การประกวดเยาวชนดนตรี แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 โดย สุกรี เจริญสุข

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทยได้ดำเนินการมาถึง 19 ปีแล้ว ซึ่งได้สร้างกระแสการพัฒนาดนตรีในประเทศได้สูงมาก กระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจดนตรีมากขึ้นเป็นลำดับ มีเยาวชนคนเก่งดนตรีมากขึ้น จากดนตรีเป็นวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน ดนตรีเป็นวิชาของคนจน ดนตรีได้กลายเป็นวิชาของนักปราชญ์ ดนตรีกลายเป็นคุณสมบัติของผู้มีรสนิยม ดนตรีได้กลายเป็นสมบัติของผู้ที่มีเสน่ห์ งานเลี้ยงต่างๆ ก็ต้องมีดนตรี งานสำคัญใดๆ ในชีวิตก็ต้องใช้ดนตรีเป็นส่วนเสริมให้งานมีรสนิยมและสร้างบรรยากาศที่ดี กระทั่งดนตรีกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตไทย “ดนตรีกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต”

พ่อแม่ผู้ปกครองสมัยใหม่ก็ต้องส่งลูกให้เรียนดนตรี เพราะมีความเชื่อว่าดนตรีสามารถที่จะพัฒนาให้ลูกเรียนรู้ได้เร็วขึ้น เชื่อว่าลูกสามารถที่จะพัฒนาสมอง ร่างกาย อารมณ์ สังคม และความสามารถที่แก้ปัญหาได้เร็วกว่าหากลูกได้เรียนดนตรี ทั้งนี้มีงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับดนตรีมากขึ้นด้วย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความเชื่อว่าเด็กที่ได้เรียนดนตรีสามารถที่จะแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนดนตรี

ดูตัวอย่างว่าเด็กนักเรียนดนตรีที่สอบเข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน พ่อแม่เป็นหมอ (ร้อยละ 30-40) ก็พอสรุปได้ว่า คนฉลาดของประเทศไม่ได้ไปเรียนวิชาแพทย์ทั้งหมดอีกต่อไป ดนตรีสามารถที่จะแย่งคนเก่งให้เรียนดนตรีในอัตราที่น่าพอใจยิ่ง ซึ่งเด็กดนตรีที่มีความพร้อมเหล่านี้ได้พัฒนาเรื่องฝีมือ พัฒนาการศึกษาดนตรี และก้าวไปสู่ระดับนานาชาติมากขึ้นด้วย

พัฒนาการดนตรีกับเด็กในสังคมไทย พบว่าเด็กไทยมีความสามารถทางดนตรีสูงขึ้นมาก ดนตรีมีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ทั้งที่เป็นความสามารถ (ทักษะฝีมือ) ของนักดนตรี คุณภาพของวงดนตรี รวมทั้งบทเพลงที่มีอยู่ในสังคมไทย และมีผู้ฟังที่มีคุณภาพและรักดนตรีจำนวนมากขึ้นด้วย

Advertisement

ดังนั้น ดนตรีข้างถนนเต้นกินรำกิน นักดนตรีไส้แห้ง นักดนตรีขี้เมา หรือนักดนตรีจัดการชีวิตไม่ได้ จึงมีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป

วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ดนตรีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถที่จะใช้ดนตรีในการพัฒนาประเทศให้มีรสนิยมมากขึ้น เมื่อเด็กไทยมีความสามารถทางดนตรีสูงจึงสามารถพัฒนาประเทศไทยให้เจริญขึ้นด้วย ดนตรีได้กลายเป็นสินค้า เป็นหุ้นส่วนของชีวิต สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีให้สังคมอบอุ่นขึ้น ดนตรีได้สร้างพลังให้คนในชาติมองเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยมีเกียรติและน่าเชื่อถือต่อสายตาชาวโลกมากขึ้น เพราะไทยเราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้อีกต่อไป

