หัวอก‘พี่ป้อม’

สํานวนไทยที่ว่า “รักพี่เสียดายน้อง” น่าจะตรงกับการเมืองไทยในเวลานี้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ใน

ยามที่เกิดความรู้สึกลังเลใจ-ตัดสินใจไม่ถูก ที่จะเลือกอย่างไหนดี เพราะชอบทั้ง 2 อย่าง

หนึ่ง น้องรักบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยสนับสนุนปลุกปั้นจนได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก และต่อมาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร สืบทอดอำนาจต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งรวมเวลาแล้วก็เกือบ 8 ปี

หนึ่ง ผู้กอง ธรรมนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่แม้จะอ่อนเยาว์ด้านอายุและตำแหน่งทางทหาร แต่มีตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ ดร.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค

Advertisement

อาจกล่าวได้ว่า ทั้ง “ผู้กองธรรมนัส” และ “อาจารย์แหม่ม” เปรียบเสมือน “พี่” เพราะนอกจากมีตำแหน่งสำคัญในพรรค ยังมีพวกมีพ้อง ส.ส.เป็นกลุ่มก้อนอยู่ในพรรคพลังประชารัฐอยู่จำนวนหนึ่ง

ซึ่งเป็น “พลัง” ทางการเมือง ทำให้น้องรักบิ๊กตู่อยู่ในอำนาจเป็นผู้นำรัฐบาลได้ ล่าสุดมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เข้ามาสมทบอีกคนรับตำแหน่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค

“บิ๊กป้อม” ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย่อม “กระอักกระอ่วน” และ “ลำบากใจ” ยิ่งนัก

เมื่อน้องตู่ “ปลดฟ้าผ่า” (ไล่ออก) ผู้กองธรรมนัส และอาจารย์แหม่ม พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยไม่ฟังเสียงหรือเห็นแก่หน้า “พี่ป้อม”

ถือสิทธิที่ตัวเองเป็นนายกฯ มีอำนาจเด็ดขาดไม่ต้องฟังเสียงทัดทานจากใคร

“หัวอก” พี่ป้อม ซึ่งมีอายุมากแล้ว จะเดินจะเหินไม่ค่อยคล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน การพูดการจาการขอร้องการตักเตือนน้องอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนในอดีต

น้องตู่เองเมื่อมีอำนาจสูงสุดก็อาจหลงลืมตัว ไม่ฉุกคิดถึงวันวานที่ผ่านมา

แรงปรารถนาแห่งหัวใจ “พี่ป้อม” คือเป็นรองนายกรัฐมนตรีไปจนครบวาระ โดยมี “น้องตู่” เป็นนายกฯ

ไม่ต้องการให้ผู้กองธรรมนัส อาจารย์แหม่ม แยกตัวออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ

อย่าลืมว่าเรื่องของการเมืองนั้น ตราบเท่าที่ยังประนีประนอม ประสานประโยชน์กันได้ทุกอย่างก็จะดำเนินต่อไป สายสัมพันธ์ก็ไม่ขาดสะบั้นกันขั้นแตกหักจนต้องแยกไปคนละทาง

แต่สิ่งที่พี่ป้อมตอบไม่ได้และแก้ไม่ตกคือจะทำอย่างไรจึงจะให้เลขาธิการพรรคมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการสำคัญในรัฐบาลน้องตู่ รวมทั้งอาจารย์แหม่มก็ควรมีตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย

หนึ่ง การปล่อยให้รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ และรัฐมนตรีช่วยแรงงาน ว่างอยู่ เพราะนายกฯน้องตู่ไม่ยอมตั้ง ย่อมทำให้พี่ป้อมซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพูดไม่ออก ตอบกับลูกพรรคไม่ได้ การประสานประโยชน์ให้ ส.ส.พึงพอใจไม่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มของผู้กองธรรมนัส ซึ่งสามารถ “ชี้เป็นชี้ตาย” สถานการณ์เป็นนายกฯของบิ๊กตู่

หนึ่ง พี่น้อง “2 ป.” คุยกันหรือยัง จะกอดคอเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่!?

หรือว่า “พี่ป้อม” พอแล้ว!

และบิ๊กตู่ล่ะจะเอาไง จะสู้…สู้ต่อไปอีก โดยที่ไม่ต้องมีพี่ป้อมก็ได้…หรือไม่?

หนึ่ง หรือว่าจากนี้มีความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง “อีกหลายฉาก” ที่จะกระทบกับสถานะของนายกฯประยุทธ์ จะต้องมีเหตุให้สะดุดหยุดลงก่อน หรือนี่เป็นกลยุทธ์ “ลับ ลวง พราง” แยกกันเดิน-รวมกันตี

ถ้าตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ความคลุมเครือ ความสับสนก็ไม่เกิด ศึกใหญ่เฉพาะหน้าของ พปชร.คือ การรับมือกับการเลือกตั้ง “นายก อบต.” และ “สมาชิก อบต.”

และ “ศึกใหญ่” ของ “รัฐบาล” บิ๊กตู่ คือ “สภา” ที่จะเปิดอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย.2564-28 ก.พ.2565

ช่วง “เปิดสภา” นี่แหละ มือของ ส.ส. เสียงของ ส.ส. ปฏิกิริยาของ ส.ส. จะมีความหมายต่อ “เก้าอี้” นายกฯ ของบิ๊กตู่!?!

ศุกร์ มังกร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image