ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุจาด เบื้องหลังและเบื้องหน้า โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

มีคนพูดถึงความไม่สมประกอบของร่างรัฐธรรมนูญมีชัยมามากแล้ว ความรู้ของผมไม่มากพอจะพูดถึงความไม่สมประกอบอื่นที่ยังไม่มีใครพูดถึงได้ แต่ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่ากลัว ไม่ใช่น่ากลัวว่าจะผ่าน เพราะไม่มีทางจะผ่านประชามติไปได้ ไม่ว่าผู้จัดทำประชามติจะบิดเบี้ยวหลักการการจัดทำประชามติอย่างไรก็ไม่มีทางผ่าน แต่น่ากลัวเพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนว่า ชนชั้นนำกำลังคิดอะไรอยู่

แม้ว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นนักกฎหมายที่ได้รับความเชื่อถือจากกลุ่มคนในสถาบันทางสังคมต่างๆ (กลุ่มที่อยู่ใน The Establishment) แต่ผมไม่เชื่อว่านายมีชัยและพรรคพวกใน กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นเองอย่างอิสระ เรื่องนี้ไม่ต้องสันนิษฐานอะไรเลย เพราะก่อนหน้าที่คณะกรรมการจะลงมือทำงาน คสช.ก็ส่งเป้าหมายของตนหลายข้อมาให้แก่คณะกรรมการ เป็นข่าวที่รู้ทั่วกันอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่มีทางปฏิเสธว่า คสช.ย่อมเป็นส่วนหนึ่ง (ที่สำคัญด้วย) เบื้องหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ถึงกระนั้น ผมก็ยังไม่คิดว่า คสช.คิดเองทั้งหมด สถาบันกองทัพอยู่ใกล้ชิดกับชนชั้นนำตลอดมาหลายทศวรรษ จนถือเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทย ย่อมรู้ความต้องการทางการเมืองของชนชั้นนำ จะรู้โดยถูกสั่งให้รู้ หรือผ่านการอบรมในสถาบันการศึกษาของตน หรือผ่านการร่วมงานกันมาก็ตาม ฉะนั้น คสช.จึงคิดจากจุดยืนของชนชั้นนำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชนชั้นนำนั้นประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม นับตั้งแต่ชนชั้นนำตามประเพณี เช่น พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่นับถือ ปัญญาชนในสายอนุรักษนิยม ทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว ชนชั้นสูงตามประเพณี ตุลาการ ผู้ชำนาญการในวิชาชีพต่างๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและวิสาหกิจเอกชน และนายทุน

Advertisement

ที่อาจจะถือได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของชนชั้นนำไทยก็คือ ความเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่นและค่อนข้างจะสืบตระกูล (จึงเหมาะที่จะเรียกว่าชนชั้น) คนเหล่านี้แต่งงานกันเอง ลงทุนธุรกิจร่วมกัน ลงขันในกิจกรรมประเภทต่างๆ ขันเดียวกัน ส่งลูกไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัยประเภทเดียวกัน ทำกิจกรรมทางสังคมและสันทนาการร่วมกัน ความเป็นกลุ่มก้อนอย่างเหนียวแน่นของกลุ่มชนชั้นนำไทยจึงเท่ากับปิดประตูมิให้คนนอกล่วงล้ำเข้าไปโดยปริยาย

(เราชอบนึกถึงตระกูลเคนเนดี, ฟอร์ด, บุช ฯลฯ ในการเมืองอเมริกัน แต่ชนชั้นนำในสังคมอเมริกันเปิดมากทีเดียว บิล เกตส์ หรือสตีฟ จ็อบส์ และซักเคอร์เบิร์กเป็นใคร มาจากไหน? ยิ่งกว่านั้น ในหมู่ปัญญาชนอเมริกันซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของสังคม ล้วนมีความคิดหลากหลายกระแส และขัดแย้งกันเอง)

ทั้งน่าแปลกใจและน่าตกใจที่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ยังมีคนกล้าร่างรัฐธรรมนูญแบบที่นายมีชัยร่างออกมาได้อีก

Advertisement

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหมุดหมายสำคัญอย่างไรหรือ? ท่ามกลางข้อบกพร่องนานัปการของรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้วางหลักการบางอย่างของระบอบประชาธิปไตย ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม และกลายเป็นมาตรในการชี้วัดรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ต่อมา

ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญไทยสนใจแต่จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่างๆ ที่มีอยู่จริงในสังคมอย่างไร ให้พอบริหารกันไปได้อย่างไม่ต้องตีกันตลอดเวลา รัฐธรรมนูญไทยไม่สนใจว่าอำนาจที่มีอยู่จริงนั้น ได้มาอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของระบอบปกครองใด มีรัฐธรรมนูญอยู่เพียงสามฉบับเท่านั้น ที่พยายามจะวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย หนึ่งคือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเติมคำว่าชั่วคราวต่อท้ายลงไปก่อนจะลงพระปรมาภิไธย สองคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 และสามคือรัฐธรรมนูญ 2540