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทย ได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นครั้งแรก และได้จัดมาอย่างต่อเนื่อง วิธีการประกวดแตกต่างไปจากการประกวดดนตรีทั่วๆ ไป คือเป็นการประกวดที่เด็กใช้เครื่องดนตรีแตกต่างกันตามความถนัดที่เด็กเล่นอยู่ โดยเลือกเพลงที่จะเล่นเอง เป็นเพลงที่เด็กมีความมั่นใจที่สุด เป็นเพลงที่แตกต่างกันตามความพอใจของเด็กผู้เข้าประกวด ความยาวของเพลงประมาณ 3-5 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้เข้าประกวดและเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ เพราะเวลา 3-5 นาที เป็นเวลาที่เด็กสามารถมีสมาธิที่จะอวดศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีได้ดีพอสมควร

Advertisement

วัตถุประสงค์หลักของการประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย เพื่อให้เด็กไทยทั้งประเทศได้มีโอกาสแสดงความสามารถทางดนตรีอวดบนเวที โดยใช้เครื่องดนตรีที่ผลิตเสียงจากธรรมชาติ (Acoustic) อาทิ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีโบราณ เครื่องดนตรีราชสำนัก เครื่องดนตรีนานาชาติที่อยู่ในประเทศไทย หรือเครื่องดนตรีสากล รวมทั้งการขับร้อง เพื่ออวดศักยภาพความเป็นเลิศในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น

การประกวดเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นเครื่องดนตรีที่ถนัดที่สุด โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่หาคนเล่นยาก บทเพลงที่คนในสังคมไม่เคยได้ยิน แต่เป็นเครื่องดนตรีและเพลงที่เด็กชอบ รวมทั้งครูดนตรีที่สอนอยู่ในชุมชน ได้สืบทอดเครื่องดนตรีและเพลงเหล่านั้นได้ โดยที่เด็กสามารถอวดศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีที่มีอยู่ให้คนอื่นๆ คณะกรรมการ รวมทั้งผู้ฟังทั่วไปได้ชื่นชมสิ่งเหล่านั้นด้วย

การประกวดเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนคนดนตรีทุกชนิดและทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเล็กๆ เป็นคนส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนดนตรีพื้นบ้าน ชุมชนดนตรีไทย ชุมชนดนตรีสากล ชุมชนหมอแคนหรือหมอพิณ ชุมชนเปียโน ชุมชนไวโอลิน ชุมชนซออู้ ชุมชนซอด้วง ฯลฯ ซึ่งชุมชนแต่ละกลุ่มมีประชาคมน้อย ไม่มีแรงจูงใจพอที่จะจัดงานประกวดเดี่ยวๆ ได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ก็สามารถส่งเด็กมาประกวดที่เวทีนี้ได้

เวทีประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทย เป็นเวทีที่สร้างโอกาสให้แต่ละชุมชน คนดนตรีต่างชุมชนได้ดูซึ่งกันและกัน คนดนตรีสากลได้ดูดนตรีไทย คนดนตรีไทยได้ดูดนตรีสากล คนดนตรีพื้นบ้านก็มีเวทีอวดให้คนอื่นๆ ได้ดู ผู้ชมได้ดูเครื่องดนตรีที่หายากและเห็นคนเก่ง เป็นต้น ผู้ชมก็มีโอกาสเห็นเด็กที่เก่งดนตรีได้ทั้งประเทศว่า เป็นใครและอยู่ที่ไหน หากว่ารักหรือชอบดนตรีชนิดไหน สามารถสนับสนุนเด็กเยาวชนคนเก่งดนตรีเหล่านั้นได้ ที่สำคัญที่สุดก็คือ การรู้ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่สนใจดนตรีและมีความเข้มแข็งอยู่ที่ไหนบ้าง

เด็กเยาวชนคนเก่งดนตรี ก็จะมีโอกาสศึกษาดนตรีได้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเด็กที่ได้รับรางวัลต่างๆ ก็มีโอกาสที่จะแสดงให้คนได้เห็น มีโอกาสได้รับทุนการศึกษา นอกจากรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน (ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา) ได้ทุนเป็นเงินแล้ว ยังได้โอกาสเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยไม่ต้องสอบวิชาดนตรีปฏิบัติ และได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนในปีที่ได้เหรียญทองทุกคน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการศึกษาดนตรีได้อย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย การประกวดดนตรีเป็นการสืบทอดความรู้และฝีมือดนตรีจากครูดนตรีคนสำคัญๆ ของชาติเอาไว้ เนื่องจากครูดนตรีที่มีฝีมือส่วนใหญ่จะเก็บฝีมือความสามารถทางดนตรี เก็บทาง (วิธี) ของครูเอาไว้ ครูดนตรีในสมัยโบราณก็จะไม่เปิดเผยความรู้ความสามารถที่มีให้คนอื่นรู้ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะรู้เท่าวิชาความรู้และฝีมือที่ครูรู้ ครูก็จะไม่บอกใคร (มีไว้อวด) อ้างว่าเด็กๆ จะเอาไปทำไม่ดี ซึ่งเป็นข้ออ้างกันมายาวนาน

