พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : จากโควิดสู่โควิดเดลต้า

ผมคิดว่าเราไม่ควรจะมองประเด็นเรื่องโควิดเรื่องว่าปัจจุบันนี้มีการติดมากขึ้นหรือน้อยลงเท่านั้น เพราะในประเทศเราการตรวจยังไม่ครอบคลุม และในช่วงนี้ก็ว่ากันว่ามีการตรวจน้อยลง อย่างไรก็ดี อีกไม่นานก็อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้อีกเพราะการทยอยเข้ามาของชุดตรวจฯ (ซึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงของคุณภาพของชุดตรวจกันต่อไป)

ในอีกมุมหนึ่ง เดิมผมก็เป็นคนหนึ่งที่เสนอว่าเราควรจะพิจารณาระลอกของโควิดให้ดี ว่าตอนนี้ควรจะเรียกว่าระลอกสามหรือสี่ ซึ่งก็มีได้หลายความคิดว่าตอนแรกระลอกที่สามนี้เป็นระลอกจากสายพันธุ์อังกฤษ แล้วต่อมาระลอกที่สี่คือเดลต้าจากอินเดีย แต่บางท่านก็บอกว่าทั้งสองระลอกนี้รวมเป็นระลอกเดียวเพราะมันต่อเนื่องกันจนแยกออกได้ยาก

พอหลายเดือนเข้า ผมลองค้นเรื่องราวเหล่านี้ทั่วโลกผมพบว่า ตอนนี้การมองโควิดเป็นคลื่นอาจไม่ใช่ประเด็นหลักในแง่ของการนับคลื่น เพราะบางที่ก็มองว่าเป็นระลอกสอง ระลอกสาม ระลอกสี่ คงขึ้นกับว่าประเทศเหล่านั้นเขาจัดการระลอกแรกได้อยู่หมัด หรือบางระลอกนั้นอาจไม่เกิดในประเทศเขา

ดังนั้นสิ่งที่จะพอเป็นไปได้ในการพิจารณาจึงน่าจะอยู่ที่เรื่องของการพิจารณาไปให้เฉพาะเจาะจงไปเลยว่าเรากำลังเผชิญกับโควิดสายพันธุ์เดลต้า

Advertisement

จากฐานข้อมูลขององค์การสหประชาติ โดยเฉพาะหน่วยงาน UN-Habitat และ CitilQ ได้จัดทำฐานข้อมูลรวบรวมสถิติทั่วโลกที่ https://unhabitat.citiiq.com พบว่าในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกรกฏาคมนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นมากกว่าร้อยละสิบในเมืองทั่วโลก และมีเพียงบางเมืองในโลกเท่านั้นเองที่จำนวนการติดเชื้อลดลง (มีจำนวนเพียงหนึ่งในสิบของเมืองที่ติดเชื้อ) และเชื้อไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกนี้คือสายพันธุ์เดลต้านั่นเอง (“City-Level COVID-19 data reveal fourth-wave surge”. Reliefweb.it. 12 Aug 2021) ขณะที่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในเดือนกรกฏาคมพบว่า โควิดเดลต้าได้ถูกตรวจพบแล้วถึง 124 ประเทศทั่วโลก (“Delta Variant Spreads Global;ly as Case Soar”. BBC.com. 25 July 2021.)

ตัวอย่างข่าวจากรอยเตอร์ ชี้ว่าเมืองRuili ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆในมณฑลยูนนานของจีนที่มีชายแดนต่อกับพม่า (และเป็นเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อแนวชายแดนที่จะพาไปลาวและเวียตนามด้วย) ต้องถูกลอคดาวน์เมื่อต้นเดือนกรกฏาคม ด้วยว่าการระบาดในรอบล่าสุดนั้นถือเป็นรอบที่สี่แล้ว และผู้ติดเชื้อ 12 จาก 15 คนเป็นชาวพม่า และตรวจพบว่าเชื้อส่วนใหญ่เป็นเชื้อเดลต้า ซึ่งนี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่พบการระบาดจากเดลต้าในพื้นที่นี้ (“Chinese City on Myanmar Border Hit by Fourth Covid-19 Wave”. Reuters. 7 July 2021.) จากข้อมูลของทางการจีนเขาระบุว่า ในการตรวจนั้นเขาตรวจปูพรม

