แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดี-เด่น-ดัง คนฝรั่งเศสและขุนนางต่างชาติ โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

ผู้เขียนเคยเป็นเด็กเรียนอนุบาลและประถม ณ เมืองละโว้ ทราบว่าจะมีงาน แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง 13-21 กุมภาพันธ์ 2559 ที่วังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี เลยนึกสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

ค้นไปค้นมา จึงไปพบผลงานจากหนังสือ ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา ของ ผศ.พลับพลึง มูลศิลป์ เมื่อ พ.ศ.2523 ที่น่าทึ่ง น่าปลื้มมาก เลยขอนำข้อมูลบางส่วนและค้นคว้าเพิ่มเติมมาตีแผ่ครับ

สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ.2199 ขณะมีพระชนม์เพียง 25 พรรษา

ชาวต่างชาติทุกสำนักบันทึกตำนานช่วงนี้ไว้ตรงกัน ชื่นชมอยุธยาในยุคสมเด็จพระนารายณ์ว่า รุ่งเรือง เจิดจรัส โดดเด่นเรื่องกิจการงานต่างประเทศ มีชาวต่างประเทศมากกว่า 10 ชาติเข้ามาติดต่อการค้าขาย เผยแผ่ศาสนา บ้านเมืองคึกคัก มีการเปลี่ยนแปลงแบบคาดไม่ถึง

Advertisement

นายนิโคลาส แชร์แวส ชาวฝรั่งเศส บรรยายในหนังสือเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้วว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ พระองค์ทรงมีรูปร่างสันทัด พระพักตร์ยาว พระฉวีสีคล้ำ ดวงพระเนตรแจ่มใสเป็นประกาย พระวรกายโดยรวมมีลักษณะท่าทีของผู้ยิ่งใหญ่ สง่างาม พระอัธยาศัยอ่อนโยน

เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ชาวตะวันตกดิ้นรน เสี่ยงชีวิตแล่นเรือข้ามทะเลมาสำรวจดินแดนแถบเอเชีย คือการมาแสวงหา เครื่องเทศ พริกไทย เพื่อต้องการนำกลับไปใช้เก็บถนอมอาหารยามหน้าหนาว นำไปปรุงรสอาหาร นำไปเป็นส่วนผสมของยารักษาโรค

สำหรับคนไทย เรื่องเหล่านี้อาจจะฟังดูไร้สาระ ไม่น่าเชื่อ แต่เป็นเรื่องจริงครับ

Advertisement

ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พ่อค้า-บาทหลวงชาวยุโรปเขียนบันทึกไว้ว่า สยามเป็นแหล่งที่เหมาะสมสำหรับติดต่อค้าขาย เป็นแหล่งทำการค้าที่ใหญ่โต มีข้าวปลาธัญญาหารอุดมสมบูรณ์พอที่จะส่งไปขายที่มะนิลา ญี่ปุ่น มาเก๊า โคชินไชนา และมีท่าเรือที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับท่าเรื่ออื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงทศพิธราชธรรมปกครอง ทั้งมีแม่น้ำที่ดีที่สุดในย่านอินดีส

สินค้าสำคัญที่อยุธยาค้าขายกับสังคมโลกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สินค้าออก พริกไทย ข้าว หมาก น้ำผึ้ง รังนก ลูกจันทน์เทศ กระวาน กานพลู น้ำตาล ฝาง กฤษณา กะลำพัก ไม้ซุง แก่นคูน น้ำมันสน ยางสน ยาง รง ฝ้าย คราม ครั่ง หนังสัตว์ ปลากระเบน งาช้าง ช้าง ชะมดเชียง กำยาน ดีบุก ตะกั่ว ดินประสิว ทองแดง เหล็ก ขันลงหิน ทอง พลอย ผ้าไทยลาย

สินค้าเข้า สินค้าที่มาจากจีนและญี่ปุ่น คือ ไหมดิบ แพรหนังไก่ แพรต่วน แพรดอก แพรหลิน ผ้าโปร่ง เครื่องถ้วยชาม เครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม เครื่องทองเหลือง เครื่องเหล็ก ปรอท ทองคำ ทองขาว ทองแดงแท่ง เงินเหรียญญี่ปุ่น

