คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘อำนาจรัฐ’บน‘อุ้งมือ’และ‘หน้าจอ’

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ใช้อุปกรณ์ของ Apple รุ่นที่ยังได้ “ไปต่อ” ก็คงได้ทำการอัพเดตระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ล่าสุดสำหรับอุปกรณ์ของท่านกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติหนึ่งในระบบปฏิบัติการ iOS 15 ที่หายไปเงียบๆ ในประเทศไทย คือระบบปกป้องความเป็นส่วนตัว Private Relay ใน iCloud+ ซึ่งเป็นการใช้เครือข่ายจำลอง (VPN) ของ Apple
เข้ารหัสเพื่อปิดบังตัวตนผู้ใช้งานก่อนส่งข้อมูลให้เครือข่ายผู้ให้บริการ ซึ่งคุณสมบัตินี้ Apple ไม่สามารถเปิดให้ใช้ในประเทศไทยได้เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อกฎหมายภายในของประเทศนี้ ซึ่งก็มีผู้สันนิษฐานว่า
น่าจะเป็นกฎระเบียบ หรือประกาศสักอย่างของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อประเทศร่วมชะตากรรมเดียวกันกับประเทศไทยแล้ว ส่วนใหญ่ก็เดากันได้ว่าเหตุผลแท้จริงน่าจะมาจากเรื่องของการจำกัดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชน หรือในอีกทางหนึ่งคือเป็นการสงวนอำนาจรัฐไว้ในอันที่จะสอดส่องการใช้งานอินเตอร์เน็ตในรัฐประเทศมากกว่าจะเป็นสาเหตุอื่นตามอ้าง

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีที่ความสามารถ หรือคุณสมบัติของอุปกรณ์ Apple ที่เป็นจุดขายในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกนั้นไม่สามารถใช้การได้ในประเทศไทยในระยะแรก เช่นกรณีของการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) บนนาฬิกา Apple Watch ซึ่งมีมาตั้งแต่ในนาฬิการุ่นที่ 4 ปี 2018 แต่กว่าที่ผู้ใช้ชาวไทยจะสามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเบื้องต้นด้วยนาฬิกาของตัวเองได้ก็เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 นี้เอง แต่นั่นมาจากเหตุผลเพราะมันถูกตีความว่าเป็น “เครื่องมือทางการแพทย์” ที่ต้องขออนุญาตต่อทางคณะกรรมการอาหารและยาของไทยโดยแท้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองใดๆ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่า “อำนาจรัฐ” จะเป็น “ผู้ร้าย” ไปเสียทุกกรณี เพราะก็มีที่ฝ่าย “อำนาจรัฐ” นั้นเล่นบทพระเอกอยู่ เช่นกรณีของประเทศฝรั่งเศสกับโทรศัพท์ iPhone

เรื่องนี้แฟนๆ โทรศัพท์ iPhone คงทราบว่า ทางบริษัท Apple นั้นเลิกแถมอุปกรณ์หูฟังและหัวแปลงสายชาร์จ (ตัวที่ต่อกับปลั๊กไฟบ้าน) พร้อมกับโทรศัพท์ iPhone ตั้งแต่รุ่น 12 เป็นต้นมา ดังนั้นใครที่ ไม่เคยมี
หัวชาร์จ USB C มาก่อนก็ต้องไปหาซื้อกันมา ส่วนหูฟังนั้นยากขึ้นอีกนิด เพราะหูฟังสำหรับเครื่อง iPhone ตั้งแต่รุ่น 7 เป็นต้นมาไม่มีช่องต่อหูฟังแบบ 3.5 มม. แบบที่มีขายในร้านสะดวกซื้อ เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ Apple ใช้เกือบทั้งโลกภายใต้ข้ออ้างว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

เว้นแต่เฉพาะในขอบขัณฑ์แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเท่านั้น ที่โทรศัพท์ iPhone ที่ขายทุกเครื่องจะต้องมาพร้อมกับหัวชาร์จและหูฟังมาตรฐานในกล่อง ทั้งนี้ เพราะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศฝรั่งเศสนั้นถือว่าอุปกรณ์ทั้งสองนี้เป็นส่วนควบอันจำเป็นของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกชนิด จึงไม่อาจยอมให้แยกจำหน่ายหรือไม่รวมไว้กับตัวเครื่องได้ แม้แต่กับ Apple iPhone ก็ไม่ได้รับการยกเว้น

Advertisement

หรืออีกเรื่องคือเมื่อเร็วๆ นี้ มีเรื่องฮือฮากันในหมู่ผู้ใช้โทรศัพท์ iPhone รุ่นเก่าๆ ที่เริ่มรู้สึกว่าเครื่องช้าไปไม่ไหวแล้ว ใช้งานแอพพ์ไหนก็เด้งบ้างค้างบ้างราวกับส่งสัญญาณว่าอุปกรณ์กำลังจะหมดอายุขัย ก็มีเคล็ดลับออกมาว่า ก่อนจะตัดใจเอาไปทับกระดาษแล้วซื้อเครื่องใหม่ ก็ให้ลองเปลี่ยน “ภูมิภาค” (Region) ของเครื่องให้เป็นประเทศ “ฝรั่งเศส” (France) แล้วจะพบว่าเครื่องของท่านนั้นกลับมาใช้งานได้ลื่นคล่องขึ้นอีกราวกับปลดล็อกอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่ที่ไปลองทำแล้วก็พบว่าจริง