ยังมีข่าวที่อัพเดตมากกว่านั้นในจีนคือ เมื่อไม่กี่วันก่อนในเดือนกันยายนนี้เอง ที่ทางการจีนล็อคดาวน์ Xiamen เมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรสี่ล้านกว่าคนในส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฟูเจี้ยน หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์เดลต้า นอกจากนี้ยังรวมถึงอีกสองสามเมืองในมณฑลดังกล่าวที่ต้องถูกล็อคดาวน์ (“China Locks Down City of 4.5 mn as Delta Variant Surges Again”. Bloomberg News. 14 September 2021)

Advertisement

ขณะที่นครนิวยอร์กเริ่มมีการยกระดับมาตรการในการจัดการกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือนกรกฏาคม โดยเรียกว่าเป็นการระบาดระบอกสาม โดยนายกเทศมนตรีของนครออกประกาศให้บรรดาเจ้าหน้าที่ของเมือง (โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประมาณสี่หมื่นคนที่ทำงานในระบบโรงพยาบาลของนครนิวยอร์กและที่ทำงานในระบบสาธารณสุขของเมือง) ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนจะถูกตรวจไวรัสสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้เพราะตัวนครนิวยอร์กเองไม่ได้บังคับการฉีดวัคซีนมาก่อน

แต่เรื่องการบังคับตรวจและฉีดวัคซีนนี้ก็ยังมีข้อกังขาอยู่มาก เพราะคำสั่งดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของเมืองที่ทำงานในตำแหน่งอื่นอีกประมาณสามแสนคน เช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่เสมียน และเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเป็นต้น และยังไม่ได้กลับมาใช้มาตรการบังคับการใส่หน้ากากทั้งที่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มพบวันละหกร้อยกว่าคนขึ้นไป ขณะที่นับตั้งแต่มิถุนายน นครซานฟรานซิสโกบังคับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนของเมืองฉีดวัคซีน (Is NYC Doing Enough to Slow Down 3rd Virus Wave? Experts Raise Doubts”. The New York Times. 21 July 2021.) ตามข่าวสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ใส่หน้ากาก (recommend) แต่ไม่ได้บังคับ และในบางพื้นที่ก็มีข้อถกเถียงในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ขณะที่ข่าวในมหานครนิวยอร์กในตอนต้นเดือนสิงหาคมนั้นกลับพบว่าโควิดเดลต้านั้นถูกตรวจพบในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อถึงร้อยละ 83 และใช้เวลาแค่ 14 วันจากที่เคนค้นพบเป็นอันดับที่สี่มาเป็นอันดับที่หนึ่ง

ที่ยกมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้ผมคิดว่า ตอนนี้วิธีคิดในเรื่องของโควิดนั้นแทบจะต้องตั้งหลักกันใหม่แล้ว เพราะมันไม่ใช่แค่ระลอกใหม่ แต่ต้องตั้งหลักกันที่เดลต้า หรือควรจะเรียกไปเลยว่าโควิด(สายพันธุ์)เดลต้า

อธิบายง่ายๆว่าไม่ควรทำให้ประชาชนสับสนระหว่างโควิดสายพันธุ์ก่อนเดลต้าและสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในวันนี้ เพราะสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์ที่ติดเร็วกว่า รุนแรงกว่า และมีปฏิกิริยากับวัคซีนแตกต่างไปจากสายพันธุ์ก่อนหน้านั้น

