โคทม อารียา : 12 ปีของการตามหาความยุติธรรม หลังจากที่ลูกถูกซ้อมทรมาน

12 ปีของการตามหาความยุติธรรม หลังจากที่ลูกถูกซ้อมทรมาน โดย โคทม อารียา

บทความนี้เป็นเรื่องราวของสมศักดิ์ ชื่นจิตร ผู้เป็นพ่อ ที่ได้ต่อสู้เพื่อทวงถามความยุติธรรม มิให้ผู้ซ้อมทรมานลอยนวลและทำเป็นนิสัยในสังคมไทย ผู้ถูกซ้อมทรมานคือลูกชายชื่อฤทธิรงค์ อายุ 18 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขณะถูกซ้อมทรมาน เรื่องราวนี้บอกเล่าอยู่ในหนังสือชื่อ “เมื่อผมถูกทรมาน … จึงมาตามหาความยุติธรรม” เขียนและเรียบเรียงโดยอิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เหตุเกิดที่ปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2522 ฤทธิรงค์กับเพื่อนชื่อเมย์หนีเรียนไปคุยกันที่ร้านพี่บี แล้วไปดูหนังรอบ 12.30 – 14.40 น. พอออกจากโรงหนัง เขาถูกตำรวจสั่งให้ขี่จักรยานยนต์ตามไปที่โรงพักเมื่อเวลา 15.00 น. ก่อนหน้านั้น ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ วิ ถูกผู้ร้ายวิ่งราวสร้อยคอหนัก 3 บาท เมื่อมาที่โรงพัก เธอชี้ตัวฤทธิรงค์ (ชื่อเล่น ช็อป) ว่าเป็นคนวิ่งราว ช็อปเล่าเหตุการณ์ว่า

“เมื่อผู้เสียหายยืนยันว่าผมคือคนร้าย เธอได้ตบหน้าผมอย่างแรง 1 ที ผมถูกนำตัวจากโรงพักมายังกองกำกับการสืบสวน ตำรวจที่พาตัวผมมาตบหัวผม 1 ที ในห้องสอบสวน ตำรวจจับผมนั่งลงบนพื้น ใส่กุญแจมือไขว้หลัง พอผมปฏิเสธข้อหา ตำรวจคนเดิมก็เอาสมุดหน้าเหลืองขว้างใส่หน้า ผมขอใช้โทรศัพท์ติดต่อผู้ปกครอง ตำรวจเลยเอาโทรศัพท์ผมให้ตำรวจด้านนอกเก็บไว้

จากนั้นตำรวจคนเดียวกันเอาถุงมาครอบหัวผม และรวบปากถุงไม่ให้มีอากาศหายใจ ผมพยายามกัดถุงพลาสติกให้ขาด เขาจึงเอาถุงออกแล้วถามว่า “มึงจะรับสารภาพหรือยัง?” ผมบอกว่า “ไม่รู้เรื่อง” เขาก็เอาถุงพาสติกใบใหม่มาครอบหัวผมอีก ผมพยายามกัดถุงให้ขาดอีกครั้ง เขาถามอีกครั้งว่า “มึงจะรับสารภาพหรือยัง เอาของกลางไปไว้ไหน?” ผมยืนยันว่า “ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย” เขาก็เอาถุงพลาสติกอีกใบมาครอบหัวผม และถามแบบเดิมอีก คราวนี้ตำรวจอีกคนเข้ามาร่วมทำร้ายร่างกายผม ใช้เท้าเหยียบเข้าที่สีข้างและลำตัว เขาดึงกุญแจมือให้ผมลุกขึ้นนั่ง เขาเอาถุงใบใหม่ครอบหัวผมอีก และถามซ้ำอีกครั้ง

Advertisement

ตำรวจต่อยตีที่ศีรษะและทั่วลำตัวผม เขาข่มขู่ตลอดเวลาว่า หากเกิดอะไรไป จะเอาไปทิ้งที่เขาอีโต้ หากออกไปได้แล้วไปบอกพ่อแม่หรือใครก็ตาม จะฆ่าให้ตาย จะไปทำร้ายที่หน้าโรงเรียน”

