ศบค.ไฟเขียวขยับเคอร์ฟิว ยืดนั่งกินในร้าน-เล่นดนตรี

หมายเหตุ ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ผอ.ศบค. มีมติต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกไปอีก 2 เดือน ปรับมาตรการป้องกันและการควบคุมโรค พร้อมคลายล็อก 10 กิจการ/กิจกรรม พื้นที่สีแดง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

ที่ประชุม ศบค.พิจารณาขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในคราวที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อันเนื่องมาจากการเตรียมการการเปลี่ยนผ่านก่อนการประกาศใช้พระราชกำหนดโรคติดต่อ ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อจัดเตรียมหน่วยงานที่จะมารับช่วงต่อ ศบค. และบูรณาการกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ที่จะต้องปรับรูปแบบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

การปรับมาตรการป้องกันและการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่การเสนอปรับมาตรการกิจการที่ปิดตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 เน้นที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 10 กิจการ/กิจกรรม คือ

Advertisement

1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน เปิดดำเนินการได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม. โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติ 2.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชน และบ้านหนังสือ 3.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาน 4.ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมหรือหอศิลป์ ให้เปิดได้จำกัดจำนวนเช่น 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หรือให้เข้าชมได้ไม่เกิน 75% (ตามกำหนด) สวมหน้ากากตลอดเวลาห้ามรับประทานอาหารให้เคร่งครัดมาตรการ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะไปจัดทำแนวปฏิบัติออกมา 5.ร้านทำเล็บ เปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้า

6.ร้านสักเปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้าลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมีผลตรวจ ATK/RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติ 7.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (นวด/สปา) เปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้า จำกัดเวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน สามารถเปิดบริการที่ใช้น้ำเพื่อสุขภาพในกิจการสปา ภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 (ลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือมีผลตรวจ ATK/RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง) ทั้งนี้ ยังไม่เปิดบริการอบไอน้ำ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติ

8.ธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือฉายภาพยนตร์ เปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. ลดจำนวนเหลือ 50% และนั่งที่เว้นที่ แต่ถ้ามาด้วยกันให้นั่งด้วยกันได้ สวมหน้ากากตลอดเวลา ไม่รับประทานอาหาร กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ออกแนวปฏิบัติ 9.การเล่นดนตรีในร้านอาหาร เปิดดำเนินการได้ จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 5 คน นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา นักร้องถอดหน้ากากอนามัยเฉพาะเวลาร้องเพลงหรือแสดง ห้ามสัมผัสคลุกคลีกันระหว่างนักร้อง นักดนตรี และลูกค้า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติ 10.ศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ยังไม่เปิดดำเนินการให้มีการติดตามสถานการณ์ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่และมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดแนวปฏิบัติ

นอกจากนี้ มีการพูดคุยเรื่องการเปิดแสดงมหรสพ โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค. ได้มีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไปทำรายละเอียดเพื่อให้เกิดการกำหนดมาตรการประกอบกิจการกิจกรรมได้

ข้อเสนอการปรับเงื่อนไขมาตรการสำหรับกิจการ/กิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ 1.การห้ามออกนอกเคหสถานปรับเป็น 22.00 น. ถึง 04.00 น. ใช้ดำเนินการอย่างน้อย 15 วัน 2.ศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. ให้เปิดสถาบันกวดวิชาได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม. ให้เปิดโรงภาพยนตร์ สปา ห้องออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ได้ตามแนวทางที่กำหนด ทั้งนี้ ยังไม่เปิดดำเนินการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ และห้องประชุม/จัดเลี้ยง 3.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด (เฉพาะจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค) เปิดดำเนินการได้ถึง 21.00 น. และ 4.ประเภทกีฬากลางแจ้งหรือในร่มที่เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ หรือประเภทกีฬาในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศ เปิดดำเนินการได้ทุกประเภทกีฬาไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดสถานที่และประเภทกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่มจัดแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชม กรณีประเภทกีฬากลางแจ้ง จัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมไม่เกิน 25% ของความจุสนามผู้ชมได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK/RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ กรณีมีการแข่งขันให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม.

การสรุปสถานะสีของแต่ละพื้นที่ยังคงเดิมคือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด แม้จะคงพื้นที่แบบเดิม แต่ก็มีการปรับในรายละเอียดบ้างก็ขอให้ผู้ประกอบกิจการกิจกรรมเข้าไปดูรายละเอียดมาตรการที่ปรับเปลี่ยนใหม่ แต่ทั้งนี้ก็อยากจะให้คงมาตรการควบคุมแบบครอบจักรวาลไว้ ให้คิดว่าทุกคนติดเชื้อไว้ก่อน เพื่อให้คงกิจการกิจกรรมของตัวเองไว้ให้นานที่สุด โดยที่ประชุม ศบค.ก็เห็นชอบตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำว่าจะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปใช้พระราชกำหนดโรคติดต่อฉบับแก้ไข

ศบค.เห็นชอบปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร คือ การปรับลดระยะเวลาในการกักกัน การปรับลดระยะเวลาการกักกันสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่ได้รับการกักกันในสถานที่กักกันทุกรูปแบบทุกประเภท รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่อง ด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564 (ผู้ที่เดินทางมาถึงก่อน 1 ตุลาคม แต่ยังไม่ครบ 14 วัน ให้ใช้เงื่อนไขแบบไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน) มีเงื่อนไขดังนี้ คือ 1) กลุ่มมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วัน ใช้สำหรับผู้ที่เข้ามาทุกช่องทาง ส่วนกรณีทางน้ำต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนทุกคน โดยต้องกักตัวหรือเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วัน ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่มาถึง (Day 0-1) และ ครั้งที่สอง Day 6-7 2) กลุ่มที่ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ หากมาทางอากาศ หรือทางน้ำ (กรณีมีคนใดคนหนึ่งบนเรือไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน) ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่มาถึง (Day 0-1) และ ครั้งที่สอง Day 8-9 ส่วนทางบก (เนื่องจากไม่มีการตรวจหาเชื้อมาก่อนและมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าทางอากาศ) ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่มาถึง (Day 0-1) และครั้งที่สอง Day 12-13