ในการอธิบายและประชาสัมพันธ์เรื่องโควิดในวันนี้จึงควรจะเน้นให้ประชาชนทำความเข้าใจโควิดสายพันธุ์เดลต้า ไม่ใช่มองภาพรวมของโควิดและทำให้ประชาชนรู้สึกว่าโควิดในวันนี้ไม่ต่างจากโควิดที่เคยเจอมาเมื่อปีที่แล้ว และเรื่องที่เข้าใจกันอยู่แล้วก็คือ โควิดเดลต้านั้นมันเป็นขั้นสูงกว่าตัวที่แล้ว ดังนั้นถ้าเข้าใจสายพันธุ์เดลต้าก็น่าจะถือได้ว่าเข้าใจและระมัดระวังครอบคลุมไปยังตัวก่อนหน้านั้นได้ด้วย

อธิบายง่ายๆว่า วัคซีนนั้นพัฒนามาก่อนสายพันธุ์เดลต้า ย่อมจะมีปฏิกริยาต่อเดลต้าต่างกัน และที่น่าตกใจก็คือไม่ค่อยมีข่าวคราวว่าวัคซีนที่กำลังใช้กันอยู่นั้นได้มีการปรับสูตรให้ใช้กับเดลต้าได้ดีขึ้นไหม มีแต่ข่าวที่ยังยืนยันไม่ตรงกันว่า ปฏิกิริยาของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ และ แต่ละเทคโนโลยี่นั้นแตกต่างกันอย่างไรกับสายพันธุ์เดลต้า)

สิ่งที่สำคัญที่ควรพิจารณากันจึงไม่ใช่เรื่องแค่การเปิดหรือปิดประเทศ เลิกล็อคดาวน์หรือยังคงไว้ซึ่งการล็อคดาวน์ เพราะสังเกตุว่าในวันนี้ รัฐบาลมักใช้สามปัจจัยหลักในการบริหารจัดการสถานการณ์นั่นก็คือ ปัจจัยด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง อธิบายว่าด้านการเมืองนั้นถ้ามีแรงกดดันทางสังคมมากเข้า รัฐบาลก็จะพยายามปรับสักที ส่วนเรื่องเศรษฐกิจนั้นผมคิดว่าอ่อนที่สุด เพราะมาจนถึงวันนี้เกือบจะสองปีแล้ว ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจังของรัฐบาลนี้เอาเสียเลย เมื่อเทียบกับด้านสาธารณสุขที่มีความห็นที่ชัดเจน และ มีกลุ่มของความเห็นที่ชัดเจนพอจะคัดง้างกับรัฐบาลได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนพวกที่เชื่อหัวปักหัวปำไปในทางหนึ่งก็มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง

สำหรับในกรณีของประเทศไทย ขณะนี้มีความพยายามที่น่ากังวลมากคือเรื่องของการพยายามเปิดประเทศ โดยส่วนหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องของเศรษฐกิจก็คือเรื่องของการเมือง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องหลักมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้ารัฐบาลนี้แคร์เรื่องเศรษฐกิจจริงคงไม่มีท่าทีในแก้ปัญหาด้านนี้ให้คนก่นด่ากันทั้งประเทศขนาดนี้

เรื่องทางการเมืองก็คือเรื่องของการให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปิดประเทศในเดือนตุลา ก็เลยยิ่งทำให้จะต้องมีความพยายามที่จะตีปี๊บว่าภูเก็ตแซนด์บอกซ์นั้นเป็นผลสำเร็จ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นมีปัญหานานับประการที่กลายเป็นราคาที่ต้องจ่ายในเรื่องของการเปิดรับนักท่องเที่ยว

เรื่องการเร่งรีบตีปี๊บเรื่องภูเก็ตแซนด์บ๊อกนั้นเป็นปัญหาอย่างยิ่ง และ ผิดกับความตั้งใจในเรื่องของแนวคิดเรื่องแซนด์บ๊อกเองซึ่งเป็นการลองผิดลองถูกภายใต้การควบคุมเงื่อนไขตัวแปรบางประการ

