บทเรียน จากอดีต เดือน พฤษภาคม 2538 ของ ‘ส.ป.ก.4-01’

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้รัฐบาล นายชวน หลีกภัย ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2538

ตอบอย่างเป็นการทั่วไปก็ต้อง เพราะ “ส.ป.ก.4-01”

ตอบอย่างเป็นการจำเพาะก็ต้อง เพราะว่าพรรคพลังธรรมมีมติ “งดออกเสียง” ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล

เป็นพรรคพลังธรรมที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค

Advertisement

มติ “งดออกเสียง” จากพรรคพลังธรรมส่งแรงสะเทือนเป็นอย่างสูงต่อรัฐบาล เนื่องจากพรรคพลังธรรมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

มติ “งดออกเสียง” เหมือนกับเป็นการแสดงมารยาทแต่ก็ “รุนแรง”

ความหมายโดยมารยาทเท่ากับ “คะแนน” ของพรรคพลังธรรมมิได้ดำเนินไปเหมือนกับคะแนนของฝ่ายค้านซึ่งเป็นเจ้าของญัตติ เท่ากับไม่ทำให้คะแนน “ไม่ไว้วางใจ” เพิ่มขึ้น

Advertisement

แต่ความหมายโดยตรงก็คือ ไม่สามารถ “ไว้วางใจ” ได้

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดึงเสียงจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามาแทนที่พรรคพลังธรรมได้ หนทางออกก็มีอย่างเดียวเท่านั้น

คือ ต้อง “ยุบสภา” มอบโอนอำนาจให้ “ประชาชน”

ประเด็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากก็คือ พรรคพลังธรรมมีเหตุผลอะไรที่เมื่อรับฟังคำอภิปรายของฝ่ายค้านแล้วจึงไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลได้

คำตอบอยู่ที่กระบวนการ “ส.ป.ก.4-01”

ความน่าเกลียดเป็นอย่างมากอยู่ตรงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นไปมอบเอกสารสิทธิ “ส.ป.ก.4-01” ให้กับบรรดา “เศรษฐี” แห่งจังหวัดภูเก็ต

คน 1 เป็น “สามี” ของ “นักการเมือง”

และนักการเมืองคนนั้นดำรงตำแหน่งเป็น “เลขานุการ” รัฐมนตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งรับผิดชอบการลงนามในการมอบเอกสารสิทธิ “ส.ป.ก.4-01”

เรียกกันว่า เป็นเรื่องประเภท “ผลประโยชน์ทับซ้อน”

รู้กันอยู่ว่าเป็นการมอบให้กับ “สามี” ของตนเอง รู้กันอยู่ว่าสามีของตนมิได้เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้ หากมีฐานะในขั้นที่เรียกได้ว่า “เศรษฐี”

เท่ากับอาศัย “อำนาจ” ในฐานะ “เลขานุการ” ทำไปเพื่อประโยชน์ของตน

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้ก็รู้อยู่เป็นอย่างดีว่า ที่ดินนั้นใครยึดครอง มีสัมพันธ์อย่างไรกับเลขานุการของตน แต่ก็ยังลงนามในเอกสารสิทธิ

เรื่องอย่างนี้ยากอย่างยิ่งที่เหล่า “คนดี” แห่ง “พรรคพลังธรรม” จะยอมรับได้

จึงจำเป็นต้องมีมติ “งดออกเสียง” จึงจำเป็นต้อง “ถอนตัว” ออกจากการร่วมรัฐบาล จึงนำไปสู่การจำต้อง “ยุบสภา”

ตามขนบแห่งระบอบประชาธิปไตย “อารยะ” การยุบสภาคือหนทางออกอย่าง 1 เมื่อเผชิญกับวิกฤตความหมายก็คือ

การมอบโอน “อำนาจ” ให้ประชาชน “ตัดสินใจ”

ในที่สุด ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2538 ก็ปรากฏออกมาว่า ชัยชนะเป็นของพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ส่งผลให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็น นายกรัฐมนตรี

ตัวละครทางการเมืองจากสถานการณ์ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 ส่วนใหญ่ยังอยู่

มีบางส่วนเช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่ไม่อยู่

มีบางส่วนเช่น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ไม่อยู่

แต่ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะในพรรคประชาธิปัตย์ ยังอยู่ ไม่ว่าในพรรคพลังธรรม (ตอนนั้น) ก็ยังอยู่ และรับรู้รายละเอียดของสถานการณ์อย่างครบถ้วน

ใครเป็น “คนดี” ใครเป็น “คนร้าย”

หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ยังเป็น “สัจธรรม” อันเที่ยงแท้ ในการนำเอาคนเข้ามาคนให้ทั่วตั้งแต่หัวจรดตีน จึงจะเรียกคนคนนั้นว่าเป็นคน

ในยุคแห่งการเปิด “ไฟฉาย” ส่องหาคนดี คนไม่ดี คนที่โกง คนที่คอร์รัปชั่นเบียดบังผลประโยชน์เช่นทุกวันนี้

การย้อนกลับไปศึกษากรณี “ส.ป.ก.4-01” ซึ่งอื้อฉาวนับแต่ต้นปี 2538 เป็นต้นมา นับว่ามีคุณูปการเป็นอย่างสูง

คำถามอยู่ที่ว่าจะเป็น “บรรทัดฐาน” ในการตรวจสอบ “คน” ได้อยู่หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image