ด้วยความกลัว ช็อปเลยรับว่าเป็นคนวิ่งราวและเอาสร้อยคอไปฝากกับพี่บี ตำรวจพาช็อปไปที่ร้านของบี ค้นหาแต่ไม่พบสายสร้อย ต่อไปเป็นคำให้การของแม่ยายของบี เธอถือโอกาสไปคุยกับช็อปที่อยู่ในรถตำรวจ “หนูทำจริงไหมลูก” ช็อปตอบว่า “ไม่จริงครับ” “แล้วหนูพูดได้อย่างไรว่าเอาของกลางมาฝากไว้กับพี่บี รู้ไหมว่าพี่บีจะเดือดร้อน” ช็อปจึงตอบ “ผมโดนซ้อมแม่ ผมจะโทรหาพ่อหาแม่ ตำรวจเขาไม่ให้โทร”

เมื่อไม่เจอของกลาง ช็อปถูกพากลับมาที่กองกำกับการสืบสวน ดาบตำรวจที่พากลับมาหัวเสียมาก ตบหัวช็อป 1 ทีพร้อมพูดว่า “พามาหาหลักฐานแล้วไม่มี เนี่ย มันเสียหายไหม” ช็อปตอบว่า “ถ้าไม่ทำเช่นนี้ คงถูกซ้อมปางตาย จึงยอมรับและให้พี่พาผมมาหาคนรู้จัก เพื่อให้เขาติดต่อพ่อแม่ผมก่อน” เมื่อถึงกองกำกับการสืบสวน ตำรวจตรวจปัสสาวะ แล้วบอกว่าผลออกมาเป็นสีม่วง “เสพมานานหรือยัง?” ตำรวจถาม “ไม่เคยเสพยาจริง ๆ ครับ” ต่อมาช็อปถูกพาตัวไปตรวจหายาเสพติดอีกครั้งที่โรงพยาบาล คราวนี้ตำรวจที่พาไปยอมให้ช็อปโทรหาพ่อแม่ซึ่งรีบมาพบที่โรงพยาบาล ช็อปถูกพากลับมาที่กองกำกับการสืบสวนโดยพ่อแม่ขับรถตามมาด้วย เมื่อผลการตรวจไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะ ช็อปเลยกลับบ้านได้

วันรุ่งขึ้น ช็อปไปพบแพทย์ตรวจอาการบาดเจ็บและรับยา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนหนึ่งแนะนำให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่โรงพักอำเภอบ้านสร้าง เจ้าหน้าที่ร้อยเวรบอกว่าไม่สามารถแจ้งความได้ เพราะ สภ. บ้านสร้างไม่มีอำนาจดำเนินคดี ต้องไปแจ้งความที่ สภ. เมืองปราจีนบุรี จึงได้แต่ลงบันทึกประจำวันไว้

ต่อไปเป็นเรื่องราวโดยย่อที่เล่าโดยสมศักดิ์ผู้เป็นพ่อ ถึงจำนวนก้าวบนเส้นทางการแสวงหาความยุติธรรม

  • ก้าวที่หนึ่ง : แจ้งความร้องทุกข์

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ตำรวจได้จับกุมนายสุวิทย์ ในคดียาเสพติดและได้ขยายผลต่อในคดีที่เกี่ยวข้อง สุวิทย์รับสารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวสร้อยคอหนัก 3 บาท ตำรวจได้นำตัวสุวิทย์ไปทำแผนชี้จุดเกิดเหตุ ซึ่งตรงกับการชี้จุดเกิดเหตุของนางวิ ตำรวจยึดของกลางได้ อย่างไรก็ดี นางวิไม่ยืนยันว่าสุวิทย์คือคนวิ่งราว ยังคงกล่าวหาว่าช็อปคือคนวิ่งราวอยู่อย่างเดิม ตำรวจจึงส่งสำนวนให้อัยการโดยมีฤทธิรงค์เป็นผู้ต้องหาที่ 1 และสุวิทย์ผู้ต้องหาที่ 2 ต้องรอเวลากว่าหนึ่งปี คือวันที่ 30 มีนาคม 2553 อัยการจึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องฤทธิรงค์ สั่งฟ้องเฉพาะสุวิทย์

ถึงปี 2554 เวลาผ่านไปอีกขวบปี เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนยังข่มขู่และแวะเวียนมาสอดส่องที่บ้าน จนผมตัดสินใจติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งในและนอกบ้าน และขอลงบันทึกประจำวันที่กองบังคับการปราบปรามว่า “หากผู้แจ้ง (นายสมศักดิ์) ได้รับอันตราย ขอให้สันนิษฐานในเบื้องต้นว่ามาจากการมีคดีความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนี้” นอกจากนี้ ผมได้อาศัยผู้สื่อข่าวเพื่อเข้าพบและยื่นเรื่องร้องทุกข์และหลักฐานการซ้อมทรทานแก่รอง ผบ.ตร. ซึ่งตอบว่า ครอบครัวของผมจะได้รับความยุติธรรมตาม “กระบวนการขั้นตอน”