จนกระทั่งมีผู้มาเฉลยว่า เรื่องนี้ก็เป็นเพราะ Apple นั้นตั้งค่าในระบบปฏิบัติการเพื่อรักษาอายุการทำงานของแบตเตอร์รีเครื่อง iPhone รุ่นเก่าไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึง “จำเป็น” ต้องลดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องโดยรวมลง ทำให้เครื่องทำงานได้หน่วงช้า แต่การทำเช่นนั้นเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของฝรั่งเศสเช่นกัน ทำให้เครื่อง iPhone ที่ถูกตั้งค่าว่าเป็นเครื่องที่ใช้ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกลดประสิทธิภาพลง (แต่อาจจะแลกกับการที่แบตเตอร์รีเสื่อมสภาพเร็วขึ้น)

ที่เล่ามายืดยาวข้างต้นนี้เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า อำนาจรัฐนั้นเข้ามายุ่มย่ามได้แม้แต่บนหน้าจอโทรศัพท์หรือนาฬิกาของเรามากกว่าที่คิด และยิ่งกว่านั้น คืออำนาจรัฐนั้นยังใหญ่กว่าอำนาจทุนของบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย

นวัตกรรม เทคโนโลยี นโยบาย คุณค่า หรืออัตลักษณ์ใดๆ ก็ตามของฝ่ายทุนเอกชน ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงไร สุดท้ายก็จะเป็นอำนาจรัฐนั้นเองที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะมีตัวตนปรากฏ หรือใช้ได้ในขอบคามรัฐประเทศนั้นหรือไม่ และก็เป็นฝ่าย “ทุนเอกชน” นั้นเองที่จะต้องเลือกว่า จะยอมลดแลก หรือละสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเพื่อให้ได้รับอนุญาตให้ได้เข้าไปขายของหรือทำธุรกิจในรัฐนั้นๆ หรือเปล่า

ในกรณีที่ “คุณค่า” ที่องค์กรธุรกิจเอกชนยึดถือนั้นยิ่งใหญ่กว่าผลกำไร หรือประโยชน์ที่ได้จากการเข้าไปทำธุรกิจโดยสยบยอมตามให้แก่อำนาจรัฐนั้น ฝ่ายทุนเอกชนก็ทำได้เพียงการเลือกที่จะไม่เข้าไป หรือถอนตัวออกมาจากรัฐประเทศนั้น เช่นกรณีที่ Telenor group ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์ได้ถอนธุรกิจของตนจากประเทศเมียนมา เนื่องจากจะถูกบังคับให้ต้องติดตั้งระบบอุปกรณ์ดังฟัง ซึ่งขัดต่อทั้งจริยธรรมของบริษัทและกฎหมายของประเทศนอร์เวย์

อำนาจรัฐจึงส่งผลทั้งต่อการทำธุรกิจของภาคทุนเอกชน และต่อฝ่ายประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ตั้งแต่เรื่องใหญ่ระดับที่ว่า ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ว่าหนังเรื่องนี้เราจะได้ดูมันใน “จอไหน” (หรือแม้แต่ไม่ได้
ดูเลย) ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

เมื่อราวต้นปี มีการเปิดเผยหนังตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีบรรยากาศที่แปลกตาน่าสนใจ เป็นส่วนผสมที่แสดงภาพทิวทัศน์และผู้คนในชนบทไทยแบบสดดิบคล้ายหนังสายประกวดเมืองคานส์ แต่กลับมีกลิ่นอายแบบหนังทำเงินทันสมัยใหม่ผสมอารมณ์แบบวิดิโอเกมส์สยองขวัญที่เข้ากันได้อย่างลงตัวแบบน่าทึ่ง คือเรื่อง “ร่างทรง (The Medium)” ที่กำกับโดยคุณ บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยสยองขวัญระดับตำนาน “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ที่ถูกฮอลีวู้ดซื้อไปรีเมค ร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชาวเกาหลีใต้ นาฮงจิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเปิดตัวไปแล้วในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งก็สร้างความฮือฮาและทำรายได้ในการ
เปิดตัววันแรกเป็นประวัติการณ์กว่าหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างกระแสฮือฮาเรื่องความหลอนถึงขนาดบางโรงต้องเปิดไฟฉายหนังเรื่องนี้เพื่อลดความหวาดผวาให้ผู้ชมกลุ่มที่อยากดูแต่ก็กลัวเกินทน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีกำหนดวันฉายในประเทศไทยที่ชัดเจนไปกว่าการโปรยของค่ายหนังว่า “ตุลาคมนี้”

“ตุลาคม” ที่ผู้ประกอบการคาดหวังว่ามาตรการล็อกดาวน์ควบคุมกิจการต่างๆ ของทางภาครัฐจะผ่อนคลายลงจนอนุญาตให้เข้าชมภาพยนตร์ในโรงหนังได้ แต่หากท่าทีของภาครัฐในตอนนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีการกล่าวถึงหรือให้สัญญาหรือแม้เพียงสัญญาณใดๆ