นอกจากนี้ ยังมีการปรับมาตรการสำหรับการทำ กิจกรรมในสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด โดย AQ ให้สามารถออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (กรณีมีสถานที่ที่มีลักษณะปิดและควบคุมได้) การสั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกและการประชุมสำหรับนักธุรกิจเข้ามาระยะสั้น ส่วน SQ ให้ออกกำลังกายกลางแจ้งและสั่งซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอกได้

หลักเกณฑ์แผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 1.หลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 2.แผนงาน และแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงว่าในบางอำเภอไม่มีการติดเชื้อ โควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ 37 หรือวันที่ 12 ถึง 18 กันยายน 2564 จะเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นส่วนใหญ่ (อัตราการป่วย 1-5 คนต่อประชากร 1 แสนคน) ดังนั้น การระบายสีบนแผนที่กับสิ่งที่เป็นจริงจึงไม่ตรงกัน ฉะนั้น การเปิดกิจการกิจกรรมทั้งหลายต้องทำตามความเป็นจริง ซึ่งต้องมีขั้นตอนจังหวะ ช่วงเวลา และต้องผ่านการพิจารณาจากหลายชั้นหลายรอบ

จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในแต่ละระยะเวลา (สีฟ้า) ระยะนำร่องวันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 ที่เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มี 4 จังหวัดคือภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วงทับแขก) ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มี 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) และบุรีรัมย์ (อำเภอเมือง) ระยะที่ 2 วันที่ 1-31 ธันวาคม 2564 เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มี 20 จังหวัดคือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ระยะที่ 3 วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมี 13 จังหวัด คือ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

โดยพื้นที่สีฟ้าสามารถทำได้คล้ายกับพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เฝ้าระวังคือ สามารถจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน ตามมาตรการที่ราชการกำหนด หรือบริโภคในร้านอาหารได้ ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ หากนำไปปฏิบัติแล้วไม่เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็จะนำปฏิบัติต่อไป

โดยจากมติที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 แนะนำว่าการฉีดวัคซีน
ซิโนฟาร์มแบบสูตรไขว้อาจใช้หลักการเดียวกับวัคซีนซิโนแวคคือ 1.ซิโนฟาร์มกับไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์ 2.ซิโนฟาร์มกับแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์ 3.ซิโนฟาร์มกับซิโนฟาร์มกระตุ้นด้วยแอส
ตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 4.ซิโนฟาร์มกับซิโนฟาร์มกระตุ้นด้วย ไฟเซอร์ ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 ดังนั้น การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มแบบสูตรไขว้ จึงยังไม่กำหนดเป็นสูตรหลักของประเทศ แต่สูตรนี้เป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนอนุญาตการใช้วัคซีนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามความสมัครใจของผู้รับวัคซีน และดุลพินิจของผู้ให้บริการ

ศบค.มีแผนการจัดหาวัคซีน ที่ภายในปี 2564 จะมีการจัดหาได้ 178.2 ล้านโดส โดยในเดือน กันยายน รับเข้ามาแล้วทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ทั้งหมด 16.3 ล้านโดส และเตรียมรับของซิโนฟาร์มอีก 10 ล้านโดส เดือนตุลาคม จะเข้ามาอีกทั้งหมด 24 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีก 6 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายน เข้ามาอีก 23 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอีก 6 ล้านโดส และเดือนธันวาคมเข้ามาอีก 24 ล้านโดส ซิโนฟาร์มอีก 12.5 ล้านโดส และโมเดอร์นา อีก 2 ล้านโดส รวมวัคซีนที่จะเข้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม ทั้งหมด 50 ล้านโดส และเมื่อรวมกับที่เข้ามาก่อนหน้านี้ 126.2 ล้านโดส ก็จะเป็น 178.2 ล้านโดส ตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า ประเทศในสหภาพยุโรป พร้อมขายต่อวัคซีนให้ในราคาถูกที่ต่ำกว่าตลาด คือ ประเทศสเปน ขายแอสตร้าเซนเนก้า 165,000 โดส ในราคาโดสละ 2.9 ยูโร และไฟเซอร์ 2,788,110 ล้านโดส ราคาโดสละ 15.5 ยูโร ประเทศฮังการี ขายแอสตร้าเซนเนก้า 4 แสนโดส ราคาโดสละ 1.78 ยูโร โดยมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร่วมด้วยคือ ค่าบรรจุภัณฑ์ และที่ควบคุมอุณหภูมิ ค่าขนส่ง ค่าภาษีศุลกากรขาออก-ขาเข้า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าประกันความเสียหาย

โดยเป้าหมายและแผนการจัดสรรวัคซีนในปี 2564 โดยในเดือนตุลาคม ตั้งเป้าฉีดให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด รวมชาวต่างประเทศในประเทศไทย อย่างน้อยร้อยละ 50 ทุกจังหวัด และอย่างน้อย 1 อำเภอ ครอบคลุมร้อยละ 70 เดือนพฤศจิกายน ครอบคลุมผู้ได้รับเข็ม 1 อย่างน้อยร้อยละ 70 รวมถึงกลุ่มอายุ 12-17 ปีและเดือนธันวาคม ครอบคลุมผู้ได้รับเข็ม 1 และเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 80 และ 70 ตามลำดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image