ลลิตา หาญวงษ์ : 33 ปี พรรค NLD ไปต่อหรือหยุดแค่นี้ ?

ลลิตา หาญวงษ์ : 33 ปี พรรค NLD ไปต่อหรือหยุดแค่นี้ ?

เดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นเดือนที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองพม่าร่วมสมัย เป็นเสมือนหมุดหมายของกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นต้นกำเนิดของพรรคการเมือง ที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบพม่า นั่นคือพรรค NLD หรือพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ พรรค NLD มีจุดกำเนิดจากการลุกฮือของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนตามเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเน วิน ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1962 หรือ 26 ปีพอดีในปีนั้น ท่ามกลางความวุ่นวายในหน้าฝนปี 1988 พรรค NLD ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของอดีตนักโทษการเมือง และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่ไปชักชวนให้ออง ซาน ซูจี บุตรสาวของนายพลออง ซาน วีรบุรุษแห่งชาติพม่า ที่บังเอิญข้ามน้ำข้ามทะเลจากอังกฤษกลับมาเยี่ยมมารดาที่ป่วยหนัก เข้ามาเป็นแกนนำคนหนึ่งในพรรค ตั้งแต่วันแรกที่เธอกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนหลายแสนที่รอไปฟังเธอที่ลานเจดีย์ชเวดากอง ออง ซาน ซูจี กลายเป็นเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ประชาชนพม่าต่างโหยหา

การประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988 นั้นจบลงด้วยชัยชนะส่วนหนึ่งของประชาชน เพราะนายพลเน วิน ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ ปล่อยให้นายทหารกลุ่มใหม่ภายใต้การนำของนายพลซอ หม่อง เข้ามารับไม้ต่อ ระบอบเผด็จการทหารยยังคงมีอยู่ต่อไป แต่อย่างน้อยนายทหารกลุ่มใหม่ในนาม SLORC นี้ก็ต้องการพิสูจน์ตัวเอง และมองว่าพวกของตนน่าจะได้รับความนิยมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเคยชินของประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาเกือบ 30 ปี หรือเพราะโฆษณาชวนเชื่อที่กองทัพพร่ำบอกตลอดมาว่ากองทัพคือเรี่ยวแรงหลักที่จะปกป้องไม่ให้พม่าเข้าสู่ยุคมิคสัญญี และสงครามกลางเมืองที่รุนแรงกว่านี้

SLORC จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1990 และผลที่ออกมาก็พิสูจน์ว่าประชาชนไม่ต้องการกองทัพอีกต่อไปแล้ว พรรค NLD ได้รับเสียงแบบถล่มทลาย แต่ด้วยความที่กองทัพไม่ได้คาดคิดว่าตนจะได้คะแนนเสียงต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนี้ จึงใช้วิธีง่ายๆ แบบที่เผด็จการทั่วโลกเขาทำกัน คือประกาศให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งกระบิ และไม่ยอมมอบอำนาจไปให้ NLD ที่เป็นผู้ชนะ นอกจากไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งแล้ว SLORC ยังไปกดดันผู้นำในพรรค NLD อย่างอู อ่อง ฉ่วย (U Aung Shwe) ประธานพรรค ให้ขับแกนนำพรรคคนอื่น โดยเฉพาะด่อ ออง ซาน ซูจี, อู ติน อู (U Tin Oo) และ อู จี หม่อง (U Kyi Maung) ออกจากพรรค มิเช่นนั้น SLORC จะสั่งให้ยุบพรรค NLD

ในระหว่างนี้ ผู้นำส่วนใหญ่ของ NLD ถูกควบคุมตัว บางคนถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และมีอีกหลายคนที่ถูกซ้อมทรมานอย่างรุนแรง และถูกควบคุมตัวในเรือนจำสำหรับนักโทษการเมือง โดยเฉพาะเรือนจำอินเส่ง ชานเมืองย่างกุ้ง ออง ซาน ซูจี ถูกควบคุมตัวอยู่ 15 ปี ระหว่างปี 1989-2010 เมื่อรัฐบาลทหาร (เปลี่ยนชื่อจาก SLORC ในปี 1997) จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 พรรค NLD มีมติบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม แต่อย่างน้อยที่สุด หลังการเลือกตั้งปี 2010 และการขึ้นมาของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากพรรค USDP พม่าก็พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง เริ่มมีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ในด้านการเมืองและการจัดการความขัดแย้ง รัฐบาลเต็ง เส่ง ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ที่ในขณะนั้นยังมีนายพลตาน ฉ่วย กุมบังเหียนอยู่ อิทธิพลของกองทัพพม่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย แม้ที่ผ่านมา รัฐบาล NLD จะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเจรจากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หาจุดสมดุล เพื่อที่สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 70 ปี จะได้จบลงเสียที แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

