ทะลุแก๊สอีกเท่าไรกว่าจะถึงหูผู้มีอำนาจ

เพลงของ Bob Dylan เพลงหนึ่งยังติดตรึงอยู่ไม่หายในความทรงจำของผม เพลงนี้มีชื่อว่า Blowin’ in The Wind ซึ่งขอแปลว่า “มากับสายลม” เนื้อเพลงท่อนแรกพอจะแปลตรงตัวได้ดังนี้

“คนคนหนึ่งต้องเดินผ่านถนนสักกี่สาย

กว่าคุณจะเรียกเขาว่าเป็นคน?

ครับ และนกพิราบขาวตัวหนึ่งต้องท่องไปกี่ท้องทะเล

Advertisement

กว่าเธอจะลงนอนในท้องทราย

ครับ และกระสุนปืนใหญ่ต้องยิงไปสักกี่ลูก

กว่ามันจะถูกสั่งห้ามไปเสียที

Advertisement

คำตอบนั้นนะเพื่อน กำลังมากับสายลม

คำตอบมากับสายลม”

ผมตีความว่า “สายลม” คือกระแสแห่งความหวัง แต่กว่าจะสมหวังยังต้องผ่านความยากลำบากอีกมากนัก ผมจินตนาการถึง “เยาวรุ่นทะลุแก๊ส” ที่กำลังตะลุมบอนอยู่กับตำรวจควบคุมฝูงชนอยู่ที่สามเหลี่ยมดินแดง

ในขณะนี้ เยาวรุ่นเหล่านี้เป็นใคร ต้องการอะไร ส่วนตำรวจควบคุมฝูงชนเป็นใคร ต้องการอะไร

เริ่มจากตำรวจก่อน พวกเขาเป็นตำรวจในกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ชื่อย่อว่า อคฝ. หรือบางทีก็ย่อว่า คฝ. สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล พวกเขาย่อมต้องการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ผมอ่านข้อวิจารณ์การทำงานของ คฝ. ในเว็บ และขอยกตัวอย่างมาสักสองความเห็น เช่น “ขอให้ยึดมั่นในภารกิจ … อย่าเอาแต่เมามัน ไล่ยิง ทำร้ายผู้ชุมนุม ดังที่เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า” และ “มีความอดทนสูงจริง ๆ และเสียสละตนเองจริงๆ … นับถือครับ … สู้ ๆ ๆ” คฝ. ได้รับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้

ทว่าผมคงลำเอียง ผมได้เห็นภาพที่ไม่น่าจะได้เห็น เช่น ได้เห็นคลิปกรณีตำรวจขับรถชนผู้ชุมนุมคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส แล้วไม่หยุดลงมาช่วย พอมาฟังคำชี้แจงของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็ยิ่งสะเทือนใจขึ้นไปอีก ผบ.ชน.ชี้แจงว่า “กลุ่มบุคคล 6-7 คนวิ่งออกมาบนถนนและทุบรถ ขณะนั้นได้เบรกล้อห้ามรถ ก่อนจะชนเข้ากับวัยรุ่นชายคนหนึ่ง จากนั้นได้มองผ่านกระจกข้าง พบว่าชายคนนั้นสามารถลุกขึ้นวิ่งออกจากจุดเกิดเหตุไปได้ จึงขับรถออกจากที่เกิดเหตุไป เนื่องจากกลัวเกิดอันตราย พร้อมยืนยันว่าไม่มีการขับรถชนผู้ชุมนุม และพฤติการณ์ไม่เข้าข่ายชนแล้วหนี” ไม่ทราบว่า ผบ.ชน.ได้ดูคลิปหรือเปล่า เพราะที่อธิบายไม่ตรงกับภาพวีดิโอที่เห็น หรือว่า ผบ.ชน. ฟังแต่เพียงคำรายงานของผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วออกมาปกป้องเต็มที่ อย่างไรก็ดี ชายคนที่ถูกชนคงอยากให้ถูกเรียกว่าเป็นคน พิราบขาว ที่รายงานข่าวคงอยากไปพักในฟากฝั่งแห่งความจริง ส่วนกระสุนปืนยังดังสนั่นอยู่ต่อไป

ผมฟังหัวหน้า คฝ. คนหนึ่งอธิบายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยว่า ตำรวจ คฝ. ผ่านการอบรมและฝึกฝนอย่างดี โดยเฉพาะในการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก ยึดหลักการปะทะตามหลักสากล อดทนโดยไม่โกรธ จะไม่มีการเข้ารุมทำร้ายผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ล้มลงและไม่ต่อสู้ขัดขืน แต่จากรายงานข่าวที่เป็นภาพทางโทรทัศน์ก็ดี หรือคลิปก็ดี เช่น ภาพขบวนรถปิ๊กอัพบรรทุกตำรวจที่มีอาวุธครบมือออกไล่ยิงผู้ชุมนุม หรือเมื่อมีภาพตำรวจยิงกระสุนยางในระยะประชิด เราจะเห็นว่ามีหลายครั้งที่ คฝ.ไม่ได้ปฏิบัติตามคำกล่าวข้างต้น