ที่สำคัญภายหลังจากการทำโครงการทดลองที่ภูเก็ตแล้วนั้น ควรจะเปิดให้ประชาชน ภาคประชาชน เอกชน สื่อมวลชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้ร่วมตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ก่อนจะรีบสรุปผลแล้วนำไปเสนอเป็นแซนบ๊อกซ์ในพื้นที่อื่นๆ

อีกประเด็นที่ควรพูดถึงก็คือเรื่องของการตั้งคำถามว่านักท่องเที่ยวที่เราคาดการณ์ว่าจะมาประเทศไทยนั้นเพียงพอที่จะหมุนและจะแลกกับการเปิดประเทศอย่างจริงจังไหม หลายท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าความเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวในประเทศไทยเกิดมานานแล้ว โดยการท่องเที่ยวจากจีนเแทบจะเรียกว่าเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นการเปิดประเทศโดยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและอำนาจของรัฐบาลนี้ในการต่อรองกับจีน ทั้งที่เอาเงินไปทุ่มซื้อวัคซีนจากจีนมาไม่รู้กี่รอบแล้วก็ต้องถามกันหล่ะครับว่าเรามากันถูกทางสักแต่ไหน

การพยายามเปิดประเทศเพราะมีความเชื่อในพฤติกรรมและการควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวร้อยแปด แต่ยังควบคุมระดับการติดเชื้อในประเทศยังไม่ได้ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป

และจะยิ่งตั้งข้อสงสัยให้กับประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากว่านี่คือทางต่อต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศนี้จริงๆหรือไม่ อย่าลืมว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนี้เป็นการเติบโตที่มาทั้งจากการส่งออกและการท่องเที่ยวด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งนั้นมาจากการบริโภคภายใน ดังนั้นหากเน้นการท่องเที่ยวแบบที่ทำอะไรไม่ได้มาก กลางคืนก็เที่ยวไม่ได้ คนจำนวนมากที่ขับเคลื่อนเมืองนั้นก็จะยิ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก

ย้อนกลับไปดูในเรื่องของความสำเร็จของหลายประเทศในการจัดการโควิดเดลต้านั้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการฉีดวัคซีน แต่ต้องพิจารณาดีๆว่าการฉีดวัคซีนนั้นไม่ใช่การสร้างหลักประกันที่สมบูรณ์แบบว่าจะไม่ติด สิ่งที่พบในประสบการณ์ของประเทศเหล่านั้นคือการฉีดวัคซีนและรณรงค์ให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง หน้ากากก็ต้องใช้ และจะต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตในวิถีใหม่

หรือหากจะไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญก็คือการให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบระบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศเขาเองโดยการยกการ์ดสูงขึ้นกับการเข้าประเทศ ไม่ใช่เรื่องของการลดการ์ดลงแต่เข้มงวดกับคนในประเทศ

ขณะที่ในบ้านเรามาตรการต่างๆที่มีข่าวหลุดออกมาแต่ละอย่างนั้นดูจะเอาอกเอาใจคนต่างประเทศมากกว่าการคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ลามไปจนการเกิดนัยยะว่าหากต่างประเทศเข้ามาแล้วประชาชนในประเทศจะได้ประโยชน์ (คนต่างประเทศต้องได้ก่อนคนในประเทศ) ทั้งที่คนในประเทศนั้นก็รับรู้จากประสบการณ์ชีวิตของเขาในทุกๆวันว่าเพียงแค่ตัดสินใจเปิดเมืองอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ในลักษณะของการใช้อำนาจของรัฐในการประกาศว่าฉันมีอำนาจ แต่ต้องเป็นอำนาจที่เน้นมิติเรื่องการส่งเสริมสนับสุนและห่วงใยเข้าอกเข้าใจประชาชนต่างหากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของคนในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นกลับมา