สินค้ามาจากเปอร์เซีย อินเดีย ชวา และมลายู คือ ผ้าฝ้าย ผ้าเยียรบับ การบูร น้ำหอม

สินค้าที่มาจากยุโรป เช่น ผ้าสักหลาด ผ้าขาว ผ้าลูกไม้ หมวก ถุงเท้า เครื่องแก้ว สุรา ปืนชนิดต่างๆ ดาบ กระบี่

ผู้เขียนขอเจาะกรณีของชนชาติฝรั่งเศสที่เข้ามามีบทบาทเด่นที่สุดในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ครับ

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ทรงมุ่งมั่นส่งราชทูต พ่อค้า วิศวกร ทหาร บาทหลวงมาอยุธยาหลายคณะ ครั้นเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้การต้อนรับอย่างดี จัดขบวนเรือรับราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบสุดอลังการ ทรงซักถามประเด็นของคริสต์ศาสนาโดยละเอียด เลยทำให้บาทหลวงฝรั่งเศสถวายรายงานกลับไปปารีสว่า สมเด็จพระนารายณ์สนพระทัยในคริสต์ศาสนายิ่งนัก บ้างก็รายงานเกินเลยไปว่า พระนารายณ์ทรงมีไม้กางเขนแขวนในห้องบรรทม ซึ่งเลยเถิดเลยทุ่งไปเยอะ

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ทรงรับรายงานจากบาทหลวง จึงทรงทุ่มเทหมดหน้าตักเพื่อสร้างไมตรี พร้อมส่งเครื่องราชบรรณาการสูงค่ามาถวาย เพื่อโน้มน้าวให้กษัตริย์แห่งกรุงสยามเปลี่ยนมานับถือคริสต์ให้จงได้

การดำเนินวิเทโศบายของสมเด็จพระนารายณ์ ที่จะตอบรับหรือปฏิเสธการเข้ารีตหันไปนับถือคริสต์เป็นเรื่องพะอืดพะอมยิ่ง เพราะยุคนั้นพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจทางทหารในยุโรป ฝรั่งเศสกำลังเน้นการเผยแผ่ศาสนาไปทั่วโลก

สมเด็จพระนารายณ์ฯมีที่ปรึกษาใกล้ชิดคนสำคัญและเป็นคนโปรดชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน

ในที่สุด พระนารายณ์ทรงมอบให้ฟอลคอนเขียนจดหมายถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่กรุงปารีส พระองค์ได้รับจดหมายเมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ.2228 มีเนื้อหาบางตอนที่นำมาถ่ายทอด ดังนี้ครับ

…..พระเจ้ากรุงสยาม นายของข้าพเจ้า ทรงยินดียิ่งนัก จนจะหาถ้อยคำที่จะแสดงความยินดีนั้นไม่ได้แล้ว แต่ทรงเสียพระทัยว่า การที่จะได้เป็นพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระองค์ก็จะต้องปฏิบัติตามพระราชดำริของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ดังที่ท่านได้กราบทูลในจดหมายบันทึก กล่าวคือ ต้องให้พระองค์เข้ารีตถือศาสนาคริสเตียนนั้นเป็นการยากนักยากหนา เพราะการที่จะเปลี่ยนศาสนาอันได้นับถือและเชื่อถือกันมาถึง 2,229 ปีมาแล้วนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง…ขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงดำริด้วยว่า ถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้า สร้างดิน และสร้างสิงสาราสัตว์อันมีรูปพรรณสัณฐานและนิสัยต่างกัน จะประสงค์ให้มนุษย์ทั้งหลายได้นับถือศาสนาอย่างเดียวกันทุกคน และให้มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในกฎหมายอันเดียวกันหมดแล้ว พระเจ้าคงทำให้เป็นเช่นนั้นได้ง่ายที่สุด แต่สิงสาราสัตว์ ต้นหมากรากไม้ และของทั้งปวง พระเจ้าก็ได้สร้างให้มีรูปพรรณและลักษณะต่างกันทั้งสิ้น…เพราะเหตุฉะนั้น พระเจ้ากรุงสยาม นายของข้าพเจ้า ทรงยอมให้พระเจ้าได้ตัดสินในเรื่องนี้ แล้วแต่พระเจ้าจะเห็นควรอย่างไร…ถึงแม้พระองค์จะไม่ทรงรับปฏิบัติตามพระราชดำริของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็จริงอยู่ แต่พระองค์ขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้เชื่อพระทัยว่า ถ้าพระเป็นเจ้าได้ให้พระเจ้ากรุงสยามมีพระชนมายุตราบใด พระราชไมตรีที่พระองค์ได้มีต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนั้น จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอยู่ตราบนั้น…..