ขอเล่าเรื่องเยาวรุ่นทะลุแก๊สบ้าง มีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ใช่เด็กแว้น ไม่ใช่คนที่คิดแต่จะถ่ายทำรายการติ๊กต๊อก เพียงแต่ออกมาขับไล่ประยุทธ์เพราะทนไม่ไหว ทนไม่ไหวที่ตำรวจยิงมั่วไปหมด ถ้าประยุทธ์อยากเจรจา เราจะไป อยากไปถามว่าทำไมเขาถึงไม่แสดงสปิริต เยาวรุ่นอีกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อก่อนแม่ขายของ กำไรวันละ 3-4 พันบาท เดี๋ยวนี้เหลือเพียง 400 บาท เดือดร้อนขนาดนี้ก็ต้องออกมา แล้วมาเจอตำรวจยิงมั่วซั่วหมด ความจริงใช้โล่ใช้กระบองก็ได้ อีกคนหนึ่งบอกว่าความปรารถนามีเพียงให้โควิดหายไป ให้หากินได้และให้ประยุทธ์ออกไป สรุปความได้ว่า เยาวรุ่นประท้วงขับไล่ประยุทธ์เพราะมีปัญหาปากท้อง พอมาเจอการกระทำของตำรวจเลยโกรธเคืองยิ่งขึ้นอีก

ขอบอกเล่าเสียงจากผู้ใหญ่ที่ได้ฟังมาบ้าง มีบางคนที่เกลียดเยาวชนพวกนี้มาก บางคนไม่ถึงกับเกลียดเพียงแต่ไม่ชอบความวุ่นวาย อยากให้เลิกเสียที บางคนคิดว่าเป็นพฤติกรรมวัยรุ่น เป็นการปล่อยพลังและความคึกคะนอง แต่น่ากังวลว่าการไม่มีแกนนำทำให้ความรุนแรงมีโอกาสที่จะขยายตัวออกไป การไม่มีแกนนำทำให้ขาดประเด็นการสื่อสาร บางคนเห็นใจแต่ไม่เห็นด้วยที่เยาวชนกลุ่มนี้จะมาเสี่ยง ดีไม่ดีจะพลอยเสียอนาคตไปด้วย บางคนมองอย่าง “เข้าใจ” ว่า เยาวชนที่มาประท้วง หลายคนมาจากพื้นที่แออัด ถูกเลือกปฏิบัติ มองไปไม่เห็นอนาคต เขาจึงต้องการแสดงให้เห็นว่าเขามีตัวตน อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ใช่ศัตรูของใคร เป็นเพียงเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบ

รายการโทรทัศน์ Voicetv ได้สัมภาษณ์ บุญเลิศ เลิศปรีชา นักมานุษยวิทยาที่ได้ฝ่าดงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา เข้าไปสัมผัสกับเยาวรุ่นดินแด

เพื่อพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ในเบื้องต้นบุญเลิศคิดว่าปรากฏการณ์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “การเมืองของความปั่นป่วน” เป็นการปะทะกันระหว่างเยาวชนที่เป็นชนชั้นล่างกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการ เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้เรียนอย่า
เดียว แต่เรียนด้วยทำงานด้วย ล้วนแต่เคยไปร่วมการชุมนุมของนักศึกษาในปีที่ผ่านมา หลายคนคิดว่าลำพังการออกไปเพิ่มจำนวนนับไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำแบบที่พวกเขาถนัดจะดีกว่า บุญเลิศคิดว่าพวกเขากำลังป่วน หรือ disrupt เป้าหมายร่วมของพวกเขาก็ไม่ซับซ้อน คือไม่เอารัฐบาลประยุทธ์ กลยุทธ์คือทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา

อันที่จริง รัฐบาลก็ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร เพราะไม่มีศูนย์กลาง มีแต่คนที่พร้อมกระทำการอย่างเป็นอิสระ การเคลื่อนไหวเป็นแบบหลวม ๆ ถึงแม้ว่าจะมีแกนนำ ถึงแม้จะได้คุยกับคนที่เชื่อว่าเป็นแกนนำ คนอื่น ๆ จะเชื่อฟังหรือ ดูจะเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะอนาธิปไตย (anarchist) ไร้อำนาจส่วนกลาง ไร้คำสั่ง อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่การจลาจล พวกเขาไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับชาวบ้านรอบข้าง ถ้าจะมีการทำลายทรัพย์สิน ก็มุ่งที่ทรัพย์สินของตำรวจเป็นสำคัญ ถ้าจะมีการยกระดับความปั่นป่วนต่อรัฐบาล การชุมนุมอาจมีการกระจายจุดกันไป แต่ควรหาพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ดี และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนมากเกินไป

ผมติดใจคำว่า “อนาธิปไตย” เพราะคำว่า “อธิปไตย” เป็นคำคำหนึ่งที่มีการแย่งชิงความหมาย เช่นเวลาใช้อำนาจเผด็จการก็อ้างว่าตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” เวลาไม่รับความเห็นของคนส่วนใหญ่ก็อ้าง “ธรรมาธิปไตย” เวลากล่าวขานถึงความไร้ระเบียบก็มีคำว่า “อนาธิปไตย” มารองรับ คำว่า anarchy มาจากภาษากรีก ประกอบด้วย “a” ซึ่งเป็นคำปฏิเสธ และ “archy” แปลว่าผู้ปกครอง anarchy จึงหมายถึงภาวะไร้ผู้ปกครอง แต่เมื่อมาเป็นปรัชญาการเมือง คำว่า anarchism น่าจะหมายถึงลัทธิอนาธิปไตย หรือความเชื่อทางการเมืองว่ารัฐหรือผู้ปกครองควรมีบทบาทน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี ทฤษฎีนี้ได้เสื่อมความนิยมโดยกลายเป็นเหมือนทฤษฎี “พระศรีอาริย์” ที่เป็นอุดมคติมากเกินไป ผมไม่แน่ใจว่าควรใช้คำว่านักอนาธิปไตยกับเยาวรุ่นดินแดง หรือจะใช้คำว่า “นักป่วน” ตามบุญเลิศจะดีกว่าไหม

งามศุกร์ รัตนเสถียรได้ส่งหนังสือที่น่าสนใจมาให้อ่านอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “กบฏชาวนา : มูลฐานจิตสำนึกในอินเดียยุคอาณานิคม” เขียนโดยรณชิต คูหา และปรีดี หงษ์สตันเป็นผู้แปล รณชิตบอกเล่าเหตุการณ์การกบฏของชาวนาชาวไร่อินเดีย ระหว่างปี ค.ศ.1783 ถึง 1900 ในช่วงเวลา 117 ปีนี้ มีการลุกฮือของชาวนาไม่น้อยกว่า 110 ครั้ง หรือเกือบทุกปีก็ว่าได้ ประวัติศาสตร์การกบฏไม่ได้บอกเล่าโดยชาวนาผู้ก่อกบฏ หากเขียนขึ้นจากบันทึก รายงาน การวิเคราะห์ของผู้ปกครอง ซึ่งสนใจและศึกษาการกบฏเหล่านี้และเขียนเป็นหลักฐานไว้โดยละเอียด เพราะพวกเขาอยากจะแก้ไขและป้องกันการกบฏ แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะการกบฏมีแรงจูงใจต่างๆ กันไป เปลี่ยนรูปแบบ-วิธีการและอาศัยความเชื่อและเหตุปัจจัยที่ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ มีการวิเคราะห์ว่าการกบฏเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ “ก่อน-การเมือง” (pre-political) ไม่เหมือนการเคลื่อนไหวหลังปี ค.ศ.1900 ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเกี่ยว แต่รณชิตไม่เห็นด้วย เขาคิดว่าการกบฏเป็นการเมืองที่เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน เขาประมวลการกบฏต่าง ๆ และอุปมาว่าเป็นเหมือนจุดในปริภูมิเวลา-สถานที่-วัฒนธรรม-การอาชีพ-ความเชื่อ ฯลฯ ทำให้พอเห็นภาพรวมว่า สิ่งที่เชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกันคือจิตสำนึกการต่อสู้ ระหว่างอำนาจที่กดขี่ฝ่ายหนึ่งกับผู้ถูกกดขี่อีกฝ่ายหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่ามีประเด็นที่น่าทึ่งประเด็นหนึ่งที่รณชิตชี้ชวนให้คิด ผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่เป็นเสมือนสองด้านของเหรียญ คืออิงอาศัยกัน เรื่องนี้ชวนให้คิดถึงหมาป่าและแกะป่าในทะเลทรายของจีน สัตว์ทั้งสองเคยสร้างการตื่นตัวซึ่งกันและกัน และต่างช่วยกันรักษาสมดุลแห่งนิเวศไว้ เมื่อหมาป่าหมดไปโดยการไล่ล่าของคน พื้นที่อันกว้างใหญ่ได้กลายเป็นทะเลทราย

ดูเหมือนว่าภาพที่เสนอนี้จะบอกให้ปล่อยวางและไม่เลือกข้าง แต่อันที่จริงชีวิตเต็มไปด้วยการเลือกข้าง และผมได้เลือกข้างของประชาธิปไตยที่ต้องคัดง้างกับอำนาจนิยมอีกยาวนาน เพียงแต่ขอความเห็นใจให้ต่อสู้โดยลดความโหดร้ายทารุณให้เหลือน้อยลงๆ มนุษยชาติได้เคลื่อนตัวผ่านกบฏมามากมายแล้ว กบฏที่ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงและการนองเลือดมาตลอด แต่ก็ไม่อาจปราบ “มูลฐานจิตสำนึก” กบฏให้หมดไปได้ และเรายังต้องหาคำตอบที่มากับสายลมอยู่ต่อไป

โคทม อารียา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image