ศตวรรษแห่งความอัปยศของจีนเทียบเคียงกับของสยาม

ศตวรรษแห่งความอัปยศของจีนเป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายช่วงเวลาของการแทรกแซงและการสงครามที่ จักรวรรดิจีน และสาธารณรัฐจีนถูกมหาอำนาจตะวันตก, รัสเซีย และญี่ปุ่นข่มเหงรังแกฆ่าฟันคนจีนรวมทั้งย่ำยีอธิปไตยจีนและยึดครองดินแดนของจีน ในระหว่างปี พ.ศ.2382 ถึง พ.ศ.2492 โดยคำว่าศตวรรษแห่งความอัปยศของจีนเกิดขึ้นใน พ.ศ.2458 และเป็นที่นิยมใช้ของผู้นำจีนตั้งแต่หยวนชิไค ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน รวมทั้งผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนตลอดมา ล่าสุด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็กล่าวอ้างอิงถึงศตวรรษแห่งความอัปยศของจีนในสุนทรพจน์วาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ว่า

“คนจีนจะไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติกลั่นแกล้ง กดขี่ หรือกดขี่พวกเรา ใครก็ตามที่หาญกล้าทำเช่นนั้น หัวพวกเขาจะกระแทกโชกเลือดบนกำแพงเหล็กอันยิ่งใหญ่ที่สร้างด้วยเลือดและเนื้อของชาวจีน 1,400 ล้านคน”

ความพ่ายแพ้โดยอำนาจต่างชาติที่อ้างถึงเป็นส่วนหนึ่งของศตวรรษแห่งความอัปยศของจีน อาทิ

-แพ้สงครามฝิ่นครั้งแรกโดยรบกับอังกฤษ (พ.ศ.2382-2385)

Advertisement

-สนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน อาทิสนธิสัญญานานกิง, ไอกุน และชิโมโนเซกื

-แพ้สงครามฝิ่นครั้งที่สองโดยรบกับอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2399-2403)

-แพ้ สงครามจีน-ฝรั่งเศส (พ.ศ.2427-2528) สูญเสียอำนาจเหนือเวียดนามและอิทธิพลในคาบสมุทรอินโดจีน

Advertisement

-แพ้ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก (พ.ศ.2437-2438)

-พันธมิตรแปดชาติบุกจีนเพื่อปราบปราม การจลาจลของนักมวย (พ.ศ.2442-2544) และบังคับให้รัฐบาลจีนเสียค่าปฏิกรรมสงครามเกินกว่ารายได้ภาษีประจำปีของรัฐบาล

-อังกฤษส่งกำลังทหารไปยังทิเบต (พ.ศ.2446-2447)

– ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองแมนจูเรีย (พ.ศ.2474-2475)

– สงครามชิจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (พ.ศ.2480-2488)ในช่วงเวลาของศตวรรษแห่งความอัปยศนี้จีนประสบปัญหาต้องสูญเสียเกือบทั้งหมดของสงครามที่รบแพ้และถูกบังคับให้จ่ายเงินจำนวนมากเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม ต่องยอมเปิดเมืองท่าสำหรับการค้าของชาวต่างชวติ ให้เช่าหรือยกดินแดน เช่น แมนจูเรียรอบนอก และบางส่วนของ ตอนนอกทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนให้รัสเซีย ยกฮ่องกงให้อังกฤษ ยกไต้หวัน และต้าเหลียนให้ญี่ปุ่นเป็นต้น และให้สิทธิอธิปไตยอื่นๆ แก่ประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศ

ครับ ! สำหรับสยามประเทศนั้น อังกฤษก็ได้ข่มขู่บีบบังคับหลายต่อหลายครั้งแต่ก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ไม่ถึงกับถูกยึดครองไปเป็นเมืองขึ้นโดยครั้งแรกใน พ.ศ.2398 ในช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อ เซอร์จอห์น เบาว์ริง นำเรือปืนเข้ามาบีบบังคับประเทศสยามให้ยอมตกลงทำสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีเนื้อหาสาระที่สำคัญเหมือนกับสนธิสัญญานานกิง ซึ่งอังกฤษบังคับให้จีนยอมรับในฐานะ
ผู้แพ้สงครามฝิ่น ดังนี้ คือ

1) การอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาค้าฝิ่นได้อย่างเสรีในสยามและไม่ต้องเสียภาษี

2) คนในบังคับอังกฤษจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว

3) คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และคนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล

4) ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจนอัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ 3% ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

5) สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียวไม่ซ้ำซ้อนคือ ภาษีส่งออก โดยพ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง

6) รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือ และปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ

การข่มขู่ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2405 เมื่อ ลอร์ดจอห์น เฮย์ แห่งราชนาวีอังกฤษนำเรือปืนเข้ามาที่กรุงเทพฯอย่างหน้าตาเฉยทำนองท้าทายให้ทำสงครามแต่ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กลับทรงต้อนรับลอร์ดจอห์น เฮย์เป็นอย่างดีด้วยการเลี้ยงอาหารและให้นำชมพระนครอย่างเป็นมิตรไมตรีเต็มที่แล้วทรงถามว่าการที่นำเรือปืนเข้ามายังพระนครครั้งนี้มีความประสงค์อะไรหรือ ?

ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่าคำตอบของลอร์ดจอห์น เฮย์ คือ

“ไม่มีธุระอันใด เป็นแต่ได้ฟังกิตติศัพท์ว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายไทยโปรดอังกฤษมาก จนหัดเรียนเขียนอ่านภาษาอังกฤษได้ ลอร์ด จอห์น เฮย์ อยากเห็นอยากชมก็เข้ามา แลว่าเวรที่จะต้องอยู่ในทะเลยังเหลืออยู่อีก 5 เดือน แล้วจะไปลอนดอน จะได้กราบทูลแก่ควีนวิกตอเรียว่าได้เข้ามาเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไทย และจะใคร่เฝ้าเจ้าข้างใน แต่หาได้มาทันในเวลาโน้นไม่ ทราบว่าเจ้าข้างในสิ้นพระชนม์เสียแล้วเดี๋ยวนี้ตั้งเจ้าข้างในใหม่ขึ้นฤายัง ถ้าตั้งขึ้นแล้วจะขอเฝ้าให้เป็นเกียรติยศ”

ครับ ! อย่างนี้ก็มีด้วย

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image