สิ่งที่เห็นการตัดสินใจของศบค. คือความรู้ความเข้าใจของการจะนำนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ จนดูเหมือนมีความคาดหวังและเข้าใจคนเหล่านั้นมากกว่าทุกข์ยากของกิจการต่างๆและทุกข์ยากของประชาชนในรายละเอียด รวมทั้งการช่วยเหลือที่ผ่านมาที่ไม่เคยได้แถลงได้อย่างมีรายละเอียดเช่นนี้

ทั้งสื่อและรัฐบาลเองก็ไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดว่า ในการที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวขนาดนี้ แต่ประเทศตนทางเขาดูแลและปฏิบัติต่อเราเหมือนที่เราพยายามเอาอกเอาใจและปฏิบัติต่อเขาหรือเปล่า

ผมเห็นแต่ละเรื่องที่รัฐบาลมีแผนที่จะทำ บอกได้อย่างเดียวว่าความหวังของผมต่อประเทศนี้ริบหรี่เหลือเกิน การจะเปิดประเทศได้ต้องเปิดเมืองก่อน และการเปิดเมืองต้องทำความเข้าใจกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการสั่งการและรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยเท่านั้น

แต่ต้องเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ และ ทุกข์วิทยาของประชาชนในเมืองนั้น รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าระบบการดูแลประชาชนด้านสุขภาพจะดีกว่าที่เป็นอยู่ ยิ่งมีระบบการตรวจเชื้อเบื้องต้นที่บ้าน ระบบการรองรับประชาชนเข้าสู่ระบบสาธารณสุขที่เคยมีปัญหาในช่วงที่ผ่านมาจะต้องมีความพร้อมมากขึ้น รวมทั้งการมีมาตรการณ์กับกิจการต่างๆที่จะต้องเปิดให้มีการตรวจสอบร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว

อย่าลืมว่าการระบาดในรอบที่สามของบ้านเราและลามมาจนถึงโควิดเดลต้านั้นเกิดขึ้นหลังจากการผ่อนปรนมาตรการ และ เจ้าหน้าที่รัฐเองต่างหากที่ปล่อยปละละเลยกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ปัญหาการระบาดขั้นรุนแรงในประเทศในรอบนี้ จึงเห็นได้ว่าระบบการเมืองที่ควรจะกำกับดูแลระบบราชการที่ผ่านมาไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรและยังเป็นปัญหาในตัวเองด้วย

รัฐบาลและรัฐบาลเมืองไม่ควรจะเป็นสองหน่วยงานหลักที่พิจารณาการเปิดเมืองและเปิดประเทศ แต่ประชาชนควรยื่นข้อเรียกร้องและเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนการเปิดเมืองและประเทศมากกว่านี้

ที่สำคัญก็ขอย้ำอีกครั้งว่าในหลายประเทศนั้นแม้ว่าเขาจะเปิดเมืองแล้ว เปิดประเทศแล้ว ทั้งที่ยังมีคนติดอยู่ แต่เขาต้องมีความมั่นใจว่า ระบบสาธารณสุขของเขารองรับพลเมืองของเขาได้ และที่สำคัญจะต้องไม่ทิ้งให้คนเปราะบางและคนยากจนของเขาหลุดจากระบบออกไปเพราะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่นไม่มีรถมารับไปเข้าระบบ เข้าไม่ถึงการตรวจ หรือนอนตายริมถนนดังที่เป็นข่าว

เรื่องนี้สำคัญกว่าการมาตั้งประเด็นลอยๆว่าตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะเปิดได้ มาสู่เรื่องของการเปิดเผยตัวเลขและเข้าใจว่าตัวเลขเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหน และทำไมเขาจึงติด และเขาได้รับการช่วยเหลืออย่างไร การเข้าระบบช้าของคนบางกลุ่มทำให้เขามีความเสี่ยงสูงขึ้นไหม เขาเข้าถึงวัคซีนไหม นั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image