กับเมื่อพิจารณากันตามความเป็นจริงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษา หรือเสียชีวิต แม้จะลดลงบ้างกว่าช่วงที่สาหัสแต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจเท่าไร ประกอบกับนิสัยฝังรากของผู้มีอำนาจของภาครัฐที่มักจะโยนความผิดว่าเป็นของฝ่ายประชาชนเองนั่นแหละที่การ์ดตก อยากกินอยากเที่ยวกันนักจนหละหลวมให้เกิดการระบาด ทำให้การชมภาพยนตร์ในโรงซึ่งโดยตัวของมันเองแล้วก็เป็นกิจกรรมที่ทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการระบาด ซ้ำยังเป็นกิจกรรมที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของความบันเทิงหย่อนใจด้วยแล้ว จึงไม่มีใครกล้าคาดหมายได้ว่า “ตุลาคม” ที่ว่าจะเป็นวันไหน หรือจะมีจริงหรือไม่

จนในตอนนี้ เริ่มมีการเผยแพร่ช่องทางการรับชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวแบบไม่ถูกต้องออกมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่หนังไทยดีๆ เรื่องนี้จะเสียรายได้ในประเทศไทย หรือผู้ชมจะต้องเสียโอกาสขาดประสบการณ์การได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ไป เพราะความไม่ชัดเจนของรัฐบาล

ถ้าเรื่องนี้ภาครัฐประกาศกันออกมาชัดๆ ว่า “โรงหนังเปิดได้แน่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป” ทางค่ายหนังก็อาจจะประกาศวันฉายที่ชัดเจนแน่นอนได้ เช่นนี้ผู้คนที่อยากดูหนังเรื่องนี้ก็น่าจะพออดใจไปดูกันใน
โรงภาพยนตร์กันได้อยู่

เคยมีนักธุรกิจท่านหนึ่งที่เสนอว่า เพื่อความยุติธรรมและชัดเจนต่อผู้ประกอบการซึ่งเริ่มจะไม่ไหวกันแล้ว ทางภาครัฐควรที่จะประกาศหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนไปเลยว่า การจะผ่อนคลายให้กิจการใดๆ เปิดได้ในระดับไหน จะต้องพิจารณาปัจจัยใดๆ บ้าง เช่น ต้องมีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศไม่เกินกี่คน หรืออัตราการติดเชื้อและตรวจเจออยู่ที่ร้อยละเท่าไร จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดส ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา หรือที่เสีย
ชีวิต ฯลฯ อะไรก็ได้ที่ชัดเจนและเป็นการประกาศไว้ให้รู้ทั่วกันล่วงหน้า เพื่อผู้ประกอบการจะพอประเมินสถานการณ์กันได้ล่วงหน้าว่ามีแนวโน้มที่จะเปิดกิจการของตน หรือกิจการใกล้เคียงอะไรได้หรือไม่อย่างไร
มิใช่รอการพิจารณาและประกาศเป็นคราวๆ ราวกับตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจที่ต้องรับผิดชอบ แบบไม่มีวาระด้วยว่าจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาเมื่อไรอย่างใด

จึงอาจจะต้องเป็นทางภาคธุรกิจนั่นแหละ ที่ถ้าอยากป้องกันความเสียหาย ก็จำเป็นจะต้องช่วยกัน
เสียงแข็งกับรัฐบาลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของท่านเอง โดยทวงความชัดเจนในเชิงนโยบาย รวมถึงมาตรการในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะต่อให้ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการ แต่ในภาวะที่ผู้คนหวาดกลัวจากภาพฝันร้ายคนตายคาบ้านในช่วงวิกฤตที่สุด ก็ใช่ว่าจะมีคนยอมไปดูหนังในโรงกันง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับแต่เป็นวัคซีนสาธารณชนไม่มั่นใจในประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส

ในวิกฤตใหญ่ทางการเมืองไทย และวิกฤตย่อย COVID-19 นี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุนใหญ่ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่รายหลักของไทยไม่ว่าจะในวงการไหนก็ตามนั้น ออกจะ “เสียงเบา” เกินไปในการลงมือทวงถามตามบี้เอากับภาครัฐราชการ และภาคการเมือง ทั้งๆ ที่ก็เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบอย่าง
หนักหนาพอสมควร อาจจะเพราะประสบการณ์ หรือแนวทางที่ถูกสอนสั่งกันให้ “อยู่เป็น” ทำให้ภาคธุรกิจจะไม่พยายามหาเรื่องกับกลุ่มผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงในประเทศนี้ที่ได้อำนาจรัฐไว้ในมือ เพราะรู้ว่าสู้ไปยังไงก็ไม่ชนะ เรียกร้องไปก็อาจจะถูกหมายหัว เจ็บเนื้อเจ็บตัวได้

แต่ยิ่งไม่หือไม่อือ ก็จะยิ่งเจ็บตัวเป็นงูกินหางวนกันไป

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image