแน่นอน หรือกล่าวด้วยสำนวนของสื่อสิ่งพิมพ์ ก็คงต้องบอกเรื่องโยกย้ายทหารเป็น “ข่าวใหญ่หน้า 1” ในสถานการณ์การเมืองเช่นปัจจุบัน จนบางที เราอาจต้องยอมรับว่าข่าวนี้ กลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของการเมืองไทย เพราะหากประเทศเป็นประชาธิปไตย อย่างเช่นที่เห็นในประเทศที่ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งแล้ว เราอาจจะไม่ควรต้องมี “หัวข่าว” เรื่องนี้แต่อย่างใด

ผมจำได้ว่า ตอนเรียนปริญญาโทอยู่ในสหรัฐอเมริกานั้น อาจารย์ที่เรียนด้วยท่านหนึ่ง มีความสนใจเรื่องเมืองไทย และห้องสมุดของมหาวิทยาลัยรับหนังสือพิมพ์จากประเทศไทย อาจารย์ท่านนั้นมาบ่นว่า โยกย้ายทหารทำไมเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อไทย ซึ่งว่าที่จริง คำตอบง่ายๆ จากภาวะเช่นนี้ก็คือ ทหารเป็นผู้มีอำนาจหลักในการเมืองไทย และเป็นสถาบันที่กำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ

Advertisement

เราอาจกล่าวได้ในอีกมุมหนึ่งว่า ข่าวใหญ่เรื่องโยกย้ายทหารบนหน้าสื่อ คือ ภาพสะท้อนถึงสภาวะของการเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการเมืองภายใต้ผู้นำทหาร ถ้าต้องติดตามการเมืองไทย จึงต้องติดตามเรื่องทหารว่า ใครเป็นใครในกองทัพ… ใครอยู่สายใครในกองทัพ… ใครมีอำนาจในกองทัพ เป็นต้น

หากเราสังเกตสื่อภาพ หรือสื่อกระดาษในประเทศประชาธิปไตยแล้ว เราจะไม่เคยเห็นบัญชีโยกย้ายทหารปรากฎในรายงายของสื่อดังกล่าวแต่อย่างใด ปรากฎการณ์เช่นนี้ก็คือ ภาพสะท้อนว่ากองทัพไม่ได้มีบทบาทในการเมืองของประเทศ และการเมืองของประเทศก็ไม่ต้องให้ความสนใจว่า ใครจะเป็นผู้การกรม… ใครจะเป็นผู้บัญชาการกองพล… ใครจะเป็นแม่ทัพภาค… ใครจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงกิจการภายในของกองทัพ และไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นหัวข้อข่าวสำคัญ อีกทั้งกองทัพก็เป็นเพียงส่วนราชการหนึ่งในระบบราชการของประเทศ

สื่อต่างประเทศจะให้ความสนใจอย่างมากกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ นโยบายในการพัฒนากองทัพ เป็นต้น และจะให้เกียรติอย่างมากกับสูญเสียชีวิตของทหารหาญที่ทำหน้าที่ในสนามรบ หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า สื่อในประเทศประชาธิปไตยให้ความยกย่องกับความเป็นทหารอาชีพ ในสังคมเช่นนี้ ผู้สื่อข่าวทหาร คือ นักวิเคราะห์ด้านการทหาร หรือนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ซึ่งนักวิชาการด้านการทหารหลายคนในสังคมตะวันตกจึงเติบโตมาจากพื้นฐานของการเป็นผู้สื่อข่าวทหาร ดังนั้น นักข่าวสายทหารในสังคมดังกล่าวจึงไม่ใช่ “ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกองทัพ” หรือเป็นพวกที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้แทนกองทัพ” ในสื่อ

Advertisement

แต่ในประเทศด้อยพัฒนาที่กองทัพมีบทบาทอย่างมากนั้น ข่าวทหารเป็นหัวข้อข่าวใหญ่เสมอ และข่าวโยกย้ายทหารเป็นข่าวเพื่อบอกสังคมให้รับรู้ว่า ใครจะเป็น “ผู้นำทหาร” ที่จะกลายเป็น “ผู้มีอำนาจทางการเมือง” ในอนาคต เพราะเขาอาจเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศ

อีกทั้ง ถ้าการขึ้นสู่ตำแหน่งของนายทหารเหล่านี้ไม่มีนัยทางการเมืองแล้ว ทำไมสื่อจะต้องรายงานข่าวนี้ และในทำนองเดียวกัน ทำไมเราต้องสนใจข่าวนี้ด้วย และถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยได้จริงแล้ว เราคงไม่มีความจำเป็นต้อง “วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง” กับใครจะมีตำแหน่งอะไรในกองทัพ… ใครมาจากสายใคร

สังคมที่ “ติดกับ” อยู่กับข่าวเช่นนี้ ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่า ภาพสะท้อนถึงความด้อยพัฒนาและความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมการเมืองของประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งเรื่องเหล่านี้ก็คือ ภาพสะท้อนถึง “ความบกพร่อง” ทางการเมืองที่กองทัพเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมือง

ถ้าหลายท่านจำได้ หลังเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 ที่กองทัพพ่ายแพ้ต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของผู้ประท้วงบนถนนที่กรุงเทพฯ แล้ว สื่อไทยเริ่มลดความสำคัญของข่าวทหารลง และข่าวโยกย้ายทหารอาจจะอยู่หน้า 1 แต่ไม่ใช่ “ข่าวใหญ่หน้า1” ซึ่งก็คือสัญญาณว่า สังคมการเมืองไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย และกองทัพก็ลดบทบาททางการเมืองลง ในขณะเดียวกัน ผู้นำทหารก็พยายามลดบทบาทของกองทัพบนหน้าสื่อลงด้วย

แต่ในที่สุดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของปี 2535 ก็ล้มพังพาบลงด้วยรัฐประหาร 2549 แล้วทหารก็กลับมาเป็นใหญ่ในการเมืองไทยได้อีก สภาวะของข่าวทหารเช่นในยุคหลังปี 2535 จึงกลายเป็นเพียงอดีต เพราะเมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ใครเลยจะไม่สนใจข่าวการโยกย้ายทหาร หรืออย่างน้อยข่าวทหารคือ การบ่งบอกของสายอำนาจที่สืบต่อกันมาในกองทัพ และบางทีก็เป็นคำตอบว่า ใครจะเป็นผู้นำรัฐประหารคนต่อไป อีกทั้งประเด็นเช่นนี้ทำให้ใครที่มี “ข้อมูลลึกลับ” ในกองทัพ กลายเป็นดัง “ศาสดาข่าว” แต่ในด้านกลับ ดูเหมือนเราจะสนใจน้อยมากกับนโยบายทางทหารของประเทศ

บางทีน่าคิดเล่นๆว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสื่อไทยไม่เสนอข่าวเรื่องโยกย้ายทหาร และปล่อยให้กองทัพเป็น “ตัวละครปกติ” ที่เราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเกินจำเป็น แต่ในความจริงที่เป็น “ตลกร้าย” ของการเมืองไทย ก็คือ เราต้องสนใจบัญชีโยกย้ายทหารเป็นเพราะ อธิบดีของกระทรวงกลาโหมมักจะเป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ (55)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image