Advertisement

รัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตอกย้ำว่ากองทัพไม่ต้องการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปใดๆ ทั้งสิ้น ที่ผ่านมา ความพยายามปฏิรูปเป็นเหมือนการทดลองตามให้ทันกระแสของโลก และส่วนหนึ่งอาจมาจากความกลัวว่าผู้นำในกองทัพพม่าอาจ “จบไม่สวย” เหมือนกับผู้นำเผด็จการในแอฟริกาและโลกอาหรับ ทั้ง กัดดาฟี ในลิเบีย ซัดดัม ฮุสเซน ในอิรัก และฮอสนี มูบารัค ในอียิปต์ แต่ในท้ายที่สุด สิ่งที่กองทัพพม่ากลัวจริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องการ “จบไม่สวย” แต่เป็นความกลัวการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ระดับ และกลัวว่าหากอำนาจและการตัดสินใจไปอยู่ในมือพลเรือนแล้ว “ชาติ” ที่กองทัพได้ฟูมฟักมาก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ ลองไปถามคนในกองทัพพม่าดูว่า “ชาติ” ที่พวกเขารักและหวงแหนหนักหนาคืออะไร คำตอบที่ได้คงไม่พ้นชาติที่เป็นปึกแผ่น สงบสุข มีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กันอย่างเป็นปกติสุข ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพ “ชาติ” ในความหมายของ NLD ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง และแตกต่างออกไป “ชาติ” ในความคิดของผู้บริหาร NLD ในวันแรกที่รับตำแหน่งก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป และพวกเขาได้เห็นลีลาผาดโผนของกองทัพพม่าแล้ว “ชาติ” ก็จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ว่าชาติจะเป็นอย่างไร สำหรับกลุ่มบุคคลหลากหลายกลุ่ม แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน พม่ากำลังจะกลับไปเป็น “ชาติ” เดิมๆ ในยุคของ BSPP ภายใต้นายพลเน วิน หรือในจินตนาการของ SLORC และ SPDC มากกว่าชาติของประชาชน ของกลุ่มชาติพันธุ์ และของนักการเมืองฝ่าย NLD

เมื่อการเมืองของประชาชนฝากความหวังไว้ที่ NLD มาโดยตลอด NLD จึงเป็นเพียงพรรคการเมืองในฝั่งประชาธิปไตยเพียงพรรคเดียวที่พอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และประชาชนเอง แม้จะเป็นในพื้นที่ของพรรคกลุ่มชาติพันธุ์ ก็พร้อมใจกันเลือก NLD เข้าไป เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2012 เพราะเชื่อว่า NLD แตกต่างและจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้จริง การขาดพรรคการเมืองทางเลือก อย่างพรรคกรีนในเยอรมนี หรือพรรคลิเบอรัลเดโมแครตอย่างในอังกฤษ ทำให้การเมืองของพม่าเป็นอัมพาตเมื่อเกิดวิกฤตกับพรรค NLD ขึ้น และแนวโน้มในอนาคตคือกองทัพพม่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นพรรค NLD ถ้าไม่ใช่ผ่านการยุบพรรคเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็จะเป็นการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด (เหมือนที่เคยเกิดในประเทศไทยเช่นกัน) ในปัจจุบัน ผู้นำพรรคอย่างด่อ ออง ซาน ซูจี ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ และไม่มีใครรู้ว่าเธอและผู้นำพรรคอีกหลายคนอยู่ที่ไหน

และยังมีแกนนำพรรคในท้องถิ่นที่ถูกซ้อมทรมานและเสียชีวิตไปแล้วจำนวนหนึ่ง การเมืองพม่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไป เป็นการลากยาวเพื่อให้กองทัพมีอำนาจอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะหลักใหญ่ของรัฐประหารครั้งนี้คือการให้กองทัพกุมอำนาจไว้ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสกัดกั้นไม่ให้พรรค NLD ลืมตาอ้าปากได้อีกในอนาคต

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image