สุจิตต์ วงษ์เทศ : หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว

พิธีแต่งงานของผู้ไทดำ จ. สุพรรณบุรี ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องไปไหว้ผีและเคารพญาติของฝ่ายเจ้าสาว [ภาพและคำบรรยายจาก หนังสือเพศสภาวะในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์) โดย ปรานี วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 91]

คำคล้องจองเก่าแก่ว่า “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว” มีมาครั้งไหน? ไม่มีใครบอกได้

แต่แสดงให้เห็นว่าสังคมดั้งเดิมของคนดึกดำบรรพ์ สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ หญิงมีอำนาจสูงกว่าชาย (ชายมีอำนาจบ้างเหมือนกัน แต่มีต่ำกว่าหญิง) แล้วเป็นรากเหง้าให้เรียกหญิงชายในพิธีแต่งงานว่า เจ้าสาว-เจ้าบ่าว

“เอาแฮงโต๋ ต่างควายนา” เป็นภาษาลื้อ (สิบสองพันนา) ถอดเป็นคำไทยว่า เอาแรงตัว ต่างควาย

เป็นคำพังเพยเพื่อจะอธิบายว่าประเพณีลื้อ เมื่อหญิงชายจะแต่งงานเป็นผัวเมียกัน ชายต้องไปทำงานรับใช้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านฝ่ายหญิง ต้องใช้แรงตัวเองของชาย ทำงานเหมือนควายให้ฝ่ายหญิง

Advertisement

ชาวขมุ ถือว่าบ้านไหนมีลูกสาว บ้านนั้นมั่งคั่งร่ำรวย เพราะต่อไปจะมีบ่าว คือชายมารับใช้ทำงานทำไร่ไถนาเพื่อเป็นเขย (อย่างนี้ทางปักษ์ใต้เรียก เขยอาสา ทางอีสานเรียก เขยสู่)

เมื่อชายเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิง เพื่อหวังจะแต่งงานเป็นผัวเมียต่อไปข้างหน้า ต้องยอมเป็นบ่าวรับใช้ไปจนกว่าเครือญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือหลายปีก็ได้ เช่น 5 ปี 10 ปีก็มี

ระหว่างนี้สังคมยุคนั้นยอมให้ “อยู่ก่อนแต่ง” ได้ แล้วมีลูกก็ได้ แต่ต้องเป็นบ่าวไพร่อยู่ในโอวาทฝ่ายหญิง จะทำขึ้นเสียงไม่ได้

Advertisement

นาง แปลว่า หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่ ใช้กับเพศหญิง (มีความหมายอย่างเดียวกับนายที่ใช้กับเพศชาย)

สาว หมายถึงวัยรุ่นหญิง

หนุ่ม หมายถึงวัยรุ่นชาย

เจ้าสาว หมายถึงหญิงที่เข้าพิธีแต่งงาน

เจ้าบ่าว หมายถึงชาย (ซึ่งเป็นหนุ่ม) ที่เข้าพิธีแต่งงาน

แต่ไม่เรียกเจ้าหนุ่ม ต้องเรียกเจ้าบ่าว เพราะต้องทำงานรับใช้เป็นขี้ข้าในบ้านสาว

ในพิธีส่งเข้าหอ เจ้าบ่าวต้องเดินเกาะหลังเจ้าสาวที่เดินนำหน้า (มีตำนานบันทึกในราชพงศาวดารกัมพูชา)

แล้วต้องเป็นเขยอยู่บ้านเจ้าสาว เพราะเจ้าสาวเป็นผู้รับมรดกบ้านกับที่ดิน และสืบสายตระกูล เจ้าบ่าวต้องรับใช้ในบ้านเจ้าสาวตลอดไป

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image