ลงชื่อ ซี ฟอลคอน

 

นี่คือบางส่วนของจดหมายเมื่อ 331 ปีมาแล้ว ที่สมเด็จพระนารายณ์ให้คอนสแตนติน ฟอลคอน

ขุนนางสยามเขียนไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อปฏิเสธคำชักชวนให้พระองค์เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ถ้อยคำสำนวนเป็นนักการทูตมืออาชีพเกินบรรยายครับ

นายฟอลคอน เป็นใคร มาจากไหน ?

เดิมชื่อ คอนสแตนติน เยรากี (Constantine Hierachy) เกิดที่เกาะเซฟาโลเนีย ประเทศกรีซ พ่อเป็นชาวเวนีเซียน แม่เป็นคนในตระกูลผู้ดีเก่า ครอบครัวเป็นผู้มีอันจะกิน เมื่อการค้าขายเริ่มฝืดเคือง ฟอลคอนออกจากบ้านตอน 10 ขวบเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ ทำงานบนเรือสินค้าอังกฤษใช้ชื่อใหม่ว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulcon) สั่งสมประสบการณ์การเดินทางในทะเลราว 10 ปี เดินทางมาถึงอินเดียและเมืองบันตัม ฟอลคอนได้รับเงินรางวัลเป็นเงิน 1 พันเอกิว เนื่องจากความกล้าหาญที่ช่วยให้โกดังบริษัทอีสต์อินเดียรอดพ้นจากไฟไหม้ ด้วยเงินก้อนนี้ เขาเดินทางต่อเข้ามาสยามทันที และเข้าไปหานายยอร์ช ไวท์ ชาวต่างชาติที่รับราชการเป็นผู้นำร่องเรือในอยุธยา ฟ้าลิขิตให้ฟอลคอนไปพบกับออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) เกิดถูกชะตา รับเข้าทำงานในกรมพระคลังสินค้าทันที เนื่องจากฟอลคอนเชี่ยวชาญการค้าทางทะเลระดับโลกมาโชกโชน

ฟอลคอนสามารถใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส มลายู คุณสมบัติคับแก้วแบบนี้ ถือว่า ถูกที่ ถูกเวลา

เมื่อเข้ามาทำงานในอยุธยา ฝรั่งนายนี้หัดเรียนภาษาไทย พูดราชาศัพท์ได้อีกต่างหาก ทำงานคล่องแคล่ว รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมพ่อค้าแขกมัวร์ สยามอ่อนหัดเรื่องการค้ากับต่างประเทศ ฟอลคอนขยัน ทำงานจริงจัง รักษาผลประโยชน์ของสยามโดยเคร่งครัด ตรวจสอบบัญชีแบบเข้มงวด ผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือ การพาคณะราชทูตสยามไปเปอร์เซียเพื่อสถาปนาการค้าเป็นผลสำเร็จ และเดินทางกลับมาถึงสยามโดยปลอดภัย

ฝีมือจัดจ้านแบบไร้เทียมทาน ฟอลคอนได้รับมอบให้ตรวจสอบบัญชีการค้าที่กลุ่มแขกมัวร์ (เปอร์เซีย) ที่ทำการค้าผูกขาดกับราชสำนักอยู่ก่อนแล้ว ผ่านไปไม่นาน เมื่อฟอลคอนทำงานเต็มพิกัด ผลปรากฏว่า การค้าขายสินค้าของสยามลืมตาอ้าปากได้ อยุธยามีกำไรเป็นสองเท่า ฟอลคอนได้รับมอบหมายให้สอบสวนเรื่องการจัดซื้อเครื่องราชบรรณาการที่พวกแขกมัวร์เรียกเงินเพิ่มจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ ผลสุดท้าย ฟอลคอนพิสูจน์ได้ว่า พวกแขกมัวร์ต่างหากที่เป็นหนี้สมเด็จพระนารายณ์ฯถึง 6 หมื่นเอกิว

ฟอลคอนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงสุรสงคราม

ความดีความชอบของฟอลคอนแบบที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน ส่งผลให้เติบโตพรวดพราด สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระคลัง แทนออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) ที่เสียชีวิต แต่ฟอลคอนไม่ขอรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงความริษยาของขุนนางทั้งหลายที่เขม่นชาวต่างชาติ ในที่สุดฟอลคอนยอมรับบรรดาศักดิ์ ออกพระฤทธิกำแหงภักดี ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยออกญาพระเสด็จ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังคนใหม่ที่ไม่สันทัดงานการค้าเลยแม้แต่น้อย

สมเด็จพระนารายณ์ โปรดเกล้าฯให้ฟอลคอนตามเสด็จไปทุกที่เพื่อถวายคำแนะนำด้านกิจการบริหารบ้านเมือง การสร้างป้อมปราการ การรบทัพจับศึกทางเรือ

ประวัติศาสตร์บันทึกว่า ฟอลคอน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้รับโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนารายณ์ ให้ทำหน้าที่สมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือน ในราชทินนาม ออกญาวิชาเยนทร์

ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกิดกระแสต่อต้านชาวตะวันตกอย่างรุนแรงที่ถือว่า ชาวต่างชาติใช้อิทธิพลเกินเลยขอบเขต โดยเฉพาะกิจการด้านศาสนา ออกญาวิชาเยนทร์โดนคำสั่งของพระเพทราชาถึงโทษประหารชีวิตเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ.2231 และมีคำสั่งให้จับกุม และขับไล่ชาวต่างชาติออกจากแผ่นดินสยาม ไม่คบค้ากับชาวตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ยกเลิกการศึกษา การรักษาพยาบาล การศาสนา การก่อสร้างทั้งหมด

สยามกลับมาเปิดประตูพูดคุยคบหาชาวตะวันตกอีกครั้งในรัชสมัยในหลวง ร.3

กลับมาดูเรื่องบ้านเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสให้การสนับสนุนในทุกมิติ

ความเจริญด้านศิลปกรรมในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่อยุธยา ทรงได้รับทราบข้อมูลเรื่องความเจริญของฝรั่งเศสเป็นหลัก จากบรรดาบาทหลวงที่โปรดให้เข้าเฝ้าเสมอ พระองค์มีพระนิสัยสนพระทัยในวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ โปรดปรานผู้ที่มีความรู้ในด้านวิทยาการต่างๆ ทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามา รวมทั้งคณะทูตของสยามที่ส่งไปปารีส ล้วนเป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้พระองค์ตั้งพระทัยที่จะพัฒนาบ้านเมืองตามรูปแบบของฝรั่งเศส

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ ทรงดำริจะสร้างราชธานีสำรองที่เมืองลพบุรี บาทหลวงฝรั่งเศสชื่อโทมัส จึงนำแบบแปลนสิ่งก่อสร้างแบบต่างๆ จากยุโรปมาถวาย และรับอาสาเป็นแม่งานสร้างพระราชวังที่ลพบุรี เมื่อ พ.ศ.2208 เป็นผลให้พระที่นั่งในพระราชวัง ป้อม กำแพงเมือง และอาคารบริวารทั้งหลายออกมามีลักษณะผสมผสานระหว่างสยามกับยุโรป

เกิดระบบประปา ในยุคนั้น ฝรั่งเศสเรืองอำนาจ ร่ำรวย เป็นผู้นำในงานศิลปกรรม พระราชวังในฝรั่งเศสมีน้ำพุพุ่งขึ้นฟ้า สง่างาม เมืองละโว้นั้น แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลผ่านโดยตรง ต้องขุดคลองไปบรรจบ ดึงน้ำเข้ามา

สมเด็จพระนารายณ์ฯรับสั่งให้วิศวกรฝรั่งเศสสร้างที่กักน้ำไว้ เรียกว่า ห้วยซับเหล็ก เมื่อมีน้ำไหลมารวมพอเพียง ก็เปิดประตูให้น้ำมารวมในสระแก้ว ปล่อยน้ำไปตามท่อดินเผายาวราว 4 กิโลเมตร ไปที่ถังจุขนาดใหญ่ในพระราชวัง แจกจ่ายน้ำไปทั่วเขตพระราชฐาน มีคูน้ำรอบพระราชฐาน ใสสะอาด มีน้ำพุ 20 จุดพุ่งขึ้นฟ้าสวยงามตระการตา นับเป็นความมหัศจรรย์พันลึกสำหรับผู้คนชาวสยามยิ่งนัก ท่อประปาทำด้วยดินเผารอบพระราชฐานยังปรากฏร่องรอยให้เห็น

