สัตว์ประหลาด อากาศยาน และราคาของชีวิตมนุษย์ โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

“ก็อดซิลล่า” ภาคใหม่ล่าสุดของปีนี้ หรือ Shin Godzilla กลายเป็นหนังที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในหมู่นักวิชาการและผู้นิยมเรื่องการบ้านการเมืองแบบปากต่อปาก

แม้ว่า “หน้าหนัง” จะถือว่าเป็น “หนังสัตว์ประหลาด” แต่ก็มีความแปลกใหม่ในการดำเนินเรื่อง และแม้แนวของหนังจะเป็นหนังที่ไม่มีวันจะ “จริง” ไปได้เด็ดขาด (หวังว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีสัตว์ประหลาดตัวใหญ่กว่าตึกระฟ้าโผล่ขึ้นมากลางอ่าวโตเกียว อ่าวไทย หรือทะเลที่ไหน) แต่ผู้สนใจเรื่องการเมือง การทหาร และการต่างประเทศที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างก็ยอมรับในความ “สมจริง” ของมัน-ความสมจริงในแง่ของกลไกและอำนาจรัฐเมื่อต้องรับมือกับสภาวะฉุกเฉิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เริ่มต้นเหมือนหนังสัตว์ประหลาดทั่วไป คืออยู่ดีๆ ก็เกิดพิบัติภัยที่หาสาเหตุไม่ได้ ก่อนที่เจ้าตัว “สาเหตุ” นั้นจะค่อยๆ โผล่พ้นน้ำมาเป็นสัตว์ประหลาดยักษ์ ถ้าเป็นหนังแนวนี้ทั่วๆ ไป จากนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายมนุษย์จะต้องจัดกองทัพออกมาต่อสู้เพื่อป้องกันหรือขับไล่เจ้าสัตว์ประหลาดนั้นด้วยอาวุธหนักที่สุดเท่าที่กองทัพมนุษย์จะมีจะจัดหามาได้ เมื่อพบว่าสู้ไม่ไหวก็อาจจะสร้างอาวุธใหม่ขึ้นมา เป็นหุ่นยนต์ยักษ์เพื่อต่อสู้ หรือไม่ก็สวดมนต์รอให้มียอดมนุษย์เบอร์เดียวกันมาช่วยจัดการเจ้าสัตว์ประหลาด

แต่สำหรับเจ้า Shin Godzilla ตัวนี้ เราจะได้เห็น “กลไกของรัฐ” ก่อนที่กระสุนนัดแรกจะลั่นออกไปใส่สัตว์ประหลาดยักษ์ที่ตัวใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ภาพที่ตัดสลับให้เราได้เห็นระหว่างการอาละวาดของเจ้าสัตว์ยักษ์ คือการทำงานของ “ระบบราชการ” และ “ระบอบประชาธิปไตย” ในการรับมือกับภัยคุกคามที่ไม่อาจคาดหมายได้ สะท้อนผ่านการทำงานของข้าราชการและฝ่ายการเมืองแบบญี่ปุ่นๆ เห็นภาพการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของแต่ละกระทรวง และการรับผิดชอบทางการเมือง ตลอดจนถึงนโยบายความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ

Advertisement

สมจริงจนคนที่ดูหนังเรื่องนี้หลายคนแอบจินตนาการว่า ถ้าเกิดจะมีสัตว์ประหลาดยักษ์แหวกว่ายมาจากอ่าวไทย โผล่ขึ้นกลางแม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง “ระบบราชการ” และ “การเมืองไทย” จะรับมือกับเจ้าตัวนี้ได้อย่างไร

สิ่งสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราได้เห็นจากหนังเรื่องนี้ที่อาจจะถือเป็นการสะท้อนค่านิยมและการตัดสินใจทางการเมืองของ “ประเทศที่เจริญแล้ว” ประการหนึ่ง คือหลักการที่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม รัฐจะต้องไม่ลั่นกระสุนใส่ประชาชน แม้แต่มีความเสี่ยงเพียงน้อยเดียวที่ประชาชนอาจจะถูกลูกหลงจากการใช้อาวุธของฝ่ายรัฐ ปฏิบัติการที่ใช้อาวุธอันสุ่มเสี่ยงนั้นจะต้องยกเลิกในทันที

ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติหรือตัดสินใจให้ใช้อาวุธใส่ก็อดซิลล่า จึงต้องแน่ใจว่าพื้นที่ที่จะกลายเป็นสมรภูมินั้น “จะต้องไม่มีประชาชนหลงเหลืออยู่แม้แต่คนเดียว” และปรากฏในฉากสำคัญฉากหนึ่งในเรื่อง ที่สะท้อนถึงหลักการรับรองคุณค่าในชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

