สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่เอา “เนื้อหา” บ้าคลั่ง “รูปแบบ”

อำนาจนิยมในสังคมไทยมีทุกหนทุกแห่ง แสดงออกด้วยอาการต่างๆ กัน พยานสำคัญคืออาการโหยหาชื่นชอบ ม.44

คำสอนที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” ก็เพื่อเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ ปกป้องคุ้มครองตนด้วยอำนาจของพระยา

การศึกษาไทยเน้นอำนาจนิยมมาแต่ดั้งเดิม ดูจากคำสอนเก่าที่ว่าเรียนไป “เป็นเจ้าคนนายคน” และ “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ” ซึ่งมุ่งเข้าสู่อำนาจโดยตรง (ลายมือ หมายถึงเรียนรู้อักษรหนังสือ, ยศ หมายถึงมีอำนาจเป็นเจ้าคนนายคน)

อำนาจนิยมเป็นอุดมคติการศึกษาไทย ทำให้เน้น “รูปแบบ” มากกว่า “เนื้อหา” เน้นเสื้อผ้าหน้าผมบนหัว มากกว่าความคิดสร้างสรรค์สติปัญญาในสมอง

Advertisement

ธรรมศาสตร์เลิกบังคับนักศึกษาแต่งเครื่องแบบไปเรียนมากกว่า 40 ปีมาแล้ว เหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลก แต่สังคมไทยเห็นมหาวิทยาลัยอื่นบังคับนักศึกษาแต่งเครื่องแบบด้วยอุดมคติอำนาจนิยม ก็ตำหนิธรรมศาสตร์ไม่เรียบร้อย ช่างน่าเวทนา (ขอเชิญอ่านความเห็นเพิ่มอีกในบทนำมติชน ฉบับวันอังคารที่ 20 กันยายน 2559 หน้า 2)

แต่งชุดเหมา แต่ทำท่าฮิตเลอร์ ต้องการ “แหกคอก นอกครู” แสดงเนื้อหาเผด็จการบ้าระห่ำอำนาจนิยม

แต่สังคมเน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหา พากันตำหนิว่าไม่เข้ากัน เพราะชุดเหมาเซตุงจะแสดงแต่ท่าฮิตเลอร์ได้ยังไง?

เน้น “รูปแบบ” มากกว่า “เนื้อหา” ยังเห็นได้จากสังคมที่เน้นขั้นตอนทำพิธีการสำคัญกว่าความหมายของพิธีกรรม เช่น ลอยกระทง อธิบายรายละเอียดเรื่องการทำกระทง กับขั้นตอนเอาสิ่งของใส่กระทงก่อนจะเอาไปลอยน้ำ โดยไม่สนใจความหมายดั้งเดิมของพิธีกรรมเพื่อขอขมาผีน้ำผีดินคือธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้ เลยหลงใหลยกย่องสิ่งปลอมๆ มากกว่าการแสวงหาความจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image