หลังจากนั้นไม่นาน ความเคลื่อนไหวก็เริ่มปรากฏ ขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านสร้าง นายกเทศมนตรีฯชื่อนายเชษฐ์ เขาขอให้ผมถอนการแจ้งความดำเนินคดีแก่ตำรวจทั้ง 7 คน โดยเสนอเงินเยียวยาแก่ช็อปจำนวนมาก เพื่อให้ทุกฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน แต่ผมไม่ต้องการเงิน เพียงต้องการความยุติธรรม

ต่อมา ผมและลูกชายได้ไปยื่นข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ท. เขต 2 รวมทั้งหน่วยงานอื่นอีกกว่า 30 องค์กร อาทิ DSI และ ป.ป.ช. นายเชษฐ์ติดต่อมาอีกครั้ง บอกว่าถ้าผมไม่หยุดดำเนินการโดยเด็ดขาด อาจมีผู้ทำให้ผมเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติด แล้วจู่ ๆ ก็มีหนังสือจ่าหน้าซองจากที่ว่าการอำเภอบ้านสร้าง ระบุว่าผมติดสารเสพติด และต้องเข้ารับการบำบัด ผมเลยไปพบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่อำเภอ ยินยอมให้ตรวจ พร้อมทั้งให้ตรวจสอบประวัติว่าไม่เคยเข้ารับการบำบัดจากสถานพยาบาลแห่งใด

  • ก้าวที่สอง : สู่การพิจารณาของ ป.ป.ท. ที่มาของพยานเท็จ

ในปี 2556 สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 2 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนคนหนึ่งได้นำเอกสารที่ไม่มีลายมือชื่อผู้สอบและไม่ลงวันที่ มาให้นายบีและแม่ยายลงนาม ทำนองว่า การค้นหาของกลางที่ร้านนายบีได้ดำเนินการอย่างสุภาพ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงต่อนายช็อปแต่ประการใด แต่ตำรวจผู้นั้นไม่ได้รับความร่วมมือ นอกจากนี้ ชุดสืบสวนได้นำบุคคลมาเป็นพยาน ได้แก่ นางวิ พี่สาว นายเชษฐ์ นายแสน นายศร และนางพิมพ์ผู้สื่อข่าว ทุกคนให้ปากคำทำนองว่าอยู่ในเหตุการณ์จับกุม และบางคนอยู่ในห้องสืบสวน พยานไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายหรือบังคับให้นายฤทธิรงค์รับสารภาพแต่ประการใด

กว่าสองปีที่ผมรอคำพิจารณาจาก ป.ป.ท. ในที่สุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 คณะอนุกรรมการ ป.ป.ท. มีมติให้หยุดเรื่อง โดยอ้างว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอ”

  • ก้าวที่สาม : ก้าวครั้งใหม่กับการรณรงค์

จู่ ๆ ช็อปก็ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจาก Amnesty International Thailand องค์กรนี้มีชื่อย่อว่า AI และเป็นองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านการซ้อมทรมาน เขามาชวนให้เข้าร่วมวงเสวนาเพื่อพูดคุยปัญหาการซ้อมทรมาน นั่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผมและลูกชายได้ปรากฏตัวต่อหน้าสื่ออีกครั้งหนึ่ง และเราได้คุยกันถึงการต่อสู้ในรูปแบบการดำเนินคดี แต่ติดที่ว่า AI ไม่มีทนายที่จะช่วยเหลือผมทางคดีได้ บังเอิญขณะนั้น ประธาน AI ชื่อพรเพ็ญ เธอเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมด้วย