ความจริงก็คือกลัวว่าคนอื่นหรือลูกศิษย์เมื่อรู้เท่าทันแล้ว ก็จะไม่มีใครนับถือครูอีกต่อไป การเก็บวิชาความรู้เป็นมรดกของครูดนตรี ก็เพราะกลัวว่าเด็กจะหัวล้านนอกครู เด็กจะวัดรอยเท้าครู เมื่อเด็กเก่งเท่าครูแล้ว เด็กก็จะอวดเก่งทับครู

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทย จึงเป็นเวทีที่ครูดนตรีทุกคนต้องออกอาวุธอวดความสามารถผ่านฝีมือของลูกศิษย์ได้เต็มที่ ถ่ายทอดฝีมือทางดนตรีให้แก่ลูกศิษย์เพื่อให้ได้ชัยชนะ ออกอาวุธเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับ การออกอาวุธทางดนตรี (ฝีมือ) เท่านั้นที่จะสร้างความศรัทธาในฝีมือ ฝีมือเท่านั้นที่คนจะสนใจ จึงจะได้รางวัลในชีวิต การออกอาวุธของครูดนตรีทำให้เห็นฝีมือของเด็กที่เก่งก็เพราะครู ซึ่งจะเป็นใบประกาศนียบัตรที่สำคัญของครูดนตรีโดยตรง

เวทีประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทย เป็นเวทีที่บอกให้ทุกคนทราบว่าครูดนตรีที่เก่งๆ ในประเทศไทยอยู่ที่ไหน ระยะเวลา 19 ปี ที่ได้จัดการประกวดเป็นหลักฐานทางสังคมได้เป็นอย่างดีว่าสังคมไทยมีศักยภาพดนตรีที่สูงและแข็งแกร่งพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย มีเด็กไทยจำนวนมากที่เล่นดนตรีเก่งมาก สามารถที่จะพัฒนาดนตรีของเด็กให้ไปสู่ระดับความเป็นเลิศทางดนตรีได้ และวันนี้คนเก่งดนตรีของไทยได้ออกไปสู่ท้องถิ่นชุมชนและไปสู่ระดับนานาชาติแล้ว

การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทย หมดเขตรับสมัครในวันที่ 30 กันยายน 2559 ซึ่งสามารถที่จะหาข้อมูลได้จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (www.music.mahidol.ac.th/set) ซึ่งจะแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2559 ที่หอประชุมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนคณะกรรมการตัดสินมาจากครูดนตรีผู้ใหญ่ ศิลปินแห่งชาติ สื่อมวลชน และผู้มีชื่อเสียงในสังคมไทย

การสูญหายของบทเพลง การสูญเสียครูดนตรีคนสำคัญ การละทิ้งเครื่องดนตรีพื้นบ้าน การละทิ้งเพลงพื้นบ้านเพราะไม่สามารถจะปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ การประกอบอาชีพเป็นศิลปินดนตรีไม่ได้ เป็นความสูญเสียประวัติศาสตร์ชาติ เป็นการสูญเสียรากเหง้าและจิตวิญญาณของสังคม ความสูญเสียของปราชญ์เดินดิน ศิลปินอมตะ (Living National Treasure) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน แม้ไทยจะไม่มีสงครามกลางเมืองอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ ก็ตาม แต่ไทยก็ทะเลาะกันเองจนไม่มีเวลาสร้างวัฒนธรรมของชาติ “ยามศึกเรารบ ยามสงบเราก็รบกันเอง”

วันนี้ศิลปวัฒนธรรมชาติได้เลือนหายไปมากแล้ว โดยเฉพาะเพลงและคนดนตรี การประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศ ไทย จึงเป็นการสร้างชาติโดยพัฒนาคุณภาพคนในชาติ โครงการนี้สนับสนุนโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image