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกถูกยกเลิก ก็ไม่มีใครจดจำหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ ไม่เคยถูกใช้เป็นมาตรวัดความก้าวหน้าทางการเมืองของประเทศอีกเลย ผิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะถูกยกเลิกไป 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีชีวิตของมันเองสืบมาในใจคนไทยอีกมากจนถึงทุกวันนี้

อย่างน้อย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ยังสำนึกได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 อาจถูกยกเลิกในฐานะกฎหมายสูงสุดด้วยอำนาจรัฐประหาร แต่ไม่อาจยกเลิกในฐานะเกณฑ์มาตรฐานจากใจคนไทยได้ จึงพยายามเก็บรูปโฉมของรัฐธรรมนูญ 2540 เอาไว้ เท่าที่จะไม่บั่นรอนหลักประกันอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายของชนชั้นนำ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2549 แต่ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยเปิดเผยโจ่งแจ้งถึงขั้นอุจาด ที่จะบอกว่าอำนาจอธิปไตยทั้งสามเป็นของอภิชน ส่วนสามัญชนสามารถบอกความต้องการของตนให้ทราบได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น อภิชนจะตอบสนองหรือไม่ และอย่างไร ย่อมอยู่ในวิจารณญาณของอภิชน

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่อุจาดเท่านี้ หากร่างขึ้นก่อน 14 ตุลา แต่มาถึง 2559 ร่างนี้กลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุจาดอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะไม่ยอมรับว่าการเมืองไทยหลัง 14 ตุลา จนถึงทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญที่สุดอาจสรุปให้เหลือเพียงเรื่องเดียวได้ว่า การเมืองไทยได้ขยับไปสู่การเมืองมวลชนแล้ว จากที่เคยเป็นการเมืองของชนชั้นนำเพียงกลุ่มเดียวมานาน

ในระดับท้องถิ่น เราได้เห็นการขยับขยายเข้าสู่การเมืองมวลชนมาสัก 2 ทศวรรษก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เสียงเรียกร้องให้ปลดปล่อยการปกครองท้องถิ่นออกจากการควบคุมของมหาดไทยมีมาอย่างหนาแน่น จนในที่สุดรัฐสภาซึ่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ล้วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้นนำระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ต้องยอมผ่านกฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้นตามลำดับ การเมืองในท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนจากระบบเจ้าพ่อ มาเป็นการเมืองที่เจ้าพ่อต้องยับยั้งการใช้อำนาจเถื่อนของตนเอง บ้างอาจเพิ่มความเข้มข้นในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ บ้างอาจสร้างโครงการที่อาจตอบสนองผู้เลือกตั้งในท้องถิ่นได้กว้างขวางกว่า ก่อนการยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การเมืองท้องถิ่นของไทยได้ก้าวหน้าไปไกลโข แม้ว่าการซื้อเสียงและการทุจริตยังมีอยู่ก็ตาม

ที่สำคัญกว่านักการเมืองท้องถิ่น คือประชาชนท้องถิ่น ซึ่งรู้วิธีต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ผ่านการเลือกตั้งเป็นอย่างดี หลังจากได้ใช้สิทธินี้สืบเนื่องกันมากว่า 20 ปี (เกือบหนึ่งชั่วอายุคน) จะให้เขาถอยกลับไปเป็นผู้ใต้อุปถัมภ์ของชนชั้นนำได้อย่างไร

ในอีกระดับหนึ่งคือการเมืองระดับชุมชน ก็มีการเคลื่อนไหวในลักษณะการเมืองมวลชนในประเทศไทยมาเป็นทศวรรษ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เช่นกัน

ประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นในตะวันตกยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมาก็ยอมรับด้วยว่า นอกจากปัจเจกบุคคลแล้ว มนุษย์แต่ละคนยังมีความสัมพันธ์พิเศษกับ “หน่วย” (entity) อะไรบางอย่าง ซึ่งล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมไม่ต่างจากปัจเจกชน เช่นบางหน่วยก็ถือครองทรัพยากรบางอย่าง เช่น ป่าไม้, แหล่งน้ำ หรือทุ่งเลี้ยงสัตว์ บางหน่วยมีวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง ซึ่งต้องการการเคารพให้เกียรติ เช่นเดียวกับวัฒนธรรมและภาษาของปัจเจกบุคคล ฯลฯ “หน่วย” เช่นว่านี้อาจเป็นหมู่บ้านตำบลที่อยู่ในทำเลเดียวกัน และประกอบอาชีพเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน อาจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ อาจเป็นกลุ่มลัทธิความเชื่อ (ทางศาสนาหรือสังคมหรือการเมือง) ฯลฯ เรียกว่าชุมชน ในสังคมตะวันตกจึงได้ตรากฎหมายที่ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของชุมชนลักษณะต่างๆ เพิ่มขึ้นเสมอมา ซึ่งต่างจากการรับรองสิทธิเสรีภาพของปัจเจก และไม่เหมือนกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของการรวมกลุ่มของปัจเจกเป็นนิติบุคคล