เดือนพฤศจิกายน 2557 ผมไปขอความช่วยเหลือด้านคดีความกับมูลนิธิฯ ซึ่งมอบหมายให้ปรีดากับสัญญาเป็นทนายความดำเนินการด้านคดี เราปรึกษากันว่า นอกเหนือจากการตรวจสภาพร่างกายหลังถูกซ้อมทรมานแล้ว สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการตรวจสภาพจิตใจ ช็อปเคยฝันว่าอยากเป็นตำรวจ แล้วหันมาชอบเล่นกีตาร์ เลยอยากเป็นนักดนตรี แต่หลังจากเหตุการณ์เขาก็ไม่จับกีตาร์เลย เพื่อประกอบหลักฐานการก่อบาดแผลทางจิตใจ ที่มีผลยาวนานหลังถูกซ้อมทรมาน มูลนิธิฯได้มีหนังสือลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ขอความอนุเคราะห์ไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ขอให้ตรวจหาผลกระทบทางจิตใจหลังจากที่ช็อปถูกทรมาน สถาบันฯตอบรับและเริ่มทำการตรวจเบื้อ

ต้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ต่อจากนั้น ช็อปเข้าพบทีมนิติจิตเวช 5 กลุ่ม ซึ่งทำรายงานผลการตรวจ ความตอนหนึ่งว่า หลังการถุกทรมาน “ช็อปมีอาการเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร เครียดง่าย วิตกกังวลง่าย ตกใจง่าย หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย รวมทั้งอาการนอนไม่หลับ และมีภาวะสะดุ้งตื่นจากฝันร้ายระหว่างคืน จนกระทั่งต้องรับประทานยาแก้แพ้เพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง อาการเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของโรคเครียดอย่างรุนแรงหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือ Post – Traumatic Stress Disorder (PTSD)” จิตแพทย์เจ้าของผู้ป่วยยังได้สั่งยาเพื่อบรรเทาอาการทางจิตใจของช็อป ที่ยังมีอยู่แม้การซ้อมทรมานจะผ่านไปกว่า 6 ปีแล้ว

  • ก้าวที่สื่ : การฟ้องร้องนายตำรวจ 7 คน

วันที่ 10 มิถุนายน 2558 ลูกชายของผมได้ยื่นฟ้องนายตำรวจ 7 คนต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี ว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ศาลเริ่มการไต่สวนมูลฟ้อง

เดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ได้ติดต่อมาขอให้ลูกชายถอนฟ้อง โดยกล่าวว่าพวกเขาสำนึกผิด ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้มาพบผมและทนายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ส่วนจำเลยที่ 6 ติดธุระ จำเลยที่ 5 ยินดีให้บันทึกเสียง และกล่าวยืนยันเหตุการณ์ซ้อมทรมานตรงตามที่ลูกชายให้การไว้ รวมทั้งยืนยันว่าพยานที่ไปให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ท. เป็นพยานเท็จ ไม่ได้อยู่ในห้องที่มีการซ้อมทรมาน เขากล่าวคำขอโทษ พูดคุยและปรับความเข้าใจกันแล้ว ถือว่าจบ สองวันต่อมา ลูกชายผมได้ไปถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง

เดือนมีนาคม 2560 เพื่อนบ้านของผม ได้ประสานงานนัดหมายให้ไปพบกับนายแสนและนายศร (ลูกเขย) ซึ่งบอกว่า ตนเองเป็นพยานเท็จ พวกเขาให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ท. ตามคำขอของนายตำรวจที่เคยช่วยเหลือนายแสนมาในอดีต โดยตำรวจเตรียมข้อมูลให้ พวกเขาขอโทษ และได้มีการบันทึกเสียงและจดบันทึกเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีในขั้นศาล

  • ก้าวที่ห้า : การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

26 พฤษภาคม 2560 ผมและลูกชายยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้ ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ. ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เรียกค่าเสียหาย 15.8 ล้านบาท ศาลกรุงเทพใต้จำหน่ายคดีออกไปเป็นการชั่วคราว เพื่อรอคำพิพากษาศาลในคดีอาญา

23 พฤษภาคม 2561 ผมกับลูกเดินทางมาที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ผู้ไกล่เกลี่ยอ้างว่าเป็นการทำร้ายแบบธรรมดา สามารถอภัยกันได้ (แต่อันที่จริงเป็นการซ้อมทรมานโดยใส่กุ

แจมือไขว้หลัง ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว ทุบตีอย่างโหดร้าย ทำให้ทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ) จำเลยที่ 3 ยินดีบวชให้ 1 พรรษา จำเลยที่ 4 บวชให้ 1 เดือน แต่ผมรู้สึกว่าจำเลยทั้งสองมิได้ยอมรับและสำนึกผิดแต่อย่างใด สุดท้ายการไกล่เกลี่ยโดยผู้ไกล่เกลี่ยของศาลไม่ประสบผลศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 7 ในขั้นไต่สวนมูลฟ้อง เพราะข้อหาตบหัวลูกชายผมเป็นเพียงข้อหาลหุโทษ ที่ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 7 จึงฟ้องกลับ เข้าทำนอง “ฟ้องแก้เกี้ยว” ในข้อหาว่าลูกผมฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ

  • ก้าวที่หก : การตัดสินคดีความนายตำรวจ 7 คน

28 กันยายน 2561 ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดจริง ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เพราะมีเหตุควรให้สงสัย ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี ปรับ 12,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 8.000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ยืนตามศาลขั้นต้นและไม่อนุญาตให้ฎีกา

  • ก้าวที่เจ็ด : การต่อสู้ในฐานะจำเลย

ในคดีที่จำเลยที่ 7 ฟ้องกลับลูกชายผม ศาลพิพากษาว่าลูกชายผมมีความผิดจริง โทษฐานฟ้องเท็จ จำคุก 2 ปีปรับ 40,000 บาท โทษฐานเบิกความเท็จ จำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท ผมช็อกไปชั่วขณะ ตำรวจที่ซ้อมทรมานลูกผมแทบตายต้องโทษน้อยกว่าลูกผมที่ถูกฟ้องกลับเนื่องจากไปฟ้องตำรวจคนหนึ่งว่าตบหัวและศาลยกฟ้องเพราะเป็นคดีลหุโทษที่ขาดอายุความ กลับถูกลงโทษจำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท ต่อมาลูกชายผมยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับตำพิพากษาศาลขั้นต้น ลูกชายผมไม่มีความผิดและให้คดีนี้ถึงที่สุด

  • ก้าวที่แปด : ว่าด้วยความผิดของนายเชษฐ์

19 พฤษภาคม 2560 ผมกับลูกชายได้ยื่นฟ้องนายเชษฐ์ ฐานให้การที่เป็นเท็จต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ท. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลขั้นต้นพิพากษาว่าคดีไม่มีมูลเพราะจำเลยให้การไปตามข้อมูลที่ตนรู้เห็นมา เราสองพ่อลูกได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับศาลขั้นต้นและชี้ว่าคดีมีมูล ศาลจึงเริ่มพิจารณาคดี ปรากฏว่า “จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่เคยให้การปฏิเสธไว้ตามฟ้อง และขอให้การใหม่เป็นว่า ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์” ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท จำเลยสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งและโทษจำให้รอลงอาญา

  • ก้าวที่เก้า : กรรมตามทันพี่สาวนางวิ

อัยการได้ยื่นฟ้องพี่สาวนางวิ ฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน โดยลูกชายผมขอเป็นโจทก์ร่วม พี่สาวนางวิ กลับคำให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำให้รอลงอาญา

ส่วนคดีนางวิ ศาลรอผลการพิพากษาคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ทีมทนายจึงขอให้ศาลดำเนินคดีค่อไป

12 ปีของการต่อสู้

ทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดแก่ลูกชาย ผมยังคงรู้สึกเจ็บปวด หาทางทุกวิถีทางที่จะดับไฟร้อนที่สุมอยู่ในอก และผมได้ค้นพบว่า เรื่องราวที่เป็นอธรรมอาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าสู้ แต่การจะเข้าถึงกระบวนการนี้ได้ จำเป็นที่ผมจะต้องรู้กฎหมายเสียก่อน ผมจึงใช้เวลาทุก ๆ วันเพิ่มพูนความรู้เรื่องกฎหมาย ตั้งใจว่าจะผันตัวเองสู่การเป็นนักกฎหมายชาวบ้าน

ผมหวังว่าการซ้อมทรมานและความอยุติธรรมอื่น ๆ จะลดน้อยถอยไป ผมหวังว่าเราจะมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในไม่ช้า

ส่วนข่าวดีสำหรับครอบครัวผมก็คือ ลูกชายผมพบเนื้อคู่ ตอนนี้พวกเขามีลูกสองคน หญิงคน ชายคน ลูกชายผมค่อย ๆ ฟื้นฟูจิตใจ มาช่วยกันหารายได้โดยการขายอะไหล่รถจักรยานยนต์กับน้องชาย ตอนนี้ช็อปบอกว่า เขาชอบถ่ายภาพ ภาพถ่ายสามารถสะท้อนความรู้สึกบางอย่างออกมาแทนการพูด ช็อปบอกว่า “กล้องอาจจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเยียวยาจิตใจผมได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image