ด้านการทหาร ทูตฝรั่งเศสชื่อเดอโชมองต์ ขอถวายนายเดอ ลามาร์ (Mr.De Lamare) ซึ่งเป็นวิศวกรสร้างและบูรณะป้อมปืนที่บางกอก ที่ละโว้ พิษณุโลก มะริด และสงขลา โปรดเกล้าฯให้ นายฟอร์บังรับราชการในกองทัพสยาม และเป็นผู้ว่าราชการบางกอก สร้างป้อมแบบฝรั่งเศสเป็นรูปห้าเหลี่ยม ให้อำนาจนายฟอร์บังเรียกเกณฑ์ชายชาวสยาม 2 พันนายเพื่อเข้ารับการฝึก จัดหน่วยเป็นกรมกอง ฝึกทำการรบแบบฝรั่งเศส ออกพระวิสูตรสุนทร ราชทูตสยามที่ไปดูงานฝรั่งเศสมาแล้ว เป็นผู้สนับสนุนงานทั้งปวง

ด้านการศึกษา สมเด็จพระนารายณ์ทรงตั้งมั่นที่จะให้คนสยามเรียนหนังสือ ต้องการให้มีโรงเรียนให้ได้ คนสยามอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่เคยมีโรงเรียนมาก่อน พระราชทานที่ดินเพื่อให้บาทหลวงฝรั่งเศสสร้างโรงเรียนสามเณร บาทหลวงฝรั่งเศสแต่งไวยากรณ์และพจนานุกรมภาษาไทย และภาษาบาลี แปลหนังสือสวดมนต์เป็นภาษาไทย มีนักเรียนราว 700 คน กิจการโรงเรียนก้าวหน้า ตั้งวิทยาลัยที่ตำบลมหาพราหมณ์ เรียนวิชาปรัชญาและเทววิทยา ถึงขนาดนักเรียนสยามพูดภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศสโต้ตอบกับราชทูตฝรั่งเศสได้

สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานที่ดินตั้งโรงเรียนคาทอลิก ให้บาทหลวงฝรั่งเศสที่ภูเก็ต ลพบุรี บางกอก พิษณุโลก และจันทบุรี ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบเดียวกับโรงเรียนในฝรั่งเศสทีเดียว เด็กสยามใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ 2 ได้คล่อง มีการสอนวิชาสามัญ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และด้านการศาสนา เป็นปฐมบทด้านการศึกษาให้กับคนสยามแบบไม่ต้องลงทุนใดๆ

ช้างเผือกในสยามมีอยู่ทุกที่ เด็กสยามผู้เฉลียวฉลาดที่ชื่อ อันโตนิโอ ปินโต ที่พ่อเป็นชาวโปรตุเกส แม่เป็นชาวสยาม พูดภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส แสดงความสามารถโต้ตอบในวิชาเทววิทยากับทูตฝรั่งเศสได้อย่างฉาดฉาน ทูตฝรั่งเศสชอบใจยิ่งนัก จึงขอนายปินโตให้ลงเรือเดินทางไปกับคณะทูตฝรั่งเศส เมื่อไปถึง นายปินโตได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) มหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับ 2 ของโลก กลางกรุงปารีส จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 คุยกันถูกคอ ถูกใจยิ่งนัก ท่านเอ่ยชมว่า นายปินโตมีความรู้ยอดเยี่ยม ถึงกับแต่งตั้งให้นายปินโตจากสยามเป็นบาทหลวงในขณะที่มีอายุเพียง 22 ปี ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

น่าทึ่งนะครับว่า 300 กว่าปีมาแล้ว มีเด็กจากสยามเคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน เพราะพื้นฐานการศึกษาในสยามที่ฝรั่งเศสมาก่อตั้ง

นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ เมื่อ 300 กว่าปีมาแล้ว ที่อุบัติขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีค่าควรเรียนรู้ บอกต่อลูกหลานด้วยความปีติภาคภูมิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image