ในประเทศไทย นับเป็นเวลาประมาณสองทศวรรษก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนใน “ชุมชน” ต่างๆ ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว เพื่อรักษาสิทธิของ “ชุมชน” ของตนจากการล่วงละเมิดของบริษัทเอกชนบ้าง ของรัฐบ้าง รวมทั้งปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของ “ชุมชน” ตนเองจากการล่วงละเมิดด้วยความไม่เข้าใจของสื่อ (เช่น นิทานเรื่อง “มิดะ” ของชาวอาข่า) ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะการเมืองมวลชนทั้งสิ้น ความแพร่หลายของการต่อรองทางการเมืองในลักษณะการเมืองมวลชนเพื่อปกป้อง “ชุมชน” แม้ประสบความสำเร็จบ้างแต่ไม่มากนัก ทำให้การเมืองมวลชนกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเสียยิ่งกว่าการเมืองระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องยอมรับสิทธิชุมชนในระดับหนึ่งเป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญไทย

การเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชุมชนซึ่งได้กลายเป็นการเมืองมวลชนไปแล้ว ทำให้การเมืองระดับชาติก็ต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นการเมืองมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในกลางทศวรรษ 2540 โดยหลายฝ่ายไม่ทันตั้งตัว ทำให้ชนชั้นนำสามารถเรียกหาพันธมิตรเข้ามาร่วมต่อต้านการเมืองมวลชนได้จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ จากคนชั้นกลางระดับสูงและกลาง ซึ่งได้ความคุ้มครองและผลตอบแทนจากการเมืองอุปถัมภ์ของชนชั้นนำมานาน

รัฐธรรมนูญฉบับอุจาดตั้งใจจะถอนรากถอนโคนการเมืองมวลชนในทั้งสามระดับ คือระดับท้องถิ่น, ชุมชน และระดับชาติ หลังจากเวลาผ่านไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 มา 20 ปี และหลังจากการเมืองมวลชนในระดับท้องถิ่นและชุมชนได้เริ่มมาแล้ว 40 ปี

เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 ผู้ร่างฉบับนั้นยอมรับว่า การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปสู่ลักษณะการเมืองมวลชนเหมือนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั่วไปแล้ว ถึงอย่างไรก็ถอยกลับไม่ได้ อยู่แต่ว่าจะจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับชาติอย่างไร จึงจะเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำได้ควบคุมผลของการเมืองมวลชน ในระดับที่วางใจได้ว่าจะไม่กระทบประโยชน์และสถานะของชนชั้นนำ แม้กระนั้น ชนชั้นนำก็ยังไม่พอใจ จึงร่วมมือกับพันธมิตรคนชั้นกลางของตนป่วนบ้านป่วนเมือง จนเป็นเงื่อนไขให้พันธมิตรเก่าของตนคือกองทัพสามารถเข้ามายึดอำนาจในที่สุด

แล้วก็ผลิตร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุจาดนี้ออกมา นับตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อยังเป็นเพียงร่าง ก็พร้อมจะใช้อำนาจกดขี่ เพื่อให้ร่างอุจาดนี้ได้รับการรับรองในการลงประชามติ จนสามารถใช้บังคับได้จริงในอนาคต ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้หากใช้บังคับจริงเมื่อไร ก็จะดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจเสมอไป และอย่างอุจาดไม่แพ้ตัวเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย เช่น กฎหมายลูก, คำสั่ง คสช., กฎหมายที่ออกโดย สนช. เช่น กฎหมายการชุมนุม กฎหมายและระเบียบที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมหลุดลอยจากสังคมไปอย่างสิ้นเชิง แต่ตกอยู่ใต้การบังคับบัญชาของชนชั้นนำอย่างเด็ดขาด ฯลฯ และจนถึงที่สุดอำนาจดิบ ทั้งที่ใช้ในทางลับ เช่น อุ้มหาย หรือลอบสังหาร และทั้งที่ใช้ในทางเปิดเผย เช่น ประกาศกฎอัยการศึก, สถานการณ์ฉุกเฉิน ฯลฯ และทำรัฐประหาร

ความอุจาดของร่างรัฐธรรมนูญทำให้รู้ว่า ชนชั้นนำ “สู้ตาย” เป็นไรเป็นกัน ไม่ยอมที่จะให้การเมืองไทยแปรเปลี่ยนไปเป็นการเมืองมวลชนอย่างเด็ดขาด ในขณะที่เราก็รู้ดีว่าความต้องการเช่นนี้เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ดังนั้น อนาคตของการเมืองไทยจึงดูน่ากลัวอย่างสยดสยองยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image