Advertisement

การตัดสินใจเช่นนี้ออกจะแปลกอยู่มาก หากมองถึงหลักการเรื่องประโยชน์ส่วนใหญ่ต่อประโยชน์ส่วนน้อย นั่นคือรัฐบาล (ในภาพยนตร์) นั้น ป้องกันชีวิตคนเพียงคนหรือสองคน ต่อภัยคุกคามที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับหมื่น การละเว้นจากการ “หยุดยั้ง” ภยันตรายนั้นอาจจะทำให้ชีวิตอีกเป็นหมื่นเป็นแสนมีความเสี่ยงจะต้องถูกทำลายเพราะการอาละวาดของสัตว์ยักษ์ หรือแม้แต่ว่ามนุษย์คนสองคนที่ได้รับการ “ปกป้อง” นั้นก็เถิด อีกไม่นานก็อาจจะเป็นอีกชีวิตที่ต้องเสียไปเพราะการก้าวย่ำไปหรือสะบัดหางของเจ้าก็อดซิลล่าก็ได้

สถานการณ์ในภาพยนตร์ในตอนนี้ทำให้ระลึกไปถึงคดีรัฐธรรมนูญเยอรมันเรื่องหนึ่งในปี 2006 หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารและใช้เครื่องบินนั้นต่างอาวุธเข้าโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ประเทศเยอรมนีก็ได้มีการตรารัฐบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของอากาศยานขึ้นจากบทเรียนดังกล่าว

สาระของรัฐบัญญัตินี้ประการหนึ่ง คือการให้อำนาจกองทัพ ในกรณีที่เห็นได้ชัดเจนหรืออาจสรุปได้ว่า เครื่องบินพาณิชย์ใดถูกใช้เพื่อก่อการ เพื่อคุกคามชีวิตมนุษย์ ก็ให้อำนาจฝ่ายกลาโหมออกคำสั่งให้ยิงทำลายเครื่องบินเครื่องนั้นได้เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว

มีผู้นำเรื่องนี้ขึ้นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การที่รัฐบัญญัตินี้ให้อำนาจยิงเครื่องบินพาณิชย์ ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่นั้นได้ เป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนบนเครื่องบินลำนั้น ด้วยเท่ากับว่าเป็นการมองชีวิตพลเรือนคือผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่องเป็น “วัตถุ” ที่อาจทำลายได้ รัฐบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องนี้ก็น่าคิดเหมือนฉากสำคัญในเรื่องก็อดซิลล่าว่า เพราะหากมีเหตุจี้เครื่องบินเพื่อนำไปใช้เป็น “อาวุธ” เพื่อโจมตีเป้าหมายอันจะเป็นการทำลาย “ชีวิตมนุษย์อื่น” ต่อให้ทางภาครัฐนั้นไม่ยิงทำลายเครื่องบินลำนั้น ผู้คนในเครื่องบินนั้นก็คงจะต้องเสียชีวิตลงแน่นอนอยู่ดี และอาจจะคร่าชีวิตผู้อื่นตามมาด้วยอีกเช่นกัน จะดีกว่าหรือไม่หากจะมองว่า “สละ” ชีวิตของคนในเครื่องนั้น (ที่ยังไงเสียก็คงจะต้องเสียอยู่แล้ว) เพื่อรักษาชีวิตอื่น

แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่ารัฐสามารถที่จะมองว่า “ชีวิตคน” เป็นต้นทุนของรัฐได้แบบหนึ่ง แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า “วิธีคิด” แบบนี้จะไม่ถูกนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นด้วย เช่น ในกรณีที่การรักษาชีวิตของใครสักคนมีราคาสูงเกินไป ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาเพื่อจะได้รักษาชีวิตคนอื่นอีกสัก 5 ชีวิต หรือในกรณีเกิดโรคระบาดขึ้น วิธีง่ายๆ ที่จะหยุดยั้งโรคคือจับคนที่เป็นโรคนั้นมากำจัดให้หมด เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ วิธีคิดเรื่อง

“ความคุ้มค่าของการเอาชีวิตส่วนน้อยแลกกับชีวิตส่วนมาก” มันพาไปสู่จุดนี้ได้ทั้งสิ้น

ถ้าหากการคร่าชีวิตของพวกเขานั้น เกิดขึ้นเพราะ “ภัยคุกคาม” ภายนอก มิใช่จากความจงใจหรือเล็งเห็นผลของ “อำนาจรัฐ” นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับ “รัฐ” แล้วต้องยึดถือหลักการว่าชีวิตมนุษย์แม้แต่ชีวิตเดียวก็ไม่สามารถเอามาคิดแบบขาดทุน-กำไรได้

นี่จึงเป็นสิ่งที่ประเทศที่เคารพและให้คุณค่าต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เขายึดถือไว้อย่างมั่นคงเคร่งครัด

ฉากเล็กๆ ในหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ และแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (ต่างประเทศ) จึงสะท้อนถึงความงดงามของคุณค่าความเป็นมนุษย์และหน้าที่ของรัฐผู้เจริญแล้วเช่นนี้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image